-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 9:29 am    ชื่อกระทู้: วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย















การสกัดกลิ่นหอมออกจากพืชหอม ได้มีการทำมาเป็นเวลานานแล้ว โดยในสมัยโบราณ จะนิยมนำดอกไม้หอมมาแช่น้ำทิ้งไว้ และนำน้ำที่มีกลิ่นหอมนั้น ไปใช้ดื่มหรืออาบ ต่อมาได้มีการพัฒนาวิธีการสกัดกลิ่นหอม เพื่อให้ได้กลิ่นหอม หรือ น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพ และปริมาณสูงสุด วิธีการดังกล่าวนั้นมีหลายวิธี การที่จะเลือกใช้วิธีใดนั้น ต้องพิจารณาลักษณะของพืชที่จะนำมาสกัดด้วย


วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. การกลั่นโดยใช้น้ำ
วิธีนี้สามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์สำหรับการกลั่น เช่น หม้อกลั่น, เครื่องควบแน่น และภาชนะรองรับน้ำมัน วิธีการก็คือ บรรจุพืชที่ต้องการสกัดน้ำมันหอม ระเหยลงในหม้อกลั่น เติมน้ำพอท่วม แล้วต้มจนน้ำเดือด เมื่อน้ำเดือดระเหยเป็นไอ ไอน้ำจะช่วยพาน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเนื้อเยื่อของพืชออกมาพร้อมกัน

เมื่อผ่านเครื่องควบแน่น ไอน้ำและไอของน้ำมันหอมระเหยจะควบแน่นเป็นของเหลว ได้น้ำมันหอมระเหย และน้ำ แยกชั้นจากกัน

สำหรับการกลั่นพืชปริมาณน้อยๆ ในห้องปฏิบัติการ เราสามารถทำได้ โดยใช้ชุดกลั่นที่ทำจากเครื่องแก้ว เรียกว่า ชุดกลั่นชนิด Clevenger

ส่วนการกลั่นพืชปริมาณมาก ควรใช้เครื่องกลั่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจทำด้วยเหล็กสเตนเลส หรือทองแดง โดยอาศัยหลักการเดียวกัน

การกลั่นโดยใช้น้ำนี้ มีข้อดี คือ เป็นวิธีที่ง่าย อุปกรณ์ในการกลั่น ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ก็มีข้อเสีย คือ ในกรณีที่ต้องกลั่นพืชปริมาณๆ ความร้อนที่ให้สู่หม้อกลั่นจะไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งหม้อกลั่น พืชที่อยู่ด้านล่างใกล้กับเตา อาจเกิดการไหม้ได้ ทำให้น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้ มีกลั่นเหม็นไหม้ติดปนมา

อีกทั้งการกลั่นโดยวิธีนี้ พืชจะต้องสัมผัสกับน้ำเดือดโดยตรงเป็นเวลานาน ทำให้องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหย เกิดการเปลี่ยนแปลงไปบ้างบางส่วน

2. การกลั่นโดยใช้น้ำและไอน้ำ
วิธีนี้มีหลักการคล้ายกับการกลั่นโดยใช้น้ำ แต่แตกต่างตรงที่ ภายในหม้อกลั่นจะมีตะแกรงสำหรับวางพืชไว้เหนือระดับน้ำ เมื่อให้ความร้อน โดยเปลวไฟ หรือไอน้ำจากเครื่องกำเนิดไอน้ำ (Boiler), น้ำภายในหม้อกลั่น จะเดือดกลายเป็นไอ การกลั่นโดยวิธีนี้ พืชที่ใช้กลั่นจะไม่สัมผัสกับความร้อนโดยตรง ทำให้คุณภาพของน้ำมันหอมระเหยดีกว่าวิธีแรก

3. การกลั่นโดยใช้ไอน้ำ
การกลั่นโดยวิธีนี้ ก็คล้ายกับวิธีที่ 2 แต่ไม่ต้องเติมน้ำลงในหม้อกลั่น เมื่อบรรจุพืชลงบนตะแกรงแล้ว ผ่านความร้อนจากไอน้ำที่ได้จากเครื่องกำเนิดไอน้ำ ไอน้ำจะช่วยน้ำมันหอมระเหยในพืช ระเหยออกมาอย่างรวดเร็ว

วิธีนี้มีข้อดี คือ เวลาที่ใช้ในการกลั่นจะสั้นกว่า ปริมาณน้ำมันมีคุณภาพ และปริมาณดีกว่า แต่ไม่เหมาะกับพืชที่มีลักษณะบาง เช่น กลีบกุหลาบ เพราะไอน้ำจะทำ ให้กลีบกุหลาบรวมตัวกันเป็นก้อน น้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในกลีบกุหลาบไม่สามารถออกมา พร้อมไอน้ำได้ทั้งหมด ทำให้ได้ปริมาณน้ำมันหอมระเหยน้อยลง หรือไม่ได้เลย การกลั่นน้ำมันกุหลาบจึงควรใช้วิธีการกลั่นด้วยน้ำจะเหมาะสมกว่า

4. การสกัดโดยใช้ตัวทำละลาย
การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้ที่ไม่สามารถใช้วิธีกลั่น โดยใช้ไอน้ำได้เนื่องจากองค์ประกอบของสารหอมระเหยในดอกไม้จะสลายตัวเมื่อ ถูกความร้อนสูง ดังนั้นจึงใช้ตัวทำละลาย เช่น เฮกเซน สกัดน้ำมันหอมระเหยออกมา หลังจากนั้นจะระเหยไล่ตัวทำละลายออกที่อุณหภูมิและความกดดันต่ำ ก็จะได้หัวน้ำหอม ชนิด concrete

5. การสกัดโดยใช้ไขมัน (enfleurage)
การสกัดโดยใช้ไขมันเป็นวิธีการสกัดแบบดั้งเดิม มักใช้กับดอกไม้กลีบบาง เช่นมะลิ ซ่อนกลิ่น โดยจะใช้ไขมันประเภทน้ำมันหมูเกลี่ยลงบนถาดไม้ แล้วนำ ดอกไม้มาเกลี่ยทับเป็นชั้นบางๆ จนเต็มถาด ตั้งทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วเปลี่ยนดอกไม้ ชุดใหม่ ทำซ้ำประมาณ 7-10 ครั้ง ไขมันจะดูดซับสารหอมไว้เรียกไขมันที่ดูดซับ สารหอมนี้ว่า pomade หลังจากนั้นใช้เอทธานอลละลายสารหอมออกจากไขมัน นำไประเหยไล่ตัวละลายออกที่อุณหภูมิและความกดดันต่ำ จะได้หัวน้ำหอมชนิด concrete เมื่อแยกส่วนที่เป็นไขมันออกโดยการนำมาละลายเอทธานอลแล้ว แช่เย็นเพื่อแยกส่วนที่เป็นไขออก หลังจากระเหยไล่ตัวละลายออกจะได้หัวน้ำหอมชนิด absolute ซึ่งจัดเป็นหัวน้ำหอมชนิดดีและราคาแพงที่สุด

6. วิธีบีบ
วิธีนี้มักใช้กับเปลือกผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด น้ำมันหอมระเหยที่ได้จะมีกลิ่นและคุณภาพดี

นอกจากนี้ ยังมีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้โดยใช้ คาร์บอนไดออกไซด์เหลว โดยเรียกวิธีนี้ว่า Supercritical carbondioxide fluid extraction ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ เหมาะสำหรับการสกัดสารที่สลายตัวง่ายเมื่อ ถูกความร้อน แต่สูญเสียค่าใช้จ่ายมาก


http://www.tistr.or.th/pharma/Essen_ext.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 9:34 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

“เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย” ผลงานวิจัยสู่อาชีพอย่างยั่งยืน

ผลงาน เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย ที่ได้รับรางวัลที่ 1 การประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หัวข้อ เครื่องจักรกลการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2546

อาจารย์สุรัตน์วดี จิวะจินดา ได้เล่าถึงแนวความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยว่า มีที่มาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในการวิจัย ในขณะนั้นการซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากต่างประเทศก็มีราคาแพงมาก ดังนั้นทุนในการวิจัยอาจไม่เพียงพอที่จะสานต่องานให้เป็นรูปร่างได้ ในครั้งแรกโครงการ น้ำมันหอมระเหย จึงเกิดขึ้นจากทุนของสภาการวิจัย เป็นโครงการเกี่ยวกับการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของพืชตระกูลตะไคร้ที่ปลูกในประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นจะมีการทำสเปรย์ไล่แมลงจาก ข่า หรือตะไคร้กันมาก การศึกษาตะไคร้จึงเริ่มขึ้น

“พืชจำพวกตะไคร้ นำมากลั่นน้ำมันหอมระเหยได้ไม่ยาก เมื่อสังเกตจากใบจะเห็นว่ามีจุดใสอยู่ และความร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ที่จุดเดือดของไอน้ำ ไม่ต้องใช้ความดัน คือใช้ระบบเปิดตลอด โดยมีตัวการเก็บไอน้ำด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ยาก หลังจากนั้นมีเกษตรกรได้ขอแบบไปทำเพื่อใช้ในงานเกษตร” อาจารย์สุรัตน์วดีกล่าว

ปัญหาจากมะนาวก่อเกิดเทคโนโลยีใหม่
เมื่อปี พ.ศ. 2542 วิกฤติการณ์ของมะนาวได้ก่อตัวขึ้น ทางสถาบันวิจัยฯ จึงได้เป็นผู้รับผิดชอบทำโครงการ เรื่อง การเพิ่มมูลค่าของมะนาวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ด้านการทำน้ำมันหอมระเหยจากมะนาว แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการกลั่นที่ให้น้ำมันน้อยมาก โดยเห็นว่าเปลือกของมะนาวต่อมน้ำมันยังไม่แตก ถึงแม้จะต้มไปนานหลายชั่วโมง จนไม่มีน้ำมันจะออกมาแล้วก็ตาม ทำให้เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2542 และจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงเป็นสิทธิประโยชน์ของหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากพืชหลายชนิด เช่น ตะไคร้ ใบกะเพรา ใบโหระพา ใบฝรั่ง และพืชตระกูลส้มที่มีเปลือกก็ให้น้ำมันได้ปริมาณมาก

ทั้งนี้หลักการของการกลั่นน้ำมันหอมระเหยคือ การพาไอน้ำเข้าไปในวัตถุดิบ แล้ววัตถุดิบก็จะไปพาน้ำมันหอมระเหยออกมาพร้อมกับไอน้ำ จะได้ไอของน้ำปนกับไอของน้ำมัน เมื่อผ่านระบบควบแน่นมันก็จะกลายเป็นของเหลว โดยธรรมชาติน้ำกับน้ำมันจะไม่รวมตัวกัน หลังจากที่ปล่อยทิ้งไว้น้ำมันก็จะลอยตัว และมีเครื่องที่ทำการแยกส่วนน้ำมันอีกทีหนึ่ง ทำให้ได้น้ำมันหอมระเหย 100%

ปัญหาของน้ำมันหอมระเหย คือ ต้องมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ และในขณะที่ราคาน้ำมันหอมระเหยในประเทศยังไม่สามารถแข่งขันกับกลิ่นสังเคราะห์ หรือสินค้าที่นำเข้ามาได้ ดังนั้นการทำธุรกิจน้ำมันหอมระเหย ควรจะรวมตัวกัน เพราะถ้าแยกตัวกันทำจะเกิดการแข่งขันทางราคา สุดท้ายธุรกิจก็ไม่สามารถเกิดได้เนื่องจากขาดทุน แต่เมื่อใดที่รวมตัวกันได้ในธุรกิจเดียวกัน ร่วมกันตั้งราคาที่เป็นราคากลาง แล้วไปแข่งขันกันเรื่องคุณภาพ หรือแพ็คเกจจิ้ง หรือกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยแทน มองการณ์ไกลถึงอนาคตเราอาจแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างแน่นอน


(ข้อมูลจากhttp://www.manager.co.th/asp-bin/PrintNews.aspx?NewsID=9470000033558)



http://www.google.co.th/search?hl=th&source=hp&q=%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A2&aq=f&aqi=&aql=&oq=&gs_rfai=
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 9:35 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ตะไค้แกง 120 กก. กลั่นได้ 40 ซีซี.
ไพล 40 กก. กลั่นได้ 40 ซีซี.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 3:17 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

สมุนไพรกันยุง ตะไคร้หอม

มาทำความรู้จักตะไคร้หอม หนึ่งในน้ำมันหอมระเหย ซึ่งใช้กันยุง โดยเป็นอีกกลิ่นหนึ่งที่ได้รับความนิยม และสามารถใช้ได้ดีกับโคมไฟ อโรมา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon nardus Rendle
วงศ์ POACEAE (GRAMINEAE)

ชื่อท้องถิ่น ตะไคร้แดง จะไคมะขูด ตะไครมะขูด

ลักษณะพืช พืชล้มลุก อายุหลายปี มีเหง้า ลำต้นตั้งตรง สูง 2 เมตร ออกเป็นกอ ใบเกลี้ยง รูปยาวแคบ กว้าง 5-20 มม. ยาวได้ถึง 1 เมตร มีกลิ่นหอม ตรงรอยต่อระหว่างใบกับกาบ มีแผ่นรูปไข่ปลายตัดยื่นออกมา ยาวประมาณ 2 มม. มีขนกาบหุ้มติดทน กาบล่างสุดเกยซ้อนกัน เมื่อแห้งจะม้วนขึ้น

ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ยาวได้ถึง 80 ซม. มีใบประดับ ลักษณะคล้ายกาบ ยาวประมาณ 25 มม. รองรับอยู่ ช่อดอกแยกเป็นหลายแขนง แต่ละแขนงมีช่อย่อย 4-5 ช่อ ผลแห้งไม่แตก

ตะไคร้หอมมีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายกับตะไคร้กอ ต่างกันที่กลิ่น ต้นและใบยาวกว่าตะไคร้กอมาก แผ่นใบกว้างยาวและนิ่มกว่าเล็กน้อย

การปลูก
ใช้หน่อหรือเหง้าชอบขึ้นในดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง ชอบแดดมาก ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบและกาบใบ


สรรพคุณ
ยาไทย ต้นแก้ริดสีดวงในปาก (คือปากแตกระแหง เป็นแผลในปาก) สตรีมีครรภ์รับประทาน ทำให้แท้ง บีบรัดมดลูก ขับลมในลำใส้ แก้แน่น ตะไคร้หอมได้ถูกนำมาใช้ไล่แมลงอย่างแพร่หลายนานมาแล้ว โดยละลายน้ำมันตะไคร้หอม 7 ส่วน ผสมในแอลกอฮอล์ (70%) 93 ส่วน ฉีดพ่นหรือตำใบสดหมักในแอลกอฮอล์ใน อัตราส่วน 1:1 ทาตรงขอบประตูที่ปิดเปิดเสมอ หรือชุบสำลีแขวนเอาไว้หน้าประตูเข้าออก หรือใช้ใบตะไคร้หอมมัดแล้วทุบให้ช้ำวางใว้ตามมุมห้องหรือใต้เตียง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ใบและกาบใบมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมี Geraniol และ Citronellal เป็นส่วนประกอบสำคัญ มีฤทธิ์ในการไล่แมลง โดยเฉพาะ กันยุง จากการวิจัยพบว่า ทั้งต้นใช้กันยุงได้ ปัจจุบันจึงมีผู้สะกัด เอาสมุนไพรชนิดนี้มาทำเป็น โลชั่นกันยุงบ้าง น้ำมันหอมระเหย กลิ่นตะไคร้ ไล่ยุง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ตะไคร้หอมที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยมี 2 ชนิดคือ Lenabuta เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากประเทศลังกา และอีกชนิดคือ Mahapengiri เป็นพันธุ์ที่ได้จากประเทศอินโดนีเซีย บริเวณเกาะชวา

ปัจจุบันมีการปลูกแพร่หลายเข้าไปในหลายประเทศ เช่น ประเทศจีน ประเทศในอเมริกาใต้ เป็นต้น ตะไคร้หอมที่ได้จากชวาจะมีสาร geraniol, citronellal มี aldehyde และ total alcohol ไม่น้อยว่า 35 % เมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธี acetylation เป็นผลให้น้ำมันที่ได้จากตะไคร้หอมชนิดชวามีคุณภาพดีกว่าชนิดลังกา ในประเทศไทยมีการนำเข้ามาปลูกนานแล้วผู้ที่นำเข้ามาคือคุณหลวงมิตรธรรมพิทักษ์โดยนำเข้ามาจาก อินเดียและนำไปปลูกที่อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีเป็นที่แรก
ปัจจุบันมีการนำไปปลูกทั่วประเทศ




http://www.lightandscent.com/lemongrass.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 3:20 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

นักวิจัย มก. คิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยขนาดเล็กและราคาถูก


นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย สามารถกลั่นน้ำมันจากตะไคร้และเปลือกมะนาวได้ ซึ่งได้ปริมาณน้ำมันมากขึ้น เครื่องมีขนาดเล็กขนย้ายสะดวก ทนทาน และราคาถูก เหมาะกับ อุตสาหกรรมขนาดเล็กและครัวเรือน เชื่อมั่นว่าสามารถตอบสนองธุรกิจสปาในประเทศไทยที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังลดการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยจากต่างประเทศอีกด้วย

สืบเนื่องมาจากปี 2542 ที่เกษตรกรประสบปัญหามะนาวล้นตลาด รัฐบาลจึงเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและหาทางเพิ่มมูลค่าของมะนาว สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. จึงระดมความคิดเห็นจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ โดยอาจารย์สุรัตน์วดี จิวะจินดา ได้เสนอขอทำโครงการวิจัยเรื่องการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากมะนาวไทยเพื่อการส่งออก เนื่องจากเคยทำโครงการวิจัยเรื่องน้ำมันตะไคร้หอมมาก่อนหน้านี้และได้ออกแบบเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยแนะนำให้เกษตรกรใช้กลั่นน้ำมันตะไคร้หอมสำหรับไล่แมลง ซึ่งในงานวิจัยครั้งนั้นพบว่าเครื่องกลั่นที่เคยออกแบบให้เกษตรกรกลั่นน้ำมันตะไคร้และตะไคร้หอมไม่สามารถกลั่นน้ำมันจากเปลือกมะนาวให้ได้ผลเป็นที่พอใจ จึงคิดออกแบบเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยนี้ขึ้นโดยได้รับเงินอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โดยในขั้นตอนการวิจัย ได้ทดลองกลั่นโดยเครืองกลั่นแบบต่างๆที่มีอยู่ กับเครื่องที่ออกแบบขึ้นใหม่ที่เพิ่มเติมส่วนในการควบคุมการไหลของไอเพื่อเพิ่มความดันในถังกลั่น ใช้เวลาในการทำวิจัย รวมทั้งการเก็บข้อมูลในการกลั่นประมาณ 3 ปี และประสบความสำเร็จให้ผลที่น่าพอใจโดยให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณ 2% จากที่เคยกลั่นได้น้อยกว่า 1% จากเครื่องกลั่นเดิม และเห็นว่าเครื่องกลั่นในรูปแบบนี้ยังไม่มีในท้องตลาด จึงได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว พร้อมทั้งได้ทำการผลิตออกจำหน่ายแก่ผู้สนใจแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากผลงานนี้ ส่งผลให้เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2546 ของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยนี้ ออกแบบขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก เนื่องจากเครื่องกลั่นในระบบอุตสาหกรรม ทั่วไปมักจะมีขนาดใหญ่ ยากต่อการขนย้ายหรือขนย้าย และมีราคาแพง ส่วนชุดเครื่องกลั่นที่ใช้ในห้องปฏิบัติการมักจะมีส่วนประกอบที่เป็นแก้วซึ่งชำรุดเสียหายได้ ไม่เหมาะกับการใช้งานในลักษณะของอุตสาหกรรมในครัวเรือนหรือในกลุ่มเกษตรกร

สำหรับคุณสมบัติพิเศษของเครื่องกลั่นที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ จะใช้กลั่นเพื่อสกัดแยกเอาน้ำมันชนิดน้ำมันหอมระเหย ไม่ใช่น้ำมันพืชทั่วไป จากส่วนที่มีน้ำมีนหอมระเหยสะสมอยู่ของพืช เช่น ราก ใบ ดอก หรือเนื้อไม้ ออกแบบเป็นถังกลั่นชนิดเบ็ดเสร็จถังเดียวขนาดเล็กโดยใช้ระบบการกลั่นด้วยน้ำ ระบบควบคุมอุณหภูมิและความดัน โดยมีส่วนที่ทำการควบแน่นแยกต่างหาก สามารถประกอบหรือถอดชิ้นส่วนออกได้ง่ายและขนย้ายสะดวก ทำจากเหล็กปลอดปลอดสนิมที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถทนแรงดันจากภายในได้ไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร มีส่วนประกอบทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ ถังกลั่น ฝาของถังกลั่น ท่อนำไอน้ำ ตัวควบแน่น และถังรองรับน้ำมันและแยกน้ำมัน

วิธีการทำงานคือ เมื่อใส่น้ำ ชิ้นส่วนของพืช และติดตั้งส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และเปิดให้เครื่องทำงานแล้ว ตัวทำความร้อนจะทำงานจนทำให้น้ำเดือด ไอน้ำจะลอยผ่านชั้นที่บรรจุพืชขึ้นมา ความร้อนจากไอน้ำจะระเหยน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในพืชให้กลายเป็นไอปนออกมารวมกับไอน้ำ ผ่านทางช่องระบายไอน้ำด้านบนของฝาถัง โดยสามารถควบคุมความเร็วในการไหลของไอน้ำและความดันภายในถัง โดยการปิดเปิดวาวล์ที่ครอบอยู่บนช่องระบายไอน้ำ ไอน้ำและน้ำมันจะไหลผ่านท่อนำไอน้ำเข้าสู่ตัวควบแน่นแล้วกลั่นตัวเป็นของเหลวงลงสู่ภาชนะเก็บและแยกน้ำมัน ซึ่งจะแยกเอาน้ำมันออกจากน้ำได้หรืออาจนำไปแยกด้วยกรวยแยกก็ได้ ซึ่งจะทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยที่ต้องการในที่สุด

หลังจากประสบความสำเร็จ ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปให้แก่ประชาชน โดยจัดอบรมเรื่องการกลั่นน้ำมันหอมระเหยไปแล้วหลายรุ่น ประมาณ 300 – 400 คน และขณะนี้ก็มีเอกชนรายย่อยหลายรายและโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยบางแห่งสั่งไปใช้บ้างแล้ว เช่น บริษัท ภูต้นน้ำ บริษัทนิธิกรฟาร์มแอนด์เอสเซนเชียลออยล์ โรงพยาบาลสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด และเอกชนที่ไม่อยู่ในรูปบริษัทอีก 4 ราย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุรัตน์วดีบอกว่า การวิจัยนี้ยังขาดผู้ช่วยทำงานวิจัยที่คิดไว้หลายเรื่อง อีกทั้งเงินทุนวิจัยที่ได้รับค่อนข้างจำกัดทำให้พัฒนางานได้ค่อนข้างช้า แต่ยังมีความคิดดี ๆ และน่าสนใจอีกหลายเรื่องที่น่าจะทำต่อ และในอนาคต อาจพัฒนาออกไปได้อีกเป็นเครื่องกลั่นอเนกประสงค์ เพื่อใช้ประโยชน์ในงานวิจัยทางด้านสมุนไพรต่อไป

อาจารย์สุรัตน์วดี กล่าวด้วยว่า บ้านเรามีดอกไม้หอมกลิ่นไทย ๆ หลายชนิดที่เป็นเอกลักษณ์แบบตะวันออกที่สามารถสกัดกลิ่นหอมมาขายเป็นสินค้าประเภทเครื่องหอมได้ ถ้าจะมีคู่แข่งก็น่าจะมีไม่มาก อยากทำเรื่องนี้แต่คงต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการทำวิจัย รวมไปถึงเรื่องการทำการตลาดซึ่งไม่ถนัด หากต้องการนำสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดต้องมีคนที่มีความสามารถในหลาย ๆ แขนงมาช่วยกันคิด

“อยากขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของงานวิจัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยที่จะมีผลทำให้ประเทศไทยไม่ต้องซื้อ Know how จากต่างประเทศ แต่เป็นการสร้าง Know how เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ อีกประการหนึ่งคือในปัจจุบันกิจการสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวของไทยเช่น สปา ที่มีข่าวเสมอว่านำรายได้เข้าประเทศปีละมาก ๆ นั้น ส่วนใหญ่มักจะนำเข้าน้ำมันหอมระเหยจากต่างประเทศมาใช้และนำมาเป็นจุดขาย มีน้ำมันหอมระเหยของไทยที่ดีๆ หลายชนิด สปาของไทยก็น่าจะลองใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นไทย ๆ บ้าง และควรแนะนำให้ชาวต่างชาติลองใช้ อาจเป็นการเปิดตลาดสินค้าส่งออกชนิดใหม่ๆได้ และทำให้เกิดพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ นอกจากพืชชนิดเดิม ๆ อย่างข้าวหรือข้าวโพดที่มีคู่แข่งในตลาดโลกมาก” อาจารย์สุรัตน์วดี กล่าว

เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย เป็นโครงการพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจำหน่ายเป็นถังขนาด ต่าง ๆ สำหรับถังความจุ 30 ลิตร ราคา 80,000 บาท ถังความจุ 50 ลิตร ราคา 100,000 บาท และถังความจุ 100 ลิตร ราคา 150,000 บาท (ยังไม่รวมภาษี) รายได้จากการจำหน่ายนำไปพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่อไป

ผู้สนใจสามารถติดต่อได้โดยตรงที่ อาจารย์สุรัตน์วดี จิวะจินดา โทรศัพท์ 0-3435-1399, 0-3428-1092 หรือ e-mail : rdiswj@nontri.ku.ac.th


จัดทำโดย : ประชาสัมพันธ์ มก.
http://pr.ku.ac.th/pr_news/interest/413.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 3:26 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ชื่อโครงงานจาก....หม้อต้มเหล้าคุณปู่ สู่เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย

ชื่อผู้ทำโครงงาน...เด็กชายนรินทร์ ชมภูกาศ, เด็กชายภูวดล สิทธิชัย, เด็กหญิงจิราพร ทองคำฟู
ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา....อาจารย์ทัศนีย์ พันธ์กาหลง
สถาบันการศึกษา.......โรงเรียนบ้านตลาดขี้เหล็ก
ระดับชั้นมัธยมต้น
หมวดวิชาชีววิทยา
วัน/เดือน/ปี ทำโครงงาน1/1/2541


บทคัดย่อเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย ที่ประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ตามหลักการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) เพื่อใช้แก้ปัญหายุงรบกวนและห้องเรียนมีกลิ่นอับชื้นในช่วงฤดูฝน ของนักเรียนโรงเรียนบ้านตลาดขี้เหล็ก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ที่ร่วมกิจกรรมห้องเสริมทักษะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นบ้านได้เลือกวิธีการแก้ปัญหายุงรบกวนและแก้ไขห้องเรียนมีกลิ่นอับชื้นแบบประหยัดและไม่เป็นอันตรายต่อนักเรียนด้วยการใช้สารสกัดจากสมุนไพร โดยทำการศึกษาหลักการทำงานจากชุดนึ่งข้าวเหนียวและหม้อต้มเหล้าพื้นบ้านมาพิจารณาแล้วสรุปผล นำมาปรับสร้างเป็นแบบจำลองจากวัสดุพื้นบ้าน เพื่อทดสอบและสรุปตรวจสอบความเข้าใจจากแบบจำลอง แล้วพิจารณานำวัสดุเหลือใช้ในชุมชนมาออกแบบสร้างเป็นเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเย เพื่อใช้กลั่นน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรสำหรับใช้แก้ปัญหายุงรบกวน และกลิ่นอับชื้นในห้องเรียน

จากการทดลองการทำงานของเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยที่สร้างขึ้นตามแบบ พบว่าเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยสามารถทำงานได้ โดยมีประสิทธิภาพให้สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรได้ ซึ่งจากการกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร 3 ชนิด ที่มีในท้องถิ่นโดยเลือกจากพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการป้องกันยุงและให้กลิ่นสดชื่นรวมถึงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายของนักเรียนได้แก่ การนำเอาต้นตะไคร้หอม ผิวมะกรูดและใบยูคาลิปตัสอย่างละ 3 กิโลกรัม มากลั่นด้วยเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย โดยใช้น้ำสะอาดจำนวน 5 ลิตร ต่อการกลั่น 1 ครั้ง ใช้เวลากลั่น 1 ชั่วโมง ต่อการกลั่น 1 ครั้ง ใช้ความร้อนจากถังแก๊สปิกนิกที่เปิดวาล์วเร่งความร้อนที่ 3/4 ของวาล์วเปิด-ปิดเพื่อให้อุณหภูมิการกลั่นที่สม่ำเสมอ พบว่าได้ส่วนผสมของสารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร ทั้ง 3 ชนิด คือ 600 มิลลิลิตร 520 มิลลิลิตร 750 มิลลิลิตรตามลำดับ จากการตรวจสอบกลิ่นและสังเกตสีของสารสกัดที่ได้พบว่าส่วนประกอบของสารสกัด มีลักษณะเป็นน้ำที่มีกลิ่นของพืชสมุนไพรเป็นส่วนใหญ่และมีฝ้าอยู่บริเวณผิวหน้าน้ำที่กลั่นได้ที่มีสีแตกต่างกัน โดยฝ้าน้ำมันที่ได้จากตะไคร้หอมจะมีสีจางๆ ฝ้าน้ำมันที่ได้จากผิวมะกรูดจะมีสีเหลืองจางๆ ฝ้าน้ำมันที่ได้จากใบยูคาลิปตัส จะไม่มีสีแต่จะมีลักษณะเป็นมันวาว เมื่อใช้หลอดฉีดยาดูดฝ้าน้ำมันที่ลอยอยู่บริเวณผิวได้ปริมาณดังนี้ ตะไคร้หอม จำนวน 10 มิลลิลิตร ผิวมะกรูด จำนวน 18 มิลลิลิตร ใบยูคาลิปตัส จำนวน 14 มิลลิลิตร และเมื่อนำน้ำสารสกัดที่เหลือจากการดูดเอาฝ้าน้ำมันที่ลอยบริเวณผิวหน้าไปใส่กระบอกฉีดน้ำ จำนวน 200 มิลลิลิตร ฉีดพ่นบริเวณรอบห้องเรียนพบว่าสารสกัดจากตะไคร้หอมจะช่วยป้องกันการรบกวนจากยุงได้นาน 3 ชั่วโมง สารสกัดจากตะไคร้หอม ผิวมะกรูด และยูคาลิปตัสจะช่วยแก้ไขกลิ่นอับชื้นทำให้ห้องมีกลิ่นและบรรยากาศที่สดชื่น ได้นาน 3 ชั่วโมง 3 ชั่วโมงและ 1 ชั่วโมงตามลำดับ เมื่อนำฝ้าน้ำมันที่ได้จากการใช้หลอดดูดน้ำมันที่ลอยอยู่บริเวณผิวของสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่ได้ไปใช้เป็นส่วนผสมในการจัดทำยาหม่องสมุนไพร พบว่าฝ้าน้ำมันดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ดีสามารถใช้เป็นส่วนผสมทำยาหม่องสมุนไพรได้


http://www.vcharkarn.com/project/view/548
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 3:31 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การสกัดน้ำมันหอมจากดอกไม้และสมุนไพร


น้ำหอมที่สกัดมาจากดอกไม้และสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มีราคาแพงมาก ประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตน้ำหอมคือ ฝรั่งเศส,สวิสเซอร์แลนด์,อังกฤษ,โปรตุเกส,เยอรมัน,อิตาลี,อเมริกาและประเทศอื่น ๆ ประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกด้านการผลิตน้ำหอมที่มีคุณภาพดีคือ ฝรั่งเศส

หัวน้ำหอมที่ส่งมาจากประเทศฝรั่งเศสจะมีราคาแพงมาก ประเทศไทยต้องเสียดุลการค้าด้านนี้ไม่น้อยเพราะในประเทศไทยยังไม่มีใครกล้าลงทุนด้านนี้อย่างจริงจังทั้ง ๆ ที่มีดอกไม้มากไม่แพ้ฝรั่งเศส โดยเฉพาะดอกกล้วยไม้ ประเทศเรามีชื่อเสียงมาเป็นเวลานาน

การผลิตน้ำหอมจากดอกไม้ จะต้องลงทุนด้านวัตถุดิบในปริมาณสูงมาก เช่น ดอกมะลิน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม อาจจะผลิตหัวน้ำหอมบริสุทธิ์ได้เพียงครึ่งถึงหนึ่งลิตรเท่านั้น แต่หัวน้ำหอมบริสุทธิ์ 1 ลิตรนี้ สามารถนำไปใช้ผลิตเป็นหัวน้ำหอม และทำประโยชน์ด้านอื่นอีกมหาศาล


ขั้นตอนการผลิตหัวน้ำหอมบริสุทธิ์จากดอกไม้
ดอกไม้ที่นำมาผลิตน้ำหอมได้คือ ดอกมะลิ , กุหลาบ , กล้วยไม้ , ดมแมว , จำปี , กระดังงา , พุดซ้อน ตลอดจนดอกไม้ทุกชนิดที่มีกลิ่นหอม

สมุนไพรที่สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ คือ ต้นมินต์, ไพร, ตะไคร้หอมและสมุนไพร ชนิดอื่น ๆ ที่มีน้ำมันหอมระเหย

อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการสกัดน้ำมันหอมจากดอกไม้และสมุนไพร (ใช้หลักการเดียวกัน)

1. แหล่งกำเนิดไอน้ำ
2. ภาชนะบรรจุวัตถุดิบ
3. เครื่องควบแน่น
4. เครื่องมือดักน้ำมันหอม

อุปกรณ์ที่จำเป็นเหล่านี้ ท่านสามารถออกแบบเองได้ โดยอาศัยหลักการที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นพื้นฐานในการออกแบบเครื่องมือผลิตน้ำมันหอม

ปกติการเก็บน้ำมันหอมของดอกไม้หรือสมุนไพร อาจจะนำไปผสมกับน้ำมันพืชบริสุทธิ์ ที่ปราศจากสีและกลิ่น เช่น น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ฯลฯ ผสมเก็บไว้ในอัตราส่วน 1:1 เป็นหัวน้ำมันหอมที่เก็บเอาไว้ได้นาน

การผลิตน้ำหอมจากน้ำมันหอมง่ายมาก โรงงานทำน้ำหอมทั่วโลกใช้หลักการเดียวกัน กล่าวคือนำน้ำมันหอมระเหยมาผสมกับแอลกอฮอล์ชนิดเอธธิลแอลกอฮอล์ 95 % ตามอัตราส่วนที่ทั่วโลกแบ่งเกรดของน้ำหอมออกเป็น 4 เกรด

1.เพอร์ฟูม มีหัวน้ำหอมในแอลกอฮอล์ประมาณ 16-25 %
2.ออเดอเพอร์ฟูม มีหัวน้ำหอมในแอลกอฮอล์ประมาณ 11-15 %
3.ออโดทอยเล็ท มีหัวน้ำหอมในแอลกอฮอล์ประมาณ 7-10 %
4.ออเดอโคโลญจน์ มีหัวน้ำหอมในแอลกอฮอล์ประมาณ 4-6 %


ส่วนกลิ่นที่มีความแตกต่างกัน เป็นเพราะฝีมือการผสมข้ามกลิ่นของดอกไม้แต่ละชนิดซึ่งเป็นสูตรของแต่ละคน และเป็นลิขสิทธิ์ที่เป็นลับเฉพาะของผู้คิดค้น

ขั้นตอนในการผลิตน้ำหอมมีความซับซ้อนในด้านสูตร ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้เพราะเป็นความสามารถเฉพาะบุคคล ที่จะสรรหาดอกไม้มาสกัดหัวน้ำมันหอม แล้วนำหัวน้ำมันหอมมาผสมกันให้เกิดกลิ่นใหม่ ๆ จึงไม่มีสูตรและตำรากำหนดเอาไว้อย่างตายตัว

กรณีสกัดน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร อาจจะส่งไปให้กับบริษัทยาต่าง ๆ พิจารณาคุณภาพ เช่นน้ำมันจากมินต์ใช้ทำเป็นยาขับลมได้ ไพรใช้น้ำมันหอมระเหยทำเป็นยาทากันยุงได้ ตะไคร้หอมก็มีคุณภาพกันยุงได้เช่นกัน ฯลฯ


กรรมวิธีการสกัดน้ำมันหอมจากดอกไม้และสมุนไพร มีวิธีการง่าย ๆ ถ้าท่านที่สนใจ ลองนำไปใช้และลงทุนทำดูโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีสูงมาก ทั้งนี้ต้องคำนึงถึง
1. แหล่งวัตถุดิบ
2. ขั้นตอนการสร้างอุปกรณ์
3. ขั้นตอนการจัดจำหน่ายและการหาตลาดเพิ่ม



http://student.psu.ac.th/StudAffairs/carrey/c53/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 9:34 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การปลูกพืชสมุนไพร

เนื่องจากในอดีตการใช้สมุนไพรเป็นการเก็บจากธรรมชาติแต่ไม่มีการปลูกทดแทน ทำห้พืชสมุนไพรมีจำนวนลดลง ปัจจุบันเริ่มมีการนำเอาพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการปลูกให้ได้จำนวนมากขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นเพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จึงต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญต่อไปนี้

พื้นที่
การเลือกสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกพืชสมุนไพรแต่ละชนิดเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากพืชสมุนไพรเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ละพื้นที่เหมาะที่พืชสมุนไพรจะขึ้นแตกต่างกัน การเลือกพื้นที่ให้เหมาะสมจะช่วยให้พืชนั้น ๆ เจริญเติบโตดี ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการจัดการและการดูแลรักษา

แสง
มีความสำคัญในการสังเคราะห์แสงของพืช ความต้องการในปริมาณของแสงเพื่อนำไปใช้ขึ้นแยู่กับพืชแต่ละชนิด พืชสมุนไพรบางชนิดสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีเมื่อปลูกในสภาพกลางแจ้ง แต่บางชนิดต้องการแสงน้อย จึงต้องมีการดูแลให้เหมาะสม เพื่อให้พืชมีการเจริญเติบโตเต็มที่ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณสารสำคัญอีกด้วย

อุณหภูมิ
การที่พืชได้รับอุณหภูมิที่เหมาะสม มีผลต่อการเจริญเติบโตแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช บางชนิดชอบร้อน แห้งแล้ง บางชนิดชอบอากาศหนาว นอกจากนี้ยังรวมถึงความร้อนเย็นของดินและบรรยากาศรอบ ๆ ต้นพืชสมุนไพรด้วย เช่น พืชเขตร้อนทั่วไป อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต คือ 18 - 35 องศาเซลเซียส ถ้าพืชได้รับอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

น้ำ
เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของพืช ช่วยให้ต้นพืชดูดแร่ธาติอาหารจากดินได้ ช่วยการสังเคราะห์แสงและการหายใจของพืช นอกจากความชุ่มชื้นในดินแล้ว ความชุ่มชื้นในอากาศก็จำเป็น ช้วยให้ต้นไม้สดชื่นไม่เหี่ยวเฉา ดังนั้นถ้าพืชขาดน้ำจะเกิดอาการเหี่ยวเฉา ถ้ารุนแรงก็อาจตายได้ พืชบางชนิดต้องการความชื้นสูง เช่น กระวาน กานพลู เป็นต้น

1. ในการเตรียมดินของพืชสมุนไพร มีขั้นตอนดังนี้
1.1 การไถพรวน เพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุย
1.2 ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
1.3 กำหนดระยะปลูกที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด


กรณีที่ปลูกพืชสมุนไพรเพื่อใช้ราก หัว ลำต้นใต้ดินหรือเหง้าจำเป็นต้องเตรียมดินให้ร่วนซุยเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ใช้รากอาจตัดปลูกในภาชนะที่นำเอารากออกมาภายหลังได้

2. วิธีการปลูกมีหลายวิธีขึ้นแยู่กับส่วนของพืชที่นำมาปลูกและชนิดของพืช
2.1 การปลูกด้วยเมล็ด
สามารถทำให้โดยการหว่านลงแปลง แล้วใช้ดินร่วนหรือทรายหยาบ โรยทับบาง ๆ แล้วรดน้ำให้ชื้นตลอดทั้งวัน เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อน ถอนต้นที่อ่อนแอออก ให้มีระยะห่างระหว่างต้นพอสมควร ส่วนการหยอดลงหลุมโดยตรงมักใช้กับพืชที่มีเมล็ดใหญ่ โดยหยอดเมล็ดให้มีจำนวนมากกว่าที่ต้องการและถอนออกภายหลัง

2.2 การปลูกด้วยกิ่งชำหรือกิ่งตอน
ปลูกโดยการนำเอากิ่งชำมาปลูกในถุงพลาสติกให้แข็งแรงดีก่อน แล้วจึงย้ายไปปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ เตรียมหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างกว่าถุงพลาสติกเล็กน้อย เมื่อนำต้นอ่อนลงปลูกแล้ว กลบด้วยดินร่วนหรือดินปนทราย กดดินให้แน่นพอประมาณ คลุมด้วยเศษฟางหรือหญ้าแห้งเพื่อรักษาความชุ่มชื้น

2.3 การปลูกด้วยหัว
ควรปลูกในที่ระบายน้ำดี ปลูกโดยฝังหัวให้ลึกพอประมาณ กดดินให้แน่นพอสมควร คลุมแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง

2.4 การปลูกด้วยหน่อหรือเหง้า
ในกรณีที่มีต้นพันธุ์อยู่แล้วทำการแยกหน่อที่แข็งแรง โดยตัดแยกหน่อจากต้นแม่ นำหน่อที่ได่มาตัดรากที่ช้ำหรือใบที่มากเกินไปออกบ้าง แล้วจึงนำไปปลูกในดินที่เตรียมไว้ กดดินให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม ควรบังร่มเงาให้จนกว่าต้นจะแข็งแรง

2.5 การปลูกด้วยไหล ปกตินิยมเอาส่วนของไหลมาชำไว้ก่อน แล้วจึงย้ายปลูกในพื้นที่อีกครั้ง

การพรางแสง
พืชสมุนไพรหลายชนิดต้องการแสงน้อย จึงต้องมีการพรางแสงให้ตลอดเวลา การพรางแสงอาจใช้ตาข่ายพรางแสง หรืออาจปลูกร่วมกับพืชอื่นที่มีร่มเงา ปลูกบริเวณเชิงเขาหรือปลุกในฤดูฝนซึ่งมีช่วงแสงไม่เข้มนัก เช่น บุกฟ้าทะลายโจร เร่ว หญ้าหนวดแมว เป็นต้น สำหรับพืชสมุนไพรทั่วไปที่อ่อนแออยู่ ก็ควรพรางแสงให้ชั่วระยะหนึ่งจนพืชนั้นตั้งตัวได้ จึงให้แสงตามปกติ

การทำให้ค้าง
ในพืชเถาต่าง ๆ ควรทำค้างเพื่อสะดวกในการเก็บผลผลิต การดูแลรักษาและการเจริญเติบโตของพืช เช่น พริกไทย พลู มะแว้งเครือ อัญชัน เป็นต้น

การให้น้ำ
ควรให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมโดยพิจารณาลักาณะของพืชแต่ละชนิดว่าต้องการน้ำมากหรือ้อย โดยปกติควรให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้ง แต่หากเห็นว่าแฉะเกินไปก็เว้นช่วงได้ หรือแห้งเกินไปก็ให้น้ำเพิ่มเติม จึงต้องคอยสังเกตเนื่องจากแต่ละพื้นที่มีสภาพดินและภูมิอากาศแตกต่างกัน การให้น้ำควรให้จนกว่าพืชจะตั้งตัวได้

การพรวนดิน
เป็นการทำให้ดินร่วนซุย ระบายน้ำดีขึ้น ทั้งยังช่วยกำจัดวัชพืชอีกด้วย จึงควรมีการพรวนดินบ้างเป็นครั้งคราว โดยพรวนในขณะที่ดินแห้งพอสมควร และไม่ควรให้กระทบกระเทือนรากมาก

การใส่ปุ๋ย
โดยปกติจะให้ก่อนการปลูก โดยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ในการให้ปุ๋ยกับพืชสมุนไพรแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพราะปุ๋ยจะค่อย ๆ ย่อยสลายและปล่อยแร่ธาตุที่มีประโยชน์ให้พืชอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ และยังช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้ดี การให้ปุ๋ยควรให้อย่างสม่ำเสมอประมาณ 1 - 2 เดือนต่อครั้ง โดยอาจใส่แบบเป็นแถวระหว่างพืชหรือใส่รอบ ๆ โคนต้นบริเวณทรงพุ่มก็ได้

การกำจัดศัตรูพืช ควรใช้วิธีธรรมชาติ เช่น
ปลูกพืชหลายชนิดบริเวณเดียวกัน และควรปลูกสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน และมีฤทธิ์ในการรบกวนแมลงแทรกอยู่ด้วย เช่น ดาวเรือง ตะไคร้หอม กระเพรา เสี้ยนดอกม่วง เป็นต้น

อาศัยธรรมชาติจัดสมดุลกันเอง ไม่ควรทำลายแมลงทุกชนิด เพราะบางชนิดเป็นประโยชน์ จะช่วยควบคุมและกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชให้ลดลง

ใช้สารจากธรรมชาติ โดยใช้พืชที่มีสารประกอบที่มีฤทธิ์ต่อแมลงที่เป็นศัตรูพืชมากำจัด โดยที่แต่ละพืชจะมีสารประกอบที่ออกฤทธิ์กับแมลงต่างชนิดกัน เช่น

สารสกัดจากสะเดา : ด้วง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด
ยาสูบ : เพลี้ยอ่อน ไรแดง โรครา
หางไหลแดง : เพลี้ย ด้วง เป็นต้น

การบำรุงรักษาพืชสมุนไพร คววรเลือกวิธีดูแลรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด และควรหลีกเลี่ยงสารเคมีไม่ว่าด้านการให้ปุ๋ย การกำจัดวัชพืชหรือศัตรูพืช เนื่องจากอาจมีพิษตกค้างในพืชและยังมีผลกับคุณภาพและปริมาณสารสำคัญในพืชอีกด้วย


1. เก็บเกี่ยวถูกระยะเวลา ที่มีปริมาณสารสำคัญสูงสุด การนำพืชสุมนไพรไปใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดนั้น ในพืชจะต้องมีปริมาณสารสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร ดังนั้นการเก็บเกี่ยวสมุนไพรจึงต้องคำนึงถึงทั้งอายุเก็บเกี่ยวและช่วงระยะเวลาที่พืชให้สารสำคัญสูงสุดด้วย

2. เก็บเกี่ยวถูกวิธี โดยทั่วไปการเก็บส่วนของพืชสมุนไพร แบ่งออกตามส่วนที่ใช้เป็นยา ดังนี้

2.1 ประเภทรากหรือหัว
เก็บในช่วงที่พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบและดอกร่วงหมด หรือในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูรอน ซึ่งเป็นช่วงที่รากและหัวมีการสะสมปริมาณสารสำคัญไว้ค่อนข้างสูง
วิธีเก็บ ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง ตัดรากฝอยออก

2.2 การเก็บเปลือกรากหรือเปลือกต้น
จะเก็บในช่วงระหว่างฤดูร้อนถึงฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณสารสำคัญในพืชสูง และเปลือกลอกออกง่าย ส่วนเปลือกรากเก็บในช่วงต้นฤดูฝนเหมาะสมที่สุด

วิธีเก็บ
การลอกเปลือกต้นอย่าลอกออกรอบทั้งต้นควรลอกออกจากส่วนกิ่งหรือแขนงย่อยหรือใช้วิธีลอกออกในลักษณะครึ่งวงกลมก็ได้ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อระบบการลำเลียงอาหารของพืช และไม่ควรลอกส่วนลำต้นใหญ่ของต้น

2.3 ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น
ควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด บางชนิดจะระบุช่วงเวลาที่เก็บ ซึ่งช่วงเวลานั้นใบมีสารสำคัญมากที่สุด เช่น เก็บใบแก่ หรือใบไม่อ่อนไม่แก่เกินไป (ใบเพสลาด) เป็นต้น.....วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือตัด

2.4 ประเภทดอก
โดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน บางชนิดเก็บในช่วงดอกตูม...วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือตัด


http://www.doae.go.th/library/html/detail/linn/Linn10.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 9:44 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

น้ำมันตะไคร้ สมุนไพรพื้นบ้าน

ทายาทหมอสมุนไพรพื้นบ้านชื่อดังเมืองสองแควที่หันมาเอาดีทางด้านการทำผลิตภัณฑ์ จากสมุนไพรจนประสบความสำเร็จ ก่อนจะรวบรวมชาวบ้านก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเพื่อ สร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชน สำหรับ “เสาร์ สอนเพียร” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร ต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ทายาทหมอสมุนไพรพื้นบ้านชื่อดังแห่งเมืองสองแคว “พ่อยวร สอนเพียร”

หลัง เรียนจบปวช.ช่างยนต์ จากสุโขทัยก็กลับบ้านที่ ต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดอู่ซ่อมรถแต่ไปไม่รอด จึงผันตัวเองไปเป็นพ่อค้าปลูกผักขายและขายไก่ย่างข้าวเหนียวส้มตำเลี้ยงครอบ ครัวอยู่ระยะหนึ่ง จึงคิดหาอาชีพใหม่ ด้วยการหยิบเอาสูตรสมุนไพร “น้ำมันว่าน 108” แก้ปวดเมื่อยสูตรเก่าแก่ของพ่อมาทดลองทำและนำไปเร่ขายตามจังหวัดต่างๆ

การขายยาสมุนไพรช่วยสร้างรายได้ให้แก่เสาร์และครอบครัวจนเริ่มดีขึ้น ทำให้เขาคิดที่จะเอาดีด้านการผลิตยาสมุนไพรจำหน่าย และวางแผนขยายกิจการด้วยการชักชวนเพื่อนบ้านให้มารวมตัวกัน จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร ต.บึงพระ ปี 2545 และขอเงินกู้จาก ธ.ก.ส.พิษณุโลก นำมาต่อยอดเป็นเงินทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสมุนไพรเพิ่มเติม

เสาร์ แจงต่อว่า สำหรับสมุนไพรที่ผลิตขึ้นช่วงแรกๆ เป็นพวกสบู่ขมิ้นชัน ครีมทาผิวสกัดจากใบบัวบกและกวาวเครือ แชมพูสกัดจากมะกรูด เป็นต้น แต่ปัจจุบันสินค้าที่ทำรายได้หลักยังคงเป็นน้ำมันนวดแก้ปวดเมื่อย อย่างน้ำมันว่าน และน้ำมันตะไคร้ ซึ่งสกัดจากตะไคร้สด มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อย และบรรเทาอาการปวดตามข้อ ซึ่งเป็นสูตรเด็ดที่ได้รับมรดกมาจากผู้เป็นบิดาผสมผสานกับสูตรที่ตัวเองคิด ค้นขึ้นมา

“ไอเดียในการทำน้ำมันตะไคร้นั้นเกิดจากสมัยตอนเด็กๆ ชอบเลี้ยงไก่ชน คนที่เลี้ยงไก่ชนจะทราบว่าเวลาไก่ขาเจ็บจากการลงชน จะต้องใช้ตะไคร้ทุบแล้วผูกขาไก่ ทิ้งไว้สักพักก็จะหาย นั่นเป็นเพราะน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้มีสรรพคุณด้านการรักษาอาการปวด เคล็ด ขัด ยอก ได้ จึงทดลองนำตะไคร้มาสกัด และแจกจ่ายให้คนในหมู่บ้านที่มีปัญหาเรื่องปวดข้อ ปวดขาใช้ ปรากฏได้ผลดีมาก จึงลงทุนทำ ลองผิดลองถูกอยู่ 1 ปี จึงเริ่มวางตลาดได้ในปี 2548”

สำหรับ ขั้นตอนการผลิตนั้น เสาร์เผยว่า เริ่มจากนำตะไคร้สดมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนๆ แล้วนำใส่เครื่องกลั่นโดยใช้เวลากลั่น 3 ชั่วโมง ก็จะได้ออกมาเป็นน้ำมันสกัดจากตะไคร้สด ซึ่งต้องพักทิ้งเอาไว้เพื่อให้น้ำแยกออกจากน้ำมัน ก่อนแยกเอาเฉพาะน้ำมันไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ เช่น การบูรและส่วนผสมอีกบางชนิด โดยทาง กลุ่มขออนุญาตสงวนเป็นความลับ ก็จะได้ออกมาเป็นน้ำมันตะไคร้สำหรับถูทา ฉีดพ่นแก้ปวดเมื่อย บรรจุขวดสเปรย์พร้อมใช้งานในปริมาณ ขวดละ 80 ซีซี. ซึ่งตะไคร้ 80 กิโลกรัม เมื่อกลั่นออกมาแล้วจะได้เป็นน้ำมันตะไคร้บรรจุขวด 200 ซีซี.จำนวน 100 ขวด

“วัตถุดิบในการผลิต จะรับซื้อจากแหล่งทั่วไป แต่สำหรับตะไคร้จะให้สมาชิกในกลุ่มปลูกเองและนำมาขายให้ในราคา 100 ต้น 12 บาท หากไม่เพียงพอต่อการผลิตจึงจะสั่งซื้อจากแหล่งอื่น ส่วนกากตะไคร้ที่เหลือจากการสกัดทางกลุ่มจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักตากแห้ง จำหน่าย” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเดิมกล่าว

ปัจจุบันนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร ต.บึงพระ มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากสมุนไพรรวมกว่า 100 ชนิด ท่านใดสนใจทดลองใช้ สั่งซื้อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อโดยตรงได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สมุนไพร ต. บึงพระ 194/3 หมู่ 4 ต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โทร.0-5528-7455



http://news.enterfarm.com/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%89-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/12/2010 9:54 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

น้ำมันหอมระเหย-สารสกัดจากพืชสมุนไพร

ผศ. ดร.นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร
ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) เป็นน้ำมันที่สกัดจากพืชสมุนไพรนานาชนิด ซึ่งอาจสกัดมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชธรรมชาติ เช่น ดอก ผล ใบ เมล็ด เปลือก เนื้อไม้ ยาง และราก เป็นต้น น้ำมันหอมระเหยเป็นที่รู้จักและถูกนำมาใช้ตั้งแต่ 4000ปีก่อนคริสตกาล ในพิธีกรรมทางศาสนา โดยการเผาส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพร ทำให้เกิดกลิ่นหอม นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำมันหอมระเหยในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ โดยศาสตร์ด้านนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของอียิปต์ ชาวอียิปต์จะใช้พืชสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม เพื่อมาทำน้ำมันนวด ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว น้ำหอม และเครื่องสำอาง รวมทั้งใช้ในกระบวนการทำมัมมี่ ในประเทศไทยเองก็มีการใช้กลิ่นหอมจากสมุนไพรเป็น ยาหอม ยาดม อาหารอบสมุนไพร หรือนำมาปรุงแต่งรสอาหาร มาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน

ลักษณะทั่วไปของน้ำมันหอมระเหย คือ เป็นสารอินทรีย์ที่มีองค์ประกอบทางเคมีสลับซับซ้อน เป็นของเหลวใส ไม่มีสี หรือมีสีอ่อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แตกต่างกันไปตามกลิ่นของพืชแต่ละชนิด ระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้องปกติ และจะระเหยได้ดีขึ้นเมื่อได้รับความร้อนหรืออุณหภูมิสูง

การที่จะได้มาซึ่งน้ำมันหอมระเหยนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายในทันที ทั้งนี้จะต้องผ่านกรรมวิธีที่เรียกว่า “การสกัด” น้ำมันที่พืชสร้างและเก็บไว้ในส่วนต่างๆ กรรมวิธีที่จะได้มาซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่ใช้กันในปัจจุบันมีอยู่ 5 วิธี คือ

1. การกลั่น
เป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากง่ายและประหยัดโดยการให้ไอน้ำผ่านพืชสมุนไพรที่อยู่ในหม้อกลั่น น้ำมันหอมระเหยจะถูกสกัดออกมาพร้อมกับไอน้ำซึ่งจะผ่านไปตามท่อ และถูกทำให้เย็นตัวเป็นของเหลวเก็บไว้ในขวด น้ำมันหอมระเหยจะแยกตัวออกจากชั้นน้ำ ทำให้สามารถสกัดออกมาใช้ได้ นิยมใช้กับชนิดของพืชที่มีองค์ประกอบทางเคมีที่ไม่สูญสลายเมื่อถูกความร้อน ได้แก่ น้ำมันตะไคร้ น้ำมันไพล เป็นต้น

2. การสกัดด้วยสารเคมีหรือตัวทำละลาย
วิธีนี้ต้นทุนการผลิตสูง แต่ข้อดีคือ ได้องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยเกือบทั้งหมด น้ำมันหอมระเหยที่ได้เรียกว่า แอบโซลูทออย (absolute oil) มีความเข้มข้นสูงแต่มีสารเคมีที่ใช้เป็นตัวทำละลายปนออกมาด้วย ดังนั้น หลังจากการสกัดต้องระเหยสารละลายที่ใช้เป็นตัวสกัดออกให้หมด สารละลายที่นิยมใช้เป็นตัวสกัดคือ แอลกอฮอล์ วิธีนี้นิยมใช้กับพืชที่ทนความร้อนสูงไม่ได้ เช่น มะลิ เป็นต้น

3. การสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เหลว
โดยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่ความดันสูงผ่านพืชสมุนไพร วิธีนี้มีต้นทุนสูงแต่มีประสิทธิภาพสูงเนื่องจาก น้ำมันหอมระเหยที่ได้มีคุณภาพดีและมีความบริสุทธิ์สูง

4. การบีบหรืออัด
เป็นวิธีดั้งเดิมที่ทำกันง่ายๆ เหมาะสำหรับพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยมากอยู่ในใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น หรือเปลือก เช่น เปลือกส้มหรือผิวส้ม โดยนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำเข้าเครื่องบีบหรืออัด น้ำมันที่ได้เรียกว่าน้ำมันดิบซึ่งแยกเป็น 2 ส่วนคือ น้ำเลี้ยงซึ่งนอนก้นและน้ำมันหอมซึ่งลอยอยู่ส่วนบน สามารถช้อนขึ้นมาใช้ได้ น้ำมันหอมระเหยที่ได้จะไม่บริสุทธิ์ และมีปริมาณน้อย

5. การสกัดด้วยไขมันสัตว์
เป็นวิธีที่เก่าแก่วิธีหนึ่ง นิยมใช้กับน้ำมันหอมระเหยที่ระเหยได้ง่ายเมื่อกลั่นด้วยไอน้ำ วิธีนี้จะใช้เวลานานเนื่องจากต้องแช่พืชสมุนไพรไว้ในน้ำมันหลายวันเพื่อให้น้ำมันดูดเอากลิ่นหอมออกมา ไขมันที่มีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยนี้เรียกว่า “ไขมันหอมหรือปอมเมด” จากนั้นใช้แอลกอฮอล์มาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยออกมาจากไขมัน พืชสมุนไพรที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีนี้ได้แก่ กุหลาบและกระดังงา เป็นต้น



น้ำมันหอมระเหยมีสารหรือองค์ประกอบหลายชนิดที่มีประโยชน์ สามารถทำปฎิกริยาและมีผลโดยตรงต่ออวัยวะหรือระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือด ระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท ระบบหายใจ ผิวหนัง และกล้ามเนื้อ โมเลกุลของกลิ่นหอมจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่อยู่ในโพรงจมูก ทำให้เกิดกระแสประสาทวิ่งไปยังศูนย์รับรู้กลิ่นในสมอง แล้วผ่านไปยังส่วนของสมองที่เรียกว่า ลิมบิกซิสเต็ม (limbic system) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมการเรียนรู้ ความจำ อารมณ์ และความหิว กลิ่นที่เข้ามากระตุ้นลิมบิกซิสเต็ม จะทำให้สมองปล่อยสารเอนดอร์ฟิน (endorphins) เอนเซปฟาลีน (encephaline) และเซโรโทนิน (serotonin) ออกมา เอนดอร์ฟินจะช่วยลดความเจ็บปวด เอนเซปฟาลีนจะส่งเสริมให้มีอารมณ์ดี และเซโรโทนิน จะช่วยให้สงบเยือกเย็น และผ่อนคลาย


ตัวอย่างกลิ่นน้ำมันหอมระเหย ที่ได้รับความนิยมกันทั่วโลก ได้แก่
1. กลิ่นลาเวนเดอร์ มาจอแรม คาโมไมลด์ และดอกส้ม
ช่วยให้ร่างกายผลิตเซโรโทนิน ทำให้จิตใจสงบ ง่วง นอน หลับสบาย จึงนำมาใช้บำบัดอาการเครียด นอนไม่หลับ โกรธ กังวล รำคาญ และความดันโลหิตสูง

2. กลิ่นเปปเปอร์มินท์ และโรสแมรี่
ช่วยกระตุ้นการผลิตอะดรีนาลิน ทำให้มีพลังงานมากขึ้น จิตใจเบิกบาน และลดการเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ

3. กลิ่นเจราเนียม
ช่วยปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้เข้าสู่สมดุล ซึ่งจะทำให้จิตใจเป็นปกติ จึงมีประโยชน์สำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มักจะมีอารมณ์ปรวนแปร หดหู่ เศร้าหมอง

4. ยูคาลิปตัส (Eucalyptus) หรือ คาเจพุทธรักษา (Cajeput)
สามารถใช้หยดบนผ้า สำลี หรือในอ่างน้ำร้อน แล้วสูดดมไอระเหย แก้อาการหวัด หรือแพ้อากาศได้ จึงพบเสมอในยาดมที่ใช้กันแพร่หลาย



น้ำมันหอมระเหยจากพืชพรรณไม้ของไทยที่น่าจะผลิตใช้ได้เองในเมืองไทยได้แก่
1. น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella Oil)
ใช้ทาผิวเพื่อกันยุง นำมาผสมกับน้ำบริสุทธิ์เพื่อทำเป็นสเปรย์พ่น

2. น้ำมันจันทน์ (Sendalwood Oil)
ให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวหนังและผมที่แห้งเสีย ช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับสบาย แต่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์

3. น้ำมันกระดังงาไทย (Ylang Ylang Oil)
ช่วยบำรุงเส้นผม บรรเทาอาการแมลงกัดต่อย บรรเทาอาการเครียดและนอนไม่หลับ ห้ามใช้ปริมาณเข้มข้นกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เพราะทำให้คลื่นไส้และปวดศีรษะได้

4. น้ำมันมะกรูด (Bergamot Oil)
ช่วยป้องกันการติดเชื้อ บำบัดอาการผื่นแดงของผิวหนัง และยังช่วยให้จิตใจสงบ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี และหลับสบาย


น้ำมันหอมระเหยมีสารหรือองค์ประกอบหลายชนิดที่มีประโยชน์ สามารถทำปฎิกริยาและมีผลโดยตรงต่ออวัยวะหรือระบบต่างๆ ของร่างกาย การนำหัวน้ำมันหอมระเหยที่มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปมาผสมใช้เอง ควรศึกษาวิธีการและรับคำแนะนำอย่างจริงจังจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะการใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายแทนที่จะเป็นผลดีได้ ไม่ควรสัมผัสหรือสูดกลิ่นของหัวน้ำมันนั้นโดยตรงเพราะอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังและเยื่อจมูก ควรนำมาเจือจางก่อนใช้เสมอ นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยแต่ละกลิ่นมีปฏิกิริยากับผู้ใช้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู หญิงมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมลูก ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติมาบำบัดร่างกายและจิตใจ


บรรณานุกรม
คู่มือสมุนไพรและเครื่องเทศ ชุดที่ 3 พืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหย (2543) กรมส่งเสริมการเกษตร กรุงเทพฯ หน้า 12-13
Chomchalow, N. (2001) Essential oil and their role on human bodies and mind. 197-202.


http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=2456
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©