-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ไข่มดแดงส่งออก เดนมาร์ก, เยอรมัน....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ไข่มดแดงส่งออก เดนมาร์ก, เยอรมัน....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 23/04/2011 7:22 pm    ชื่อกระทู้: ไข่มดแดงส่งออก เดนมาร์ก, เยอรมัน.... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไข่มดแดงส่งออกไปถึงเดนมาร์ก, เยอรมัน





ไข่มดแดงเตรียมโกอินเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดเผยขณะนี้อยู่ระหว่างทำวิจัยเลี้ยงมดแดงในเชิงพาณิชย์ ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเกษตรกรเลี้ยงมดแดงเพื่อเพิ่มผลผลิต ตอบสนองความนิยมเปิบไข่มดแดงเป็นอาหารรสเด็ด แม้กระทั่งนักธุรกิจเดนมาร์กยังสนใจสั่งซื้อไปขายเมืองนอก

รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องมด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมดแดงจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากตลาดมีความต้องการไข่มดแดงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีราคาค่อนข้าง สูง กิโลกรัมละ 200-400 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณไข่มดแดงที่ออกสู่ท้องตลาด โดยชาวบ้านจะต้องหารังมดตามป่าในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในฤดูฝนถือเป็นช่วงนอกฤดูกาลหาไข่มดแดง ตนจึงได้ลงพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงมดแดงให้กับชาวบ้านและเกษตรกรได้รวมกลุ่ม เลี้ยงมดแดงตามบ้านเรือนในชุมชน เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมพื้นที่เลี้ยงมดแดง การสำรวจอาณาจักรและการย้ายมดแดงมาปล่อยในพื้นที่ วิธีการให้อาหาร การดูแลและการเก็บผลผลิต รวมทั้งเทคนิคการจัดการอย่างยั่งยืนเพื่อให้การเลี้ยงมดแดงได้ผลผลิตมากขึ้น โดยใช้เงินลงทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าตลอดทั้งฤดูกาล และไม่ต้องทิ้งชนบทเข้าเมืองไปใช้แรงงานในช่วงหน้าแล้ง

รศ.ดร.เดชากล่าวว่า ภายหลังประสบความสำเร็จในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มด จึงมีแนวคิดที่จะนำความรู้เรื่องมดมาต่อยอดให้เกษตรกรที่สนใจเลี้ยงมดแดง เพื่อเพิ่มรายได้ เป็นโครงการวิจัยเพิ่มผลผลิตไข่มดแดงในเชิงพาณิชย์ เพราะปกติแล้วชาวบ้านแหย่รังไข่มดแดงในป่าได้ประมาณ 2-3 ขีดต่อรัง หรือหากเลี้ยงมดแดงกันเองก็ได้ไม่ถึง 1 กิโลกรัม แต่จากการทำวิจัยที่ผ่านมานั้นพบว่า เราสามารถเพิ่มผลผลิตไข่มดแดงได้เฉลี่ย 1-2 กิโลกรัมต่อรัง

"การเลี้ยงมดแดงให้ได้ผลผลิตสูงดูเหมือนไม่ยุ่งยาก เพียงแต่คอยให้อาหารและน้ำก็พอแล้ว แต่ในสภาพความเป็นจริงยังมีขั้นตอนต่างๆ อีกหลายประการที่ผู้เลี้ยงมดแดงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตมดแดงถึงจะ ประสบความสำเร็จได้" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดกล่าว


ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงมดแดง คือ สภาพพื้นที่ควรเป็นที่ราบและเปิดโล่ง มีต้นไม้ขนาดเหมาะสม สูงไม่เกิน 6 เมตร เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ และเรือนยอดที่ไม่เบียดชิดหรือร่มทึบมากเกินไปจนแสงแดดส่องไม่ถึงพื้น เช่น มะม่วง ชมพู่ หว้า เงาะ ลองกอง ลำไย เป็นต้น ที่สำคัญคือควรมีแหล่งน้ำหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำ และกำจัดศัตรูมดแดงทำลายทางเดินของปลวกที่หุ้มลำต้น ทั้งนี้ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้อาณาจักรมดและขยายรังได้เต็มพื้นที่

สำหรับในพื้นที่ที่ไม่มีมดแดงอาศัย ก็ให้นำรังมดจากที่อื่นมาปล่อย แต่ต้องแน่ใจว่ามีมดราชินีอยู่ด้วย ส่วนการให้อาหารเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในช่วงแรกต้องให้ในปริมาณมากและค่อนข้างถี่ เพื่อช่วยเร่งให้มดงานสร้างรังขนาดใหญ่ๆ มดแดงจะชอบกินอาหารสดพวกเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ไก่ มากกว่าอาหารสุกหรือแห้ง แล้วแต่ความสะดวกและทุนทรัพย์ของเกษตรกร นอกจากนี้ ควรให้น้ำตาลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้มดงานด้วย

เขาบอกว่า การเก็บไข่มดแดงส่วนใหญ่ใช้เวลา 10-15 วันต่อครั้ง จึงจะสามารถกลับมาเก็บได้อีก ผลผลิตที่ได้คือตัวหนอนและดักแด้ ซึ่งชาวบ้านเรียกรวมๆ ว่า ไข่มดแดง ส่วนตัวมดมีปีกนั้นเรียกว่า แม่เป้ง แต่จะต้องไม่เก็บราชินีมดแดง อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ทำงานวิจัยเรื่องมดกับชาวเดนมาร์ก เขาบอกว่ามีเพื่อนนักธุรกิจสนใจจะทำธุรกิจไข่มดแดงส่งออกไปขายที่ประเทศ เดนมาร์กและเยอรมัน แต่วันนี้ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอ เพราะแค่ขายในหมู่บ้านก็หมดแล้ว ตนคิดว่าหากโครงการวิจัยนี้สำเร็จและทำให้เป็นอาชีพอย่างจริงจัง ผลผลิตก็จะมากขึ้นจนสามารถส่งขายต่างประเทศได้.

ที่มา : เอ็กไซต์ ไทยโพสต์

http://www.food4change.in.th/index.php/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 23/04/2011 8:36 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การเลี้ยงมดแดง





เลี้ยงมดแดงอย่างมืออาชีพ :
ปัจจุบัน "มดแดง" จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากตลาดมีความต้องการไข่มดแดงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีราคาค่อนข้าง แพง รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา จากภาควิชาวิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกถึงวิธีการเลี้ยงมดแดงดูเหมือนไม่ยุ่งยากเพียงแต่คอยให้อาหารและน้ำก็พอ แล้ว แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วยังมีขั้นตอนต่าง ๆ อีกหลายประการที่ผู้เลี้ยงมดแดงจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตมดแดง ถึงจะสามารถทำให้การเลี้ยงประสบความสำเร็จ

สภาพพื้นที่ในการเลี้ยงมดแดงควรเป็นพื้นที่ราบและเปิดโล่ง มีต้นไม้ขนาดเหมาะสมคือไม่สูงและเล็ก (มีความสูงของต้นไม่เกิน 6 เมตร), เป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ผลัดใบและมีเรือนยอดที่ไม่เบียดชิดหรือร่มทึบมากเกินไป จนแสงแดดส่องไม่ถึงพื้น เช่น มะม่วง ยอบ้าน หว้า ชมพู่ ส้มโอ จำปี เงาะลำไย ฯลฯ ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้หรือมีขอบเขตที่ชัดเจน เช่น ต้นไม้รอบบ้าน, ต้นไม้ในไร่นาต่าง ๆ ฯลฯ ที่สำคัญควรมีแหล่งน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำ ในการเตรียมพื้นที่เลี้ยงมดแดงจะต้องมีการสำรวจและกำจัดศัตรูมดแดง ทำลายทางเดินของปลวกที่หุ้มลำต้น กำจัดวัชพืชรอบต้น ติดตั้งที่วางอาหารและแขวนที่ใส่น้ำสูงจากพื้นดินมากกว่า 1.50 เมตรขึ้นไป (ขวดน้ำพลาสติกขนาดครึ่งลิตร) ตามลำต้นที่มีรัง นำมดแดงจำนวน 3-5 ตัว โดยใช้ไม้ให้มดแดงเกาะจากต้นหนึ่งไปปล่อยอีกต้นหนึ่งบริเวณที่มีมดแดงเดิน มาก ๆ ถ้ามดแดงกัดกัน แสดงว่าต่างอาณาจักรกัน แต่ละอาณาจักรและ แต่ละต้นจะต้องทำเครื่องหมายให้ชัดเจนโดยใช้สีหรือตัวเลขกำกับ เช่น อาณาจักรที่ 1 ต้นที่ 1 อย่างนี้เป็นต้นจนครบทุกต้น





สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีมดแดงอาศัยหรือมีต้นไม้ที่มีมดแดงอาศัยอยู่น้อย อาจจะทำได้โดยการนำรังมดแดงจากที่อื่นมาปล่อย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องแน่ใจว่ารังนั้นมีมดราชินี (มด ราชินีเป็นมดขนาดใหญ่ที่สุดและมีตัวเดียวในรัง) วิธีการสังเกตว่าในรังมีมดราชินีหรือไม่ให้ปล่อยเลี้ยงมดแดงไปประมาณ 1-2 เดือน ถ้าอาณาจักรล่มสลายนั้นแสดงว่าไม่มีมดราชินีจะต้องไปหารังมดแดงมาปล่อยใหม่ มดแดงจะชอบกินอาหารสดมากกว่าอาหารสุกหรือแห้ง อาหารควรมีขนาดเล็กเพื่อความสะดวกและง่ายแก่การลากหรือคาบกลับรัง วางอาหารในภาชนะที่สร้างขึ้นหรือวางตามง่าม ต้นที่มีมดแดงเดินผ่าน แต่อย่าให้ถูกแสงแดด

ในการเก็บผลผลิตไข่มดแดงนั้นจะต้องเก็บให้ได้ผลผลิตคือ ตัวหนอน ดักแด้และแม่เป้งต่อรังให้มากที่สุด จะใช้สวิงในการเก็บผลผลิต จะต้องไม่เก็บราชินีมดแดงและหลีกเลี่ยงการฆ่ามดแดง เมื่อเก็บได้แล้วจะต้องทำการแยกไข่มดแดง (ตัวหนอนและดักแด้) ใส่ถังน้ำแล้วใช้ผ้าขาวบางหมุน มดงานและแม่เป้งจะติดกับผ้า ส่วนไข่มดแดงจะจมอยู่ก้นถัง รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงมดแดง ติดต่อได้ที่ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้โทร. 0-2579-0176.



ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
dailynews

http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=5117.0
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 23/04/2011 8:47 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การเลี้ยงมดแดง


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมดแดง
แมลงที่น่าสนใจในการศึกษามากที่สุด ได้แก่ แมลงที่มีการจัดระเบียบสังคม ที่เรียกว่า Social Organization มี มด ผึ้ง และต่อ และเรียกแมลงพวกนี้ว่า Social Insects หมายถึง แมลงที่มีการทำงานร่วมกัน มีการสร้างรัง เลี้ยงดูตัวอ่อน ต่อสู้ศัตรูที่มาทำอันตรายให้กับพวกของมัน มดแดงจึงจัดเป็นแมลงที่มีสังคมชนิดหนึ่ง จึงได้ทำการรวบข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับมดแดงไว้ ดังนี้



1. รูปร่างลักษณะของมดแดง
มดแดง มีลำตัวสีส้มค่อนแดง ความยาวตลอดลำตัวประมาณ 1 เซนติเมตร ชาวบ้านโดยทั่วไป เรียกว่า “มดแดง” บางท้องถิ่น เช่นชาวผู้ไท เรียกว่า “มดส้ม” ฝรั่งเรียกว่า “Red Ant” ในทางวิทยาศาสตร์ มดแดงจัดเป็นสัตว์อยู่ใน ไฟลัมอาร์โทรโปดา (Artropoda) อยู่ในคลาส อินเซกต้า (Insecta Class) สัตว์ที่อยู่ในคลาสนี้ ได้แก่สัตว์จำพวกแมลงต่างๆ เช่น ตั๊กแตน มด ปลวก ผีเสื้อ ต่อ แตน ผึ้ง ฯลฯ สัตว์จำพวกนี้ มีร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. ส่วนหัว มีอวัยวะที่สำคัญ คือ หนวด 1 คู่ ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ตา 1 คู่ และปาก ซึ่งมีเขี้ยวที่แหลมคม ใช้ประโยชน์ในการขบกัดต่อสู้ศัตรู กัดกินอาหาร รวมทั้งกัดแทะเยื่อใบไม้ ในการสร้างรัง

2. ส่วนอก มีอวัยวะที่สำคัญ คือ ขาที่เรียวเล็ก ยาว จำนวน 3 คู่ ภายในร่างกาย (Body) มีท่อสำหรับการหายใจโดยใช้ท่อลม (Trachea) ที่มีกิ่งก้านสาขาแยกไปทั่วร่างกาย และเปิดออกสู่ ภายนอกตรงช่อง Spiracle ซึ่งอยู่ข้างลำตัว มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในการเจริญเติบโต ตามกระบวนการ Metamorphosis

3. ส่วนท้อง เป็นส่วนที่อยู่หลังสุดของมดแดง เป็นศูนย์รวมของน้ำกรด หรือกรดมดที่มีความเป็นกรดพอดี มดแดงใช้กรดนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างรัง ต่อสู้ขับไล่ศัตรูผู้รุกราน


2. วิถีชีวิตและวงจรชีวิตของมดแดง
มดแดงแดงเป็นสัตว์สังคม เนื่องจากมดแดงชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันสร้างรังออกไข่ เลี้ยงดูออกอ่อนให้เจริญเติบโตเป็นสมาชิกใหม่ ขยายประชากรมดแดงให้เพิ่มมากขึ้น ภายในรังของมดแดง จะมีสมาชิก ดังต่อไปนี้

2.1 แม่เป้งหรือนางพญา (Queen Caste) มีรูปร่างขนาดใหญ่กว่ามดแดงธรรมดา มีขนาดเท่ากับตัวแตนหรือตัวต่อบางชนิด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีปีกสำหรับบิน มีหน้าที่ออกไข่คล้ายกับนางพญาผึ้ง เมื่อใดที่แม่เป้งเห็นว่าสภาพไม่เหมาะ ในการสร้างรังและวางไข่ แม่เป้งจะทิ้งรังเดิม แล้วบินไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ที่มีน้ำ อาหารอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ที่มีใบดก เขียวชอุ่ม หนาทึบ และไม่มีศัตรูรบกวน

2.2 มดดำหรือพ่อพญาหรือพ่อพันธุ์ (Male Caste) จะพบพ่อพญาในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น คือประมาณเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน หรือต้นฤดูฝน เนื่องจากพ่อพญาจะต้องผสมพันธุ์กับนางพญาหรือแม่เป้งเพื่อให้แม่เป้งบินไปสร้างรังแล้ววางไข่ คล้ายการผสมพันธุ์ของผึ้ง เมื่อมดดำผสมพันธุ์กับแม่เป้งแล้ว ไม่นานก็จะตายจนกว่าจะถึงฤดูกาล มดดำจะถูกฟักออกมาอีกครั้ง มดดำจะมีปีกสำหรับบินได้ ลักษณะพิเศษนี้คล้ายแมลงเม่าของปลวก

2.3 มดแดงหรือมดงาน (Workers Caste) ได้แก่ มดแดงที่พบเห็นกันโดยทั่วไป มีหน้าที่สร้างรัง หาอาหาร เลี้ยงดูตัวอ่อน ตลอดทั้งการป้องกันศัตรูผู้รุกราน มดแดงทุกตัวทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยความขยันขันแข็งตลอดเวลา แม้ในเวลากลางคืน หากไม่มีอาหารที่สะสมไว้ในรัง มดแดงก็จะออกหาอาหาร โดยไม่หยุดพักผ่อนเลย



วงจรชีวิตของมดแดง
วงจรชีวิตของมดแดงจะเริ่มต้นที่แม่เป้งออกไข่ที่มันสร้างเพียงตัวเดียวก่อน โดยการพับใบไม้ใบเดียว หรือสร้างใยบริเวณ ซอกของก้านกล้วย ใบไม้ที่ชอบพับทำรังและวางไข่ของแม่เป้ง คือ ใบข่า ใบม้วนหมู ใบยางอินเดีย ใบยอ ใบมะพร้าว เป็นต้น ไข่มดแดงมีหลายลักษณะ ดังนี้

1. ไข่มาก เป็นไข่ที่มีขนาดใหญ่กว่าไข่ธรรมดา สีขาว ใส สะอาด จะฟักออกมาเป็นแม่เป้ง หรือนางพญา สำหรับการออกไข่ขยายพันธุ์ จะมีมากในราวเดือนมกราคม ถึงเมษายน

2. ไข่ฝาก เป็นไข่ที่มีขนาดเล็ก ไม่โต ไม่เต่ง เหมือนไข่มาก จะฟักออกมาเป็นตัวมดแดงธรรมดา กลายเป็นมดงานซึ่งถือเป็นประชากรที่สำคัญมากในสังคมมดแดง หากมีประชากรมดแดงมาก ย่อมหมายถึงการขยายประชากรเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมดแดงหรือมดงานนี้ เป็นกำลังในการสร้างรัง หาอาหาร น้ำ เลี้ยงดูไข่หรือตัวอ่อน เพื่อให้เจริญเติบโตภายในเวลาอันรวดเร็ว

3. กระบวนการสร้างรังของมดแดง
มดแดงทุกตัวจะมีใยพิเศษ ที่สร้างมาจากกรดน้ำส้มหรือกรดมดจากส่วนท้อง ผสมกับเยื่อหรือยางของใบไม้ ถ้ากล่าวในเชิงวิทยาศาสตร์โครงสร้างของใบไม้จะมีแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตปนอยู่ มดแดงจะดึงใบไม้มายึดให้ติดกันโดยใช้ใยนี้ เมื่อแห้งจะมีสีขาวและเหนียว คล้ายสำลี ยึดติดให้ใบไม้เป็นรูปทรงกลม สามารถป้องกันน้ำฝนได้
มดแดงชอบทำรังอยู่ตามต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ริมลำห้วย ลำธาร หนองน้ำ จะพบมดแดงอาศัยทำรังอยู่อย่างหนาแน่น มากกว่าแหล่งที่ไม่มีน้ำ เนื่องจากมดแดงต้องการน้ำมาก เพื่อใช้ในการสร้างกรดน้ำส้ม บรรจุไว้ในส่วนท้อง แล้วนำไปใช้ในการดำรงชีวิตของมัน

ต้นไม้ที่มดแดงชอบทำรัง ได้แก่ ต้นไม้ที่มีใบอ่อน นุ่ม หนา ไม่ผลัดใบง่าย มีอัตราการคายน้ำ คายก๊าซออกซิเจนที่ดี เช่น ต้นหว้า ชมพู่ สะเม็ก มะม่วง ลำไย มะเฟือง มะไฟ ต้นจิก ต้นรัง ต้นพอก กะบก กะบาก เป็นต้น

ในฤดูฝน มดแดงจะสร้างรังอยู่ตามต้นไม้เล็กๆ ไม่สูงมากนักเนื่องจากการสร้างรังในที่สูง มดแดงจะประสบกับปัญหาจาก ลม ฝน พายุ ทำให้รังได้รับความเสียหาย จึงพากันสร้างรังขนาดเล็ก หลายๆ รัง ในที่ต่ำเกือบติดดิน เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าว ดังนั้นหากมีใบของพืชประเภทไม้เลื้อย เช่น บวบ ม้วนหมู ตำลึง หรือไม้เถาพื้นบ้าน มดแดงจะสร้างรังอาศัยอยู่ทันที


4. อาหารของมดแดง
มดแดงชอบอาหารที่สะอาด ทั้งสดและแห้ง ที่สามารถจะกัด แทะได้ ซึ่งเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือ พวกแมลงต่างๆ โดยจะคาบไปเก็บสะสมเอาไว้ในรัง ถ้าเป็นอาหารชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถจะคาบหรือ ลากไปเก็บในรังได้ มดแดงจะช่วยกันกัด และเยี่ยวราดหรือปล่อยกรดมดใส่ไว้ เพื่อไม่ให้อาหารนั้นบูดเน่าเสียหาย เปรียบเสมือนเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง และรอให้อาหารนั้นแห้ง จึงค่อยกัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปเก็บไว้ในรัง เพื่อป้อนตัวอ่อนหรือกินเป็นอาหารพร้อมๆ กัน ในการหาอาหาร มดแดงจะเดินทางไปรอบๆ ที่อยู่ของมัน ถ้าหากพบเหยื่อ หรืออาหาร มดแดงจะส่งสัญญาณให้กันได้รับรู้และเดินทางมาทันที หากเหยื่อยังมีชีวิตอยู่ มันจะรุมกัด และเยี่ยวราด (ปล่อยกรดมดหรือกรดน้ำส้ม) เหยื่อจะตาย หรือได้รับบาดเจ็บ มดแดงจะช่วยกันลากไปเก็บไว้ในรัง สะสมไว้เป็นอาหารเลี้ยงดูลูกอ่อน ต่อไป

ข้อสังเกตประการหนึ่งพบว่า มดแดงจะนำอาหารไปเก็บสะสมไว้ในรังเสมอ เนื่องจาก
ภายในรังอาหารจะไม่ถูกน้ำค้าง น้ำฝน อาหารจะไม่บูดเน่า รวมทั้งเป็นที่รวมของสังคมมดแดง ซึ่งจะมีการประชุม วางแผนการทำงานและกินอาหารร่วมกัน อีกประการหนึ่งด้วย


5. ศัตรูของมดแดง
ศัตรูของมดแดง กล่าวได้ว่า มีค่อนข้างน้อย เพราะมดแดงมีเยี่ยวเป็นกรดน้ำส้ม หรือกรดมดที่บรรจุไว้ในส่วนท้องของมัน สามารถขับไล่ศัตรูผู้รุกรานที่อยู่อาศัย โดยมดแดงจะกัดและเยี่ยวราด ทำให้ปวดแสบ ปวดร้อน ประกอบกับมีกลิ่นที่ฉุน ทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ หลบหนีหรือถูกทำลายไป แต่ก็ยังพบว่า มดแดงมีศัตรูอยู่บ้าง ได้แก่

5.1 ปลวก มดแดงจะไม่ชอบปลวก แต่ปลวกก็ไม่ใช่ศัตรูโดยตรงของมดแดง เพราะปลวกไม่ได้ทำอันตรายมดแดงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงว่า มดแดงไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีปลวก คงเป็นเพราะปลวกมีกลิ่นที่มดแดงไม่ชอบก็อาจเป็นได้

5.2 มดดำ มดดำทุกชนิดเป็นศัตรูโดยตรงของมดแดง หากมดฝ่ายใดพลัดหลงเข้าไปในกลุ่มของฝ่ายตรงข้าม ก็จะถูกรุมกัดจนตาย มดดำจะเก่งกล้ากว่ามดแดงมาก โดยเฉลี่ยแล้วมดดำ ตัวเดียว จะสามารถทำลายมดแดงได้ถึง 10 ตัว

5.3 มดไฮ มดชนิดนี้บางท้องถิ่น เรียกว่า “มดเอือด”1 เป็นมดขนาดเล็ก ลำตัวยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร เป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุดของมดแดงอย่างยิ่ง เนื่องจากมดชนิดนี้มีเยี่ยวที่มีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก หากมดแดงได้รับกลิ่น และถูกเยี่ยวของมันก็จะตายทันที คล้ายกับว่าได้รับแก็สพิษฉันนั้น มดไฮ 1 ตัว สามารถทำลายมดแดงได้ถึง 20 ตัวเลยทีเดียว

* 1 เอือด เป็นภาษาอีสาน หมายถึง ดินที่มีแร่เกลือสินเธาว์ผสมอยู่ เรียกว่าขี้ทา ขี้เอือด มดเอือด บางที เรียกว่า “มดไฮ”


6. ประโยชน์ของมดแดง
ประโยชน์ของมดแดง มีมากมายหลายประการ พอสรุปได้เป็นหัวข้อ ดังนี้

6.1 ใช้เป็นอาหาร ได้จากไข่ และตัวมดแดง มดแดงมีกรดน้ำส้ม ให้รสเปรี้ยว อร่อย
มีคุณสมบัติเป็นกรดใช้แทนมะนาว หรือน้ำส้มสายชู ให้รสชาติอร่อยกลมกล่อม รายการอาหารที่ได้จากมดแดงและไข่มดแดง ได้แก่ ยำไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ทอดไข่ยัดไส้ เป็นต้น

6.2 ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ดังนี้
6.2.1 ใช้สูดดม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย โดยใช้มดแดง นำมาขยำแล้ว สูดดม

6.2.2 แก้ท้องร่วง ใช้เนื้อไก่พื้นบ้าน นำส่วนที่เป็นเนื้อแหย่เข้าไปในรังมดแดง เมื่อมดแดงกัดได้ปริมาณมากดึงออกมาแล้วใช้มือขยำนำไปย่างไฟให้สุกรับประทานขณะที่ยังร้อน อาการท้องร่วงจะบรรเทาและหายไป

6.2.3 แก้ท้องผูก นำมดแดงมาต้มใส่น้ำสะอาด ประมาณ 1 – 2 ถ้วย พอเดือด ยกลงแต่งรสโดยใช้เกลือพอเหมาะ กรองด้วยผ้าขาวบาง ดื่มทันที อาการท้องผูกจะหาย

6.2.4 ใช้ลบรอยไฝหรือขี้แมลงวัน โดยจับเอาตัวมดแดงกัดตรงเม็ดไฝ ให้มันเยี่ยวใส่ ถ้าไฝเม็ดโต ให้กัดหลายตัวพร้อมกัน ด้วยฤทธิ์ของน้ำกรด ไฝจะบวมและเปื่อยละลายเอาสีดำไหลออกมา เมื่อแผลหายจะไม่ปรากฏเม็ดไฝอีกต่อไป มีเพียงรอยแผลเป็นเล็กน้อยเท่านั้น

6.2.5 ใช้แก้โรควูบ นำรังมดแดงร้างที่เกิดจากต้นคูณ มาใส่หม้อนึ่งต้มให้เดือดแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะอังกับไอน้ำเดือด สูดเอาไอร้อน ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรควูบจะมีอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุด

6.3 ใช้กำจัดศัตรูพืช ต้นผลไม้ต่างๆ ตลอดทั้งพืชผัก เช่น บวบ ถั่วฝักยาว แตงร้าน หากมีมดแดงอาศัยอยู่ จะปราศจากหนอน แมลง เพลี้ย รบกวน เนื่องจากมดแดงจะจัดการนำไปเป็นอาหารจนหมดสิ้น ต้นมะม่วงที่มีปัญหาเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้งในต้นมะขาม หากนำมดแดงไปเลี้ยงเอาไว้ จะหมดปัญหาไป ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการกำจัดศัตรูพืชและปลอดสารพิษด้วย

6.4 ให้ความเพลิดเพลิน ผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคน จะมีความเพลิดเพลิน ไม่เคร่งเครียด มดแดงจะช่วยผ่อนคลาย ทำให้เกิดคุณธรรมที่ได้จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การดำรงชีวิตของ มดแดงอยู่เสมอ มดแดงให้ข้อคิด คติและสัจธรรมแก่เรามากมายหลายประการ ซึ่งผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคนจะสัมผัสได้

7. ข้อพึงระวังจากมดแดง
แม้ว่ามดแดง จะมีประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว มดแดงก็ยังมีสิ่งที่พึงระวังอยู่บ้าง
ดังรายละเอียด ต่อไปนี้
7.1 กัดเจ็บ แต่ไม่เป็นอันตราย
7.2 เยี่ยวของมดแดงซึ่งเป็นกรด หากเข้าตาจะปวดแสบ ปวดร้อนวิธีแก้ไข ใช้น้ำลายป้ายตาจะหายทันที
7.3 เสื้อผ้าที่ถูกน้ำกรดจากมดแดง จะซีดด่าง ขาดความสวยงาม
7.4 ก่อความรำคาญ ในกรณีที่มดแดงไต่เข้าไปหาอาหารในบ้านเรือน อาจเข้าใจผิดว่า มดแดงก่อความรำคาญ แท้จริงแล้วมดแดงไปหาอาหารเพื่อนำไปป้อนลูกอ่อนของมันนั่นเอง หากจัดที่ให้น้ำ ให้อาหารและนำอาหารวางไว้ที่ต้นไม้ที่มันสร้างรังอยู่ มดแดงจะไม่เข้ามารบกวนเราเลย ข้อสังเกต มดแดงจะสร้างรังที่ต้นไม้เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างรังในบ้านเรือนของคนเรา


http://www.baanmaha.com/community/thread6689.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 23/04/2011 8:50 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การเลี้ยงมดแดงเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยวิธีผสมผสาน


มดแดงเป็นแมลงชนิดหนึ่งจัดอยู่ในแมลงที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ทราบและเข้าใจลึกซึ้งถึงประโยชน์ที่ได้รับจากมดแดง ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของมดแดงและในบางครั้งก็ทำลายมดแดงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การใช้สารเคมีฆ่าแมลง มดแดงช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยต่างๆ หนอนศัตรูพืชเกือบทุกชนิดและแมลงที่เป็นศัตรูพืชต่างๆ เช่น ตั๊กแตก เพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว ฯลฯ เมื่อมดแดงมีความสามารถที่จะกำจัดศัตรูพืชได้หลายชนิด ก็เป็นการควบคุมศัตรูพืชให้อยู่ในระดับสมดุลย์ทางธรรมชาติ ทำให้ศัตรุพืชไม่ระบาดรุนแรง เป็นการลดการใช้สารเคมี ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อม

การดำรงชีวิตของมดแดง มดแดงเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันสร้างรังเลี้ยงดูตัวอ่อนให้เติบโตเป็นสมาชิกใหม่ ภายในรังมดแดงจะมีสมาชิก คือ

- แม่เป้ง (นางพญา) มีรูปร่างขนาดใหญ่มากกว่ามดแดงธรรมดามาก ลำตัวเป็นสีเขียวปนน้ำตาล มีปีกสำหรับบิน มีหน้าที่ออกไข่คล้ายกับนางพญาปลวกผึ้ง เมื่อใดแม่เป้งเห็นว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในการสร้างรังและวางไข่ แม่เป้งจะทิ้งรังเดิมไปสร้างรังและวางไข่ที่อื่นที่มีน้ำ อาหารสมบูรณ์ตามต้นไม้มีใบดก เขียวชะอุ่ม หนา ทึบ และปลอดภัย
- มดแดง ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่า มดแดงตัวใดเป็นมดงาน มดพยาบาล หรือมดทหารเหมือนกับปลวก เนื่องจากมดแดงตัวเมีย สามารถทำหน้าที่ทั้ง 3 กรณี คือ เป็นมดงานทำหน้าที่สร้างรัง มดพยาบาลทำหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อน และมดทหารทำหน้าที่สู้ขัดขวางผู้บุกรุกที่จะทำอันตรายแก่รังของมัน

การดำเนินประชากรของมดแดง เริ่มจากแม่เป้งจะออกไข่ไว้ในรังที่ตัวมันสร้างเพียงตัวเดียวก่อน จำนวนไข่มีไม่มาก ประมาณ 100-500 ฟอง ในจำนวนไข่ทั้งหมดจะมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ

- ไข่มาก เป็นไข่ที่มีขนาดใหญ่ผิดธรรมดา จะฟักออกมาเป็นแม่เป้งมดแดง
- ไข่ฝาก เป็นไข่ที่มีขนาดเล็กไม่โต ไม่เต่งเหมือนไข่มาก จะฟักตัวออกมาเป็นตัวมดแดงธรรมดา เมื่อไข่ทั้งหมดฟักเป็นตัวอ่อน และเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นประชากรมดแดงที่มีจำนวนมาก จำนวนจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแม่เป้งหลายตัว และปัจจัยสนับสนุนด้านน้ำและอาหารสมบูรณ์

- ไข่มดดำ ไข่มีขนาดเล็กออกสีดำ ฟักออกเป็นตัวมดดำมีปีกแล้วบินหนีไป

การสร้างรัง มดแดงทุกตัวจะมีเส้นใยพิเศษที่ได้จากน้ำลายและกรดมดจากท้องของมัน ลักษณะของใยมีสีขาว (เมื่อแห้งแล้วอ่อนนุ่มและเหนียวคล้ายสำลี) มดแดงจะดึงใบไม้มายึดติดก้นโดยใช้ใยนี้เอง ส่วนมากจะสร้างรังเป็นรูปทรงกลม สามารถป้องกันน้ำฝนได้ แม่เป้งจะออกไข่ให้มดแดงเลี้ยงดูจนกระทั่งฟังเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนจะได้รับการป้อนน้ำ ป้องอาหารตลอดเวลา หากได้รับอย่างเพียงพอจะเจริญเติบโตเป็นมดแดงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5-10 วัน มดแดงชอบสร้างรังบนต้นไม้ที่มีใบดกถาวรไม่ผลัดใบง่าย อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นริมลำธาร หนองน้ำหรือแอ่งน้ำตามธรรมชาติมดแดงจะสร้างรังอยู่อย่างหนาแน่นมากกว่าที่ไม่มีน้ำ เนื่องจากมดแดงต้องการน้ำมากเพื่อใช้ในการสร้างกรดมดบรรจุไว้ส่วนท้อง เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต ต้นไม้ที่มดแดงชอบสร้างรัง เช่น ต้นมะม่วง สะเดา ต้นจิก ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นกะบากและต้นขึ้เหล็ก เป็นต้น

อาหารของมดแดง มดแดงชอบอาหารที่แห้งสนิท เช่น ปลาแห้ง จิ้งจก ตุ๊กแก งูที่ตายแล้ว และที่ชอบเป็นพิเศษ คือ แมลงชนิดต่างๆ โดยจะคาบไปสะสมไว้ในรัง หากอาหารชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถจะคาบหรือลากไปเก็บไว้ในรังได้ มดแดงจะช่วยกันกัดและเยี่ยวราดเอาไว้เพื่อไม่ให้เน่าเหม็นได้และจะรอจนกว่าอาหารนั้นแห้ง จึงจะค่อยกัดเป็นชิ้นน้อย นำเอาไปเก็บไว้ในรังเพื่อป้อนตัวอ่อนและกินเป็นอาหาร จากการสังเกตพบว่า ในฤดูฝนมดแดงไม่ชอบเดินทางออกจากต้นไม้ที่มันสร้างรังอยู่ เนื่องจากพื้นดินเปียกแฉะ และในฤดูฝนมดแดงหาอาหารได้ไม่เพียงพอ หากจัดที่ให้น้ำและอาหารวางไว้บริเวณที่มดแดงอาศัยอยู่แล้ว มดแดงจะให้ไข่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงมดแดง

ข้อควรระวังสำหรับผู้เลี้ยงมดแดง คือ เมื่อแหย่ไข่มดแดงมาปรุงอาหาร ควรปล่อยแม่มดแดง (แม่เป้ง) ให้หมด ไม่ควรนำมาคั่วหรือฆ่ามดแดง จะเป็นสาเหตุที่ทำให้มดแดงอพยพไปอยู่ที่อื่นจนหมด วิะีการแยกมดแดงออกจากไข่ของมัน ทำได้โดยใช้แห้งมันสำปะหลังโรยลงไปที่ไข่มดแดงแล้ว นำไปเทใส่ถาดเกลี่ยให้กระจายออก มดแดงจะไต่หนีไปจนหมดเหลือไว้แต่ไข่มดแดงเท่านั้น


วิธีการเลี้ยงมดแดง
1. กำจัดมดดำบริเวณต้นไม้ที่จะเลี้ยงมดแดงให้หมดโดยใช้สารเคมี เช่น เซฟริน 85% โรยรอบๆ ต้นก่อนเลี้ยงประมาณ 2-3 สัปดาห์
2. ใช้ไม้กระดานขนาดประมาณ 16x21 นิ้ว ทำเป็นแท่นให้อาหาร โดยตอกเป็นแป้นวางสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกันศัตรู เช่น สุนัขขึ้นไปกินเศษอาหาร

3. หาภาชนะใส่น้ำให้มดแดงกินตลอดเวลา อาจเป็นขวดพลาสติกตัดครึ่ีง ใช้ตะปูตอกไว้กับต้นไม้ หรือวางไว้บนแป้นอาหารก็ได้ แล้วใส่ไม้ลงไปให้มดแดงไต่ไปกินน้ำ

4. ให้อาหาร เช่น เศษเนื้อสัตว์ต่างๆ ปลาแมลงทุกชนิด หอยเชอรี่ หรือหอยชนิดต่างๆ

5. ทำสะพานให้มดเดิน ในกรณีที่ต้นไม้ที่เลี้ยงมีหลายกิ่ง โดยมัดโยงจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง

6. ถ้าต้นไม้ที่เลี้ยงยังไม่มีมดแดงก็ให้หามดแดงมาปล่อย


ประโยชน์ของมดแดง
1. ใช้เป็นอาหารได้จากไข่และตัวมดแดงเอง โดยทั่วไปที่ตัวมดแดงมีกรดมดให้รสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชูได้
2. ใช้เป็นยา

- สูดดมแก้ลม แก้หวัด หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ โดยใช้ตัวมดแดง
- ใช้ลบรอยไฝ โดยใช้ตัวมดแดงกัดตรงไผให้มดแดงเยี่ยวใส่ ไฝจะบวบและเปื่อยละลายหลุดไปด้วยฤทธิ์ของกรดมดแดง

3. ใช้กำจัดศัตรูพืช

สำหรับพืชยืนต้นต่างๆ หรือสวนไม้ผล ถ้าหากว่ามีมดแดงอาศัยอยู่มาก จะไม่มีพวกเพลี้ย หนอนและแมลงอื่นๆ รบกวน ทำให้สวนไม้ผลติดลูกดก

สำหรับโทษของมดแดง หากถูกมดแดงกัดจะเจ็บ เยี่ยมมดแดงถ้าถูกตาจะปวดแสบปวดร้อน ถ้าถูกผ้าสีสดจะซีดและเป็นด่าง

สภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน การเลี้ยงมดแดงเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้วยังสามารถนำมาบริโภคและจำหน่าย อันเป็นการช่วยเกษตรกร และยังปลอดภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร ตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อมอีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี โทร. (045) 311-052 ในวัน เวลาราชการ


สุกัญญา พัวพันธ์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองเกษตรสัมพันธ์


http://agricom.doae.go.th/agricom/magazine/153/ant.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 23/04/2011 8:58 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การเลี้ยงมดแดงเพิ่มรายได้


มดแดงอาจจะเป็นศัตรูกับมนุษย์ในอดีตแต่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากตลาดมีความต้องการไข่มดแดงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีราคาค่อนข้าง สูง วิธีการเลี้ยงมดแดงดูเหมือนไม่ยุ่งยากเพียงแต่คอยให้อาหารและน้ำก็พอ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วยังมีขั้นตอนต่าง ๆ อีกหลายประการที่ผู้เลี้ยงมดแดงจะต้องทำความเข้าใจ จึงจะสามารถทำให้การเลี้ยงประสบความสำเร็จได้


ขั้นตอนวิธีการเลี้ยงมดแดง
1.กำจัดปลวกและมดดำบริเวณต้นไม้ที่จะลี้ยงมดแดงให้หมดก่อนเลี้ยง โดยใช้สารที่สกัดจากสะเดา และทิ้งไว้ระยะหนึ่ง มดดำที่มีอยู่จะหนีหมด จากนั้นจึงปล่อยให้มดแดงทำรัง

2.นำขวดน้ำพลาสติกตัดครึ่งขวดตอกด้วยตะปูติดไว้กับต้นมะม่วง 2 ชุด โดยชุดแรกสำหรับให้อาหารและชุดที่2 ใส่น้ำเพียงครึ่งหนึ่งสำหรับให้มดแดงกิน ให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1.50 เมตร เพื่อป้องกันสัตว์ชนิดอื่นไปกิน

3.ให้อาหารมด เช่น เศษเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา โครงไก่ แมลงทุกชนิด หอยเชอรี่ หรือหอยชนิดต่าง ๆ

4.ในฤดูฝนมดแดงไม่ชอบเดินทางออกจากต้นไม้ที่มันสร้างรังอยู่ เนื่องจากพื้นดินเปียกแฉะ ในฤดูฝนนี้มดแดงจึงหาอาหารได้ไม่เพียงพอ แต่ถ้าหากเราจัดหาที่ให้น้ำและอาหารไว้บริเวณที่มดแดงอาศัยอยู่แล้ว จะทำให้มดแดงไข่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงมดแดง

5.ต้นไม้ที่มดแดงชอบสร้างรัง เช่น ต้นมะม่วง ต้นสะเดา ต้นไทร ต้นโพธิ์ และต้นขี้เหล็ก เป็นต้น ควรเลือกต้นมะม่วงจะเหมาะที่สุด เพราะใบใหญ่และใบเหลืองช้า ถ้าหากเลือกต้นไม้ที่ผลัดใบง่าย เมื่อใบเหลืองมดแดงจะทิ้งรังทันที

6.ทำสะพานให้มดเดินในกรณีที่ต้นไม้ที่เลี้ยงมีหลายกิ่ง หรือเลี้ยงมดแดงไว้หลายต้น โดยใช้เชือกมัดโยงจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่งและจากอีกต้นหนึ่งไปยังอีก ต้นหนึ่ง ถ้าต้นไม้ที่เลี้ยงยังไม่มีมดแดงก็ให้หามดแดงมาปล่อย
มดแดงเป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันสร้างรังเลี้ยงดูตัวอ่อนให้เติบโตเป็นสมาชิกใหม่ การใช้เชือกผูกไว้ที่ต้นมะม่วงทุกต้นเพื่อที่จะให้มดแดงไปมาหาสู่ได้สะดวก และเป็นการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกัน

7.ในแต่ละต้นจะมีมดแดงทำรังอย่างน้อย 10-15 รังโดยแต่ละรังจะมีขนาดใหญ่ถึง 1 ฟุตและสามารถผลิตไข่ได้ถึง 4-5 ขีดในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายนของทุกปี


ประโยชน์ของการเลี้ยงมดแดง
- มดแดง เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทแมลงที่เป็นประโยชน์ทาง ช่วยป้องกันและกำจัดหนอนศัตรูพืชและแมลงที่เป็นศัตรูพืชต่าง ๆ เช่น เพลี้ยต่าง ๆ หนอน ตั๊กแตน จักจั่นสีเขียว

- มดแดงมีความสามารถที่จะกำจัดและควบคุมศัตรูพืชให้อยู่ในระดับสมดุลทาง ธรรมชาติ ทำให้ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลงได้ ช่วยให้ลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อม

- มดแดงใช้เป็นอาหารได้จากไข่และตัวมดแดง โดยทั่วไป มดแดงมีกรดมดให้รสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาว หรือน้ำสมสายชูได้

- ใช้สูดดมแก้เป็นลม แก้หวัด หน้ามืด ตาลาย วิงเวียนศีรษะ ใช้ลบรอยไฝ โดยใช้ตัวมดแดงกัดตรงไฝให้มดแดงเยี่ยวใส่ ไฝจะบวมและเปื่อยละลายหลุดไปด้วยฤทธิ์ของกรดมดแดง

- ไข่มดแดงยังเป็นเมนูจานเด็ดอย่างหนึ่งในตำรับอาหารอีสาน เช่น ก้อย ยำไข่มดแดง ไข่เจียวใส่ไข่มดแดง แกงขี้เหล็กใส่ไข่มดแดง เป็นต้น ไข่มดแดงนั้นชาวอีสานชอบกันมาก ส่วนราคาซื้อขายนับว่าค่อนข้างแพง สามารถนำไปจำหน่ายได้ในราคาขีดละ 20 บาทหรือกิโลกรัมละ 200 บาทโดยที่มะม่วงแต่ละต้นจะให้ผลผลิตจากไข่มดแดงได้ถึง 4-7 กิโลกรัม



เทคนิคการเลี้ยงมดแดงให้ได้ไข่มากและมีขนาดใหญ่
วัสดุ/อุปกรณ์
1. ขวดพลาสติก
2. น้ำ + น้ำตาลทราย
3. เศษอาหาร


ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยง :
มดทุกชนิดก็ยังนิยมชมชอบความหวานเสมอ นำน้ำผสมกับน้ำตาลทราย คนให้ละลาย ใส่ไว้ในขวดที่ใช้สำหรับให้น้ำ เป็นเทคนิคการล่อให้มดลงมากินน้ำ และเศษอาหารได้ง่าย


ประโยชน์ที่ได้รับ :
จะได้ไข่มดแดงที่มีขนาดใหญ่ และมากกว่าตามธรรมชาติจึงทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น



ทีมา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร * 1677
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.อุบลราชธานี ( idf 1651 )

http://www.fft-nakhon.com/2011-03-06-18-45-06/2011-03-27-07-35-49.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 23/04/2011 9:08 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เทคนิคการจับ และเริ่มเลี้ยงมด


จากที่หลายๆคนอาจได้อ่านในบทความที่แล้วเกี่ยวกับ ความรู้เบื้องต้นก่อนการจับมด ....

ทีนี้หลังจากเราได้ข้อมูลกันมาพอสมควร เราก็มาเริ่มการจับมดกัน โดยผมแบ่งวิธีการจับตามลักษณะการเลี้ยงออกเป็นสองวิธีดังนี้ครับ

1. การเลี้ยงโดยเริ่มจากนางพญาเพียงแค่ตัวเดียว
เป็นการเลี้ยงมดโดยเริ่มจาก จับนางพญามาเพียงแค่ตัวเดียว ซึ่งวิธีการจับก็คือการหาจับเอาตามช่วงฤดูผสมพันธุ์ของมดสายพันธุ์ที่จะเลี้ยงครับโดยข้อมูลของฤดูผสมพันธุ์ของมดในแต่ละสายพันธุ์ ผมจะพยายามหาข้อมูลแล้วเอามาลงกันให้ได้อ่านกันมากที่สุดครับ



การเลี้ยงแบบนี้นั้น มีข้อดีและข้อเสียดังนี้
ข้อดี:
เราจะได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงของรัง รวมถึงพฤติกรรมของนางพญาเรียกได้ว่าตั้งแต่เริ่มแรกเลยจริงๆ เพราะนางพญาที่เราจับมานั้น พูดง่ายๆว่ายังไม่เคยผ่านการวางไข่หรือสร้างอาณาจักรที่ไหนมาก่อนแน่นอน

อีกข้อก็คือเรามั่นใจได้เลยว่า นางพญามดที่เราจับมานั้น จะอยู่กะเราไปอีกนานถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เนื่องจากดังที่กล่าวมาแล้วว่า นางพญาที่เราจับมานั้น ไม่เคยผ่านการสร้างอาณาจักรที่ไหนมาก่อน ดังนั้นมันจึงเหมือนกับเพิ่งเริ่มวิถีชีวิตของมันสดๆใหม่ๆ ต่างจากนางพญาที่เราไปจับมาจากรังที่มีอยู่ ซึ่งเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เค้าสามารถจะอยู่กะเราได้อีกระยะเวลาเท่าไหร่ตามอายุขัยของเค้าเอง

ไม่ต้องกังวลเรื่องการออกแรงขุดดิน บาดแผลเนื่องจากโดนมดต่อย กัด ฯลฯ อีกมากมายในการไปหามด เพราะว่าสิ่งที่เราต้องทำคือเพียงแค่ หาช่วงฤดูผสมพันธุ์ แล้วก้มตามพื้นหานางพญาที่ผ่านการผสมพันธุ์ และสลัดปีกแล้วเท่านั้น !!

เนื่องจากจะเป็นวิธีการเลี้ยงที่ค่อยๆริเริ่มไปทีละนิดจากนางพญาเพียงตัวเดียว ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณน้ำ หรืออาหารที่ต้องให้ในระยะแรก รวมถึงการรักษาความสะอาดทำได้ง่าย เมื่อเทียบกับรังขนาดใหญ่
ข้อเสีย:

การรอคอย !! รอแล้วรออีก สำหรับคนใจร้อนที่อยากจะต้องการเห็นการดำรงชีวิตของมดแบบรวดเร็ว การหาอาหาร ศึกษาสังคมของมด ฯลฯ เค้าอาจจะต้องรอคอยเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากต้องใช้เวลาในระยะแรกสำหรับการวางไข่ของนางพญา กว่าไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน (Larvae) กว่าตัวอ่อนจะกลายเป็นดักแด้ (Pupae) กว่าดักแด้จะฟักออกมา (eclose) แล้วกว่าจะรอจนมดงานโตสามารถหาอาหารได้ แล้วขยายอาณาจักรต่อไป ซึ่งสิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็คือ ใจเย็นๆ และรอเท่านั้น...
โอกาสการจับนางพญาที่ไม่ได้รับการผสม จากประสบการณ์ที่ผมผ่านมา การจับนางพญาในช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้นไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่านางพญาที่เราจับมานั้นได้รับการผสมเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่านางพญาที่เราจับมาจะไม่มีปีกแล้วก็ตาม แต่ในทางเดียวกัน นางพญาที่ยังมีปีกอยู่ก็สามารถพบว่าได้รับการผสมและสามารถวางไข่ได้เช่นเดียวกัน นอกจากหนี้ ในหลายๆคนอาจสับสนระหว่างนางพญามดกับแมลงเม่า ซึ่งจะบินมาปนๆกันแถวหลอดไฟช่วงฤดูผสมพันธุ์ จึงต้องสังเกตดีๆในการจับ
การจัดที่อยู่อาศัยให้เข้ากับสายพันธุ์ที่จับมานั้น ทำได้ยาก เนื่องจากนางพญาที่เราเจอในช่วงผสมพันธุ์นั้น เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ารังเดิมเค้าอยู่แถวไหนมาก่อน ลักษณะรังเป็นอย่างไร ฯลฯ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่เราจะจัดรัง กำหนดความชื้น อุณหภูมิ ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตให้กับนางพญาที่เราทำการจับมา
การที่จะไม่รู้ได้เลยว่าเมื่อไหร่นางพญาจะออกไข่ชุดแรก การเลี้ยงโดยเริ่มจากนางพญาตัวเดียวยังอาจทำให้เราต้องรอเก้อได้ เนื่องจาก กรณีแรกคือนางพญาไม่ได้รับการผสมซึ่งจะไม่มีการออกไข่เลย ส่วนอีกกรณีนึงก็คือ นางพญาเลือกที่จะเลื่อนช่วงการออกไข่ออกไปฤดูอื่น ซึ่งกว่าจะออกไข่ก็อาจต้องรอเป็นเดือนๆกันเลย ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ อาจทำให้เราต้องรอเป็นระยะเวลานานมาก เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่านางพญาที่เราจับมานั้นจะเป็นแบบกรณีไหน

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเลี้ยงมดโดยเริ่มจากนางพญาแค่ตัวเดียวคือเริ่มจากเลี้ยงในหลอดทดลอง (Test tube) ดังรูปครับ


โดยมีวิธีการทำดังนี้
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
- หลอดทดลอง
- สำลี
- น้ำ
- ปากกาหรือไม้ยาวๆสำหรับดันสำลี
- กระดาษทิชชู่

เมื่อได้อุปกรณ์ครบแล้ว จึงเริ่มเติมน้ำลงในหลอดทดลองให้เต็ม จากนั้นนำสำลีอุดเข้าที่ปลายด้านบนหลอดทดลองให้แน่นพอที่เราจะสามารถกดลงไปได้ จากนั้นจึงกดลงไปจนถึงระดับที่เราต้องการให้เหลือน้ำไว้ (ประมาณ 1 ใน 3 หลอดทดลอง) แล้วจึงเทน้ำที่เกินออกจากหลอดทดลอง

จากนั้นนำปากกาหรือไม้ยาวพันด้วยกระดาษทิชชู่ เช็ดภายในให้แห้ง แล้วเราก็มาเริ่มทดสอบว่าน้ำจะขังอยู่ภายในได้รึเปล่า โดยการคว่ำหงายหลอดทดลองไปมา แล้วสังเกตว่าน้ำจะไหลออกจากสำลีมาท่วมหรือเปล่า เมื่อทดสอบเรียบร้อยแล้วก็สามารถนำนางพญามาใส่ไว้ แล้วเอาสำลีอุดอีกด้านได้เลยครับ


ข้อควรระวัง
การเอาสำลีออกจากหลอดทดลองค่อนข้างทำได้ลำบาก และอาจทำให้หลอดทดลองแตกได้ เพราะฉะนั้นควรใช้ที่คีบ ค่อยๆดึงสำลีออกมา ไม่ควรเอาไม้แหย่เข้าไปเพื่อเขี่ยสำลีออกมา

เมื่อเรานำนางพญาใส่หลอดลองแล้ว จึงหาอะไรมาปิดให้มืดหรืออาจจะใช้กระดาษ cellophane สีแดงปิด (แต่ในมดบางสายพันธุ์อาจไม่สามารถทำได้ครับ) เพื่อให้นางพญาไม่รู้สึกเครียด และเริ่มวางไข่ครับ โดยขณะที่นางพญาวางไข่ เราอาจไม่จำเป็นต้องให้อาหารเพิ่มเลย เพียงแต่คอยดูสำลีที่ชุ่มไปด้วยน้ำว่ามีการขึ้นราหรือเปล่าครับ เมื่อไข่ฟักเป็นมด (ซึ่งปกติใช้เวลาประมาณ 20 วัน ถึง 1 เดือนในมดชุดแรก) จึงเริ่มให้อาหารได้ ลูกๆมดงานจึงจะนำอาหารไปป้อนแก่นางพญาเองครับ เมื่อจำนวนมดงานเริ่มเยอะมากขึ้นพอประมาณ จึงสามารถย้ายเข้าสู่ที่เลี้ยงแบบต่างๆตามใจชอบได้ครับ ^^


2. การเลี้ยงโดยเริ่มจากรังที่มีขนาดใหญ่แล้ว
เป็นการเลี้ยงมดโดยการหานางพญาจากรังตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสอยรังบนต้นไม้ ขุดรังบนดิน แซะใต้ท่อนไม้ ฯลฯ อีกหลายวิธี โดยเป็นการจับมาทั้งนางพญา และตัวลูกๆมดงานมาด้วย ซึ่งในการเลี้ยงแบบนี้นั้นมีข้อดีและข้อเสียดังต่อไปนี้ครับ

ข้อดี:
ไม่ต้องมานั่งรอว่าเมื่อไหร่ไข่จะฟัก เมื่อไหร่จะมีมดงานออกมาทำงานกัน เพราะว่า รังที่เราจับมานั้นมีมดทุกวรรณะอาศัยอยู่ เราจึงจะเห็นพวกเค้าออกล่าด้วยกันเป็นกลุ่ม ปกป้องรัง สื่อสารกัน และอาจจะพัฒนาสร้างรังเป็นแบบแปลกๆกันไปตามสายพันธุ์เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกแก่นางพญาของพวกเค้าเอง

เราจะสามารถเห็นวรรณะ และลักษณะต่างๆของมดสายพันธุ์ที่เราจับมาแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ในมดที่เป็น Polygynous เราอาจจะได้นางพญามามากกว่า 1 ตัวในการขุดหารัง หรือมดสายพันธุ์ที่มีหลายวรรณะที่เราเรียกว่า Polymorphic คือมีทั้งมดงานหลายขนาด มดทหารหลายขนาด ฯลฯ หรือแม้แต่เราอาจจะพบกับมดตัวเมียที่เพิ่งฟักออกมาจากไข่หรือที่เราเรียกว่า Female Alates (Virgin queens) หรือมดตัวผู้ (Male Alates) ซึ่งเป็นมดที่จะฟักออกมาในช่วงฤดูผสมพันธุ์และจะไม่ออกจากรังจนกว่าจะถึงเวลาผสมพันธุ์ (แต่ผมแนะนำว่าถ้าเจอควรจะปล่อยพวกเค้าไปครับ เพื่อให้เค้าได้ไปผสมพันธุ์และสร้างรังต่อไป)

เราจะเห็นลักษณะการทำงานของมดงานที่เราจับมาครับ ซึ่งในบางสายพันธุ์ อาจแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน เช่น มดงานขนาดเล็ก (Nursemaid) คอยเลี้ยงดูไข่และตัวอ่อน, มดงานขนาดกลาง (Average workers) คอยออกหาอาหาร และมดทหาร หรือมดงานขนาดใหญ่ (Soldier, Major ants) ที่ลักษณะหัวโตๆ จะคอยคุ้มครองรัง

การออกหาจับมดทั้งรังนั้น นอกจากเราจะได้มดมาทั้งรังสำหรับเลี้ยงแล้ว เรายังได้ศึกษาถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเค้าด้วยว่าเค้าอยู่ลักษณะแบบไหน สภาพรังของเค้าเป็นอย่างไร อุณหภูมิ ฯลฯ ซึ่งเราอาจจะใช้สิ่งต่างๆเหล่านี้ มาออกแบบลักษณะรังที่เลี้ยงให้เค้ากับลักษณะการดำรงชีวิตของมดสายพันธุ์นั้นๆได้ดีที่สุด
ข้อเสีย:

ขนาด และการพัฒนาการของรัง อาจจะคงที่ หรือเพิ่มเล็กน้อยถ้าเปรียบเทียบกับการเริ่มเลี้ยงเพียงนางพญาแค่ตัวเดียว

ไม่มีอะไรยืนยัน และเราจะไม่รู้เลยว่า รังที่เราฝ่าดงมด ฝ่าขวากหนามในป่า สัตว์มีพิษ เข้าไปขุด สอย ฯลฯ นั้น เราจะเจอนางพญามดหรือไม่ ซึ่งหลายๆคนอาจจะประสบปัญหานี้ และถือว่าเหนื่อยและท้อเลยทีเดียวถ้าหากเราไม่สามารถหาตัวนางพญาได้

สมมุติว่าเราพบนางพญา และสามารถจับมาเลี้ยงได้ แต่ก็ยังไม่มีอะไรยืนยันอยู่ดีว่า นางพญาที่เราจับมานั้น จะมีอายุขัย และสามารถอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ บางที อาจะเป็นรังที่สร้างมานานแล้ว และเป็นนางพญาที่แก่ ใกล้เกษียณปีสุดท้ายแล้ว พอเราจับมา เค้าก็สามารถออกไข่ได้อีกเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น!!

การออกไปขุดรังในป่าตามธรรมชาติถือว่าเป็นเรื่องอันตรายแต่ก็อาจจะเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับบางคนที่อาจถือว่าเป็นเรื่องท้าทายที่เราจะสามารถเจอมดสายพันธุ์แปลกๆได้

ผู้ที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆอาจจะมีปัญหากับขนาดของรังที่เราจับมาเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับ ปริมาณอาหาร หรือน้ำให้ไม่พอ ให้มากเกินไป ฯลฯ นอกจากนี้อาจพบปัญหาเกี่ยวกับการดูแลรักษารัง เนื่องจากรังขนาดใหญ่ จะต้องมีพื้นที่ให้บรรดามดได้ออกมาเดิน หาอาหาร (Foraging Area) หรือเพื่อขนสิ่งปฏิกูลต่างๆ สมาชิกของพวกมันที่ตายแล้ว ออกมาทิ้งไว้ภายนอก โดยถ้าดูแลรักษาไม่ดีแล้ว ปัญหาที่อาจตามมาคือ รังขึ้นรา และนางพญาอาจตายได้

ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงแบบนี้คือ ต้องมีรังที่ค่อนข้างใหญ่ และเหมาะสมต่อการเลี้ยงครับ นอกจากนี้อาจจะต้องมี Foraging Area ต่อออกมาเพื่อให้มดงานทั้งหลายได้ออกมาหาอาหารเข้าไปในรังเพื่อเป็นอาหารต่อนางพญาของพวกเค้าด้วย



เป็นอย่างไรบ้างครับกับบทความนี้ อาจจะดูมีเนื้อหาเยอะไปหน่อย แต่ผมหวังว่าจะเป็นพื้นฐานที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อคนที่คิดอยากจะเลี้ยงมดเป็นงานอดิเรก ไม่มากก็น้อยนะครับ ^^


http://www.anantz.com/page9/page15/page15.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©