-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ปลูกมะม่วง-ทุเรียน จาก เมล็ด ....................... safe
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ปลูกมะม่วง-ทุเรียน จาก เมล็ด ....................... safe
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ปลูกมะม่วง-ทุเรียน จาก เมล็ด ....................... safe

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 28/07/2011 9:32 pm    ชื่อกระทู้: ปลูกมะม่วง-ทุเรียน จาก เมล็ด ....................... safe ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)


จาก : safe

ถึง : kimzagass

ตอบ : 28/07/2011 9:23 pm
ชื่อกระทู้ : ปลูกมะม่วง และ ทุเรียน จาก เมล็ด


ลุงคิมครับ
ผมอยากทราบว่า ถ้าปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ และ ทุเรียนหนอนทอง หรือทุเรียนก้านยาว จากเมล็ด โตขึ้น มันจะกลายพันธ์ มั้ยครับ แล้วถ้ามันกลายเพราะอะไรครับ ? ทำไมถึงไม่นิยมปลูกจากเมล็ดกัน ?


http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Private_Messages&file=index&folder=inbox&mode=read&p=1636&sid=6c5174a3ba455b43c7b74ffb2f925611


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 01/08/2011 8:06 pm, แก้ไขทั้งหมด 3 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 29/07/2011 5:33 am    ชื่อกระทู้: Re: ปลูกมะม่วง และ ทุเรียน จาก เมล็ด ................. safe ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

จาก : kimzagass
ถึง : safe


ลุงคิมครับ
ผมอยากทราบว่า ถ้าปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ และ ทุเรียนหนอนทอง หรือทุเรียนก้านยาว จากเมล็ด โตขึ้น มันจะกลายพันธ์ มั้ยครับ แล้วถ้ามันกลายเพราะอะไรครับ ? ทำไมถึงไม่นิยมปลูกจากเมล็ดกัน ?



ตอบ :
มะม่วงทุกสายพันธุ์ ทุเรียนทุกสายพันธุ์ ขยายพันธุ์จากำเมล็ด "กลายพันธุ์" ค่อนข้าง (เน้นย้ำ...ค่อนข้างเท่านั้น ไม่ใช่ 100%) แน่นอน อยู่แต่ว่า กลายไปในทางที่ดีขึ้น หรือกลายไปในทางที่เลวลง แค่นั้นแหละ

ข้อดี-ข้อเสีย ของการกลายพันธุ์ หรือการขยายพันธุ์แบบต่างๆ ขอให้อ่านในอ้างอิงก็แล้วกัน

ส่วนสาเหตุที่มันกลายพันธุ์ ตามหลักวิชาการนั้น วันนี้มีข้อมูลเท่านี้ ว่าไปก่อนก็แล้วกันนะ

ดินที่ไร่กล้อมแกล้มเรียกว่า "ดินปราบเซีนยน" ไม้ผลอย่าง มังคุด เงาะ ลิ้นจี่ ทับทิม รวมทั้งทุเรียน สู้ไม่ไหว โตก็ไม่โต ตายก็ไม่ตาย ยืนนิ่งคาหลุมอยู่อย่างนั้น วันนี้เรารู้ว่า ไม้พวกนี้ถ้าปลูกด้วยต้นเพาะเมล็ด ซึ่งมีรากแก้วสามารถยืนต้นอยู่ได้แล้วก็โตดีด้วย โดยเฉพาะเงาะกับลิ้นจี่ เลยสั่งเพาะเมล็ดเต็มที่ เป้าหมายคือ ปลูกต้นเพาะเมล็ดรอไว้ก่อน แล้วจะเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดีภายหลัง ประมาณนี้

เมล็ดทุเรียนก็หายาก สายพันธุ์ที่เราเห็นๆในตลาด ซื้อมากินน่ะ ขนาดเลือกก้านยาว ชะนี สายพันธุ์ที่เมล็ดเต็มๆ ได้เมล็ดมาแล้วเอามาเพาะ ส่วนใหญ่ 10 เมล็ด งอกแค่ 2 เมล็ด ได้ 2 ต้นเท่านั้น อั้ย 8 เมล็ดนั้นเป็นเมล็ดทุเรียนอ่อน เพาะไม่งอก ครั้นจะหาเมล็ดทุเรียนป่า ก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน เลยกล้อมแกล้มๆเพาะเมล็ดทุเรียนบ้านพันธุ์ดีไปก่อน

เงาะที่ไร่กล้อมแกล้ม เป็นเงาะเพาะเมล็ด อายุขึ้นปีที่ 3 เริ่มให้ผลผลิต ปีที่ผ่านมาให้ผลผลิตเป็นรอบ 2 แล้ว อาการกลายพันธุ์น่าจะกลายไปในทางที่ดี เพราะคุณภาพผลผลิตปีที่แล้ว "ผลใหญ่ขนาดไข่ไก่ เมล็ดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย เนื้อหนา แห้ง กรอบ กลิ่นดีมาก" (รูปในเว้บ กระทู้ไหน จำไม่ได้) แต่ก็ยังไม่ล้มเลิกการเอายอดพันธุ์ดีมาเสียบ เอาไว้เปรียบเทียบกันระหว่าง ผลจากยอดพันธุ์ดี กับผลจากยอดของต้นเพาะเมล็ดน่ะ

ลุงคิมครับผม






อ้างอิง :

การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด

โดย นายสนั่น ขำเลิศ

การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด โดยปกติมักจะทำไปพร้อมๆ กับการปลูกพืชไปในตัว หรือพูดว่าการปลูกพืชโดยใช้เมล็ด ก็คือการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนั่นเอง เช่นการปลูกข้าว ซึ่งเมล็ดข้าว ๑ เมล็ด เจริญเป็นต้นข้าวได้ ๑ ต้น และต้นข้าวที่ได้เมื่อโตขึ้นก็จะแตกกอเป็นหลายต้น แต่ละต้นก็จะออกรวงเกิดเป็นเมล็ดข้าวได้หลายเมล็ด ซึ่งเมื่อนำเมล็ดข้าวเหล่านี้ไปปลูกก็จะเจริญเป็นต้นข้าว\ได้หลายต้น ในทำนองเดียวกัน การปลูกข้าวโพดการปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ ฝ้าย ละหุ่ง ฯลฯ ก็เป็นไปแบบเดียวกันกับการปลูกข้าว จึงเห็นได้ว่าการปลูกพืชจากเมล็ดก็คือการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนั่นเอง

ในการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนี้ ได้นำไปใช้ในงานด้านการเกษตรหลายด้านด้วยกัน ซึ่งเราพอจะแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

๑. ใช้ในด้านการปลูกพืชและธัญพืช เช่น การปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ ละหุ่ง ฝ้าย งา ป่าน ปอ เป็นต้น เนื่องจากการปลูกพืชไร่และธัญพืชต้องทำในเนื้อที่มากๆ และต้องใช้ต้น พืชมาก ฉะนั้นการขยายพันธุ์ที่สะดวกก็คือ ขยายจากเมล็ด การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการปลูกพืชประเภทนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพืชอายุสั้น ๓-๔ เดือนเป็นส่วนใหญ่

๒. ใช้ในด้านการปลูกสวนป่า การปลูกสร้างสวนป่า ต้องปลูกเป็นจำนวนมาก และต้องการต้นพืชที่มีรากแก้ว เพราะมีความแข็งแรงกว่าขยายได้มากและรวดเร็ว อีกทั้งสะดวกที่จะถอนย้ายไปปลูกในที่อื่น ดังเช่นการปลูกสร้างสวนสักที่สถานีวนกรรมของกรมป่าไม้ทำอยู่ในขณะนี้ โดยที่เมล็ดของพืชสวนป่ามักจะเก็บมาจากต้นที่เจริญอยู่ในกลุ่มตามธรรมชาติ ในท้องที่ที่ได้คัดเลือกไว้แล้วฉะนั้นโอกาสการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น ถือได้ว่ามีน้อยมาก และมักจะไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในการปลูกสร้างสวนป่านั้น จะปลูกต้นพืชให้ชิดกัน เพื่อให้ทรงต้นตรงและชะลูด ต้นพืชจะแข่งกันเจริญไปในตัว ต้นใดที่มีความแข็งแรงน้อยกว่าก็จะถูกเบียดบังจากต้นที่โตกว่าจนไม่เจริญ หรือตายไปในที่สุดส่วนต้นที่แข็งแรงก็จะเจริญเติบโตต่อไป ฉะนั้นจึงเป็นการคัดเลือกต้นพืชไปในตัวด้วย

๓. ใช้ในด้านการขยายพันธุ์พืช โดยวิธีติดตาต่อกิ่ง โดยเฉพาะการขยายพันธุ์ไม้ยืนต้น ซึ่งต้องการต้นตอที่มีระบบรากที่หยั่งลึก ซึ่งสามารถจะทนลมพายุและทนแล้งได้ดีกว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น เช่น การตอนกิ่ง หรือการตัดชำกิ่ง เป็นต้นฉะนั้นต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์จากเมล็ดจึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นต้นตอสำหรับนำไปติดตาและต่อกิ่งแต่เนื่องจากการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ต้นพืชที่ได้อาจกลายพันธุ์ได้ จึงต้องคัดต้นที่มีลักษณะไม่ตรงตามพันธุ์ที่ต้องการออก เพื่อให้ได้ต้นตอที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์มากที่สุดไว้ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

๔. ใช้ในด้านการปลูกผักและไม้ดอกล้มลุก โดยปกติพืชอายุสั้นจำเป็นต้องใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่เจริญได้เร็ว และก็มีราคาถูกด้วย ในกรณีเช่นนี้การใช้เมล็ดปลูกหรือขยายพันธุ์จึงเป็นการลงทุนที่ต่ำ ที่สุด และทำได้สะดวกรวดเร็ว ดังนั้นการใช้เมล็ดขยายพันธุ์ หรือปลูกพืชเหล่านี้จึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำได้ เช่น การปลูกผักบุ้ง คะน้า มะเขือเทศแอสเทอร์ และบานชื่น เป็นต้น

๕. ในงานด้านการผสมพันธุ์พืช เนื่องจากความต้องการในเรื่องอาหารและของใช้ที่เป็นปัจจัยในการครองชีพของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ฉะนั้นพันธุ์พืชที่จะนำมากินมาใช้ก็ต้องมีการปรับปรุงตามไปด้วย การปรับปรุงพันธุ์พืชที่นำมากินมาใช้ให้เหมาะกับความต้องการนี้ก็ต้องอาศัยการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากการเพาะเมล็ด โดยการผสมพันธุ์ต้นพืชที่มีลักษณะตามความต้องการแล้วเอาเมล็ดมาเพาะ จากนั้นจึงคัดเลือกต้นพืชที่มีลักษณะดีเด่นตามความต้องการไว้ใช้ในการปลูกหรือขยายพันธุ์ต่อๆ ไป

วิธีการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด ในการขยายพันธุ์พืชหรือปลูกพืชโดยใช้เมล็ดโดยทั่วไปมักจัดทำกันอยู่ ๓ แบบ คือ
๑. เพาะเมล็ดในแปลงเพาะ หรือในภาชนะเพาะ
๒. เพาะหรือปลูกเมล็ดในแปลงปลูกโดยตรง
๓. เพาะหรือปลูกเมล็ดในภาชนะเดี่ยว


ข้อดีและข้อเสียของการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด
ข้อดี
๑. ทำได้ง่ายและได้ปริมาณมาก เพราะสะดวกในการปฏิบัติ
๒. เสียค่าใช้จ่ายน้อยเพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนฝีมือในการปฏิบัติมากนัก
๓. สะดวกในการขนส่งระยะทางไกลๆ เพราะทนทานและตายยาก ประกอบกับมีขนาดเล็กจึงสะดวกที่จะบรรจุหีบห่อหรือหยิบยก
๔. เก็บรักษาได้นาน เพราะไม่ต้องการสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตมาก เพียงแต่เก็บให้ถูกต้องเท่านั้น
๕. ได้ต้นพืชที่มีระบบรากดี เพราะมีรากแก้ว ดังนั้นจึงมีรากหยั่งลึก และการที่ต้นพืชมีรากลึกนี้ ย่อมมีผลทำให้

ก. ทนแล้งได้ดี เพราะสามารถดูดน้ำจากดินในระดับลึกๆ ได้
ข. หากินเก่ง เพราะอาจหาธาตุอาหารต่างๆ จากดินทั้งตามผิวหน้าดินและส่วนลึกได้อย่างครบถ้วน โอกาสที่จะขาดธาตุอาหารจึงมีน้อย
ค. ต้นพืชเจริญเติบโตดี เพราะมีอาหารพืชสมบูรณ์
ง. อายุยืน ซึ่งเป็นผลมาจากมีอาหารสมบูรณ์ ฉะนั้นจึงทนทานต่อแมลงได้ดี ต้นไม่ทรุดโทรมเร็ว และมีอายุการให้ผลยืนนาน

๖. ต้นพืชที่ได้ไม่ติดโรคไวรัส (virus) จากต้นแม่ โดยที่เชื้อไวรัสไม่อาจจะถ่ายทอดจากต้นแม่มายังลูก โดยอาศัยเมล็ดเป็นพาหะได้ ดังนั้นต้นลูกที่ได้จากการเพาะเมล็ดจากต้นที่เป็นโรคไวรัสจึงไม่ติดโรคนี้ แต่ก็อาจติดโรคนี้ได้ภายหลังที่งอกเป็นต้นพืชแล้ว


ข้อเสีย
๑. กลายพันธุ์ได้ง่าย เพราะต้นที่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์ เว้นแต่เมล็ดพืชบางชนิดที่งอกได้หลายต้นใน ๑ เมล็ด ซึ่งอาจจะมีต้นที่ไม่กลายพันธุ์ได้

๒. ลำต้นสูงใหญ่ ไม่สะดวกในการเก็บเกี่ยวและดูแลรักษา

๓. ต้นมีโอกาสรับแรงปะทะลมได้มาก ทำให้ดอกและผลร่วงหล่นเสียหายมาก

๔. มักให้ผลช้า ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูนาน กว่าจะให้ผลตอบแทน

๕. ปลูกได้น้อยต้นในเนื้อที่เท่ากัน ฉะนั้นจึงอาจให้ผลน้อยกว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นที่ให้ต้นพืชพุ่มเล็กกว่า

http://guru.sanook.com/encyclopedia/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94/




ความปรวนแปรของพันธุ์ หรือการกลายพันธุ์ของพืช

การปรับปรุงพันธุ์พืช คือ การผสมและคัดเลือกพันธุ์พืช เพื่อให้ได้พืชที่มีลักษณะที่ดีตามที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชต้องการ หรือดีกว่าพันธุ์ที่มีอยู่เดิม และสามารถนำพันธุ์ไปขยายพันธุ์ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ได้พันธุ์ที่ผลได้ต่อไร่สูง รสชาติอร่อย และผลใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น การคัดเลือกจึงทำได้จากการคัดเลือกพันธุ์พืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือทำให้พืชมีความปรวนแปรหรือกลายพันธุ์มาก ๆ ด้วยการผสมพันธุ์ หรือวิธีการอื่น ๆ การคัดเลือกพันธุ์บางลักษณะก็ทำได้ง่าย เช่น จากสีหรือลักษณะของเมล็ดเป็นต้น แต่บางลักษณะก็ทำได้ยาก เช่น ผลได้ต่อไร่ ปริมาณน้ำมันในเมล็ด หรือน้ำตาลในอ้อยเป็นต้น การที่พืชในชั่วลูกชั่วหลานมีลักษณะถ่ายทอดเหมือนพ่อแม่ค่อนข้างมากนั้น เรา เรียกว่า "กรรมพันธุ์" (Heredity) ของพืชนั้น แต่ถ้ามีความแตกต่างจากพ่อแม่มากเราเรียกความแตกต่างนั้นว่า "ความปรวนแปร" หรือ "การกลายพันธุ์" (Variation) ความปรวนแปรอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

พันธุกรรม (genetic) เป็นปัจจัยที่ควบคุมลักษณะของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และมี "หน่วยกรรมพันธุ์" เป็นหน่วยคุมลักษณะเล็กสุดเรียกว่า "ยีน" (Gene) ที่ตั้งอยู่ใน "โครโมโซม" (chromosome) ซึ่งอยู่ในเซลล์ของพืช พืชจะมีลักษณะ ดี เลว เล็ก ใหญ่ หรือสีแดง ขาว จะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของพืชนั้น ลักษณะพันธุกรรมสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้

สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่ทำให้ลักษณะภายนอกพืชต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะที่ควบคุมโดยพันธุกรรม ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่สิ่งที่อยู่แวดล้อมพืช เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชุ่มชื้นในดิน อุณหภูมิของบรรยากาศ โรคและศัตรูพืช ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้พืชมีขนาดใหญ่ โตเร็ว หรือมีรสชาติดีเลวกว่าลักษณะที่แท้จริงได้ แต่เป็นลักษณะที่ไม่ถ่ายทอดไปสู่ชั่วลูกหลาน

การคัดเลือกพืชจึงจำเป็นต้องมีวิธีการเลือกพืชให้ได้พืชลักษณะดีที่เกิดจากการควบคุมทางพันธุกรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ลักษณะดีเหล่านั้นสามารถถ่ายทอดไปปรากฏแก่พืชในชั่วลูกหลานได้อย่างแน่นอนและคงอยู่ตลอดไป


กลไกควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม
ลักษณะทางพันธุกรรมของพืชถูกควบคุมด้วยพฤติกรรมของ "โครโมโซม" และ "ยีน" ซึ่งอยู่ใน "นิวเคลียส" หรือศูนย์ชีวิตของเซลล์ทุกเซลล์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช

พืชแต่ละชนิดจะมีจำนวนโครโมโซมในเซลล์เจริญเติบโตจำนวนคงที่เท่ากันทุกเซลล์และเป็น ๒ เท่า (2n) ของจำนวนโครโมโซมในเซลล์สืบพันธุ์ (n) เช่น ข้าว มีจำนวนโครโมโซม (2n) = ๒๔ และข้าวโพดมีจำนวนโครโมโซม = ๒๐ เป็นต้น

"ยีน" เป็น "หน่วยกรรมพันธุ์" ซึ่งควบคุมลักษณะแต่ละลักษณะของพืช และอยู่ในโครโมโซมในตำแหน่งที่แน่นอน ลักษณะทั้งภายนอกและภายในของพืชแต่ละต้นจะแตกต่างกันไป หรือคล้ายคลึงกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนของ "ยีน" ในโครโมโซมของพืชนั้น ๆ

เมื่อพืชมีอายุถึงระยะสืบพันธุ์ เซลล์เชื้อตัวผู้ที่เกสรตัวผู้ และเซลล์ไข่ที่เกสรตัวเมียซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์จะแบ่งตัวเองและลดจำนวนโครโมโซมเหลือเพียงครึ่งเดียวของเซลล์เจริญเติบโตตามปกติ ดังนั้น เมื่อต้นพืชผสมพันธุ์กันเซลล์เชื้อตัวผู้และเซลล์ไข่จะผสมกันจนเกิดเป็นเซลล์ของพืชชั่วลูกที่มีจำนวนโครโมโซมเท่ากับจำนวนโครโมโซมของพืชชนิดนั้นเหมือนเดิมและจะเจริญพัฒนาต่อไปเป็นเมล็ดพืชและเจริญเติบโตเป็นต้นพืชชนิดนั้นในที่สุด

โดยที่พืชชั่วลูกได้รับ "ยีน" จากเซลล์พ่อและเซลล์แม่ ดังนั้น ลักษณะของลูกจะมีลักษณะกึ่งกลางระหว่างพ่อกับแม่ แต่พืชในชั่วหลานจะกลายพันธุ์ไปอีกหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์จะมีลักษณะพันธุกรรมแตกต่างกันออกไป บางต้นอาจจะเหมือนพ่อ บางต้นอาจจะเหมือนแม่บางต้นจะคล้ายพ่อกับแม่ปนกัน บางต้นก็เป็นพันธุ์แท้ บางต้นก็เป็นพันธุ์ลูกผสม ตามกลไกควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของพืชนั้น ๆ นักปรับปรุงพันธุ์จะอาศัยความปรวนแปรและกลายพันธุ์ดังกล่าวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยจะพยายามเลือกพืชชั่วหลาน เหลน หรือชั่วหลัง ๆ ที่มีลักษณะดีที่ต้องการเอาไว้ เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกใช้ประโยชน์ต่อไป


การแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส

การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหลังการผสมพันธุ์
หลักการผสมพันธุ์ดังกล่าว นักปรับปรุงพันธุ์สามารถผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์พืชใหม่หรือปรับปรุงพันธุ์ให้ดีกว่าพันธุ์เดิมได้ โดยการนำลักษณะที่ดีที่อยู่ในพืชต่างพันธุ์กันมาผสมรวมกัน แล้วพยายามคัดเลือกให้ได้พันธุ์ที่มีลักษณะดังกล่าว แต่การสืบทอดลักษณะทางพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า "กรรมพันธุ์" ของพืชนั้น จะเป็นไปตามกฎของกรรมพันธุ์ ซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. ๑๓๖๖) โดยนักบวชชาวออสเตรียชื่อ เกรกรอร์ เมนเดล ซึ่งเป็นหลักวิชาพันธุศาสตร์ในการปรับปรุงพันธุ์พืชในระยะต่อมาจนถึงปัจจุบัน แต่หลักเกณฑ์ที่เมนเดลค้นพบนั้นเป็นกรรมพันธุ์ง่าย ๆ เพราะลักษณะที่ศึกษามีเพียง ๑-๒ ลักษณะ และควบคุมด้วย "ยีน" เพียง ๑-๒ คู่เท่านั้น ซึ่งเรียกว่า "ลักษณะทางคุณภาพ" ที่มองเห็นได้ง่าย ๆ ภายนอก เช่น ความสูงต่ำของต้น สีของ ดอกและเมล็ด เป็นต้น เมื่อผสมพันธุ์กันแล้วลูกหลานก็จะกระจายกลายพันธุ์ออกเป็นต้นพืชชนิดต่าง ๆ ไม่กี่ชนิด

ในกรณีที่ลักษณะบางอย่างควบคุมด้วย "ยีน" หลายคู่ และส่วนมากเป็นลักษณะที่ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอก เช่น ผลิตผลต่อไร่ปริมาณน้ำมันในเมล็ด เป็นต้น ลักษณะที่ปรากฏในชั่วหลัง ๆ ก็จะไม่ค่อยเด่นชัดเหมือนพ่อหรือแม่ แต่มักจะค่อย ๆ กลมกลืนระหว่างพ่อแม่นอกจากนี้จำนวนต้นพืชในชั่วหลังก็จะมีการกระจายกลายพันธุ์หลากหลายออกไปเป็นพันธุ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ลักษณะดังกล่าวนี้นักปรับปรุงพันธุ์พืชเรียกว่า "ลักษณะทางปริมาณ"การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์จะค่อนข้างยากและใช้เวลานานกว่าการคัดเลือก "ลักษณะทางคุณภาพ" ซึ่งควบคุมโดย "ยีน" น้อยตัว และจะต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันเป็นพิเศษ



การเพิ่มความปรวนแปรทางพันธุกรรม
ความปรวนแปรทางพันธุกรรมถือว่าเป็นวัตถุดิบในการปรับปรุงพันธ์ ยิ่งกลุ่มพืชมีความปรวนแปรสูงเพียงใด โอกาสที่จะปรับปรุงให้ได้พันธุ์ดีมากขึ้นเพียงนั้น นักปรับปรุงพันธุ์จึงพยายามเพิ่มความปรวนแปรของพันธุ์ให้มากขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

ก. การผสมพันธุ์ระหว่างพืชพันธุ์ต่าง ๆ ภายในพืชชนิดเดียว และรวมทั้งการพยายามที่จะผสมกับพืชต่างชนิดและต่างสกุลกัน

ข. การเกิดการผ่าเหล่า หรือการเปลี่ยนแปลงโครโมโซม ซึ่งอาจจะเกิดเองตามธรรมชาติหรือเกิดโดยการกระทำของมนุษย์ใช้สารเคมีหรือรังสีต่าง ๆ บังคับ

ค. การเพิ่มจำนวนโครโมโซม คล้ายคลึงกับการผ่าเหล่า ส่วนใหญ่เป็นการกระทำของมนุษย์ให้จำนวนโครโมโซมในพืชเพิ่มขึ้นโดยใช้สารเคมีบังคับ



บรรณานุกรม
• นายอำพล เสนาณรงค์

http://guru.sanook.com/search/knowledge_search.php?select=1&q=%A4%C7%D2%C1%BB%C3%C7%B9%E1%BB%C3%A2%CD%A7%BE%D1%B9%B8%D8%EC%CB%C3%D7%CD%A1%D2%C3%A1%C5%D2%C2%BE%D1%B9%B8%D8%EC%A2%CD%A7%BE%D7%AA[/quote]
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©