-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - เขียวเขาสมิง พืชคุณค่ามากยิ่งกว่า "ไผ่"
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

เขียวเขาสมิง พืชคุณค่ามากยิ่งกว่า "ไผ่"

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 19/04/2010 6:16 pm    ชื่อกระทู้: เขียวเขาสมิง พืชคุณค่ามากยิ่งกว่า "ไผ่" ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เขียวเขาสมิง พืชพรรณมหัศจรรย์ คุณค่าล้ำเลิศ มากยิ่งกว่า "ไผ่"

ใช้เวลาศึกษาไผ่จีนเขียวเขาสมิง 4 ปีเต็ม คุณบุญชู สุขเกษม มีข้อมูลหลายด้านมานำเสนอ คุณบุญชู บอกว่า ไผ่จีนเขียวเขาสมิงใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง พื้นที่ปลูกของเขาเอง รวมทั้งญาติพี่น้อง มีไม่น้อยกว่า 40 ไร่ เพื่อนบ้านที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ประสบปัญหาเรื่องผลไม้ราคาตกต่ำ ได้พิจารณา นำไผ่จีนเขียวเขาสมิงเข้าไปปลูกจำนวนหนึ่งได้ผลดี จึงมีโครงการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

ทุกวันนี้ นอกจากไผ่จีนเขียวเขาสมิงแล้ว คุณบุญชูยังศึกษาไผ่หลายชนิด เช่น ไผ่รวก ไผ่ลำมะลอก ไผ่สีสุก ไผ่บงหวานจังหวัดเลย ไผ่ปักกิ่ง เป็นต้น

คุณบุญชู อยู่บ้านเลขที่ 41/3 หมู่ที่ 1 ตำบลเทพนิมิต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เจ้าตัวบอกว่า นอกจากปลูกไผ่แล้ว ยังเลี้ยงไก่ไข่ ให้กับบริษัทเอกชน ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 4 เดือน ได้ค่าจ้างตัวละ 11 บาท ผลพลอยได้ค่อนข้างดี เป็นขี้ไก่ นอกจากจะใช้ใส่ให้กับต้นไผ่แล้ว ที่เหลือยังจำหน่ายได้เงินอีกด้วย

ปลูกไผ่จีน ดูแลพอสมควร ......อย่างน้อยได้ 400 บาท ต่อกอ
อย่างที่แนะนำไปแล้ว คุณบุญชู ปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิงมานาน 4 ปี จึงสามารถบอกเล่าข้อมูลได้อย่างชัดเจน

คุณบุญชูบอกว่า เกษตรกรมีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ ควรใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถวปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิง 4 คูณ 4 เมตร จะได้จำนวนต้น 100 ต้น ต่อไร่ ถือว่าได้จำนวนต้นมาก ดูแลทั่วถึง ส่วนใครมีที่ดินมาก อาจจะใช้ระยะปลูก 5 คูณ 5 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 64 ต้น หากปลูกระยะ 6 คูณ 6 ต้น ไร่หนึ่งปลูกได้ 44 ต้น

สิ่งที่จะช่วยให้หน่อดก อยู่ที่การไว้ลำ คุณบุญชูบอกว่า อย่าไว้ลำเกิน 6 ลำ ต่อกอ แล้วจะได้ผลผลิตของหน่อ 25-30 กิโลกรัม ต่อกอ ต่อปี

การปลูกถี่แล้วแสงแดดส่องได้น้อย มีผลต่อผลผลิตเช่นกัน คือหน่อจะไม่ดก
เจ้าของอธิบายว่า ผลผลิตของไผ่จีนเขียวเขาสมิง สามารถเก็บได้ 25-30 หน่อ ต่อกอ ต่อปี น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม

ราคาที่ขายผลผลิต เดือนมีนาคม กิโลกรัมละ 30 บาท ต้นเดือนเมษายน 25 บาท ปลายเดือนเมษายน 20 บาท เดือนพฤษภาคม หน่อไม้ป่าออกสู่ตลาด ราคาผลผลิตอาจจะเหลือ กิโลกรัมละ 5-10 บาท เจ้าของจะไม่ตัดจำหน่าย แต่จะไว้ลำ

โดยเฉลี่ย เจ้าของบอกว่า จำหน่ายหน่อไม้ได้ กิโลกรัมละ 20 บาท หากกอหนึ่งได้ผลผลิต 20 กิโลกรัม จะมีรายได้ 400 บาท ต่อกอ พื้นที่ 1 ไร่ มี 100 กอ จะสร้างรายได้ให้กับเจ้าของ 40,000 บาท โดยที่ต้นทุนการผลิตมีไม่มาก หากขายได้ราคาสูงขึ้น เป็นกิโลกรัมละ 25 บาท จะมีรายได้ไร่ละ 50,000 บาท

ทำให้ออกก่อนฤดู....มีน้ำทำได้ไม่ยาก
คุณบุญชู เคยทดลองใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์และปุ๋ยคอกใส่ให้กับต้นไผ่ ปรากฏว่า การเจริญเติบโตไม่ต่างกันนัก ดังนั้น หากต้องการลดต้นทุนใช้ปุ๋ยจากขี้ไก่ ขี้วัว และขี้หมูดีที่สุด

ระหว่างปี ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ย แต่เมื่อใดที่ต้องการหน่อ ให้ใส่ปุ๋ยช่วงนั้น ต้นทุนปุ๋ยคอก ตกกอละ 30 บาท

ช่วงปีใหม่ คุณบุญชูจะรดน้ำต้นไผ่จนชุ่ม พร้อมใส่ปุ๋ย ควรให้น้ำติดต่อกัน 2-3 วัน จากนั้นก็ดูแลเรื่องความชื้น อย่าให้แห้ง หากมีน้ำน้อยควรคลุมโคนให้ พุ่มของต้นไผ่ช่วยรักษาความชื้นได้มาก เมื่อรดน้ำติดกัน 2-3 วัน จากนั้นให้วันเว้นวัน ครั้งละ 2 ปีโดยประมาณ ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไผ่ก็จะเริ่มมีหน่อ และมีมากช่วงเดือนมีนาคม ยามใดที่หน่อโผล่ออกมา หากขาดน้ำ หน่อจะแห้งเสีย นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้

เทคนิคการผลิตหน่อไผ่ก่อนฤดู คือการให้ปุ๋ยให้น้ำ โดยให้น้ำปีใหม่ เก็บผลผลิตได้ต้นเดือนมีนาคม

ถามคุณบุญชูว่า ถ้าอย่างนั้นให้น้ำเดือนพฤศจิกายน เพื่อจะเก็บผลผลิตต้นเดือนมกราคมได้ไหม
คุณบุญชูตอบว่าได้ แต่หน่อที่ได้จะไม่มาก เพราะต้นไผ่ เขาให้หน่อมาทั้งปี จนหมดฝน จึงต้องมีการพักตัว ปล่อยให้มีการสะสมอาหาร ผ่านระยะแล้งบ้าง การรดน้ำต่อเนื่องให้หน่อได้แต่ไม่มาก ดังนั้น เทคนิคจึงต้องปล่อยให้ต้นได้พักตัวสักระยะหนึ่ง เป็นการพักเหนื่อยต้นไผ่ ป้องกันการสับสน

ทำสบู่จากถ่านไผ่จีนเขียวเขาสมิง.......เพิ่มมูลค่าสิ่งที่มีอยู่
คุณบุญชูเคยนำเสนอ การทำอาหารจากหน่อไผ่จีนเขียวเขาสมิง ซึ่งทำได้หลากหลายมาก แล้วก็อร่อยเสียด้วย

เจ้าของบอกว่า ความต้องการใช้ไม้ไผ่ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะแถบภาคตะวันออก มีการนำลำไผ่ไปใช้ในสวนผลไม้ ใช้ทางด้านการประมง มีคนต้องการซื้อลำไผ่จากคุณบุญชู แต่ปริมาณยังไม่พอที่จะแบ่งขายให้

"ลำใช้ได้ทุกอย่าง จักสานอาจจะต้องมีอายุมากกว่า 1 ปี ส่วนเฟอร์นิเจอร์ต้อง 3 ปีขึ้นไป มีคนนำไปทำใช้งานแล้ว ใช้ได้ดี หากเผาถ่าน ใช้ไม้ไผ่ 100 กิโลกรัม เผาแล้วเหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ผมลองนำลำที่เหลือจากการขยายพันธุ์อายุปีเศษไปเผาถ่าน แล้วนำถ่านมาทำสบู่เหลว สบู่ก้อน เมื่อมีงาน ทดลองนำไปจำหน่าย ปรากฏว่า มีเสียงตอบรับดี" คุณบุญชู บอก

นอกจากศึกษาการปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิงอย่างจริงจังแล้ว คุณบุญชูยังทดลองทำผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น

กรณีของสบู่ คุณบุญชูเล่าวิธีการผลิตว่า ตามร้านจะมีชุดทำสบู่เหลวจำหน่าย สามารถซื้อหาได้ทั่วไป เมื่อได้มาแล้ว คุณบุญชูเตรียมผงถ่านที่ได้จากการเผา โดยตำให้ได้ผงถ่านที่ละเอียดจริงๆ ใช้ผงถ่านและน้ำผึ้งผสมกับวัสดุทำสบู่เหลว จะได้สบู่เหลว 10 ขวด ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ขวดละ 30 บาท ราคาจำหน่ายเมื่อผลิตเสร็จแล้ว ขวดละ 50-60 บาท ส่วนสบู่แข็ง เขามีสูตรต่างหาก เจ้าของมีพิมพ์แตกต่างกันไป สบู่แข็งจำหน่ายก้อนละ 35 บาท หากขาย 3 ก้อน ก็ 100 บาท

คุณบุญชูบอกว่า การผลิตสบู่ ทำได้ไม่ยาก โดยทั่วไปก็อย่างที่แนะนำไปแล้ว เกษตรกรในท้องถิ่นใดมีวัตถุดิบก็ปรับเปลี่ยนทำได้ เมื่อมีส่วนผสม ก็นำสิ่งนั้นมาใช้ อย่างเช่น สบู่ขมิ้น สบู่จากมะพร้าว เป็นต้น

"การทำสบู่จากถ่านไม้ไผ่ เรียนรู้มาจากกลุ่มแม่บ้านที่สระแก้ว เอามาปรับใช้อีกทีหนึ่ง เราใช้น้ำผึ้งผสมเข้าไป เพราะน้ำผึ้งแถวนี้หาง่าย คนเข้าใจว่าสบู่จากถ่านจะดำ ใช้แล้วผิวไม่ดำ ส่วนผสมของถ่านใช้ไม่มาก ราว 1 ช้อนแกง ต่อ 1 ชุด ผลิตภัณฑ์ที่ผมทำ เมื่อมีงานก็นำไปเสนอ อยากให้ทราบว่าไผ่นั้นมีประโยชน์มากมาย ใช้ล้างสารพิษได้" คุณบุญชู บอก

สบู่จากถ่านไม้ไผ่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อผู้ใช้ไม่น้อย เพราะใช้แล้วผิวพรรณดีขึ้น สามารถขจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาตามผิวหนัง

ถามว่า หากเผาถ่านด้วยไม้ไผ่คุ้มค่าไหม
คุณบุญชูบอกว่า คุ้ม...แต่ทุกวันนี้ ประโยชน์ของลำไผ่ ทำอย่างอื่นได้มาก ควรใช้ทำอย่างอื่นก่อน เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ มูลค่าจะสูงกว่ามาก

หลังจากที่พูดคุยกับคุณบุญชู เขาได้พาไปชมแปลงปลูกไผ่ของเพื่อนบ้าน คือ คุณไก่ หรือ คุณสุเทพ เดชตระกูล อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 1 ตำบลเทพนิมิต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด

คุณไก่ มีอาชีพทำสวนผลไม้ อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง เขามีสวนหลายแปลงด้วยกัน เขาได้ทดลองปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิงจำนวนหนึ่ง เป็นระยะเวลา 8 เดือน ปรากฏว่า บางกอมีลำออกมาแล้วถึง 14 ลำ ด้วยกัน เนื่องจากราคาเงาะผันผวน คุณไก่จะเปลี่ยนสวนเงาะ มาปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิง จำนวน 38 ไร่ ราวๆ 3,800 ต้น

"ปลูกไผ่จำนวนหนึ่ง เงาะราคาไม่ดี ปลูกไผ่ไม่ต้องใช้สารเคมี อาจจะใช้ปุ๋ยคอก" คุณไก่ บอก

ประสบการณ์ 4 ปี ของคุณบุญชู สำหรับเรื่องราวของไผ่จีนเขียวเขาสมิง ถือว่าเป็นงานที่น่าสนใจไม่น้อย

ที่ดินตรงที่ปลูกไผ่ของคุณบุญชู เดิมยังไม่ได้รับการพัฒนา เมื่อก่อนปล่อยให้รกร้าง เมื่อคุณบุญชูและภรรยา กลับบ้านไปปลูกไผ่ ปรากฏว่า ความอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้นมาเยือนในเวลาอันรวดเร็ว

ไผ่ เป็นพืชที่รับใช้ผู้คนมานาน เรียกว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะป่าไม้หดหายไป ไผ่เป็นพืชที่ปลูกแล้วให้ผลตอบแทนได้เร็ว

ไผ่จีนเขียวเขาสมิงให้ผลตอบแทนแก่ผู้ปลูกได้อย่างมหัศจรรย์ อาจจะพูดได้ว่า หากปลูกดูแลดีพอสมควร เขาจะให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของได้มากกว่าคำว่า "ไผ่" ด้วยซ้ำไป

ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2553 นี้ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จะจัดเสวนาเกษตรสัญจร ไปเที่ยวสวนผลไม้ภาคตะวันออกกัน กำหนดการหนึ่งที่จะแวะกันคือ สวนไผ่ของคุณบุญชู สุขเกษม ผู้สนใจร่วมเดินทาง ดูรายละเอียดได้ ในนิตยสารฉบับนี้ หน้า 12 แล้วรีบจองที่นั่งด่วน

หรือใครอยากพูดคุยกับคุณบุญชูโดยตรง ก็สอบถามได้ตามที่อยู่ หรือโทร. (086) 127-1256

คุณประโยชน์ของถ่าน
ถ่านมีคุณสมบัติในการรักษาสุขภาพ ถ่านที่เผาด้วยความร้อนสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส มีประโยชน์ดังนี้
หนึ่ง...ดูดซับแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้
สอง...แก้แพ้อาหารและกินยาเกินขนาด
สาม...แก้อาการท้องร่วง
สี่...แก้ลมหายใจมีกลิ่น
ห้า...แก้เหงือกอักเสบ และแผลในปาก ใช้อมเมื่อมีอาการเจ็บคอ
หก...ลดไขมันและคอเลสเตอรอล
เจ็ด...ดูดซับสารพิษบางตัวในร่างกาย
แปด...ดูดซับสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้
เก้า...ช่วยรักษาอีสุกอีใส
สิบ...ใช้ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย
สิบเอ็ด...ประคบแผลมีหนอง อักเสบและบวม
สิบสอง...ดูดสารพิษต่างๆ เช่น สารหนู สารตะกั่ว เป็นต้น

นอกจากนี้ ผงถ่านไม้ไผ่บันตัน ที่เผาด้วยความร้อนสูง กว่า 1,000 องศาเซลเซียส ยังมีความบริสุทธิ์ของคาร์บอนสูง ไม่มีสารทาร์หรือเป็นสารที่มีอันตรายต่อร่ายกาย ดูดซับสารเคมีและกลิ่นได้ดี มีประจุลบสามารถต่อต้านแบคทีเรีย ให้รังสีฟราเรดระดับต่ำ ช่วยในการไหลเวียนเลือด

ผงถ่านสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย.....อาทิ
ใช้ดูดซับแก๊สและล้างพิษในกระเพาะอาหารและลำไส้
ใช้ล้างผัก ผลไม้
ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่ แชมพู ใช้ปริมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกและไขมันตามรูขุมขน ขจัดเซลล์ที่ตาย

พานิชย์ ยศปัญญา panit@matichon.co.th

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©