-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - โรคพืชในช่วงฤดูหนาว....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

โรคพืชในช่วงฤดูหนาว....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 27/12/2010 9:06 pm    ชื่อกระทู้: โรคพืชในช่วงฤดูหนาว.... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

โรคพืชในช่วงฤดูหนาว


นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการปลูกพืชในพื้นที่สูงได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะพืชผักและผลไม้ฤดูหนาวที่มักนิยมปลูกกันบนที่สูง ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกได้เฉพาะที่และได้ราคาดีกว่าพืชผักและผลไม้ชนิดอื่น ๆ และในช่วงนี้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวแล้ว เกษตรกรโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องระมัดระวังและดูแลพืชผลทางการเกษตรของตัวเองอย่างมาก เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคพืชที่มาพร้อมกับอากาศหนาวจนอาจจะส่งผล ให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายได้

ด้าน ดร.ศรีสุข พูนพลกุล นักวิชาการโรคพืช สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศคาดว่าในปีนี้น่าจะมี อากาศหนาวกว่าทุกปี โดยอุณหภูมิจะลดต่ำลงมาก ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็สามารถส่งผลเสียต่อผลผลิตทางการเกษตรได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือต้องระมัดระวังโรคพืชที่สำคัญ ได้แก่ โรคราน้ำค้าง ที่มักจะพบในพืชผักและไม้ดอก รวมถึงโรคราสนิมจำพวกเบญจมาศตัดดอก และโรคราแป้งในกุหลาบ

ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลาง ต้องระมัดระวังโรคราน้ำค้าง ที่มักพบในกลุ่มพืชจำพวกแตง พืชในตระกูลผักกะหล่ำ องุ่น รวมถึงข้าวโพดหวานด้วย หรือในนาข้าวต้องระมัดระวังโรคคอเน่า ที่มักจะพบในช่วงที่ความชื้นยังคงมีอยู่ในขณะที่ข้าวออกรวง และช่วงที่ข้าวใกล้สุกเต็มที่ ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องเมล็ดด่างได้

สำหรับวิธีป้องกัน เกษตรกรควรต้องทำบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หากมีอากาศเย็นติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ให้พ่นยาจำพวกไดแมทโทมหรือเมทาแลคซิลอบป้องกันโรคราน้ำค้างไว้ก่อน

หากเกษตรกรท่านใดสนใจและต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคพืชชนิดต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ที่คลินิกพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-9581-5 ในวันและเวลาราชการ.



http://news.enterfarm.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 27/12/2010 9:09 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ชาวนา ระวังโรคไหม้คอรวง


เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 53

เนื่องจากในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นช่วงรอยต่อ ปลายฤดูการทำนาปีและต้นฤดูการทำนาปรัง ในบางพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยข้าวที่ปลูกจะอยู่ในช่วง ออกรวง ในระยะนี้ข้าวจะมีความอ่อนแอต่อโรคไหม้ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์ กข 29 พันธุ์พวงเงิน-พวงทอง พันธุ์โพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง พันธุ์พวงแก้ว พันธุ์ข้าว 75 วันหรือข้าวเบา โดยเกษตรกรอาจพบอาการไหม้คอรวง ซึ่งจะเห็นคอรวงเป็นสีน้ำตาลดำ เนื่องจากสภาพอากาศชื้นและเย็น

สำหรับเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าวข้างต้นควรตรวจแปลงนาอย่างใกล้ชิด กรมการข้าวแนะว่า หากพบอาการไหม้คอรวงควรพ่นสารป้องกันโรคไหม้คอรวงในระยะ 2-3 วันก่อนรวงโผล่ เช่น สารชื่อสามัญว่า ไตรไซคลาโซล (เช่น บีม หรือ บลาสแบน) ไอโซโพรไทโอเลน (เช่น ฟูจิ-วัน หรือ บลาสต๊อป) หรือ อีดิเฟนฟอส (เช่น ฮีโนซาน) แต่ถ้าเกษตรกรได้ปลูกพันธุ์พิษณุโลก 2 และสภาพอากาศชื้นและเย็นในระยะใกล้ออกรวง เมื่อรวงโผล่เกษตรกรอาจพบโรคเมล็ดด่าง ซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวมีสีด่างดำ หรือโรคดอกกระถิน มีลักษณะเป็นกลุ่มผงรวมเป็นก้อนสีเขียวขี้ม้าหรือเหลืองหรือส้มอยู่แทนที่ เมล็ด ป้องกันโดยพ่นสารโพรพิโคนาโซล (เช่น ฮาโก้) จากนั้นคอยสังเกตสภาพอากาศหากยังชื้นและเย็นอยู่ ประกอบกับข้าวอยู่ในระยะน้ำนมและพบโรคไหม้คอรวง หรือเมล็ดด่าง ถือว่ายังมีความเสี่ยงเกษตรกรอาจพ่นสารตามคำแนะนำข้างต้นอีกครั้ง เมื่อเมล็ดข้าวแข็งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารใด ๆ อีก

เกษตรกรควรติดตามข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หรืออาจสังเกตจากเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดอุณหภูมิก็ได้ โดยหากก่อนและหลังออกรวงประมาณ 10 วัน สภาพอากาศมีอุณหภูมิต่ำสุด ของแต่ละวันประมาณ 20 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านี้ติด ๆ กันตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป ข้าวจะมีโอกาสเป็นหมันสูงมาก หากพบอาการของโรคหรือแมลงศัตรูข้าวควรงดการพ่นสารประเภทน้ำหมักชีวภาพที่มี น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ หรือสารประเภทที่มีโปรตีน หรือ อะมิโนแอซิด (กรดอะมิโน) เพราะอาจกระตุ้น การเจริญเติบโตของเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุโรค ข้าวและแมลงศัตรูข้าวส่งผลให้การระบาดรุนแรงขึ้น

ในเรื่องนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อัจฉราพร ณ ลำปาง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว โทรศัพท์ 0-5531-1184 หรือหน่วยงานของกรมการข้าวใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการ ชาวนา 50 แห่งทั่วประเทศ ในวัน และเวลาราชการ

สำหรับการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกรมการข้าว ขณะนี้มีรายงานว่ามีน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวไม่ต่ำกว่า 7 ล้านไร่ โดยตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงกำลังอยู่ระหว่างการ สำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร ในส่วนของกรมการข้าวขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ รับผลกระทบทันทีภายหลังน้ำลด โดยได้ จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ไว้แจกจ่ายให้กับเกษตรกรนำไปปลูก รวมจำนวน 2.5 หมื่นตัน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ ทั้งนี้จะเป็นข้าวประเภทไม่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าว มีเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรอย่างแน่นอน ได้ประสานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการเตรียม ความพร้อมเมล็ดพันธุ์ไว้ส่วนหนึ่งด้วย ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ศูนย์ข้าวชุมชนที่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เตรียมสำรอง เมล็ดพันธุ์ไว้ให้กับเกษตรกรด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของเกษตรกรเองนั้นได้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองส่วนหนึ่งอยู่แล้วดังนั้นขอให้เกษตรกรได้มีความมั่นใจว่าภายหลังน้ำลดจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ทำให้ปัญหาเรื่องการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเบาบางลง แต่กรมการข้าวยังเป็นห่วงว่าจากนี้ไปจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วสภาพอากาศ โดยทั่วไปจะหนาวเย็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกพื้นที่ เพราะฉะนั้นขอแนะนำเกษตรกรที่ปลูกข้าวว่าควรเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่มีความทน ทานต่อสภาพอากาศ หนาวเย็นได้ดี เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 3 กข31 (ปทุมธานี 80) และกข39 ขณะเดียวกันควร หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 กข29 กข41 กข47 และข้าวอายุสั้นอีกหลาย ๆ พันธุ์ ซึ่งพันธุ์เหล่านี้เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ทนต่อสภาพ อากาศหนาวเย็น หากเกษตรกรปลูกจะมีผลกระทบต่อผลผลิตได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาข้าวกระทบหนาว กรมการข้าวขอแนะนำเกษตรกรให้เริ่มปลูกข้าวประมาณเดือนธันวาคม เพื่อให้ข้าวออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งข้าวจะใช้ระยะเวลาเติบโตถึงช่วงออกดอกประมาณ 90 วัน โดยจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาข้าวกระทบหนาวได้ เกษตรกรที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานของกรมการข้าวใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการชาวนา 50 แห่งทั่วประเทศ ในวันและเวลาราชการ.



ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=104207


http://www.phtnet.org/news53/view-news.asp?nID=432
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 27/12/2010 9:24 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การป้องกันโรคพืชในฤดูหนาว

ฤดูหนาว….ดูแลพืชผักอย่างไรให้ปลอดโรค

ปัจจุบัน การปลูกพืชฤดูหนาวของประเทศไทย โดยเฉพาะทางเหนือมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนไทยมีพืชฤดูหนาวทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ต่างประเทศรับประทานกันตลอด ทั้งปี นอกจากฤดูหนาวจะทำให้ผลผลิตพืช ผัก และไม้ดอก มีคุณภาพดีแล้ว แต่ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังก็คือ โรคพืชในฤดูหนาว ที่จะส่งผลกระทบด้านราคาความเสียหายของผลผลิต ให้กับเกษตรกรทั่วถึงทุกพื้นที่ทั้งพืชพื้นเมืองและพืชเศรษฐกิจ ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชมาแนะนำเทคนิคการสังเกต การป้องกัน การกำจัดโรคพืชในฤดูหนาวนี้ เพื่อเตรียมตัวรับมือป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากปีหนึ่ง ๆ เกษตรกรที่ปลูกพืชผักจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การพยากรณ์และการป้องกันโรคพืชที่จะเกิดขึ้นในอากาศหนาวที่เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิจะเริ่มลดลงทำให้อากาศเย็นขึ้น โดย เฉลี่ยอากาศหนาวในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถแบ่งอุณหภูมิออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ ภาคเหนือจะมีอุณหภูมิค่อนข้างหนาว ส่วนภาคกลางอุณหภูมิค่อนข้างเย็น

ภาคเหนือในช่วงที่อากาศเย็นลงในฤดูหนาวนั้น สิ่งที่จะได้รับผลกระทบกับอากาศเย็นก็คือพืช ผัก และไม้ดอก ที่จะมีโอกาสเกิดโรค ในผักจะมีโรคราน้ำค้าง ส่วนไม้ดอกก็จะมีปัญหาเรื่องราสนิม อาทิ เบญจมาศตัดดอก และราแป้งในกุหลาบซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะใน อ.พบพระ จ.ตาก ส่วนภาคกลาง ในฤดูหนาวพืชที่จะได้รับผลกระทบกับอากาศเย็นจะพบกับการเกิดโรคราน้ำค้าง โดยพืชที่ประสบกับโรคนี้ได้แก่ พืชจำพวกแตง พืชในตระกูลผักกะหล่ำ องุ่น และถ้าอากาศค่อนข้างเย็นข้าวโพดหวานก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้างเช่นกัน นอกจากนี้กลุ่มนาข้าวก็พบอาการของโรคเน่าคอรวง ที่พบในช่วงที่ความชื้นยังคงมีอยู่ในขณะที่ข้าวออกรวง และช่วงที่ข้าวใกล้แก่ก็อาจมีปัญหาเรื่องเมล็ดด่างได้ด้วย

ดร.ศรีสุข พูนผลกุล นักวิชาการโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ยกตัวอย่างโรคราในพืชต่าง ๆ ให้ฟังว่า

โรคราแป้งในกุหลาบ นั้นมีลักษณะอาการคือ มีเชื้อราสีขาวลักษณะคล้ายแป้ง เกิดปกคลุมผิวใบ และอาจขยายลุกลามปกคลุมกิ่งและลำต้น ทำให้ใบเหลือง ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลใบและกิ่งแห้ง ส่วนการป้องกันทำโดย 1.เมื่อเริ่มพบอาการของโรค ให้พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไดโนแคป เบโนมิล ไตรฟลอรีน หรือพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทกำมะถันผงโดยเป็นชนิดละลายน้ำได้เพื่อ ฆ่าเชื้อ แต่กำมะถันมีข้อจำกัด เนื่องจากใช้แล้วจะทำให้ใบร่วง เมื่อแตกใบใหม่จะไม่มีโรค ดังนั้นพืชจำพวกใบนิ่มไม่ควรใช้ ถ้าเป็นในผักก็ใช้ได้ในบางชนิดเท่านั้น

โรคราสนิมของเบญจมาศตัดดอก มีลักษณะอาการคือ ด้านบนใบเป็นจุดสีเหลืองอ่อน เมื่อพลิกดูด้านหลังใบจะเป็นตุ่มแผลนูน มีผงสีขาวอมเหลืองและสีเทา ใบมีลักษณะพองหรือบิดเบี้ยว ถ้าเป็นกับดอกตูมจะทำให้กลีบเลี้ยงและกลีบดอกแห้ง ไม่คลี่บาน ระบาดรุนแรงในฤดูหนาว การป้อง กันและกำจัดคือ 1. แช่ต้นพันธุ์ก่อนปลูกในสาร triadimenol 25% EC อัตรา 15 มิลลิลิตร 20 ลิตร หรือ hexaconazole 15% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร และพ่นสารดังกล่าวให้ทั่วต้นทุก 7 วันหลังจากปลูก

สุดท้าย ดร.ศรีสุข ได้ฝากถึงเกษตรกรว่า สาเหตุของโรคพืชในฤดูต่าง ๆ นั้น หากป้องกันไว้ก่อนก็จะทำให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นลดน้อยลงได้ เกษตรกรควรกระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายชนิดเพื่อลดความ เสี่ยงของการเกิดโรค และปัญหาด้านราคาไปพร้อมกัน นอกจากนั้นเกษตรกรควรจะลดการใช้ปุ๋ยยูเรียโดยหันมาใช้สูตรเสมอ ซึ่งเป็นสูตรที่ดีและเหมาะสมต่อการปลูกพืชผัก เนื่องจากการใช้ยูเรียมากไปจะส่งผลให้พืชอ่อนแอแล้วมีอัตราการเกิดโรคได้ ง่ายขึ้น

สำหรับเกษตรกรที่สนใจข้อมูลด้านโรคพืชชนิดต่าง ๆ เพิ่มเติม หรือต้องการส่งตัวอย่างพืชให้ตรวจวิเคราะห์สามารถติดต่อได้ที่ คลินิกพืช กรมวิชาการเกษตร เบอร์โทร. 0-2579-9581-5.



http://kasetonline.com/2008/12/13/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b8%8a%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%a4%e0%b8%94%e0%b8%b9%e0%b8%abe/
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 27/12/2010 10:07 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เตือนเกษตรกรระวังภัยหนาวมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืช


เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย แจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังภัยหนาวที่มีผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืช

นายนิเวส โรจนชัย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวของภาคเหนือ ปี 2553 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของภาคเหนือ จะมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน เสริมเข้าปกคลุมภาคเหนือเป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองในระยะแรก แล้วอากาศจะเย็นลงกับมีหมอกในตอนเช้า ช่วงกลางฤดูหนาวเดือนธันวาคม 2553 และเดือนมกราคม 2554 เป็นช่วงที่อากาศหนาวที่สุดของปี จะมีมวลอากาศเย็นมีกำลังแรงขึ้นและเสริมเข้าปกคลุมบ่อยขึ้น ทำให้มีอากาศหนาวเย็นทั่วไปและหนาวจัดบางพื้นที่โดยเฉพาะตอนบนของภาค

ฤดูหนาวปี 2553 นี้ คาดว่าจะหนาวกว่าปีที่ผ่านมา และมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย จากสภาพอากาศหนาวเย็นจะทำให้มีผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรซึ่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ขอแนะนำเกษตรกรได้เฝ้าระวังผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืช สำหรับข้าว ช่วงอากาศหนาวเย็นเกษตรกรควรติดตามสถานการณ์ในแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรคไหมคอรวง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์มะลิ 105 และข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม 2553

ส่วนประเภทไม้ผล จะเป็นช่วงที่ไม้ผลจะเตรียมแทงช่อดอก ในช่วงนี้ ควรทำความสะอาดแปลงและบริเวณรอบโคนต้น ตลอดจนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคแมลงอย่างต่อเนื่อง หากอากาศหนาวจัดควรคลุมโคน เพื่อไม่ให้อุณหภูมิบริเวณส่วนรากเย็นจัด ส่วนประเภทพืชผัก ในช่วงอากาศหนาวเย็นมีความชื้นในอากาศสูง น้ำค้างมากมักจะทำให้เกิดการระบาดของเชื้อราน้ำค้าง แนวทางป้องกัน ควรมีการฉีดพ่นน้ำเพื่อล้างใบในตอนเช้าก่อนที่น้ำค้างจะแห้ง และส่วนชา ในช่วงหน้าหนาว ต้นชาจะพักตัว หากเกษตรกร สามารถให้น้ำได้ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยกระตุ้นให้แตกใบอ่อน สามารถเก็บเกี่ยวได้เพิ่มอีกหนึ่งรุ่น กรณีที่ไม่มีน้ำเพียงพอ ให้ดำเนินการตัดแต่งกิ่งเพื่อพักต้นชา

หากเกษตรกรมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลทุกตำบล สถานีบำบัดทุกข์ประจำตำบล สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 053-700265 ,053-152679

http://www.chiangraifocus.com/news/details.php?id=214
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©