-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ความสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ความสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 19/04/2010 8:59 pm    ชื่อกระทู้: ความสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ความสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ โดยใช้แรงงานคนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

โดย ดร. สมชาย ชวนอุดม ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีทั้งพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณของผลผลิตมากที่สุด แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของไทยคือ ทุ่งกุลาร้องไห้ การเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติมีอยู่ 2 วิธี คือ การเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน และการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด ในคอลัมน์นานาสาระฉบับนี้จะกล่าว ถึงเฉพาะในส่วนการเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน

การเก็บเกี่ยว โดยแรงงานคนเป็นที่นิยมปฏิบัติกันในพื้นที่ที่ขาดแคลนเครื่องเกี่ยวนวด หรือผู้ ประกอบการไม่นิยมเข้าไปรับจ้างเกี่ยวนวดเนื่องจากสภาพที่นาเป็นแปลงเล็ก มีต้นไม้มากและคันนาใหญ่ เพราะจะทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงส่งผลต่อรายได้ในการรับจ้างที่คิดเป็นแบบเหมาจ่ายต่อไร่ ในการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนจะใช้แรงงานในครอบครัว การลงแขกและหรือการว่าจ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ สภาวะหลาย ๆ อย่าง เช่น สภาพข้าว สภาพพื้นที่ สภาพสังคม แรงงานครอบครัว ภาวะเงินสด สภาพอากาศ และหรือการประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเพาะปลูกข้าว เป็นต้น ในขั้นตอนที่ทำให้เกิดความสูญเสียจาก การเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้โดยใช้แรงงานคนมีดังนี้

การเกี่ยว เกษตรกรนิยมทำการเก็บเกี่ยวข้าวโดยการใช้เคียวทำการเกี่ยวทีละหลายๆ รวง ซึ่งการเกี่ยวด้วยเคียวมีอยู่ 2 แบบ คือ เกี่ยววางราย โดยส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ใช้กับพื้นที่ นาแห้งหรือนาที่มีน้ำขังไม่มาก โดยเกี่ยวแล้ววางเป็นกองเรียงบนฟางให้ได้มากพอ สำหรับมัดฟ่อน และ การเกี่ยวพันกำ เป็นวิธีที่ใช้กับนาที่มีน้ำขังโดยการเกี่ยวเป็นกำ พร้อมทั้งมือแล้วสุมตากไว้บนตอซัง การเก็บเกี่ยวโดยแรงงานคนจะมีการสูญเสียข้าว ในขั้นตอนนี้ค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 60 ของความสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวโดยใช้ แรงงานคน เนื่องจากการขาดความระมัดระวังของผู้เกี่ยวสาเหตุอาจเนื่องมาจากเคียว ไม่คม เกี่ยวแรงเกินไป รีบเกี่ยวและหรือเกี่ยวไม่หมด โดยเฉพาะในกรณีของการรับ จ้างเกี่ยว หรือการเก็บเกี่ยวไม่ทันเวลาทำให้เลยช่วงระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมส่งผล ต่อความสูญเสียจากการเกี่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น

การตาก เป็นการลดความชื้นของข้าวก่อนการนวด เมื่อเกี่ยวรวมกองแล้วจะทำการตากข้าวในนา โดยการค้างบนตอซังหรือตากบนคันนาหรือพื้นนา แล้วแต่สภาพพื้นที่แปลงนาขณะนั้น ทำการตากแผ่ ประมาณ 2 – 3 แดด หรืออาจจะตากนานถึง 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สภาพข้าว และการ จัดการในการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร การตากแผ่ที่นานเกินไปจะทำให้ข้าวมีการร่วงหล่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉลี่ยมีค่า 0.47 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการลดลงของเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวเนื่องจากในระหว่างการตากแผ่ เมล็ดข้าวเจอสภาพอากาศร้อนและแห้งในเวลากลางวันและสภาพอากาศชื้นจากน้ำค้างในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นสภาพอากาศโดยทั่วไปของทุ่งกุลาร้องไห้ในฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เมล็ดข้าวมีการร้าวภายในเมล็ดเพิ่มขึ้น (สมชาย, 2543)

การมัดฟ่อน เกษตรกรนิยมมัดฟ่อนข้าวในเวลาเช้าตรู่หรืออาจจะก่อนฟ้าสางเพราะฟ่อนข้าวยังมีน้ำค้าง เกาะอยู่ทำให้ฟางข้าวเหนียวเหมาะกับการใช้มัด เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในทุ่งกุลาร้องไห้จะไม่ใช้ ตอกในการมัดฟ่อนแต่จะใช้ต้นข้าวที่ตัดให้ยาวเพื่อการมัดฟ่อนแทน ในการมัดฟ่อนเกษตรกรจะต้อง ยกฟ่อนและหมุนเพื่อมัดปมให้แน่นในระหว่างการหมุนฟ่อนจะทำให้มีเมล็ดถูกเหวี่ยงร่วงออกมา ส่งผลต่อความสูญเสียที่มีเฉลี่ย 0.49 เปอร์เซ็นต์

การขนย้าย เป็นการขนฟ่อนข้าวมารวมกองไว้เพื่อรอการนวด ซึ่งเกษตรกรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มี รถไถเดินตามใช้กันอย่างแพร่หลายส่วนใหญ่จึงใช้รถบรรทุกพ่วงรถไถเดินตามในการขนฟ่อนข้าวจากแปลง นามารวมกอง ในลักษณะการขนย้ายจะมีทั้งรูปแบบที่ให้รถบรรทุกพ่วงรถไถเดินตามวิ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วขนฟ่อนข้าวที่อยู่ รอบๆ ขึ้นรถบรรทุกพ่วงรถไถเดินตาม และรูปแบบที่มีการรวมกองฟ่อนข้าวไว้ก่อนเป็นจุดให้รถบรรทุกพ่วงรถไถเดินตามวิ่งมาขนกองฟ่อนข้าว จากจุดนั้นเพื่อไปรวมฟ่อนข้าวที่ลานรวมฟ่อนรอการนวดต่อไป รูปแบบของการขนย้ายฟ่อนข้าวเหล่านี้เป็นการกระทบกระเทือนฟ่อนข้าวที่แห้ง ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากข้าวหอมมะลิเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ร่วงง่ายเมื่อสุกแก่ (วินิต และคณะ, 2546) จึงส่งผลให้มีความสูญเสียในส่วนนี้ เกือบ 1 เปอร์เซ็นต์


การนวด เป็นการทำให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวงแล้วทำความสะอาดเพื่อเอาวัสดุที่ไม่ใช่เมล็ดออก ซึ่งมี 2 วิธี หลักๆ คือ การนวดด้วยแรงงานคน โดยเกษตรจะใช้ท่อนไม้ 2 ท่อนผูกเชือกต่อกันเพื่อไว้จับฟ่อนข้าวเมื่อนวดจะใช้ท่อนไม้ดังกล่าวขัดฟ่อนข้าวและ ฟาดฟ่อนข้าวกับแท่นไม้เพื่อให้เมล็ดหลุดออกจากรวง โดยแรงงานที่ใช้จะมีทั้งแรงงานในครอบครัวและการว่าจ้าง และการนวดอีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมและปฏิบัติกันแพร่หลายมากที่สุดในเขตทุ่งกุลาร้องไห้คือการนวดโดยใช้เครื่องนวด โดยเครื่องนวดเกือบทั้งหมดใช้งานในรูปแบบของการรับจ้างนวดโดยคิดค่าจ้างเป็นแบบเหมาจ่ายต่อหน่วยปริมาตรของผลผลิตที่ได้ (วินิต และคณะ, 2541) และการใช้เครื่องนวดทำให้ข้าวหอมมะลิมีความสูญเสียน้อยที่สุดจากทุกขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เพราะว่าเครื่องนวดข้าวที่มีใช้ในประเทศไทยมีสมรรถนะการทำงานที่ดีและเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 19/04/2010 9:02 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการป้องกันการสูญเสียของข้าว

โดย จีรพร ศรีวัฒนานุกูลกิจ

ลดการสูญเสียก่อนการเก็บเกี่ยว

การดูแลรักษาให้พืชผลเจริญงอกงามดี เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งเกษตรกรมีวิธีป้องกันและกำจัดโรคหรือศัตรูข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีฉีดพ่น เช่น

การใช้พืช นำผลส้มโอ(หรือเปลือก)หรือแตงโม มาฝานเป็นกลีบๆ เอาไปเสียบไม้ปักเป็นระยะๆ หรือเอาใบมะไฟหักเป็นก้านๆ เหน็บไม้แล้วเอาไปปักเรียงจากหัวนาไปหางนา หรือเอายาสูบผสมน้ำใส่กระบอกฉีดไปทั่วๆ การระบาดของเพลี้ย-บั่วอาจจะหยุดได้ นอกจากนั้นถ้าข้าวเป็นโรคใบเหลืองแห้งตายใช้ลูกหมากหนัง(เป็นไม้ยืนต้น ผลมีรสเปรี้ยวจะออกผลในช่วงฤดูฝน) เอามาสับให้ละเอียดนำไปหว่านหรือฝังเป็นจุดๆ ทั่วไร่

การใช้เสียง นอกจากคนคอยส่งเสียงไล่แล้ว ยังมีเครื่องมือที่ใช้ไล่นก-หนู เช่น การทำเกราะไล่นกพลังลมนำไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้ การเอาไม้ใส่ข้างในกระป๋องหรือปี๊บที่มีลักษณะคล้ายที่แขวนคอสัตว์ไปแขวนไว้ที่ทุ่งนา เมื่อมีลมพัดจะเกิดเสียงดัง หรือการนำไม้ไผ่มาผ่าแล้วอาจใช้เชือกดึงหรือใช้มือง้างแล้วปล่อยให้กระทบกันเกิดเสียงดัง เป็นต้น

การใช้ปริมาณน้ำ เมื่อมีเพลี้ยมารบกวนจะปล่อยน้ำให้ขังไว้ในนาจนกว่าเพลี้ยจะหมดไป ถ้าเกิดโรคใบไหม้จะงดให้น้ำในแปลงที่เกิดโรค เพราะถ้างดน้ำแล้วจะทำให้โรคใบไหม้หายไป ต้นข้าวจะกลับมาดีเหมือนเดิม

การใช้เครื่องดักสัตว์ เครื่องมือดักสัตว์ที่ใช้มีหลายชนิด เช่น เกิ้งหรือแร้ว ด้วงหรือหล้วง ขะตั๊ม ขุบ ฯลฯ



การใช้กลิ่น การเผาเศษไม้เพื่อให้มีกลิ่นควันไฟ หรือการเอากระดูกหมูหรึ่งมาเผา นอกจากข้าวจะงามแล้วยังใช้ป้องกันแมลงได้ด้วย หรือเอาหน่อไม้ดองจำนวนเล็กน้อยวางกับพื้นดินเป็นจุดๆ ที่มด ปลวกกินหรือเจาะต้นข้าว

การใช้ควัน ถ้ามีมด เพลี้ยหรือบั่ว หรือแมลงอื่นๆ จะก่อกองไฟหลายๆ กองให้มีควัน แมลงเหล่านั้นจะค่อยๆ หายไปเอง

นอกจากนั้นยังมีวิธีการอื่นๆ อีก เช่น การจุดตะเกียงเจ้าพายุในตอนกลางคืน แล้วเอาใบตองกล้วยมาทาน้ำมันมัดแขวนไว้ แมลงก็จะบินมาติดที่ใบตองนั้น บางคนใช้ไม้เสียบหนูให้ตายแล้วเอาไปปักที่นาหรือตามทางที่หนูเดิน หนูจะไม่มารบกวนอีก การทำหุ่นไล่กา การเอากระดาษหลากสีหรือแถบเทปคลาสเซทผูกกับเชือกไปแขวนไว้ เมื่อลมพัดกระดาษหรือแถบเทปจะปลิวไปมา นกจะบินหนีไป เป็นต้น

การป้องกันการกำจัดเศษฟางและข้าวลีบ

หลังจากที่นวดข้าวแล้ว ในกองข้าวเปลือกจะมีทั้งเศษฝุ่น เศษฟางข้าว และข้าวลีบปะปนอยู่ ก่อนนำไปเก็บในยุ้งข้าวหรือในถุง เกษตรกรจะขจัดสิ่งที่ยังปะปนอยู่กับข้าวเปลือกออกไปก่อน ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “พัดข้าว” การพัดข้าวมักจะทำโดยการตักข้าวแล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ ในขณะเดียวกันก็จะใช้เครื่องมือ เช่น พัดขนาดใหญ่ (ปัจจุบันมีการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าสะพายไหล่ โดยนำใบพัดของพัดลมไฟฟ้าไปติดตั้งแทนใบเลื่อยที่ใช้ตัดหญ้า แล้วเดินเครื่อง ใบพัดก็จะหมุนเป่าลมออกมา) หรือพัดลมไฟฟ้า พัดให้สิ่งที่ปะปนอยู่นั้นซึ่งมักจะมีน้ำหนักเบาปลิวออกไป ส่วนข้าวเปลือกก็จะตกลงยังพื้นที่รองรับ



ส่วนการพัดข้าวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บนดอยหลายกลุ่มมีวิธีการที่แตกต่างออกไป โดยจะอาศัยแรงลมธรรมชาติช่วยพัดแทนการใช้เครื่องมืออื่นๆ คือเมื่อจะขจัดสิ่งที่ปะปนในข้าวเปลือกออกไป จะตั้งเสาทำเป็นบันไดหรือการปีนขึ้นไปบนต้นไม้ วันไหนที่เห็นว่ามีลมพัดก็จะนำข้าวใส่กระบุงแบกขึ้นไปบนบันไดหรือต้นไม้ แล้วเทข้าวลงมา ลมจะช่วยพัดสิ่งที่ปะปนอยู่กับข้าวเปลือกออกไป



การลดการสูญเสียจากการนวดหรือตีข้าว

ความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยการใช้รถเกี่ยวข้าว ซึ่งจะเกี่ยวข้าวและแยกข้าวเปลือกออกจากรวงไปในเวลาเดียวกัน แม้ว่าจะสะดวกและรวดเร็วกว่าวิธีที่เคยทำมาแต่ดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมีโอกาสสูญเสียข้าวเปลือกในขณะเก็บเกี่ยวค่อนข้างมาก เนื่องจากพบว่ามีข้าวข้าวเปลือกจำนวนไม่น้อยที่ตกกระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่นา หากเกษตรกรไม่ไปเก็บก็จะสูญเสียข้าวเปลือกจำนวนดังกล่าวไปได้

ในขณะที่การนวดหรือการตีข้าวในแบบดั้งเดิมจะทำในพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งรองรับข้าวเปลือก เช่น การใช้ครุ การใช้เสื่อขนาดใหญ่(ปัจจุบันอาจใช้ผ้าใบแทน) ปูที่พื้น การอุดรูรั่วของพื้นดินโดยการใช้มูลของวัว-ควายทาบริเวณที่จะนวดข้าว แล้วจึงนวดข้าว ข้าวเปลือกก็จะตกอยู่บนสิ่งที่รองรับนั้น

วิธีการนวดข้าวแบบดั้งเดิมอาจใช้วัว-ควายหรือคนเหยียบย่ำ การใช้มือรูด หรือการฟาดข้าวไปบนสิ่งที่นำมารองรับ เช่น เสื่อ ครุ แคร่ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่นช่วยทุ่นแรง เช่น การนำไม้ไผ่หรือรากไม้ไผ่มาทำไม้ตีข้าว และเมื่อมีเศษรวงข้าวที่ยังมีข้าวเปลือกติดค้างอยู่ซึ่งจะตกอยู่ในพื้นที่นวดข้าว ก็จะใช้ไม้ตีหรือการนำเค็ดมะพร้าวมาครูดให้ข้าวเปลือกหลุดออกไป ข้าวเปลือกที่ได้ก็จะตกอยู่ในวัสดุที่ใช้รองรับนั้นหรือหากข้าวกระเด็นออกไปบ้างในขณะที่นวดข้าวก็เพียงเล็กน้อย



การลดการสูญเสียข้าวเปลือกจากเชื้อรา แมลง และหนู

หลายพื้นที่โดยเฉพาะบนดอยสูงสามารถปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้ง แต่ละปีเกษตรกรหลายคนอาจเก็บเกี่ยวข้าวได้ไม่มากนัก ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะเก็บรักษาผลผลิตข้าวไว้ให้ได้ปริมาณมากและนานวัน เพื่อให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคไปจนกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ในปีต่อไป

สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกก็คือ การลดความชื้นของข้าว เพราะหากเก็บข้าวที่ยังมีความชื้นสูงจะทำให้ข้าวขึ้นราได้ เริ่มจากการนำข้าวที่เกี่ยวแล้วไปตากแดดให้แห้ง โดยทั่วไปการตากข้าวมักจะวางตากบนตอข้าวตามทุ่งนาต่างๆ แต่ในบางพื้นที่จะทำราวไม้ไผ่เป็นชั้นๆ ขึ้นไป แล้วนำข้าวที่เกี่ยวแล้วมาวางพาดบนราวนั้น วิธีการนี้นอกจากทำให้ข้าวเปลือกแห้งเร็วและใช้พื้นที่ไม่มากแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้หนูปีนขึ้นไปกินข้าวได้ การตากโดยใช้ราวนี้บางคนนำไปใช้ในการตากผลผลิตชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด เป็นต้น

พืชผักบางชนิดยังช่วยไม่ให้ข้าวเปลือกขึ้นราและไม่มีกลิ่นเหม็น เช่น ผักปิง เอาใบและดอกของผักปิงแห้งขยี้ปนไปกับข้าวเปลือกในยุ้งหรือในถุงที่เก็บข้าวเปลือก ใบ “ก้อมก้อ” สดทั้งกิ่งและใบใส่ในกองข้าว

นอกจากความชื้นและเชื้อราแล้ว สัตว์จำพวกมด มอด นกและหนูก็มีส่วนในการทำความเสียหายให้กับข้าวปลือกเช่นกัน โดยทั่วไปในพื้นที่ชนบทภาคเหนือตอนบนเกษตรกรมักจะเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งข้าว บางคนจะนำพริกแห้ง ใบสะเดา ข่า หรือใบจันหักเป็นก้านๆ ใส่ในยุ้ง เพื่อป้องกันแมลงและมอด ส่วนยุ้งข้าวซึ่งมักสร้างเป็นอาคารยกพื้นสูง ควันจากการก่อไฟหุงต้มอาหารใต้ถุนยุ้งข้าว จะช่วยไล่แมลงออกไปจากยุ้งข้าว หรือแม้กระทั่งเสาของยุ้งข้าวที่เป็นเส้นทางให้มดและหนูเข้าไปในยุ้งข้าวได้ บางคนใช้ยางไม้ตึงหรือน้ำมันขี้โล้ราดที่เสายุ้งข้าวเพื่อป้องกันไม่ได้สัตว์เหล่านั้นขึ้นไปบนยุ้งข้าว บางคนใช้ขี้เถ้าโรยรอบเสายุ้งข้าว หรือใช้เศษผ้าหรือสังกะสีหรือพลาสติกพันรอบเสา แม้กระทั่งกาบไม้ไผ่ที่หาได้ในท้องถิ่นก็สามารถนำมาพันรอบเสาได้เช่นกัน เพราะความลื่นของกาบไม้ไผ่ทำให้มดหรือหนูไต่ขึ้นไปบนยุ้งไม่ได้ เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังประหยัดเงินแทนการไปหาซื้อวัสดุอื่นมาใช้



ที่มา : ผลการวิจัยโครงการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©