-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ยิบซั่ม ของต่างประเทศ
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ยิบซั่ม ของต่างประเทศ
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ยิบซั่ม ของต่างประเทศ

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
somchai
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 21/07/2009
ตอบ: 1290

ตอบตอบ: 09/10/2010 8:49 am    ชื่อกระทู้: ยิบซั่ม ของต่างประเทศ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)






กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 09/10/2010 9:15 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การใช้ยิปซัมเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

ดร.สำเนา เพชรฉวี *

© 2001 บ. ดี เค ที จำกัด.

ดินในเขตร้อนง่ายต่อการเกิดชะล้างของธาตุอาหารพืชและดินจับตัวกันแน่นพบได้ในดินหลายชนิด ยิปซัมจัดเป็นหนึ่งในส่วนประกอบอันสำคัญ เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนได้มีการใช้ยิปซัมเป็นสารปรับปรุงดินมาช้านานในประเทศที่เจริญแล้วทางวิชาการคุณประโยชน์ของยิปซั่มให้แคลเซียมซึ่งทำให้ดินจับตัวกันเป็นก้อนในดินกรดและดินด่าง การเกิดเกาะตัวกันเป็นก้อนของดินทำให้เกิดโครงสร้างของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของรากและการเคลื่อนย้ายของน้ำและอากาศในดิน ยิปซัมป้องกันการเกาะตัวกันแน่นของดินทำให้สดวกต่อการงอกของเมล็ดพืช ยิปซัมปรับปรุงให้เกิดความคงตัวของอินทรียวัตถุ ธาตุแคลเซียมในองค์ประกอบของยิปซัมเป็นธาตุอาหารพืชที่สำคัญ ซึ่งพืชต้องการอย่างต่อเนื่องยิปซั่มป้องกันการขาดธาตุแคลเซียมและกำมะถันในพืชทั้งหลาย แคลเซียมที่มีอยู่ในยิปซัม แก้ไขความไม่สมดุลกันของธาตุอาหารพืชยิปซัมให้แคลเซียมเป็นที่ต้องการ เพื่อการผลิตผลไม้ป้องกันการผิดปกติทางสรีรวิทยาของไม้ผลแคลเซียมด้วยต้นทุนที่ต่ำ สามารถใส่โดยการหว่านหรือใส่ไปพร้อมกับระบบชลประทาน

ดินในเขตร้อนที่มีฝนตกปานกลางถึงสูงง่ายต่อการเกิดชะล้าง และน้ำไหลบ่าที่ผิวดิน การจับตัวกันแน่นที่ผิวดินนั้นปรากฏให้เห็นทุกแห่งในประเทศมีข้อสังเกตุในพื้นที่ดินที่ใช้ในการเกษตรเป็นเวลาหลายปีมาแล้วภายใต้ระบบการปลูกพืชที่มีการดูแลเอาใจใส่ดีกว่าพืชทีปลูกล้มเหลวที่จะให้ผลผลิตสูงที่ยังยืนต่อไม่ได้อันเนื่องมาจากสภาพของดินไม่มีความเหมาะสมต่อการสร้างผลผลิตให้สูงได้ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมบัติทางกายภาพเคมีและชีวภาพของดิน ในทางปฏิบัติเกษตรกรคุ้นเคยต่อการใช้ปุ๋ยเคมีในการเพิ่มผลผลิตพืช นอกจากนั้นยังใช้ปุ๋ยอินทรีย์เช่นมูลวัวมูลควายปุ๋ยมูลไก่ และมูลสุกร และผลิตภัณฑ์ของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมทำไปใช้ในพืชเศรษฐกิจหลายชนิดแต่การใช้ปุ๋ยอินทรียเหล่านั้นมีจำนวนจำกัด เท่าที่มีอยู่ในประเทศ การใส่ปูนเพื่อแก้ไขความเป็นกรดของดิน กระทำอยู่ในพื้นที่ที่มีระบบการเกษตรที่ปราณีตเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงผลกระทบของการใส่ปุ่ยเคมีติดต่อกันเป็นเวลายาวนานทำให้โครงสร้างของดินเลวลงและความเป็นกรดของดินเพิ่มขึ้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือทำให้ทั้งผลผลิตและคุณภาพของพืชเลวลงนอกจากนี้ยังมีดินเสื่อมโทรมอีกมากมายที่ต้องการ การปรับปรุงแก้ไขเช่นดินกรดจัดและดินเค็ม

มีสิ่งที่น่าสนใจที่จะแนะนำสารยิปซัมสำหรับเป็นทางเลือกที่ดีของการปรับปรุงดินในประเทศ ได้มีการนำยิปซัมไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินและเป็นปุ๋ยให้ธาตุอาหารมาแล้วในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้ามากกว่า 200 ปี สารยิปซัม คือแคลเซียมซัลเฟตอยู่ในรูปที่มีทั่วไปมากที่สุดจะมีน้ำอยู่ 2 โมเลกุล ที่เรียกว่าดีไฮเดรท มีสูตรทางเคมีคือ CaSO4.2H2Oส่วนปูนพลาสเตอร์ซึ่งมีขายในทางการค้าจะมีน้ำอยู่ครึ่งโมเลกุล และอีกรูปหนึ่งจะอยู่ในรูปที่ไม่มีน้ำซึ่งเรียกว่า ดีไฮเดรท ยิปซัมที่นำมาใช้ทางการเกษตรจะเป็นแร่ยิปซัมจากธรรมชาติจากเหมืองแล้วนำมาบดจนเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดเล็กมากยิ่งจะละลายน้ำง่ายกว่าขนาดใหญ่ยิ่งมียิปซัมที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตปุ๋ยเคมีที่มีมากได้จากอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งผลิตกรดฟอสฟอริค จากหินฟอสเฟต (อะพาไทต์) โดยขบวนการทำให้เป็นกรดในสภาพเปียกชื้น ดังสมการเคมี

Ca10(PO4)6F2(s)+10 H2SO4+20 H2O 10Ca SO4 2H2O(s)+6H3PO4+2HF

ผลพลอยได้คือยิปซัมเป็นผงละเอียดมีความบริสุทธิ์สูงมีชื่อเรียกว่าฟอสโฟยิปซัม(พีจี) ซึ่งเป็นปัญหาต่อการนำไปทิ้ง ยิ่งมีผลพลอยได้ที่ยิปซัมจากขบวนการทางเคมีในอุตสาหกรรมทำแผ่นโลหะซึ่งเกิดกรดกำมะถันเมื่อทำปฏิกิริยากับปูนชนิดสาดน้ำได้จะได้สารยิปซัมดังสมการ

Ca (OH)2+ H2SO4 CaSO4.2H2O

ในอุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์ จะเกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งเป็นสาเหตุให้การเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่านก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ลงไปในน้ำปูนขาว ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะถูกเติมอ๊อกซิเจน เป็น ซัลเฟต (SO42-) ดังสมการ

2H2O+ CaCO3 (s) + SO2+ 1/2O2 CaSO4 .2H2O(s) +CO2 (g)

จะได้สารยิปซัมที่ได้จากการแปรรูปสภาพของก๊าซ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue gas desulfurizstion gypsum FDG) ยิปซัมละลายได้เล็กน้อยในน้ำที่มีบริสุทธิ์ประมาณ 2.5 กรัม /น้ำ 1 ลิตร หรือ 15 มิลลิโมล่าร์ ระดับการละลายขนาดนี้มีส่วนช่วยสนับสนุน ต่อความเข้มข้นของบรรจุธาตุในสารละลายดินเป็นส้วนมากถึงกระนั้นความเข้มข้นก็ยังต่ำเพียงพอที่จะปลดปล่อยให้เกลือละลายได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

นับเป็นโชคดีที่ประเทศไทยมีเหมืองแร่ยิปซัมสะสมอยู่มากในประเทศเป็นยิปซัมที่มีเปอร์เซนต์ความบริสุทธิ์สูงเหมาะที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรมีเหตุผลมากมายที่ยิปซัมจะไดด้นับการพิจารณาเป็นหนึ่งในบรรดาวัสดุทางการเกษตรที่เป็นมิตรที่ซื่อสัตว์ของเกษตรกร คุณประะโยชน์มากมายจากการใช้ยิปซัมในดินเพาะปลูกได้รับการตีพิมพ์เป็นเอกสารเหตุผลบางอย่างเป็นเหตุผลรวมและมีความสัมพันธ์รวมกับอย่างอื่นคือ

1. ยิปซัมช่วยแก้ไขดินเค็ม
ดินเค็มที่มีค่าเปอร์เซนต์โซเดียมที่แลกเปลี่ยนได้สูงมากจะต้องให้ค่านี้ลดลงเพื่อปรับปรุงดินและพืชสามารถเจริญเติบโตได้วิธีการที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่สุดคือการใส่ยิปซัมซึ่งจะให้แคลเซียม แคลเซียมจะเข้าไปแทนที่โซเดียมที่ยึดติดรวมกับดินเหนียว โซเดียมจะถูกชะล้างออกมาจากดินในรูปของโซเดียมซัลเฟต อนุมูลซัลเฟตเป็นส่วนตกค้างที่ออกจากยิปซัม ถ้าปราศจากยิปซัมแล้วจะไม่เกิดการชะล้างในดินได้ดังสมการ

2Na-Clay + CaSO4 Ca-Clay + Na2SO4

เมื่อดินเค็มที่มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ(หรือที่เรียกว่าดินโซดิก) ได้รับการแก้ไขแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ยิปซัมจำนวนทั้งหมดภายในหนึ่งปี แต่ควรหว่านยิปซัมติดต่อกันหลายปี ปริมาณการใช้ยิปซัมที่ต้องการสามารถวัดได้จากค่าวิเคราะห์ดินดังนี้

หมายเหตุ:
- เปลี่ยนจากค่าปอนด์ต่อเอเคอร์เป็นกิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ให้ คูณด้วย 1.2
- เปลี่ยนจากค่าปอนด์ต่อเอเคอร์เป็นกิโลกรัมต่อไร่คูณด้วย 0.18

ค่าประจุโซเดียม( Na+ ) แคลเซียม Ca2+ แมกนีเซียม Mg2+ เป็นค่าความเข้มข้นของธาตุประจุบวกที่ละลายในน้ำได้ มีค่าเป็นมิลลิกรัมสมมูลย์ต่อลิตร


2. ยิปซัมช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของพืชในสภาพดินที่เป็นกรด
การใช้ปูนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ไขความเป็นกรดในดินผิวแต่การที่ต้องคลุกเคล้ากับดินทำให้ไม่เหมาะที่จะลดความเป็นกรดของดินชั้นล่างได้ จากการติดตาม ผลงานวิจัยของซัมเมอร์ (1970)ผู้บุกเบิกงานทางด้านยิปซัม และผลงานของรีฟ และซัมเมอร์ (1972) ซึ่งเป็นกลุ่มของดินชั้นล่าง ในหลายกรณีซึ่ง มีรายงานการตอบสนองต่อผลผลิตพืชอย่างมากมาย (10-100%) พืชหลายชนิด(ข้าวโพด,อ้อย,กาแฟ,ข้าวสาลี,ถั่วอัลฟัลฟา,ถั่วเหลือง,ข้าวบาเล่ย์)(ซัมเมอร์ 1993,1994) ได้นำเสนอ ไว้ในตารางที่ 1

ตารางที่1 การตอบสนองในรูปของผลผลิตของพืชหลายชนิดต่อดินชั้นบนที่คลุกเคล้าด้วยยิปซัม

ชนิดพืช แหล่งปลูกพืช ชนิดของดิน อัตราการใส่ยิปซัม / Mg ha-1 ผลผลิตตอบสนอง (%)

ที่มา : กาย เจ เลวี่ และมัลคอม อี ซัมเมอร์ (1998)


ในหลายกรณีมากที่สุด การตลาดตอบสนองซึ่งปรากฏหลังจาการคลุกยิปซัมที่ผิวดินแล้วยิปซัมถูกชะล้างลงสู่ดินชั้นล่าง ทำให้ค่าพีเอชของดินเพิ่มขึ้น และแคลเซียมในรูปที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น การเป็นพิษของอะลูมินั่มลดลงได้แสดงให้เห็นตามรูปที่ 1

เมื่อสิ่งแวดล้อมได้รับการปรับปรุงแก้ไขรากพืชจึงมีโอกาสหยั่งลึกลงไปถึงดินล่างได้ การที่ใส่ยิปซัมบนผิวดินมีผลอย่างลึกซึ้งต่อการกระจายของรากพืชแทบทุกพืชในภาพรวมทั้งหมดแล้วผลจากการใส่ยิปซัมทำให้ปริมาณแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้เพิ่มขึ้นในขณะที่อะลูมินั่มที่แลกเปลี่ยนได้ลดลงในดินล่าง จากผลที่เกิดขึ้นนี้รากพืชที่แพร่กระจายในดินกรดชั้นล่าง พืชสามารถนำน้ำมาใช้ได้ซึ่งแต่ก่อนรากพืชหยั่งไปไม่ถึงซึ่งจากผลที่เกิดขึ้น ทำให้ผลผลิตของพืช เพิ่มขึ้นในสภาพที่เป็นตัวจำกัดของผลผลิต (ดูจากตาราง ที่ 2 )ผลจากการใส่ยิปซัมให้ประโยชน์ชัดมากขึ้นในภาวะแห้งแร้งที่รุนแรง

รูปที่ 1 ผลจากการใส่ยิปซัม(6 ตัน /เฮกเตอร์=960 กก/ไร่)ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพีเอส และอลูมินั่มที่อิ่มตัวในแลตโตโซลสีเหลือง - แดง (แซนทิค ฮาลพูดอซ์)จาก ประเทศบราซิล (ซูซาร์ และริตเชย์ 1986)

ปฏิกิริยาที่เกิดจากการ ทำงานของยิปซัมแก่ดินกรดนั้นมีชื่อเรียกว่า ปฏิกิริยาการเกิดปูนในตัวเองซึ่งเกิดจากการนำเสนอของรีฟ และซัมเนอร์ ในปี 1972 ซึ่งได้แสดงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นให้เห็นดังนี้

2Al3+ + 3Ca(OH)2 2Al(OH)3 + 3Ca2+

ปฏิกิริยาในเบื้องต้นจะต้องเกิดอะลูมินั่มและเหล็กอ็อกซีไฮดรอกไซด์จากนั้นอนุมูลซัลเฟตจากยิปซัมจะเข้าทำปฏิกิริยาแล้วปลดปล่อยอนุมูลไฮดรอกไซด์ OH ปฏิกิริยาอื่นที่น่าจะเป็นไปได้คือการตกตะกอน ของอะลูมินั่มไฮดรอกซ์ซัลเฟต (อะดัมและราวาลฟ 1977) หรืออยู่ร่วมกับซัลเฟตและอะลูมินั่ม (ซัมเนอร์ และคณะ 1986 )

ตารางที่ 2 ผลของการใส่ยิปซัมที่มีต่อกระบวนการกระจายของรากลงไปสู่ชั้นดินล่างตาม ความลึกของดินที่มีการสลายตัวสูง

Corn (South Africa) Corn (Brazil) Apples (Brazil) Alfalfa (Georgia)

Root length (m L-1) Relative root distribution (%) Root density (cm g-1) Root density (m m-1)


Depth (cm) Control Gypsum Control Gypsum Control Gypsum Control Gypsum
0 - 15 3.10 2.95 53 34 50 119 375 439
15 - 30 2.85 1.60 27 25 60 104 40 94
30 - 45 1.80 2.00 10 12 18 89 11 96
45 - 60 0.45 3.95 8 19 18 89 52 112
60 - 75 0.08 2.05 2 10 18 89 4 28



Source : Sumner,1993.
จากข้อมูลในตารางที่ 2 ผลการวิจัยกับข้าวโพดที่อัฟริกาใต้แสดงถึงความยาวของรากเปรียบเทียบ ระหว่างการใส่ยิปซัมกับการไม่ใส่ยิปซัมพบว่า การใส่ยิปซัมทำให้ความยาวของรากลดลงในระดับความลึก 0-30 ซม แต่ความยาวของรากกลับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อระดับความลึกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 30 ซม ลงไปจนถึงระดับ 75 ซม ในขณะที่การไม่ใส่ยิปซัมความยาวของรากเริ่มลดลงตั้งแต่ระดับ 30 ซม ลงไปและลดลงเป็นอย่างมากไปตามความลึกของดินจนถึงระดับ 75 ซม

ในการทดลองกับข้าวโพดที่บราซิลในแง่ของเปอร์เซนต์การแพร่กระจายของรากได้แสดงให้เห็นว่าในระดับความลึกจากผิวดินถึงความลึก 30 ซม การใส่ยิปซัมไม่มีผลเพิ่มขึ้นในแง่ของเปอร์เซนต์การกระจายของรากแต่จะเริ่มเพิ่มมากขึ้นไปตามความลึกของดินเมื่อระดับความลึกต่ำกว่า 30 ซม จนถึง 75 ซม

ในการทดลองกับแอปเปิลที่บราซิลในแง่ของความหนาแน่นของรากแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าการใส่ยิปซัมทำให้ความหนาแน่นของรากเพิ่มขึ้นตั้งแต่ระดับ 0-15 ซม เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใส่ยิปซัม แม้ว่าความหนาแน่นของรากจะลดลงไปตามความลึกของดินแต่เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใส่ยิปซัมก็ยังแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าความหนาแน่นของรากมีมากกว่าหลายเท่า

ในการทดลองกับถัวอัลฟัลฟาที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในแง่ของความหนาแน่นของรากในกรรมวิธีที่ใส่ยิปซัมมีมากในระดับความลึกตั้งแต่ผิวดินและลดลงไปตามความลึกของดิน ในขณะที่การไม่ใส่ยิปซัมมีค่าความหนาแน่นรากน้อยกว่า ตามลำดับ

3. ยิปซัมส่งเสริมการใช้ปูน
เมื่อใส่ปูนลงไปในดินผลที่เกิดขึ้นทันที่คือไฮดรอกซิลอิออนเพิ่มขึ้นเมื่อปูนรวมกับน้ำดังสมการ
CaCO3 + 2H2O Ca(OH)2 + H2CO3

ในสภาพที่เป็นด่างทำให้ดินฟุ้งกระจายอย่างชั่วคราว เพื่อไม่ให้ดินฟุ้งกระจายสิ่งสำคัญก็คือจะต้องระงับความเข้มข้นของไฮดรอกซิลอิออน OH สามารถ ทำให้สำเร็จด้วยการใส่ยิปซัม 100 กก ต่อการใส่ปูนในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต 500 กก (จอฟฟี่ 1953)ดังสมการ

2H-soil + CaSO4 Ca-soil + H2SO4
Ca(OH)2 + H2SO4 CaSO4.2H2O

เป็นที่ทราบชัดเจนว่าการใส่ยิปซัมลงไปในดินจะทำให้พีเอชของดินลดลงชั่วคราว ในดินที่อยู่ในเขตชื้น-วิธีการใส่ยิปซัมร่วมกับการใส่ปูนทำให้มีแคลเซียมแทรกซึมลงทางด้านลึกมากขึ้น และสามารถแลกเปลี่ยนกับอิออนของไฮโดรเจน (H) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. ยิปซัมปรับปรุงโครงสร้างของดิน
ยิปซัมให้แคลเซียมซึ่งต้องการทำให้ดินเกาะตัวกันเป็นก้อนไม่ว่าจะเป็นดินกรดหรือดินด่าง (เชนเมอรก และคณะ 1989 ซัมเนอร์ 1993 ซัมเนอร์ และมัลเลอร์ 1992 )เป็นขบวนการที่ทำให้อนุภาคของดินที่เป็นก้อนเล็กรวมตัวกันเข้าด้วยกันเป็นอนุภาคใหญ่ขึ้น ลักษณะการเกาะตัวของดินเช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องการในการปรับโครงสร้างของดินที่อำนวยประโยชน์แก่รากพืชและให้อากาศและน้ำเคลื่อนย้ายได้

5. ยิปซัมป้องกันดินจับตัวกันแน่นและช่วยให้เมล็ดพืชโผล่พ้นดินได้ง่ายขึ้น
ยิปซัมสามารถลดและป้องกันการเกิดจับตัวกันแน่นบนผิวดินอัน…จากแรงฝนตกหรือการให้น้ำแบบพ่นฝอยลงบนดินที่ไม่คงรูป(เชนเบอรก และคณะ 1989 ซัมเนอร์ และมิลเลอร์ 1992)ป้องกันการจับตัวกันแน่นของงดินซึ่งเป็นผลมาจากการใส่ปูนเกิดในกรด (ซัมเนอร์ 1993) ควรใส่ยิปซัมร่วมกับการใส่ปูน การใส่ยิปซัมอาจใส่โดยโรยที่ผิวดิน หรือใส่พร้อมพร้อมกับการให้น้ำ การที่ป้องกันมิให้เกิดการจับตัวกันเป็นแน่นที่ผิวดิน เป็นการช่วยให้เมล็ดพืชงอกโผล่พ้นผิวดินได้ง่ายขึ้น ทำให้พืชเก็บเกี่ยวได้เร็ววันขึ้น เมล็ดพืชงอกเพิ่มขึ้น 50-100% การป้องกันแก้ไขในการเกิดจับตัวกันแน่นของดินเหนียวที่ฟุ้งกระจายก็คือทำให้ดินเกิดปฏิกิริยาเกาะตัวเป็นก้อนขนาดเล็ก

6. ยิปซัมแก้ไขดินแน่น
ยิปซัมทำให้ดินแน่นทึบกระจายตัวออก (เชนเบอรก และคณะ 1989)และทำให้ลดแรงต้านทานต่อเครื่องวัดแรงเจาะทะลุดัน(ฮอล และคณะ 1994) ความแน่นของดินสามารถลดลงได้ด้วยการใส่ยิปซัม โดยเฉพาะถ้าใช้ยิปซัมร่วมกับการไถพรวนลึกเพื่อให้ดินแน่นแตกกระจาย

7. ยิปซัมแก้ไขดินค่อนข้างจะแน่นไถพรวนง่ายขึ้น
ดินที่ได้ใส่ยิปซัมแล้วจะมีช่วงความชื้นกว้างขึ้นซึ่งจะทำให้การไถพรวนมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่เกิดความเสียหาย หรือทำให้ดินแน่นหรือทำให้ดินแตกเป็นก้อนเล็ก ๆ (เชนเบอรก และคณะ 1989) ทำให้ง่ายต่อการไถพรวน และทำให้การเตรียมแปลงเพาะและการควบคุบวัชพืชมีประสิทธิภาพมากขึ้นลดพลังงานในการไถพรวน

8. ยิปซัมหยุดยั้งน้ำไหลบ่าและการพังทลายดิน
ยิปซัมปรับปรุงแก้ไขอัตราการซาบซึมน้ำในดินและการยอมให้น้ำไหลผ่านดิน (เชนเบอรก และคณะ 1989 )ยิปซัมเป็นตัวป้องกันน้ำไหลบ่าที่มากเกินไปโดยเฉพาะเมื่อเกิดพายุขนาดใหญ่ซึ่งจะตามมาด้วยการพังทลายของดิน

9. ยิปซัมป้องกันดินน้ำขัง
ยิปซัมปรับปรุงความสามารถของดินให้ระบายน้ำได้ไม่ให้เกิดน้ำขังในกรณีมีน้ำมากเกินไป (อัลดริช และชูโนเวอร์ 1951)ผลจากการปรับปรุงอัตราการซาบซึมน้ำและการยอมให้น้ำไหลผ่านดินอันเนื่องมาจาการใส่ยิปซัม ทำให้ดินมีความสามารถเพียงพอต่อการระบายน้ำ

10. ยิปซัมเพิ่มความคงตัวของอินทรียวัตถุในดิน
ยิปซัมเป็นแหล่งที่ให้แคลเซียมซึ่งเป็นกลไกหลักที่จะรวมตัวกันของอินทรียวัตถุกับดินเหนียว ทำให้เกิดการเกาะตัวเป็นก้อนที่มั่นคงของดิน (มูเนียสและโออาเดส 1989)เมื่อใส่ยิปซัมทำให้คุณค่าของอินทรียวัตถุในดินเพิ่มขึ้น

11. ยิปซัมปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ
ยิปซัมปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำของพืช ในพื้นที่และระยะเวลาที่เกิดแห้งแล้งสิ่งนี้สำคัญมาก การปรับปรุงการซาบซึมน้ำ และการยอมให้น้ำไหลผ่าน เป็นแหล่งเก็บน้ำในดินได้ดีกว่านั้นจะนำไปสู่ระบบรากที่ลึกลงไปในดินได้มากขึ้นพร้อมทั้งประสิทธิภาพการใช้น้ำดีขึ้น (เชนเบอรก และคณะ 1989 ฮอล และคณะ 1994 )ในดินที่ใส่ยิปซัมทำให้มีน้ำที่ใช้ประโยชน์ ได้เพิ่มมากขึ้น 25-100%

12. ยิปซัมลดความเป็นพิษของโลหะหนัก
แคลเซียมในยิปซัมทำหน้าที่เป็นตัวปรับความสมดุลของธาตุอาหารเสริมเช่น เหล็กสังกะสี แมงกานีส ทองแดงของพืช (อัลวา และคณะ 1993 วอลเลซและคณะ 1980)แคลเซียมยังเป็นตัวปรับธาตุปริมาณน้อยที่ไม่จำเป็นต่อพืชอีกด้วยแคลเซียมช่วยขัดขวางการดูดธาตุอาหารที่มากเกินไป เมื่อธาตุเหล่านั้นถูกดูดอยู่ในต้นพืช เมื่อมีแคลเซียมอยู่พืชจะช่วยควบคุมรักษาให้ธาตุอาหารอยู่และธาตุที่ไมใช้อาหารอยูในสมดุลให่พืชสมบูรณ์ เป็นปรกติ

13. แคลเซียมในยิปซัมยังเป็นธาตุอาหารพืชอีกด้วย
แคลเซียมในยิปซัมเป็นธาตุอาหารที่สำคัญของพืชซึ่งพืชต้องการอย่างต่อเนือง และเป็นธาตุที่ปรับแก้ให้เกิดความสมดุลในระหว่างธาตุอาหารพืชทั้งหมดและช่วยลดผลกระทบจากธาตุที่ไม่ใช่อาหารพืชซึ่งอยูในพืชจนอยู่ในระดับที่เป็นพิษ พวกไม้ผลและพืชที่มีเมล็ดมักจะขาดแคลเซียม (วอลเลซ 1995)

14. ยิปซัมปรับปรุงคุณภาพของผลไม้และป้องกันโรคพืช
ในช่วงของการพัฒนาผลในไม้ผลระดับแคลเซียมในพืชจะอยู่ก้ำกึ่งเสมอหรือมักจะขาดแคลนบ่อยๆ แคลเซียมเคลื่อนย้ายช้ามากจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่งของพืชและไปยังผลและตรงปลายทางของระบบการขนส่งจะได้รับแคลเซียมน้อยเกินไปดังนั้นจึงต้องมีแคลเซียมจำนวนหนึ่งที่รากพืช ในดินที่มีพีเอชสูงมากแคลเซียมจะมีอยู่ไม่มากเพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นยิปซัม สามารถจะช่วยแก้ไขสถานะการเช่นน้ำได้ ยิปซัมช่วยป้องกันโรคเน่าของแตงโม (สก๊อต และคณะ 1993) และมะเขือ มันฝรั่งต้องการยิปซัมมากกว่าปูนในสภาพดินกรดในการควบคุมโรค สแคป ยิปซัมยังอาจป้องกันผลไม้แตกและผลไม้ร่วงขณะที่ผลยังไม่แก่ ยิปซัมมีส่วนป้องกันการเกิดโรคราก และลำต้นเน่า

15. ยิปซัมเป็นแหล่งให้ธาตุกำมะถัน
ยิปซัมจัดเป็นแหล่งที่ให้ปุ๋ยกำมะถัน ดินในเขตร้อนจะมีค่าอินทรียวัตถุต่ำ อินทรียวัตถุจัดเป็นแหล่งที่ให้กำมะถัน ดังนั้นการใส่ยิปซัมจะช่วยแก้ไขการขาดกำมะถัน

16. ยิปซัมช่วยให้ไส้เดือนเจริญเติบโตได้ดี
การให้แคลเซียม(ในรูปของยิปซัม) ร่วมกับสารอินทรีย์นับเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือนซึ่งจะผลต่อการปรับปรุงอากาศในดิน ปรับปรุงดินให้แยกตัวกันเป็นก้อนและผสมคลุกเคล้าอยู่ในดิน (ซันส์ 1979)

17. ยิปซัมสามารถเพิ่มผลผลิตพืช
จากการใส่ยิปซัมในแบบผสมผสานดังได้กล่าวมาแล้วมีผลทำให้ผลผลิตของพืชเพิ่มขึ้น 10-50 % ตามที่แสดงไว้ในตารางที่ 1

การใช้ยิปซัมเพื่อการเกษตรในประเทศไทย

เนื่องจากแหล่งข้อมูลในการใช้ยิปซัมในระดับไร่นาเกษตรกรในประเทศไทยยังอยู่ในวงจำกัด แต่จากข้อมูลที่มีอยู่มากมายในต่างประเทศ เชื่อว่าผลของการใช้ยิปซัมเพื่อการปรับปรุงดินและพืชจะทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศ

คุณภาพเกรด และอัตราที่แนะนำของยิปซัมที่ใช้ปรับปรุงดินและพืช ยิปซัมที่แนะนำให้ผลิตเป็นการค้าเพื่อการปรับปรุงดินและพืชนั้นเป็นยิปซัมที่ผลิตจากเหมืองยิปซัมในประเทศ มีข้อมูลจำเพาะดังนี้

ความบริสุทธิ์ 97%
ปริมาณแคลเซียม(Ca) 23.3%
ปริมาณกำมะถัน(SO4-S) 17.8%
พีเอช ~ 7 - 8
ความละเอียดเป็นผงละเอียดขนาด 325 เมช(45 ไมครอน = 45/1000 มม.)
ขนาดบรรจุ ในถุงพีดีซีบุสองชั้นหนัก 25 กก. และ 50 กก.



อัตราที่แนะนำการใส่ยิปซัมระยะเวลา และวิธีการใส่ยิปซัม

วัตถุประสงค์ของการใส่ยิปซัม อัตราที่แนะนำ ระยะเวลาการใส่และวิธีการใส่
1. เพื่อแก้ไขตามความต้องการแคลเซียมและกำมะถันของพืชเศรษฐกิจ 100 - 200 กก./ไร่/ปี หว่านบนผิวดินและคลุกเคล้ากับดินตอนเตรียมดิน
2. ฟื้นฟูดินเสื่อมโทรม 200 - 400 กก./ไร่/ปี หว่านบนผิวดินและคลุกเคล้ากับดินตอนเตรียมดิน
3. ลดการเกิดจับตัวกันแน่นที่ผิวดินเพื่อนเพิ่มการซึมน้ำลงสู่ดินล่าง 150 - 300 กก./ไร่/ปี ฉีดพ่นทางน้ำหยดให้น้ำท่วมขังหรือฉีดเป็นฝอยซึ่งต้องการความเข้มข้นของแคลเซียม 2-5 มิลลิกรัมสมมูลย์ของประจุแคลเซียมต่อน้ำ 1 ลิตร
4. แก้ไขดินเค็มโซดิก (ดินเค็มที่เกิดจากเกลือโซเดียม) 200 กก./ไร่ขึ้นไปขึ้นอยู่กับการคำนวณความต้องการยิปซัม หว่านบนผิวดินและคลุกเคล้ากับดินไถพรวนตอนเตรียมดิน

ข้อสรุป
ดินในเขตร้อนที่มีฝนตกปานกลางถึงสูงง่ายต่อการที่ธาตุอาหารพืชถูกชะล้างและภายใต้สภาพการจัดการที่ไม่เหมาะสม พื้นดินที่ใช้ในการเพาะปลูกของประเทศจะถูกทำให้เสื่อมโทรมอย่างใหญ่หลวง ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดการจับตัวกันแน่นที่ผิวดิน ทำให้น้ำและอากาศไม่อาจผ่านแทรกซึมลงไปสู่ดินชั้นล่างได้ การเพิ่มขึ้นของดินที่เป็นกรด และด่างของโซเดียมเป็นสาเหตุให้เกิดการชะล้างสูญเสียแคลเซียมและธาตุประจุบวกอื่นๆไปจากดินไถพรวน มีผลงานวิจัยมากมายในต่างประเทศได้ชี้ให้เห็นว่าสารยิปซัมมีคุณสมบัติมากมายในการปรับปรุงแก้ไขดินเสื่อมโทรมให้กลับเป็นดินที่มีศักยภาพในการผลิตอีกได้ เป็นที่น่าสนใจที่ขอแนะนำ กรีนแคล ซึ่งเป็นชื่อผลิตภัณฑ์เป็นการค้าของยิปซัมจากเหมืองธรรมชาติในประเทศ โดยบริษัท ดี เค ที จำกัดเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการแนะนำผลิตภัณฑ์นี้ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการเกษตร สำหรับความต้องการข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับทีมงานวิชาการของเรา เป็นสิ่งที่มั่นใจได้ว่าผลต่อเนื่องในระยะยาวจากการใช้ กรีนแคล จะเป็นการแก้ปัญหาทางหนึ่งที่จะสร้างความยั่งยืนต่อศักยภาพของดินเพื่อการผลิตพืชได้


* ที่ปรึกษาทางวิชาการ บริษัท ดี เค ที จำกัด

http://www.dktgypsum.com/cgi-bin/mainframe_th.pl?showp=news_content_th3.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 09/10/2010 9:21 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ถั่วลิสง : รักเธอ “ยิปซั่ม” (Gypsum)

ห่างหายไปนานจนผมลืมไปว่าผมมีบล็อก ที่ต้องอัพเดท แบ่งปัน ให้เพื่อนๆ ผมดีใจที่มีคนให้ความสนใจและเมล์มาสอบถามมากมาย ขอบคุณทุก ๆ ท่าน ณ โอกาสนี้นะครับ ผมพยายามตอบทุกคำถามที่ตอบได้นะครับ ใจจริงอยากเอาคำถามมาตอบในบล็อกเพื่อให้เพื่อน ๆ ท่านอื่นได้ทราบถึงปัญหา หรือ แนวทางแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน

วันนี้ผมขอนำเสนอในเรื่อง ยิปซั่ม ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ ว่าสามารถเพิ่มผลผลิตให้ถั่วลิสงได้จริง ทั้งงานวิจัย ทดลอง ต่าง ๆ แต่มุมที่ผมอยากนำเสนอคือว่า ทำไม "ยิปซั่ม" จึงเพิ่มผลผลิตถั่วลิสงได้ มีบทความมากมายนะครับ ที่มีข้อมูลเชิงวิจัย ผมขอใช้สำนวนเป็นภาษาชาวบ้านเพื่อสื่อสารให้เข้าใจง่าย ๆ แล้วกันนะครับ ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ ถั่วลิสง ชอบกินอะไรก่อนนะครับ ถั่วลิสงเป็นพืช ที่มีความต้องการเหมือนพืชชนิดอื่น และเราต้องเข้าใจว่าการจัดการดิน การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับความต้องการของถั่วลิสงก็เป็นการเพิ่มผลผลิตเช่นกัน

การใช้ประโยชน์จากยิปซั่มต่อการเกษตร มีหลากหลาย เช่น การใช้เพื่อปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของดิน ใช้เพื่อลดระดับความเค็มของดิน ส่วนที่ใช้ในถั่วลิสงเป็นการให้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร โดยการโรยข้างแถวปลูกหรือหว่านในแปลงปลูกถั่วลิสง ก่อนถั่วลิสงออกดอก หรือหลังใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หรือประมาณ 45 วันหลังปลูก ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เพราะถั่วลิสงต้องการธาตุแคลเซียมในปริมาณมาก โดยเฉพาะการปลูกถั่วลิสงในดินทราย ซึ่งถั่วลิสงจะใช้ธาตุแคลเซียมเพื่อพัฒนาคุณภาพและความสมบูรณ์ฝักและเมล็ด พูดแบบชาวบ้านคือ ทำให้ได้ถั่วเมล็ดเต็ม ไม่ลีบนั่นเอง ซึ่งผมสำรวจราคา ณ วันนี้ที่วางขายตามร้านค้าปุ๋ยวัสดุการเกษตร มีสองสามยี่ห้อ แพงสุด 25 กิโลกรัม ราคาขายปลีก 160 บาท ถูกสุด ก็ 50 กิโลกรัม ราคา 250 บาท ซึ่งดูแล้วเกรดก็ใกล้เคียงกันครับ เอาเป็นว่า 1 ไร่เรามีค่า ยิปซั่ม ประมาณ 300 บาทแล้วกันครับ ถือว่าถูกมากๆๆๆๆๆๆๆ เมื่อเทียบกับต้นทุนอื่นๆ ดังนั้นผมจึงสรุปและเหมาเอาได้เลยว่า ปลูกถั่วลิสงครั้งคราใดอย่าลืมใส่ยิปซั่มด้วยนะครับ..................... “เพราะเราคู่กัน”

http://peanut-boss.blogspot.com/2010/08/gypsum.html
peanut-boss.blogspot.com/2010/08/gypsum.html -
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 09/10/2010 9:38 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

* ยูเรีย. ที่เกษตรกรมาเลเซียใช้. เป็นยูเรียที่มี "ยิบซั่ม" เป็นฟิลเลอร์....




* เหมืองยิบซั่ม ที่สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่เปิดเหมืองส่งออกไปต่างประเทศหมด โดยขึ้นเรือที่เกาะสีชัง ต่างประเทศเขาเอาไปใช้ด้านการเกษตร เคยมีคนถามว่า ทำไมไม่วางขายในประเทศไทย ? คำตอบ คือ ประเทศไทยไม่ส่งเสริมให้ใช้ยิบซั่ม แต่ส่งเสริมให้ใช้ ปูนมาร์ล. โดโลไมท์. หินภูเขาไฟ. เพอร์ไรซ์. เท่านั้น.....



* เกษตกรอเมริกา ความที่ต้องการยิบซั่มใส่ดินปลูกต้นไม้ แต่ไม่มียิบซั่มแบบที่เราใช้ อุตส่าห์ลงทุนเอาแผ่นฝ้ายิบซั่ม (เพดาน) ซึ่งมีแคลเซียมเพียง 2-3 % มาบดแล้วใช้แทน



* ออสเตรเลีย. แคนนาดา. สั่งนำเข้ายิบซั่มจากประเทศไทย แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเติม Mg ลงไปด้วย 5%




* เกษตรกรคลื่นลูกใหม่ พื้นฐานความรู้ระดับปริญญา ถาม จนท.เกษตรอำเภอว่า
ระหว่าง "ยิบซั่ม" กับ "ปูนมาร์ล. โดโลไมท์. ปูนเปลืกหอย/หินเผา" ปรับปรุงบำรุงดิน อย่างไหนดีกว่ากัน ?

จนท.เกษตรตอบหน้าตาเฉย : ยิบซั่ม. ดีกว่า....

คลื่นลูกใหม่ถามต่อ : อ้าว....แล้วทำไมเกษตรถึงให้ใส่ปูนมาร์ล. โดโลไมท์. ล่ะ ?

จนท.เกษตรตอบอีก : หน่วยเหนือสั่งมา



เวรกรรมประเทศไทย
ลุงคิมครับผม
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©