-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - คนไทยทำสำเร็จ ตัดแต่งมะละกอ GMO
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

คนไทยทำสำเร็จ ตัดแต่งมะละกอ GMO

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 22/04/2010 9:38 pm    ชื่อกระทู้: คนไทยทำสำเร็จ ตัดแต่งมะละกอ GMO ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

คนไทยทำสำเร็จ ตัดแต่งมะละกอ GMO

มะละกอจีเอ็มโอผลงานวิจัยครั้งแรกโดยคนไทย ใช้ระยะเวลานานถึง 8 ปี พบคุณสมบัติต้านทานโรคจุดวงแหวน ที่ระบาดทั่วอีสานทดลองได้ผลแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ กรมวิชาการเกษตรเตรียมผลักดันสู่การเผยแพร่ความรู้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ประสบปัญหาปลูกมะละกอไม่ได้ผลผลิตทันที หากรัฐบาลประกาศยกเลิกการควบคุมพืชจีเอ็มโอ งานนี้ฉายแวว "บักหุ่ง" ไม่สิ้นแผ่นดินอีสาน

มะละกอนับเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัญหาการระบาดของโรคจุดวงแหวนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกษตรกรในภาคอีสาน ปลูกมะละกอได้ผลผลิตไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค ขณะเดียวกันการระบาดของโรคจุดวงแหวน ได้ลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2528 ระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกมะละกอเพื่อการค้าในภาคกลาง เช่น จังหวัดราชบุรี นครปฐม

ปี พ.ศ.2535 ระบาดรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีการปลูกมะละกอ ส่งโรงงานผลไม้กระป๋อง เช่น ที่จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี และปี พ.ศ.2542 ระบาดรุนแรงในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ไทยขยับเป็นอันดับหนึ่งของบรรดาประเทศทั่วโลก ที่มีการปลูกมะละกอที่ประสบปัญหาดังกล่าว

กรมวิชาการเกษตร จึงได้หาแนวทางการแก้ปัญหา โดยดำเนินการวิจัยพัฒนาพันธุ์มะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (GMOs) เพื่อต้านทานโรคจุดวงแหวน

สาเหตุโรคจุดวงแหวน เกิดจากเชื้อไวรัส Papaya Ringspot Virus (PRVS) ทำให้มะละกอมีอาการใบเหลืองด่าง มีจุดวงแหวนที่ผล และหยุดการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตลดลง จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ และแพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนหลายชนิดเป็นพาหนะนำโรค แต่ไม่ติดไปกับเมล็ด พันธุ์มะละกอที่เป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แขกนวลและแขกดำ ล้วนเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคทั้งสิ้น

กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา โดยทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้ส่งนักวิชาการเกษตร 2 ท่านคือ ดร.นงลักษณ์ ศรินทุ และดร.ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล ไปปฏิบัติงานที่ห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เพื่อสร้างมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม โดยใช้มะละกอสายพันธุ์ไทยและเชื้อไวรัสของโรคสายพันธุ์ไทย จากขอนแก่น จนเป็นผลสำเร็จ ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร.เดนนิส กอลซาเวส (Dr.Dennis Gonsalves) เจ้าของเทคโนโลยีมะละกอ จีเอ็มโอ ซึ่งสามารถหาพันธุ์ต้านทานและปลูกในฮาวาย เพื่อผลทางการค้าได้สำเร็จเป็นประเทศแรก

จากนั้นคณะนักวิจัยได้มีการนำมาศึกษาและวิจัยต่อ ที่สถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น ทดสอบปลูกและคัดเลือกพันธุ์ที่ต้านทาน ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ โรงเรือน และแปลงทดลอง เรื่อยมา

นางวิไล ปราสาทศรี ผู้อำนวยการสถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น เปิดเผยผลการวิจัยว่า นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งสามารถคัดได้พันธุ์แขกนวล ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิม ที่ตัดต่อพันธุกรรมสามารถต้านทานโรคจุดวงแหวนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 3 สายพันธุ์ และพันธุ์แขกดำซึ่งเป็นที่นิยม 2 สายพันธุ์ และไม่เพียงโรคจุดวงแหวนที่เกิดขึ้นในภาคอีสานเท่านั้น เมื่อนำไปทดสอบความต้านทานโรค ที่เกิดมะละกอทุกชนิดทั่วประเทศก็สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน นับได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา

นางวิไล กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรและผู้สนใจที่ทราบข่าว ต่างขอพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอไปทดลองปลูกแต่ไม่สามารถแจกจ่ายได้ เนื่องจากพืช จีเอ็มโอ ยังอยู่ในควบคุมของรัฐบาล ต้องดำเนินการทดลองวิจัยตามขั้นตอน ภายใต้กฎระเบียบและการควบคุมของคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพของไทย และได้มาตรฐานสากล ทั้งในด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและอาหาร ก่อนที่จะขอออกจากการควบคุม

ที่ผ่านมาทั้งห้องปฏิบัติการ และพื้นที่กว่า 11 ไร่ ที่เป็นแปลงทดลองภายในสถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น มีควบคุมความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแปลงทดลองกั้นด้วยรั้วลวดหนามและปลูกต้นศรนารายณ์ และต้นกระบองเพชร เป็นกำแพงอีกชั้น เพื่อป้องกันคนและสัตว์เข้าไป

สำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของยีน (gene) ใช้วิธีคลุมดอกมะละกอ ด้วยถุงกระดาษเคลือบแว็คซ์ ตัดดอกตัวผู้ที่ไม่ต้องการใช้ทิ้ง และปลูกต้นกล้วยเพื่อบังลมอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการทำลายต้น ใบ ที่เหี่ยวแห้งหรือผลที่สุกแล้ว รวมทั้งเมล็ดที่ไม่ต้องการจะกำจัดโดยวิธีการเผาและนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค ส่วนเมล็ดที่ต้องการจะเก็บเข้าตู้เย็นรักษาอย่างมิดชิด

นางวิไล บอกอีกว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบความปลอดภัยทางด้านชีวภาพและอาหารแล้วระยะหนึ่ง ผลจากการประเมินในด้านชีวภาพไม่พบความผิดปกติของผึ้ง ที่มากินน้ำหวานจากเกสรดอกมะละกอ รวมทั้งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ดิน และความผิดปกติของพืชที่ปลูกทดแทนภายหลังแต่อย่างใด เหลือเพียงการทดสอบว่าจะมีโรคไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้น และทำให้พืชชนิดอื่นเป็นโรคหรือไม่เท่านั้น

ส่วนการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหาร พบว่า มะละกอ จีเอ็มโอ มีคุณค่าทางอาหารเช่นเดียวกับมะละกอปกติ เหลือเฉพาะการทดสอบความเป็นพิษว่าจะมีผลข้างเคียงตามมาเมื่อรับประทานเข้าไปหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในหกเดือน

จากนั้นหากรัฐบาลประกาศยกเลิกการควบคุมพืช จีเอ็มโอ ทางกรมวิชาการเกษตรจะยื่นขอจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยมะละกอ จีเอ็มโอ ชิ้นนี้ ก่อนนำเผยแพร่สู่เกษตรกรที่เดือดร้อนต่อไป เพราะในอนาคตอาจมีการแข่งขันในเรื่องนี้สูง ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศต่างให้ความสนใจต่อมะละกอ จีเอ็มโอ มาก อย่างเช่น ประเทศไต้หวันก็กำลังศึกษาวิจัยอยู่ หรือแม้แต่ในบังคลาเทศเองเริ่มจะทำการวิจัย ภายหลังพบว่าประชากรโดยเฉพาะเด็กเป็นโรคเกี่ยวกับสายตาจำนวนมาก และอีกไม่ช้านี้ ประเทศญี่ปุ่นกำลังจะเซ็นสัญญานำเข้ามะละกอ จีเอ็มโอ จากฮาวาย

ขณะที่ประเทศไทยและในภาคอีสาน เกษตรกรทั้งที่ปลูกมะละกอเป็นอาชีพและปลูกไว้รับประทานเอง ได้รับความเสียหายจากโรคจุดด่างวงแหวน หลายแห่งมะละกอเป็นโรคจนเกือบหมดไม่สามารถให้ผลได้ ทำให้มะละกอดิบมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 9 บาท รวมทั้งโรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง เพื่อการส่งออกก็ขาดแคลนวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงาน หากรัฐบาลพิจารณาเห็นชอบให้ผลงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทางหนึ่ง

แม้ว่าช่วง 2- 3 ปีนี้ จะมีกระแสข่าวการคัดค้านพืช จีเอ็มโอ แต่นางวิไล ย้ำชัดว่า การวิจัยครั้งนี้ไม่สามารถหยุดได้ เพราะได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 หากทิ้งไปจะเป็นสูญเสียงบประมาณ ไปกว่า 10 ล้านบาท

หรือแม้แต่กระแสข่าวที่ว่า หากรับประทานพืช จีเอ็มโอ แล้วจะเป็นหมัน นางวิไล ยืนยันว่า ในกลุ่มของนักวิจัยเองและผู้ที่ทดลองรับประทานมะละกอ จีเอ็มโอ ระยะเวลาต่อเนื่องหลายปีแล้วนั้น ไม่ประสบปัญหาการมีบุตรแต่อย่างใด เชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิดมากกว่า ตราบใดที่มะละกอยังเป็นพืชที่หาง่าย ราคาถูก อุดมด้วยแหล่งวิตามิน เอ และ ซี ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น และหากส้มตำยังคงเป็นอาหารหลักของชาวอีสานและอาหารหลักประจำชาติแล้ว งานวิจัยโครงการนี้นับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าต่อไป เหลือเพียงคำตอบจากรัฐบาลที่จะปล่อยให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงตำราวิชาการอยู่บนหิ้งเท่านั้นหรือไม่

สำหรับมะละกอ (Carica papaya L.) เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย นอกจากเกษตรกรที่ปลูกเป็นอาชีพแล้ว เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปยังนิยมปลูกไว้ตามบริเวณบ้าน เพื่อบริโภคภายในครอบครัว ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยมีปริมาณมาก ทั้งเพื่อบริโภคดิบ โดยเฉพาะการทำส้มตำ ซึ่งเป็นอาหารหลักชนิดหนึ่งของเกษตรกรและคนทั่วไป โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และถือเป็นอาหารหลักประจำชาติอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังบริโภคสุก เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพและมีคุณค่าอาหารสูง และส่งโรงงานแปรรูป เป็นผลไม้กระป๋อง เพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ พื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละ 124,260 ไร่ ผลผลิตรวมเฉลี่ยปีละ 346,749 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ ส่งออกไปต่างประเทศเป็นผลไม้สดน้อยมาก กล่าวคือ ส่งออกปริมาณ 182 ตัน มูลค่า 7-8 ล้านบาท และส่งออกผลไม้กระป๋อง 1,462 ตัน มูลค่า 49.2 ล้านบาท

โดยตลาดหลักจะอยู่ในประเทศแถบยุโรปถึงร้อยละ 69 รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จึงทำให้มะละกอเป็นพืชหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการผลิต
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©