-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-นานาประเทศ ความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพ
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - นานาประเทศ ความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพ
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

นานาประเทศ ความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพ

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 07/10/2010 7:01 pm    ชื่อกระทู้: นานาประเทศ ความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

นานาประเทศเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพมากแค่ไหน


หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ในด้านทรัพยากรชีวภาพ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นทุนเดิมอยู่มาก คนไทยเองมีความชำนาญทางการเกษตร และด้านการดูแลสุขภาพ (สมุนไพร) แต่ประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพน้อยกว่าต่างประเทศ อีกทั้งงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพน้อยกว่าประเทศอื่น

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีชีวภาพของโลกลงทุนปีละประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ญี่ปุ่นลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพในปี 2542 ถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าว่าในปี 2553 เพิ่มเงินลงทุนเป็น 217,000 ล้านเหรียญ โดยจะกระตุ้นให้เกิดบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพใหม่จำนวน 1,000 บริษัท

อินเดีย ลงทุนในปี 2545 – 2546 เป็นจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และประกาศเพิ่มส่วนแบ่งของสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพในตลาดโลกที่ตัวเองมีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 2 ในขณะนี้ ให้เป็นร้อยละ 10 ในอีก 5 ปีข้างหน้า

จีนประกาศว่า เทคโนโลยีชีวภาพจะเป็นศาสตร์สำคัญที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนบ้านของไทย อาทิ สิงคโปร์ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

สิงคโปร์มีเป้าหมายชัดเจนมากในการก้าวไปสู่ธุรกิจ เทคโนโลยีชีวภาพด้านการแพทย์ โดยทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมากสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ชีวภาพชื่อว่าไบโอโปลิส (Biopolis) จนสามารถดึงบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาทำการวิจัยและพัฒนาได้

สำหรับประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนฐานอุตสาหกรรมจากอิเล็กทรอนิกส์มาเน้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น




นำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ทำอะไรได้บ้าง?

ในโลกยุคปัจจุบัน สามารถนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน

เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตร
การพัฒนาพันธุ์พืชให้ต้านทานศัตรูพืช โรคพืช การเพิ่มความทนทานของพืชต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความแห้งแล้ง และอุทกภัย การพัฒนาผลไม้ให้สุกงอมช้ากว่าปกติเพื่อลดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง การเพิ่มผลผลิตพืชโดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้ได้คุณภาพ จำนวนมากในเวลารวดเร็ว การผลิตท่อนพันธุ์พืชที่ปราศจากโรคที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้ การปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกเพื่อให้มีอายุการใช้งาน ในแจกันมากขึ้นและมีกลิ่นหอม การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ดี การปรับปรุงพันธุ์โคนมให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น และทนโรคในประเทศเขตร้อนชื้น การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การนำจุลิน ทรีย์มาเปลี่ยนวัตถุดิบด้านการเกษตรซึ่งมีราคาถูกเป็นพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอ ตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจ การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ด้วยโปรไบโอติก เป็นต้น

เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ
การผลิตวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค และมีการใช้กว่า 10 ล้านโดสต่อปี ทั่วโลก ในปัจจุบัน การผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน การผลิตฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต เพื่อแก้ปัญหาภาวะเตี้ยแคระผิดปกติ การผลิตแฟกเตอร์ 8 รักษาผู้ป่วยโรคโลหิตไหลไม่หยุด การผลิตยาปฏิชีวนะเช่น เพนิซิลลิน การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อที่สำคัญ เช่น ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเอดส์ ชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเมลิออยโดสิส ชุดตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย และชุดตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอศึกษาเชื้อก่อโรคที่สำคัญต่อมนุษย์ทำให้ได้กลไกการรักษาที่มี ประสิทธิภาพ การพัฒนาพันธุ์พืชบางชนิดโดยการลดหรือกำจัดสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ลง เช่น สารที่อยู่ใน น้ำนมในถั่ว และธัญพืชบางชนิด การนำจุลินทรีย์มาผลิตวิตามิน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอติดตามการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด การพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดทางชีวภาพที่เรียกว่าไบโอเซ็นเซอร์ เพื่อวัดปริมาณน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

เทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร
การแปรรูปอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ เช่น การหมัก การดองพืชผักผลไม้ การผลิตนมเปรี้ยว การผลิตแหนม ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว การใช้จุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เช่น การผลิตเบียร์ ไวน์ ไวน์ผลไม้ เหล้า สาโท อุ กระแช่ การนำจุลินทรีย์มาผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตกรดอินทรีย์ต่างๆ ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาพืชอาหารสายพันธุ์ใหม่ให้มีวิตามิน แร่ธาตุ และคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่าพืชอาหารปกติ หรือมีส่วนประกอบของสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มขึ้น การผลิตผงชูรสจากมันสำปะหลัง หรือกากน้ำตาล การปรับปรุงคุณภาพพืชน้ำมันให้มีคุณลักษณะและคุณประโยชน์มากขึ้น เช่น มีไขมันไม่อิ่มตัวปริมาณสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพและตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นต้น

เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม
การนำจุลินทรีย์มาเพาะเลี้ยงเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการย่อยสลายขยะ และควบคุมคุณภาพของ น้ำเสีย การผลิตปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี การย่อยสลายของเสียในดินให้มีขนาดเล็กลงและพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ การลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการพัฒนาพันธุ์พืชที่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช การใช้แบคทีเรียบีทีและไวรัสเอ็นพีวีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช การใช้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงทดแทนสารเคมี การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอันตรายเช่น สารกัมมันตรังสี การผลิตก๊าชชีวภาพจากขยะ และมูลสัตว์ การสกัดสารออกฤทธิ์จากสะเดาเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืช การฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มโดยการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความเค็มสูง การใช้จุลินทรีย์ในการสกัดแร่ธาตุสำคัญทางเศรษฐกิจทดแทน วิธีสกัดทางเคมี เป็นต้น


ประเทศไทยได้อะไรจากเทคโนโลยีชีวภาพ
จากพื้นฐานที่เข้มแข็งทางการเกษตรและทรัพยากรที่หลากหลายของประเทศไทย เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์พืช และสัตว์ ให้มีคุณสมบัติตามต้องการ เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ รวมทั้งการเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ประเทศไทยสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มส่วนแบ่งของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งรักษาความสามารถในการแข่งขันของเราในสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว กุ้ง
นอกจากการสร้างความสามารถในการแข่งขันแล้ว ไทยยังสามารถใช้ศักยภาพของไบโอเทคในด้านการแพทย์เพื่อการพึ่งพาตนเองและลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งในแต่ละปี ไทยนำเข้าถึง 24,000 ล้านบาท
ในด้านเกษตรกรรมของประเทศ ถ้าไทยไม่นำเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยในด้านการผลิต ประเทศไทยก็จะก้าวไปช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันในด้านการส่งออกเป็นอย่างมาก เช่น "กุ้ง" หากไม่มีพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่ดีจากทะเล ไทยก็ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ ประเทศไทยจึงก็ต้องพัฒนาพ่อแม่พันธุ์โดยนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย “ข้าว” หากเราไม่ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทนน้ำท่วมได้มากขึ้น ต้านทานต่อโรคพืชได้ ไทยก็ไม่สามารถแข่งกับประเทศส่งออกข้าวอื่นๆ ได้ ซึ่งผลเสียล้วนตกอยู่กับภาคการเกษตร



ประเทศไทยปูทางสู่ถนนสายเทคโนโลยีย่างไรบ้าง ?

ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพของเทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาประเทศ จึงได้จัดตั้งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2526 เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพด้านต่างๆ ผ่านการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และเอกชน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในทุกๆ ด้านของประเทศ

นอกจากไบโอเทคแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีการจัดตั้งสำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพขึ้นเมื่อปี 2540 เพื่อนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ปรับปรุงและขยายพันธุ์พืช นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น

สำหรับสถาบันการศึกษาภาครัฐ ต่างสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อจัดทำกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศขึ้น โดยมีเป้าหมายว่า “ภายในปี 2552 ประเทศไทยจะใช้เทคโนโลยีชีวภาพสร้างประเทศให้เป็นครัวของโลก เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย คนไทยมีสุขภาพดีทั่วหน้า สิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด เกิดธุรกิจชีวภาพใหม่ รวมทั้งให้มีการเข้ามาลงทุนทำวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย และมีกำลังคนที่มีคุณภาพ

สำหรับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช .หรือ ไบโอเทค) ของประเทศไทย ได้จัดตั้ง เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านทุนวิจัย โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพแก่หน่วยงานวิจัยต่างๆ ในภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัย โดยเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและกึ่ง อุตสาหกรรม ด้านเกษตรกรรม ด้านสาธารณสุข พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และด้านความสามารถพื้นฐานทางพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ไบโอเทคได้สร้างฐานการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญให้ประเทศมีความแข็งแกร่ง เช่น พันธุวิศวกรรม การผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี เทคโนโลยีการใช้โมเลกุลเครื่องหมาย (Marker Assisted Selection – MAS) เป็นต้น การพัฒนาเทคโนโลยีบางส่วนได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นต้นว่า การใช้เทคนิคพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction – PCR) ในการตรวจวินิจฉัยไวรัสที่ก่อโรคในกุ้ง ที่นำไปสู่การป้องกันการเสียหายจากการระบาดของไวรัสดังกล่าวโดยการตรวจแม่พันธุ์และลูกกุ้งก่อนการปล่อยลงบ่อเลี้ยง ดังนั้น ศูนย์ไบโอเทคจะมุ่งสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาให้ประเทศมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพ และในขณะเดียวกันจะผลักดันให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้นในภาคการผลิตทางการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพของเทคโนโลยี เพื่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

แม้ประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะแข่งขันได้ในการลงทุนทำวิจัยทางด้านจีโนม (genome) แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความสามารถในการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลจีโนมมนุษย์ พืช และ จุลินทรีย์ จากฐานข้อมูลนานาชาติที่ปัจจุบันมีอยู่มหาศาล และในแต่ละนาทีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ เช่น การค้นหายีนที่ทนต่อความแห้งแล้งจากข้าวพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวเศรษฐกิจ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ของยีนก่อโรคของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคกับความสามารถในการต้านทานโรค หรือความอ่อนแอต่อการเกิดโรคของมนุษย์ สัตว์ และพืช ความเข้าใจดังกล่าวนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโรคระบาดที่เป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านการแพทย์ เช่น ไข้เลือดออก ทางด้านเกษตร เช่น การปรับปรุงพันธุ์กุ้งที่ทนทานต่อไวรัส เพื่อที่จะให้ได้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเหล่านี้และทันต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการก้าวกระโดด โดยมีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัยหลังจีโนม (post genomics) และชีวสารสนเทศ (bioinformatics) และสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนโดย ศูนย์ไบโอเทคจะมีกลไกให้เกิดการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถาบันวิจัยต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานวิจัย

นานาชาติที่มีความเป็นเลิศในสาขาที่เกี่ยวข้อง
การดำเนินงานสนับสนุนการวิจัย ศูนย์ไบโอเทคจะเน้นการวิจัยและพัฒนา โดยจะเน้นสินค้า (commodity) ที่มีความสำคัญของประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งประเทศสามารถจะแข่งขันได้โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิจัยและพัฒนา เช่น ด้านข้าว ด้านกุ้ง ด้านอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยอาหาร (food safety) ซึ่งจะเข้าไปมีบทบาทมากในเรื่องการส่งออก และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพเพื่อเอาไปใช้ทางด้านการแพทย์ และเกี่ยวกับปราบปรามศัตรูพืช เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี



(ที่มา: http://www.biotec.or.th)
http://library.dip.go.th/%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/www/inno3-04.html


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 28/10/2011 10:05 am, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 07/10/2010 7:59 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

"ไอซ่า" ย้ำเทคโนโลยีพืชชีวภาพขยายตัว

คาดไม่เกิน 10 ปี เกษตรกร 40 ประเทศแห่ปลูกกว่า 20 ล้านคน

ดร.ไคลฟ์ เจมส์ ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การไอซ่า(International Service for the Acquisition of Agri-biotech Applications -ISAAA) กล่าวถึงสถานภาพทั่วโลกของการผลิตในเชิงการค้าพืชเทคโนโลยีชีวภาพว่า ปี 2549 เป็นปีแรกของทศวรรษที่สองของการผลิตพืชเทคโนโลยีชีวภาพในเชิงการค้า โดยพื้นที่เพาะปลูกยังคงมีอัตราการขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราเพิ่มเป็น 13% หรือเพิ่มขึ้น 12 ล้านเฮกตาร์ รวมเป็นพื้นที่ปลูกทั้งหมด 102 ล้านเอคตาร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดครั้งที่สองในรอบ 5 ปีตั้งแต่ช่วงปี 2539 ถึง 2549 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 60 เท่า ซึ่งเป็นอัตราการใช้เทคโนโลยีที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ นอกจากนี้ จำนวนเกษตรกรที่ปลูกพืชเทคโนโลยีชีวภาพยังพุ่งสูงเกิน 10 ล้านคนเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 10.3 ล้านคนจากเดิม 8.5 ล้านคนในปี 2548

ทั้งนี้ คาดว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้จะยังพุ่งสูงต่อไปจนถึงปี 2558 องค์การไอซ่าทำนายว่าเกษตรกรมากกว่า 20 ล้านคนจะปลูกพืชเทคโนโลยีชีวภาพถึง 200 ล้านเฮกตาร์ ใน 40 กว่าประเทศ เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พื้นที่ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารมีเท่าเดิม แต่ความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว ดังนั้นเทคโนโลยีชีวภาพจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะมาช่วยในการแก้ปัญหาการขาดแคลนนี้ โดยจะต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ดร.ไคลฟ์ เจมส์ กล่าว

ดร.ไคลฟ์ เจมส์ กล่าวอีกว่า สหรัฐฯเป็นผู้นำในการปลูกพืชในทศวรรษแรก แต่ในทศวรรษที่สองนั้นเป็นไปได้มากว่าการเติบโตจะเด่นชัดในเอเชีย ได้แก่ อินเดีย จีน และฟิลิปินส์ ตลอดจนประเทศเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ เช่น ปากีสถานและเวียดนาม ซึ่งท้ายสุดแล้วการเพิ่มขึ้นของการปลูกพืชเทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลก น่าจะเป็นแนวโน้มซึ่งทำให้ยุโรปหันมาสนใจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส ได้เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดบีทีขึ้นอีกหลายเท่าตัวจนถึงปี 2549 มีเนื้อที่ปลูกถึง 5,000 เฮกตาร์ ทีเดียว



ทิศทางเกษตรอินทรีย์

ปัจจุบันแม้กระแสโลกมีการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาบริโภคอาหารปลอดสารพิษ และให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า บ้านเรานั้นให้ความสนใจน้อยมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมใช้สารเคมีในภาคเกษตร

ทั้งที่ทราบว่ามหันตภัยของสารเคมีนั้นคร่าชีวิตผู้คนทั้งผู้บริโภคและผู้ใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรมามากต่อมากแล้วก็ตาม

สาเหตุหลักที่เกษตรกรสนใจการทำเกษตรอินทรีย์น้อย ก็เพราะว่าส่วนหนึ่งเกษตรกรยังไม่เข้าใจคำว่าเกษตรอินทรีย์ จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ขณะที่การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนั้นเห็นผลชัดเจนคือสามารถกำจัดศัตรูพืชได้ดั่งใจ ผลผลิตที่ออกมามีปริมาณมากและสวยด้วย ทั้งที่ความจริงบนความสวยงามของผลผลิตทางเกษตรที่มาจากการใช้สารเคมีนั้น เป็นมหันตภัยอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

มีตัวอย่างให้เห็นครับ ชาวอีสานจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ จ.ขอนแก่น ล้มป่วยเป็นโรคทางเดินอาหาร และอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ที่เกิดจากการบริโภคพืชผักทางการเกษตรที่มาจากเมืองจีน หลังจากที่รัฐบาลชุดที่แล้วมีนโยบายกำหนดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับจีนนั่นแหละ

พืชผักที่มาจากเมืองจีนที่ตรวจพบว่าสารเคมีตกค้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะทะลักเข้ามาทางจังหวัดชายแดนริมแม่น้ำโขงตอนบน แล้วไปขายในพื้นที่ภาคอีสาน มีจำพวกผักคะน้า บรอกโคลี กะหล่ำปลี และแครอท มีสารออร์แกโน ฟอสเฟต และคาร์บาเมตตกค้างมากที่สุด

ถึงเวลาแล้วครับ ที่บ้านเราต้องหันมาส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง และหากใครสนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ หรืออยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เชิญได้ครับ ทางเครือเนชั่น โดยเฉพาะเนชั่นแชนนัล ร่วมกับกรมวิชการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับ ทิศทางการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรไทย ในวันที่ 11 มกราคมนี้ ที่โรงแรม มิราเคิล ถนนวิภาวดี-รังสิต (หลักสี่) ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

งานนี้คุ้มครับ เพราะวิทยากรที่เราเชิญนั้นล้วนเป็นที่ยอมรับทั้งในวงการภาครัฐ นักวิชาการ ผู้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินกิจการเกษตรอินทรีย์ อย่างหัวข้อย่อย "นโยบายของรัฐต่อการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์" จะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือตัวแทน หัวข้อ "สะท้อนปัญหาในอดีต และแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในอนาคต" ตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร, หัวข้อ "การปรับตัวเพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หัวข้อ "เกษตรอินทรีย์ทางเลือกใหม่ของเกษตรกร" อาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยคอกหมู หรือ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

ภาคบ่ายจะเป็นการเสวนาหัวข้อ "คุ้มหรือไม่ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้า" จะเชิญผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จ 3 คน และตัวแทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อทราบนโยบายของ ธ.ก.ส.ว่าให้การสนับสนุนด้านเงินกู้ หรือสำหรับผู้ที่จะมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อการค้าหรือไม่อย่างไร



http://www.komchadluek.net/2007/12/26/b001_182936.php?news_id=182936
http://www.naewna.com/news.asp?ID=46989#news
http://www.phtnet.org/news/view-news.asp?nID=107
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©