-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-มหัศจรรย์...............จุลินทรีย์
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - มหัศจรรย์...............จุลินทรีย์
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

มหัศจรรย์...............จุลินทรีย์

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 27/12/2011 4:46 pm    ชื่อกระทู้: มหัศจรรย์...............จุลินทรีย์ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ลำดับเรื่อง.....

1. มูลค่าทางเศรษฐกิจของจุลินทรีย์
2. เทคนิคการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร
3. ทฤษฎีจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร และสิ่งแวดล้อม
4. จุลินทรีย์กับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
5. บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ในการเกษตร

6. หน่วยเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ทางการเกษตร
7. ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการใช้จุลินทรีย์ในการเกษตรอินทรีย์
8. ไรโซเบียม
9. จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย อี-เวิร์ม (E-Worm)
10. เลือกจุลินทรีย์สายพันธุ์ดี มาบำรุงต้นพืชและป้องกันโรค


---------------------------------------------------------------------------------------------------





1. มูลค่าทางเศรษฐกิจของจุลินทรีย์

มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation)

1. มูลค่าทางเศรษฐกิจของจุลินทรีย์ในระดับโลก
1.1 มูลค่าทางเศรษฐกิจของจุลินทรีย์ทั้งโลกมีมูลค่ามากกว่า 6 ล้านล้านบาท

1.2 เฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากจุลินทรีย์ในญี่ปุ่นประเทศเดียวสูงถึง 1.97 ล้านล้านบาทในป้ 2540

1.3 ยาที่ผลิตจากจุลินทรีย์เป็นแหล่งตั้งต้น มีมูลค่าประมาณ 1.3 – 2 ล้านล้านบาทในประเทศอุตสาหกรรม โดยมียาปฏิชีวนะที่ได้จากจุลินทรีย์ถึง 3,222 ชนิด มูลค่าทางเศรษฐกิจของจุลินทรีย์ต่อเกษตรกรรม

มีการคํานวณพบว่าประเทศบราซิลประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึง 63,000 ล่านบาท เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ตรึงปุ๋ยไนโตรเจนได้จากอากาศจากการปลูกถั่วเหลือง แทนที่จะต้องซื้อปุ๋ยเคมีไนโตรเจนมาใส่ในดิน

2. ในสหรัฐอเมริกายอดขายเชื้อ บีที (Bacillus thuringiensis) เพียงชนิดเดียว ซึ่งใช้ทั่วไปในการกําจัดหนอนแทนสารเคมีมียอดขายประมาณ 2,000 ล้านบาท ในปี 2530 ส่วนยอดขายเชื้อไรโซเบี้ยม (Rhizobium) ซึ่งใช้ในการบํารุงดินมียอดขายในสหรัฐประมาณ 750 ล้านบาท ในปี 2528

3. การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในประเทศไทย ข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินเมื่อปี 2547 ระบุว่ามีเกษตรกรที่ใช้จุลินทรีย์เพื่อการปรับปรุงบํารุงดินและควบคุมศัตรูพืชประมาณในประเทศไทยจากการส่งเสริมของราชการมีอย่างน้อย 1.5 ล้านครอบครัว หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่มากกว่า 15 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลดการใช้สารเคมีการเกษตรและทําให้รายได้ครอบครัวเพิ่มขึ้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 9,400 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่า ยังมีเกษตรกรที่ใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อปรับปรุงบํารุงดินโดยการส่งเสริมขององค์กรที่ไม่ใช่ราชการเองอีกอีกหลายแสนครอบครัวซึ่งไม่นับรวมอยู่ในยอดรวมข้างต้น

4. ศักยภายทางเศรษฐกิจของการจุลินทรีย์ในประเทศไทยมาใช้ประโยชน์ หากคํานวนศักยภาพทางเศรษฐกิจในการนําจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในประเทศไทยมาใช้ประโยชน์โดยการคํานวณจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากจุลินทรีย์ในระดับโลกมาเป็นฐานในการคํานวณ โดยเปรียบเทียบกับตัวเลขสัดส่วนความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในโลก ประมาณการว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์นั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 – 6 แสนล้านบาท/ปี

1. ประมาณการจากงานศึกษาของ National Research Council Committee on Managing Global Genetic Resources, US และ Microorganisms and the development of bioindustries in Japan โดย S.Sumida

2. Microorganisms and the development of bioindustries in Japan by S.Sumida 3ity, August, 1995, p.

3. Report of a workshop organized by the Center for Microbial Ecology at Michigan State Univers4 Robbins-Roth, Cynthis. "Xenova Ltd.: Growing New Technology", Bioventure View, May 1993. 5 THE VALUE OF MICROORGANISMS AND GENOMIC INFORMATION, Economic Valuation of the Diversity of Biological Nitrogen Fixing Microorganisms in Agriculture. Heitor L. C. Coutinho (heitor@cnps.embrapa.br), Norma G. Rumjanek (cnpab@cnps.embrapa.br), Eduardo Cadavid & Johanna 6 The Economic Value of Microbial Diversity, Hamdallah Zedan, Biodiversity and Biotechnology, UNEP

http://www.ftawatch.org/sites/default/files/FTAWatch_17-2-2550_1.pdf

----------------------------------------------------------------------------------------------------


2. เทคนิคการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร

ในปัจจุบันเกษตรกรหันมาทำการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เลยลองเอาเทคนิคการเพาะจุลินทรีย์ที่นิยมใช้กันแทนการใช้ปุ๋ยเคมีมาลง เผื่อใครสนใจ

เชื้อจุลินทรีย์คือกุญแจสำคัญของระบบนิเวศ การทำการเกษตรจำเป็นต้องอาศัยกิจกรรมของ จุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นแร่ธาตุอาหาร ซึ่งต้องให้อยู่ในรูปสารอนินทรีย์เพื่อจะละลายน้ำได้ง่ายและพืชสามารถดูดซึมเอาไปใช้ได้ทันที แต่ผลจากการทำการเกษตรที่ไม่ถูกวิธี คือ การเผาเศษพืช การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานานติดต่อกัน ประกอบกับประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นการสลายตัวของอินทรียวัตถุเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ดินเสื่อมคุณภาพและปริมาณจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินน้อยลง จนไม่สามารถสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศในดินได้

การนำเอาหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นผลงานจากหน่วยงานทางราชการพัฒนาคิดค้นขึ้นใช้ในการปรับปรุงดินจึงเป็นแนวทางที่ช่วยเร่งการฟื้นฟูสภาพดินได้เร็วขึ้น แต่การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปผง หรือเป็นหัวเชื้อเข้มข้นที่บรรจุในขวดมีอายุการผลิตหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนมาแล้ว จะทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากจุลินทรีย์จะตายระหว่างการเก็บรักษาและรอจำหน่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มจำนวนมีปริมาณมากๆและเป็นการฟื้นฟูกำลังจุลินทรีย์ให้มีความแข็งแรง เมื่อนำไปใช้ทั้งใช้เร่งในกองปุ๋ยหมัก หรือราดลงดินก็พร้อมจะมีกิจกรรมได้ทันที


วิธีการเพาะเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์
วัสดุและอุปกรณ์
1) กากน้ำตาลปริมาณ 100 ลิตร (สามารถใช้น้ำตาลทรายแดงแทนได้ น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม)
2) หัวเชื้อจุลินทรีย์ของ พด. 20 ถุง หรือ อีเอ็ม 20 ลิตร
3) ถังหมักขนาด 150 ลิตร จำนวน 10 ใบ
4) ปั้มลมให้อากาศ สามารถใช้ปั้มลมที่ใช้กับตู้ปลาก็ได้ โดยต่อสายยางแยกใช้หัวทรายพ่นให้อากาศแก่จุลินทรีย์ในถังให้ครบ 10 ใบ


วิธีการ
1) เติมน้ำสะอาดลงในถังขนาด 150 ลิตร ให้ได้ปริมาณประมาณ 3 ใน 4 ของความสูงถังหรือประมาณ 100-120 ลิตร
2) เติมน้ำตาลหรือกากน้ำตาลประมาณ 10%-15% ของปริมาตรน้ำ
3) เทหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ขวด หรือ 1 ลิตร หรือ 1 ซอง ลงในถัง กวนผสมให้เข้ากัน
4) ต่อสายยางท่อให้อากาศจากปั้มลม โดยให้อากาศอย่างต่อเนื่องผ่านหัวทรายเป็นเวลา 5–7 วัน เชื้อจุลินทรีย์จะขยายเพิ่มจำนวนพร้อมนำเอาไปใช้


การนำเชื้อจุลินทรีย์ไปใช้
ใช้เป็นหัวเชื้อในการทำปุ๋ยหมักโดยการราดลงบนกองปุ๋ยระหว่างที่มีการคลุกผสมวัสดุต่างๆให้เข้ากัน หรือนำไปผสมกับกากน้ำตาล 1 ลิตรใช้น้ำ 20 ลิตร แล้วใช้หัวเชื้อเจือจางให้ได้อัตราส่วน 1 : 500 เพื่อราดลงดิน

หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงขยายไว้นี้สามารถใช้เป็นหัวเชื้อในการทำน้ำหมักชีวภาพได้อีกด้วย โดยใช้เติมลงในถังน้ำหมักชีวภาพถังละ 1 ลิตร


อ้างอิง : http://hcsupply.blogspot.com/2008/10/blog-post_08.html
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=3a43330ac2620fe3&pli=1


-----------------------------------------------------------------------------------------------


3. ทฤษฎีจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร และสิ่งแวดล้อม

ดร.จรูญเกียรติ ภัทรมนตรีสิน เลขาธิการสิ่งแวดล้อมหอการค้า จ.นครปฐม




จุลินทรีย์คืออะไร หลายคนคงยังไม่เข้าใจดีนัก จริงๆแล้ว จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากๆ ขนาดที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยีสต์ เป็นต้น ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้มันก็มีความต้องการปัจจัยเหมือนกับคน ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย น้ำ อากาศ หรืออาจกล่าวในภาษาชาวบ้านได้ว่า จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิต....เหมือนเรา คือ กิน ขี้ ปี้ นอน เหมือนกันนั่นเอง

มหัศจรรย์ของจุลินทรีย์
ความมหัศจรรย์ของจุลินทรีย์มันมีอะไรบ้าง คงอยากรู้กันแล้ว ความมหัศจรรย์ของจุลินทรีย์มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ

มีความสามารถในการขยายพันธุ์แบบทวีคูณจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 ไปเรื่อยๆ หากเริ่มจาก 100 ตัว ก็จะทวีคูณเป็น 10,000 เมื่อกินดีอยู่ดีมีแรงเหลือเฟือมันก็จะขยายพันธุ์เป็นดับเบิ้ล (Double) เป็นหนึ่งร้อยล้านตัว ภายในเวลา 4-6 ชั่วโมง
มันมีอายุสั้นมากเพียง 48-72 ชั่วโมง เท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับเราซึ่งมีอายุเฉลี่ยถึง 65 ปี

ดังนั้น มันจึงสามารถเป็นแหล่งอาหารให้กับพืชและสัตว์ได้อย่างรวดเร็ว ตัวมันมีองค์ประกอบของธาตุอาหารหลักครบถ้วน ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เกลือแร่ เป็นต้น มันจึงเป็นอาหารสำหรับพืชได้และเป็นโพรไบโอติคส์สำหรับสัตว์ นอกจากนี้เมื่อมันมีจำนวนมากๆ มันก็สามารถสร้างเอนไซม์ที่มีปริมาณมากพอที่จะไปย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ ที่อยู่ในน้ำเสียให้เป็นน้ำที่ดีได้

นั่นเป็นหลักการคร่าวๆ เบื้องต้น มาเข้าสู่ทฤษฎีจุลินทรีย์พืชกันเลยดีกว่า หลายคนคงสงสัยกันว่าทำไมต้นไม้ในป่าจึงมีขนาดใหญ่แข็งแรงสมบูรณ์กว่าพืชผัก ผลไม้ที่เราปลูกกันตามบ้านทั้งๆ ที่ไม่มีใครคอยไปรดน้ำใส่ปุ๋ยพรวนดินกับมันเลย คำตอบแห่งความสมบูรณ์ของต้นไม้ในป่าเหล่านั้นก็คือจุลินทรีย์ที่อยู่กันตามธรรมชาติในป่านั่นเองที่คอยเป็นแหล่งธาตุอาหารที่สำคัญให้กับพืช แต่ขณะเดียวกันต้นไม้ที่เราปลูกกันคอยใส่ปุ๋ยเคมีให้กับมัน มันกลับไม่ค่อยโตทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีไปนานๆ คุณภาพของดินก็เปลี่ยนแปลงไปมีความเป็นกรด-ด่างมากขึ้น หน้าดินอุดตันเนื่องจากเศษหินทรายที่เป็นองค์ประกอบในปุ๋ยเคมีไปอุดตันทำให้รดน้ำไม่ค่อยลงดินจะแข็งขึ้น พืชจึงไม่ค่อยโตนี่คือ หลักการง่ายที่จะทำให้เรามองเห็นข้อดีของจุลินทรีย์มากยิ่งขึ้น

ทฤษฎีจุลินทรีย์เพื่อสัตว์ มีอะไรบ้างมาดูกันเลยดีกว่า ช้าง ม้า วัว ควาย กินแต่หญ้าทำไมมันจึงให้โปรตีนได้มันน่าสงสัยใช่ไหมล่ะ ในสัตว์เหล่านี้จะมีกระเพาะ 30 กลีบ ซึ่งมีลักษณะเป็นกลีบจำนวนมาก (มากกว่า 30 กลีบ) อันเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ ซึ่งจุลินทรีย์จะสร้างเอนไซม์ที่เปลี่ยนหญ้าที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบหลักให้กลายเป็นแป้งและน้ำตาล อันเป็นอาหารของจุลินทรีย์ เมื่อจุลินทรีย์ได้อาหารที่ดีสมบูรณ์มันก็จะขยายพันธุ์เป็นทวีคูณร้อยล้านตัว เมื่อมันตายตัวมันก็เป็นแหล่งธาตุอาหารที่สำคัญสำหรับสัตว์ อันได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันและเกลือแร่ โดยเฉพาะกรดอะมิโนของโปรตีนที่มันมีสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

โดยจุลินทรีย์เหล่านี้คือจุลินทรีย์ที่เรียกว่า โพรไบโอติคส์ ซึ่งคล้ายกับยาคูลท์ที่คนกินเข้าไปแต่เป็นเชื้อจุลินทรีย์คนละชนิดกัน เมื่อสัตว์ได้รับจุลินทรีย์เหล่านี้เข้าไประบบขับถ่ายก็จะดี ท้องไม่เสีย กินอาหารได้มากขึ้น เติบโตได้เร็วมากขึ้น แข็งแรงขึ้น ลดการใช้สารเคมี ยาปฏิชีวนะลงได้

สุดท้าย ทฤษฎีจุลินทรีย์เพื่อการบำบัดน้ำเสีย คงสงสัยกันใช่ไหมว่าทำไมน้ำจึงเสียได้ ตัวอย่างเช่น น้ำปกติในแก้วถ้าไม่มีแป้ง น้ำตาล เนื้อโปรตีน ไขมัน ลงไปมันก็ไม่เสียใช่ไหม แต่ที่มันเสียก็เพราะว่ามีสิ่งเหล่านี้เจือปนอยู่ แล้วอะไรที่จะไปกำจัดของเสียเหล่านี้ให้หมดไปนั้นก็คือ จุลินทรีย์

เมื่อนำจุลินทรีย์จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียในเมืองกลับใช้ไม่ได้ผล ก็เพราะว่ามันเกิดจากการที่จุลินทรีย์จากต่างประเทศ เมื่อเข้ามาอยู่ในภูมิอากาศบ้านเรามันจะเข้าสปอร์ไม่ยอมทำงาน หรือแม้จุลินทรีย์บ้านเราเมื่อไปอยู่ในเขตหนาวมันก็จะไม่ยอมทำงานเข้าสปอร์เหมือนกัน

เนื่องมาจากในธรรมชาติแม่น้ำบ้านเราข้างบนผิวน้ำจะอุ่นข้างล่างจะเย็น แต่ในแม่น้ำต่างประเทศข้างบนผิวน้ำจะเย็นข้างล่างจะอุ่น และจุลินทรีย์มันก็ต้องการการเติบโตและผสมพันธุ์ในที่อุ่นเหมือนกับคน จุลินทรีย์จากเมืองนอกมันจึงโตและผสมพันธุ์กันด้านล่างที่อุ่นและมีปริมาณออกซิเจนน้อย และจุลินทรีย์บ้านเราจะโตและผสมพันธุ์กันด้านบนที่อุ่นและมีปริมาณออกซิเจนมาก

ดังนั้นเมื่อนำจุลินทรีย์จากต่างประเทศเข้ามาใช้ในเมืองไทยเพื่อบำบัดน้ำเสียมันจะลงไปอยู่ข้างล่างที่มีออกซิเจนน้อยซึ่งจะอากาศเย็นมันจึงเข้าสปอร์ไม่ยอมทำงาน การบำบัดน้ำเสียจึงไม่มีประสิทธิภาพ

การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจะต้องคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง (High Quality) ก็เหมือนกับทีมฟุตบอลหงส์แดงหรือลิเวอร์พูลที่คัดเลือกนักเตะที่มีคุณภาพทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้ และนอกจากนี้ยังต้องมีปริมาณความเข้มข้นสูง (High Quantity) ถึง 1 ล้านล้านตัวต่อซีซี/กรัม เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

แต่อย่างไรก็ตามข้อควรระวังเกี่ยวกับความล้มเหลวของจุลินทรีย์ที่เกิดจากการกลายพันธุ์อาจเกิดขึ้นได้ เพราะจุลินทรีย์มันไม่มีสมองมันจะผสมพันธุ์กันเองในระหว่างหมู่ญาติพี่น้องด้วยกันทำให้คุณภาพของจุลินทรีย์ด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งในธรรมชาติจุลินทรีย์ 100 ตัวจะมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้ถึง 95 ตัว

http://www.baanjomyut.com/library_2/agricultural_biological_environment/index.html

---------------------------------------------------------------------------------------------------

4. จุลินทรีย์กับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม





ในธรรมชาติเรามักพบว่าสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นสังคมของสิ่งมีชีวิตกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณแหล่งที่อยู่อาศัย ( Habitat ) แตกต่างกัน ที่เรียกว่า ระบบนิเวศ เช่น ระบบนิเวศกลุ่มสิ่งมีชีวิตในดิน ในสระน้ำ ในทะเล ในป่า หรือแม้แต่ในร่างกายของเรา ในแต่ละระบบนิเวศจะมีจุลินทรีย์เข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะในแง่ของการย่อยสลายสารอินทรีย์ให้กลายเป็นสารอนินทรีย์ ถ้าหากมีสิ่งมากระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ ก็จะทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลเกิดขึ้นแต่ระบบนิเวศสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เองถ้าผลกระทบนั้นไม่รุนแรงมากนัก

จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาที่เกิดจากการทำการเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็ก พบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อม สามารถเจริญเพิ่มจำนวนได้ง่ายและรวดเร็ว มีความหลากหลายของชนิดและจำนวนอยู่สูง สามารถย่อยสารประกอบต่าง ๆ ให้กลายเป็นสารที่มีโมเลกุลเล็กลง สามารถเปลี่ยนแปลงสารประกอบที่เป็นพิษไปเป็นสารอื่นและไม่ตกค้างในธรรมชาติ จุลินทรีย์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้ก่อประโยชน์ทางการเกษตรและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. การใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดศัตรูพืช ( สารชีวินทรีย์ : Biopesticides )
2. การใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี
3. จุลินทรีย์ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย
4. การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย
5. การใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดของเสีย

http://student.nu.ac.th/ple.edu/lesson6.html

---------------------------------------------------------------------------------------------------


5. บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ในการเกษตร


เกษตรธรรมชาติ ถือว่า “ดินดี คือ ดินที่มีชีวิต” เป็นดินที่มีความสมดุลของสิ่งมีชีวิตในดินรวมถึงจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน สมดุลของจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินสภาพธรรมชาติก็คือ ความเหมาะสมในด้านของจำนวนจุลินทรีย์ และความหลากหลายของจุลินทรีย์ ดินที่เหมาะสมที่สุดในการทำการเกษตรคือ ดินที่มีจุลินทรีย์อยู่หลายกลุ่ม ตัวอย่างของดินดีชนิดหนึ่งคือ “ดินป่า” นั่นเอง

ในอดีตสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะมีอยู่ในดินป่า ในป่าซึ่งมีสารอินทรีย์ในรูปใบไม้หรือซากพืชซากสัตว์ที่เพิ่มลงไปกับประมาณธาตุอาหารพืชที่ถูกนำไปใช้และถูกเก็บเกี่ยวเป็นผลผลิตออกไปจากพื้นที่ที่สมดุลกัน ก็คือ มีธาตุอาหารพืชที่ถูกใช้ไปกับส่วนที่เพิ่มเติมลงมาในดินเท่ากัน จากการที่มีเศษซากอินทรียวัตถุหล่นลงดินหรือที่พืชตรึงไนโตรเจนจากอากาศลงสู่ดิน โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลายและเปลี่ยนรูปธาตุอาหารให้เป็นประโยชน์ เป็นกระบวนการที่เรียกว่าการนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิต ผลิดอกออกผลเป็นดอกไม้ ผัก ผลไม้ และอื่นๆ ส่วนสิ่งที่ถูกนำออกมาจากพื้นที่นั้นๆ คือธาตุอาหารพืชที่สูญเสียไปจากดิน ซึ่งในพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ เกษตรกรมักจะนำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ออกมาจากพื้นที่ โดยไม่ได้คำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารพืชที่จะเพิ่มเข้าไปในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันเกิดความไม่สมดุลกัน จึงมีผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ

จุลินทรีย์มีบทบาทอย่างมากในกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการแปรสภาพอินทรียวัตถุในดินให้กลายเป็นธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช โดยจุลินทรีย์จะมีขั้นตอนของความหลากหลายในกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะมีวงจรชีวิตที่สั้น และมีหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีปริมาณที่มาก ซึ่งมีหน้าที่และบทบาทต่อกระบวนการต่างๆ ในดินแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นจึงถือได้ว่าจุลินทรีย์ก็คือ ตัวการที่จะทำให้สารอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์ย้อนกลับไปเป็นธาตุอาหารพืชใหม่ได้อีกครั้ง นั่นคือทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารพืชในดิน ดังนั้นดินป่าจึงมักมีอินทรียวัตถุอยู่สูงมีการหมุนเวียนในระบบนิเวศอย่างสมดุล แต่ในปัจจุบันการทำการเกษตรมีการใช้ปุ๋ยเคมีกันมากเพราะความต้องการผลผลิตที่มากขึ้น เมื่อต้องการผลผลิตมากขึ้นก็จำเป็นต้องนำเอาปัจจัยการผลิตอื่นๆ ใส่เข้าไปเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการใช้อย่างไม่สมดุล เป็นการใช้อย่างทำลายมากกว่า จะเห็นได้จากกรณีการเปิดป่า หรือการนำพื้นที่มาใช้จะเริ่มต้นด้วยการเผา ซึ่งทำให้จุลินทรีย์ส่วนหนึ่งตายไป และอินทรีย์วัตถุส่วนหนึ่งหายไป ส่วนทีเคยอยู่ในระบบก็หายออกไปอยู่นอกระบบ เมื่อจุลินทรีย์หลายชนิดตายไปอีกหลายชนิดก็ลดจำนวนลง อัตราการเกิดกระบวนการหมุนเวียนย้อนกลับไปเป็นปัจจัยการผลิตก็ลดน้อยลง

ทันทีที่เปิดหน้าดินทำลายพืชที่ปกคลุมผิวดิน เกษตรกรก็จะเริ่มทำการเผาก่อน สิ่งทีหายไปคืออินทรียวัตถุในดิน ชนิดของจุลินทรีย์และปริมาณของจุลินทรีย์ เมื่อปลูกพืชต่อเนื่องไปได้ 2-3 ปี จะสังเกตเห็นได้ว่าผลผลิตที่ได้เริ่มลดลงและเพาะปลูกไม่ได้ผล ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะดินไม่ดี โรคแมลงศัตรูพืชมากขึ้นต้องใช้ปัจจัยการผลิตที่สูงมากขึ้น นั่นคือการขาดความสมดุลในพื้นที่ การทำการเกษตรในบางพื้นที่จะทิ้งพื้นที่บริเวณนั้นไว้ 3-5 ปี จนกระทั่งอินทรียวัตถุเพิ่มมากขึ้นพื้นดินจึงฟื้นกลับมามีความสมดุลอีกครั้ง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการปล่อยพื้นที่ไว้โดยไม่เข้าไปยุ่ง จะทำให้พืชพันธุ์ต่างๆ เจริญเติบโต และตายลงสลายตัวกลายเป็นธาตุอาหารพืชย้อนกลับสู่ดิน และจากสารอินทรีย์ที่รากพืชปลดปล่อยออกมาในบริเวณใกล้ๆ ราก สิ่งเหล่านี้จะชักนำให้จุลินทรีย์เพิ่มจำนวนขึ้นและเกิดความหลากหลายของจุลินทรีย์อีกครั้ง นอกจากนี้ยังชักนำให้มีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในดินตามมา ทำให้ดินในพื้นที่นั้นกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ฉะนั้นถ้าให้เวลาธรราชาติสัก 3-5 ปี ทุกอย่างจะพื้นคืนสภาพได้เอง แต่ในปัจจุบันเกษตรกรไม่สามารถรอเวลานั้นได้ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดและความต้องการผลผลิตที่รวดเร็วและปริมาณมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ ดังนั้นระบบเกษตรแผนปัจจุบันจึงเลือกใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการแก้ปัญหานี้ ในขณะที่ระบบเกษตรธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์จะใช้วิธีการที่ดีกว่าคือ เติมปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือขยะอินทรีย์ต่างๆ ที่สามารถนำมากลับมาใช้ได้ใหม่ และเพิ่มจุลินทรีย์ธรรมชาติเข้าไปด้วย


จุลินทรีย์ที่มีบทบาทต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน
จุลินทรีย์มีหลายชนิดได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา แอคติโนมัยซีส และสาหร่าย แต่ละชนิดจะมีบทบาทและกิจกรรมต่อความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่

1. แบคทีเรีย (Bacteria) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อรา โปรโตซัว และสาหร่าย มีรูปร่างแบบง่ายๆ 3 รูปร่างคือ กลม (Cocci) ท่อน (Rod) เกลียว (Spiral) ไม่มีรงควัตถุภายในเซลล์ คือ เซลล์มักจะใส มีทั้งเคลื่อนที่ได้และไม่เคลื่อนที่ เราสามารถแบ่งชนิดของจุลินทรีย์ได้หลายประเภทดังนี้

1.1 แบ่งประเภทของแบคทีเรียตามช่วงอุณหภูมิ
ก. พวก Psychophilic Bacteria คือแบคทีเรียพวกที่เจริญได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ
ข. พวก Mesophilic Bacteria คือแบคทีเรียพวกที่เจริญได้ดีที่อุณหภูมิปานกลางมีอยู่มากในดินส่วนใหญ่
ค. พวก Thermophilic Bacteria คือแบคทีเรียพวกที่เจริญได้ดีที่อุณหภูมิสูง

1.2 แบ่งประเภทของแบคทีเรียตามความต้องการออกซิเจน
ก. แบคทีเรียพวกที่ต้องการออกซิเจน (Aerobic Bacteria) เป็นแบคทีเรียพวกที่เจริญได้ดีในสภาพที่มีออกซิเจน
ข. แบคทีเรียพวกที่ไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) เป็นแบคทีเรียพวกที่เจริญได้ดีในสภาพที่ไม่ออกซิเจน

1.3 แบ่งประเภทของแบคทีเรียตามลักษณะทางนิเวศวิทยา
ก. Autochthonous (Indigenous Group) เป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ดั้งเดิมในธรรมชาติ ได้รับสารอาหารจากธรรมชาติ อยู่ได้โดยไม่ต้องมีการเพิ่มสารอาหารและแหล่งพลังงานจากภายนอก แบคทีเรียกลุ่มนี้จะมีปริมาณคงที่ทุกฤดูกาล

ข. Zymogenous (Fermentation Producing Group) เป็นแบคทีเรียที่สามารถแปรรูปสารเคมีต่างๆ ได้โดยขบวนการหมัก (Fermentation) ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หลายอย่าง แต่กลุ่มนี้มีอยู่ตามธรรมชาติน้อยมาก จะเพิ่มจำนวนเมื่อมีการเพิ่มสารอาหารและแหล่งพลังงานจากภายนอก

1.4 แบ่งประเภทของแบคทีเรียตามการสร้างอาหาร
ก. Autotrophic คือ แบคทีเรียพวกที่ได้คาร์บอน (C) จากกาซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ เช่น HCO3

ข. Heterotrophic คือ แบคทีเรียพวกที่ได้คาร์บอนจากอินทรีย์คาร์บอนหรือสารประกอบอินทรีย์ทั่วไป
ค. Chemotrophic คือ แบคทีเรียพวกที่เจริญได้ดีในสภาพขาดแสงสว่างและได้พลังงานจากปฏิกิริยาเคมี และขบวนการออกซิเดชั่นของสิ่งมีชีวิต (Biological Oxidation)

ง. Chemoheterotrophic คือ แบคทีเรียพวกที่เจริญได้ดีในสภาพขาดแสงสว่างและได้พลังงานจากอินทรีย์สาร
จ. Phototrophic คือ แบคทีเรียพวกที่ได้พลังงานจากการสังเคราะห์แสง

แบคทีเรียเป็นจุลินทรีย์ที่พบเป็นจำนวนมากที่สุดในจุลินทรีย์ทั้งหมด โดยจำนวนแบคทีเรียคิดเป็น 50% ของน้ำหนักจุลินทรีย์ทั้งหมด และมีกิจกรรมคิดเป็น 95% ของจุลินทรีย์ทุกชนิดรวมกัน พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ จัดได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ที่มีบทบาทอย่างมากในธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต


2. เชื้อรา (Fungi)
2.1 ยีสต์ เป็นเชื้อราซึ่งมีลักษณะแปลกตรงที่ มีการดำรงชีวิตอยู่ในสภาพเซลล์เดียว (Unicellular) แทนที่จะเจริญเป็นเส้นใยเหมือนเชื้อราอื่นๆ ทั่วไป จริงอยู่แม้ยีสต์บางชนิดมีการสร้างเส้นใยบ้าง แต่ก็ไม่เด่นเช่นเชื้อรา ปกติยีสต์เพิ่มจำนวนและแบ่งเซลล์โดยการแตกหน่อ (Budding) เซลล์ยีสต์จะใหญ่กว่าแบคทีเรียและมีนิวเคลียสที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ในเซลล์ยีสต์เรามักจะสังเกตเห็นแวคคูโอล (Vacuole) ขนาดใหญ่ พร้อมทั้งเม็ดสาร (Granule) ต่างๆ ในไซโตพลาสซึม (Cytoplasm) อยู่เสมอ

2.2 ราเส้นใย เป็นจุลินทรีย์ที่มีการพัฒนามาดำรงชีวิตอยู่ในสภาพหลายเซลล์ (Multicellular) โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะการเจริญเป็นเส้นใย (Hyphae) ซึ่งอาจมีผนังกั้น (Septate Hypha) หรือไม่มีผนังกั้น (Non Septate Hypha หรือ Coenocytic Hypha) เชื้อราเป็นจุลินทีรย์ที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างกันมากในด้านขนาดรูปร่างของโครงสร้างและระบบการสืบพันธุ์ โดยทั่วไปเชื้อรามีการสืบพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์ ซึ่งมีทั้งสปอร์แบบไม่อาศัยเพศ (Asexual Spores) และสปอร์แบบอาศัยเพศ (Sexual Spores)

3. แอคติโนมัยซิท (Actinomycetes) เป็นจุลินทรีย์จำพวกเซลล์เดี่ยวที่มีลักษณะคล้ายคลึงทั้งแบคทีเรียและเชื้อรา โดยมีขนาดเล็กคล้ายแบคทีเรีย แต่มีการเจริญเป็นเส้นใยและสร้างสปอร์คล้ายเชื้อรา มีเส้นใยที่ยาวเรียวและอาจจะแตกสาขาออกไปเส้นใยเรียกว่า Hyphae หรือ Filaments

4. สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue Green Algae หรือ Cyanobacteria) แตกต่างจากจุลินทรีย์ชนิดอื่นตรงที่มีคลิโรฟิลล์มักเห็นเซลล์เป็นสีเขียว เซลล์เป็น Procaryote ซึ่งเหมือนกับแบคทีเรีย และมีสาร Mucopeptide เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์เช่นเดียวกับแบคทีเรีย สาหร่ายพวกนี้ไม่มีคลอโร พลาสต์ ดังนั้นคลอโรฟิลล์จึงกระจายอยู่ทั่วไปในเซลล์


บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์ในการเกษตร
จุลินทรีย์มีหลายชนิต ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา แอคติโนมัยซิท สาหร่าย โปรโตซัว ไมโครพลาสมาโรติเฟอร์ และไวร้ส เป็นต้น บทบาทและความสำคัญของจุลินทรีย์มีอยู่มากมายดังนี้

1. จุลินทรีย์มีบทบาทสำคัญทั้งในแง่การเป็นประโยชน์และการเกิดโรค จุลินทรีย์หลายชนิดอาจเป็นสาเหตุของโรคพืชและสัตว์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร แต่ในสภาพธรรมชาติจุลินทรีย์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายจะมีการควบคุมกันเองในวัฏจักรของสิ่งมีชีวิต มีจุลินทรีย์หลายชนิดที่ทำหน้าที่ป้องกัน กำจัด และยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดอื่นรวมทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช

2. จุลินทรีย์มีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนทรัพยากรให้ใช้ประโยชน์ได้ใหม่ในวัฏจักรของธาตุอาหารโดยจุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายวัสดุสารอินทรีย์ต่างๆ (Organic Decomposition) ให้เป็นธาตุอาหาร เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารกลับมาใช้ใหม่ของสารอินทรีย์ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมทางการเกษตร ให้กลับอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช โดยกระบวนการย่อยสลายหรือสังเคราะห์สารชนิดอื่นๆ ขึ้นมาใหม่ในธรรมชาติ เช่น การย่อยสลายเศษซากพืชซากสัตว์ในดินให้อยู่ในรูปฮิวมัส เปลี่ยนจากรูปสารอินทรีย์ไปเป็นสารอนินทรีย์ (Mineralization) เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชได้แก่ กระบวนการตรึงไนโตเจน (N2 Fixation) โดยจุลินทรีย์บางชนิดที่สามารถสร้างอาหารเองได้โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เช่น แหนแดง และจุลินทรีย์บางชนิดที่สามารถดึงไนโตรเจนจากอากาศและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้ เช่น เชื้อไรโซเบียม

3. จุลินทรีย์หลายชนิดมีบทบาทในการสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน เช่น จุลินทรีย์บางชนิดสามารถสร้างกรดอนินทรีย์ที่สามารถละลายแร่ธาตุอาหารพืชในดินให้เป็นประโยชน์ต่อพืช บางชนิดสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชหรือฮอร์โมน ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และยังสามารถผลิตสารต่างๆ รวมถึงสารปฏิชีวนะ เอนไซม์ และกรดแลคติค เช่นแบคทีเรียบางชนิดสามารถสร้างสารพวก Gramicidine และ Tyrocidine เชื้อราบางชนิดสามารถสร้างสารพวก Pennicilin และ Gliotoxin เชื้อแอคติโนมัยซิทบางชนิดสามารถสร้างสาร Actinomycin และ Aureomycin ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถใช้ในการยับยั้งเชื้อโรคต่างๆ และยังช่วยสนับสนุนปฏิกิริยาทางเคมีในดินให้เกิดขึ้นเป็นปกติได้โดยถ้าปราศจากเอนไซม์ปฏิกิริยาทางเคมีที่ซับซ้อนในดินก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น


ที่มา : เกษตรธรรมชาติประยุกต์ โดย ดร.อานัฐ ตันโช
ศูนย์ข้อมูลเกษตรธรรมชาติแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
www.maejonaturalfarming.org

ดาว์นโหลดขัอมูลทั้งหมดได้ที่http://www.uploadtoday.com/download/?12f19ff6e961ba64a38bbe72ab04f5a2

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=94863

------------------------------------------------------------------------------------------------


6. หน่วยเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ทางการเกษตร

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


หน่วยเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ทางการเกษตร กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้รวบรวมจุลินทรีย์พร้อมข้อมูลจากนักวิชาการภายในกองฯ นำมาจัดเก็บอย่างเป็นระบบเมื่อปี พ.ศ.2542 โดยมีเป้าหมายเพื่อ จัดตั้งแหล่งรวบรวมและเก็บรักษา ทรัพยากรพันธุกรรมของสายพันธุ์รา และแบคทีเรียสาเหตุโรคพืช จุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมโรคพืชและ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ทางการเกษตรรวมทั้งเห็ดให้ได้มาตรฐาน พร้อมให้บริการสายพันธุ์ ของเชื้อต่างๆ กับหน่วยงานวิจัยของรัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อใช้ในงานวิจัย การเรียนการสอน หรือนำไปใช้ประโยชน์ ทางด้านอื่น ๆ ปัจจุบันมีจุลินทรีย์ ที่รวบรวมและ เก็บรักษาไว้ประมาณ 1,500 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์แบคทีเรีย 1,000 สายพันธุ์ รา 500 สายพันธุ์ เห็ด 750 สายพันธุ์ ซึ่งเก็บแยกไว้ในศูนย์รวบรวม เชื้อพันธุ์เห็ด แห่งประเทศไทย โดยมีการ จัดทำบัญชีรายชื่อ จุลินทรีย์ที่เก็บรักษาและจัดเก็บข้อมูลไว้ใน ฐานข้อมูล อีเลคโทรนิค เพื่อการสืบค้นต่อไป


วัตถุประสงค์
หน่วยเก็บรักษาจุลินทรีย์ทางการเกษตร มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญดังนี้

- เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของทรัพยากรสายพันธุ์จุลินทรีย์การเกษตรในประเทศไทย
- เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์และกลายพันธุ์ของทรัพยากรสายพันธุ์จุลินทรีย์การเกษตรในประเทศไทย
- เพื่อส่งเสริมและรองรับการดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ การอนุกรมวิธาน และการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างยั่งยืน
- เพื่อจัดการด้านข้อมูลจุลินทรีย์ให้เป็นระบบตามมาตรฐานสากล กิจกรรมหลัก
-จัดรวบรวมและเก็บรักษาจุลินทรีย์สาเหตุโรคพืช เห็ดและจุลินทรีย์อื่น ๆ ด้านการเกษตรโดยคัดแยกจากแหล่งต่าง ๆ ภายในประเทศ
- ศึกษาวิธีการเก็บรักษาให้เหมาะกับจุลินทรีย์แต่ละกลุ่ม
- จัดระบบการควบคุมคุณภาพของจุลินทรีย์ที่จัดเก็บ โดยการตรวจสอบการมีชีวิต ความบริสุทธิ์และความถูกต้องตรงตามสายพันธุ์
- จัดทำระบบฐานข้อมูลจุลินทรีย์ เพื่อนำไปสู่การจัดทำแค็ตตาล็อก และข้อมูลความหลากหลายของจุลินทรีย์ทางการเกษตรในประเทศ ให้บริการสายพันธุ์จุลินทรีย์เพื่องานวิจัยทางด้านการใช้ประโยชน์ หรือการศึกษา


http://www.biotec.or.th/tncc/doa_det.html

-------------------------------------------------------------------------------------------------


7. ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการใช้จุลินทรีย์ในการเกษตรอินทรีย์


มนุษย์รู้จักการนำเอาจุลินทรีย์มาใช้ในการเกษตรมานับพันปีแล้ว โดยเฉพาะการนำมาใช้ในการแปรรูปผลผลิต การผลิตอาหาร การปรับปรุงบำรุงดิน และการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืช ในช่วง 3 ทศวรรษมานี้ ประเทศไทยได้มีการพัฒนาการใช้จุลินทรีย์ในการเกษตรมากขึ้น ซึ่งอาจจะแยกประเภทของจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ในการเกษตรออกเป็น 5 ประเภท คือ

- ประเภทที่ใช้ในการผลิตอาหาร เช่น เห็ดชนิดต่างๆ
- ประเภทที่ใช้ในการแปรรูปผลผลิต เช่น ยีสต์ เชื้อรา ฯลฯ
- ประเภทที่ใช้ในการปรับปรุงดิน เช่น ไรโซเบียม ไมโคไรซ่า ฯลฯ
- ประเภทที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น เชื้อ bacillus thuringieneses,
- เชื้อไวรัส NPV Nuclelar Polyhedrosis Virus, เชื้อรา Entomophthora
grylli เป็นต้น

ประเภทที่ใช้ในการสร้างพลังงาน เช่น จุลินทรีย์ที่ใช้ทำก๊าซชีวภาพ จะเห็นได้ว่าจุลินทรีย์มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก โดยเฉพาะในด้านการผลิตอาหารที่ปลอดจากสารเคมีนั้น จุลินทรีย์จะมีบทบาทที่ช่วยทดแทนการใช้สารเคมีได้มาก หรืออาจจะกล่าวได้ว่าสามารถจะใช้ทดแทนสารเคมีการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์แบบทีเดียว ที่กล่าวมานี้มิใช่จะเกินความเป็นจริง เพราะได้พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติมาแล้วดังนี้คือ


ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องจุลินทรีย์จากสามาคมเกษตรธรรมชาติเกาหลี
อาจารย์ภรณ์ ภูมิพันนา สตรีที่อดีตเคยเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ที่ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาของเธอให้กับการเกษตรธรรมชาติให้ชักนำ Mr. Han Kyu Cho เกษตรกรชาวเกาหลีซึ่งเป็นประธานของสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี (The Korean Natural Farming Association KNFA) ให้ได้มีโอกาสมาเสนอความรู้ในเรื่องการใช้จุลินทรีย์พื้นบ้าน (Indigenous Micro-organism-IMO) แก่เกษตรกร นักวิชาการและประชาชนโดยได้จัดการบรรยายขึ้นที่กรมวิชาการเกษตรและสถานที่ต่างๆ ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 2540 จากความรู้ที่ได้รับจาก Mr. Cho ในครั้งนั้น กลุ่มของนักวิชาการและเกษตรกรไทยได้นำไปทดลองปฏิบัติทั้งผลิตและใช้ รวมทั้งบางรายสามารถจะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ด้วย และด้วยความมหัศจรรย์ของ IMO ในการปรับปรุงบำรุงดิน

การทำให้พืชแข็งแรงต้านทานต่อการทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการช่วยขจัดสิ่งปฏิกูลทั้งในน้ำและในกองขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกษตรกรและประชาชนจำนวนมากได้นำไปใช้จากการเผยแพร่ของกลุ่มนักวิชาการ และนักปฏิบัติที่ได้ตั้งเป็นชมรมเกษตรธรรมชาติ จนขณะนี้มีผู้นำไปใช้อย่างได้ผลอย่างกว้างขวางในเวลาเพียงสามปีเศษเท่านั้น Koyama, A (1996) ได้รายงานไว้ในวิทยานิพนธ์ว่า Mr. Cho ได้แยกผลิตภัณฑ์ของจุลินทรีย์ พื้นฐานออกเป็น 5 ชนิด คือ

1. จุลินทรีย์พื้นบ้าน (Indigenous Micro-organisms)
สามารถจะเก็บได้จากธรรมชาติโดยใช้ข้าวหุงสุกแล้วใส่จานหรือถาดเกลี่ยให้หนาประมาณ 3 เซนติเมตร ปิดด้วยกระดาษ แล้วนำไปใส่ในกรง เพื่อกันหนูหรือสัตว์อื่นมากิน แล้วนำไปตั้งทิ้งไว้ใต้ต้นไม้ในป่าละเมาะ หรือภายในกองใบไม้แห้งที่มีผ้าพลาสติกคลุม เพื่อกันฝนและน้ำค้างที่มากเกินไป ทิ้งไว้ 5-6 วัน จะมีราสีขาวขึ้นคลุมหน้า จากนั้นให้เทข้าวใส่ในโถกระเบื้องดินเผา ผสมกับน้ำตาลแดงหรือกากน้ำตาล สัดส่วน 1/3 ของน้ำหนักข้าว ส่วนผสมนั้นจะกลายเป็นของเหลวข้นมีจุลินทรีย์เจริญอยู่มากมาย แล้วนำของเหลวนี้ไปผสมกับรำข้าวในสัดส่วนร้อยละ 0.2 ใช้กระสอบป่านคลุมจะเกิดความร้อน ต้องคอยควบคุมไม่ให้ความชื้นเกิดกว่าร้อยละ 65 แต่ถ้าแห้งเกินไปก็ให้พรมน้ำ ทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงเอาไปคลุกผสมกับปุ๋ยคอก มูลสัตว์ในปริมาณ 30-50 เท่า แล้วคลุมไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็จะได้ปุ๋ยหมักสมบูรณ์ นำไปใส่ปรับปรุงดินประมาณ 1 กิโลกรัม /1 ตารางเมตร สำหรับการปลูกผักอินทรีย์

2. น้ำหมักพืช (Fermented Plant Juice-FPJ)
ขณะที่คนไทยเรียกว่าน้ำสกัดชีวภาพ (Bio-Extract-B.E.) ผลิตภัณฑ์นี้ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก และมีสรรพคุณที่หลากหลายเช่นเดียวกับสาร อี.เอ็ม. วิธีการก็คือ นำเศษพืช ถ้าหากเป็นพืชชนิดเดียวกับที่ปลูกอยู่ก็จะดี และไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนของพืชที่จะใช้เป็นอาหาร แต่อาจจะเป็นเศษเหลือที่จะทิ้งแล้วก็ได้ ในปริมาณ 3 ส่วนต่อน้ำตาล ทรายแดงหรือกากน้ำตาล 1 ส่วน สำหรับเศษพืชนั้นควรจะสับให้มีขนาดเล็ก 2-3 นิ้ว แล้วใส่ในภาชนะคลุกเคล้าให้เข้ากันภาชนะไม่จำกัดชนิดและขนาดในสวนผักบางแห่งใช้วงซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.0-1.5 เมตร สำหรับทำบ่อส้วม จำนวน 3 วง มาเชื่อมต่อกันเป็นภาชนะ โดยมีทอเปิดด้านล่าง เมื่อหมักได้ที่ ซึ่งจะใช้เวลา 5-7 วันก็จะได้น้ำหมักพืชหรือน้ำสกัดชีวภาพตามต้องการ น้ำหมักพืชนี้จะต้องนำไปเจือจางในน้ำธรรมดาในอัตรา 1:1,000 1 ช้อนแกง (10 ซีซี) ต่อน้ำ 10 ลิตร (1,000 ซีซี) ใช้รดพืชผัก และใช้รดลงในดินที่ปลูกพืช

3. ซีรั่ม ของจุลินทรีย์ในกรดน้ำนม (Lactic Acid Bacteria Serum, LAS)
เตรียมได้จากการดึงเอาจุลินทรีย์ในอากาศมาอยู่ในน้ำซาวข้าว แล้วจึงนำไปเพาะเลี้ยงในน้ำนมอีกให้เกิดเป็น ซีรั่มของกรดแล็คติค ใช้น้ำหมักนี้ในการพ่นลงบนใบพืชให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันโรคพืช

4. กรดอะมิโนจากปลา (Fish Amino acid, FAA)
ทำได้จากการนำเอาเศษปลามาผสมกับน้ำตาลทรายแดง อัตราส่วน 1/1 หมักทิ้งไว้ 30 วันหรือนานกว่าก็ได้ (หรืออาจจะใช้กากน้ำตาล) น้ำจากการหมักนี้จะเป็นแหล่งของธาตุไนโตรเจนให้กับพืชอย่างดีเยี่ยม

5. สุราหมักจากข้าวกล้อง (Brown Rice Vinegar)
สุราเกิดจากการหมักของข้าวกล้อง หรือถ้าไม่มีก็น่าจะใช้สุราขาวที่มีขายโดยทั่วไป นำมาผสมน้ำให้เจือจาง ฉีดพ่นบนใบพืชจะทำให้พืชแข็งแรงต้านทานต่อโรคพืชได้


* เอนไซม์ คือ สารอินทรีย์ที่พืชและสัตว์ รวมทั้งจุลินทรีย์สร้างขึ้นในขบวนการหมัก (fermentation) มีหน้าที่ช่วยในการทำงานของทุกระบบในสิ่งมีชีวิตทั้งหมด สิ่งมีชีวิต จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเอนไซม์ เอนไซม์บางชนิดทำหน้าที่ย่อยอาหารในคนและสัตว์ จุลินทรีย์ผลิตเอนไซม์เพื่อย่อยอินทรียวัตถุให้เป็นสารอินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อจุลินทรีย์เองและต้นไม้


* ฮอร์โมน เป็นสารอินทรีย์อีกชนิดหนึ่งที่พืช สัตว์และจุลินทรีย์สร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของส่วนต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตในคนและสัตว์ ฮอร์โมนในพืชชนิดที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ จีเอ. หรือจิบเบอร์เรลลิค (Giberellic) อ๊อคซิน (Auxin) จุลินทรีย์ก็สามารถผลิตฮอร์โมนต่างๆ ได้เช่นเดียวกับพืชและสัตว์


ความเข้าใจต่อบทบาทจุลินทรีย์
จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถพิเศษ สามารถมีชีวิตและขยายพันธุ์ได้โดยอาศัยอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร จุลินทรย์หลายชนิดรวมกันและอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน จุลินทรีย์มีความหลากหลายของชนิดที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้แม้ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด เย็นจัดหรือแห้งแล้งจัด แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของแต่ละชนิดด้วยเทคนิค จุลินทรีย์การปลูกพืชอินทรีย์ โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี เพราะพืชสามารถสังเคราะห์อาหารได้เองเกือบทั้งหมด ส่วนที่ขาดก็จะได้จากการย่อยสลายของอินทรียวัตถุที่ได้จากซากสัตว์ และพืช รวมทั้งซากของจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์จะผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นธาตุอาหารสำหรับจุลินทรีย์เองและพืชก็จะได้รับประโยชน์ด้วยจากการดูดเข้าไปทางรากในรูปแบบของสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น กรดอะมิโน กลูโคส ไวตามิน ฮอร์โมนและแร่ธาตุ เป็นต้น


ประสบการณ์ของคนไทยในการพัฒนาจุลินทรีย์หมักดอง
นับตั้งแต่ Mr. Han Kyo Cho ประธานสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี ได้มาเปิดเผยเคล็ดลับของการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น (IMO = Indigenous Micro-organism ในการทำน้ำหมักพืช เมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา คนได้ที่ได้รับความรู้ดังกล่าวได้นำไปทดสอบ ทดลอง ปรับปรุง พัฒนากันอย่างกว้างขวาง บางคนก็เห็นว่าความรู้นี้เป็นประโยชน์มากมายทั้งในด้านการเกษตร การรักษาโรค การบำบัดน้ำเสีย และสิ่งโสโครก ฯลฯ และได้มาฟรี จึงพยายามถ่ายทอดไปให้ผู้อื่นได้มีความรู้นี้สืบทอดต่อกัน จนแพร่หลายไปทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้


การผลิตน้ำสกัดชีวภาพจากพืช
น้ำสกัดชีวภาพ คือ น้ำที่ได้จากการหมักพืชอวบน้ำ เช่น ผัก ผลไม้ ด้วยน้ำตาลในสภาพไร้อากาศ น้ำที่ได้จะประกอบด้วยจุลินทรีย์ และสารอินทรีย์หลากหลายชนิดจุลินทรีย์ส่วนใหญ่จะเป็นพวกยีสต์ แบคทีเรียสร้างกรดแลกติก และพวกราแบคทีเรียสังเคราะห์แสงก็เคยพบในน้ำสกัดชีวภาพ

1. วัสดุและอุปกรณ์
1.1 ถังหมักที่มีฝาปิดสนิท จะเป็นถังพลาสติก ถังโลหะ หรือกระเบื้องเคลือบหรือจะใช้ถุงพลาสติกก็ได้
1.2 น้ำตาล สามารถใช้น้ำตาลได้ทุกชนิด อาจใช้กากน้ำตาล ซึ่งมีราคาถูก
1.3 พืชอวบน้ำทุกชนิด เช่น ผัก ผลไม้ ทั้งแก่และอ่อน ถ้าเก็บจากไร่ – สวน ที่สดจากต้นในเวลาเช้าตรู่ได้เท่าใดก็ยิ่งดี รวมทั้งเปลือกผักผลไม้อวบน้ำที่สดไม่เน่าเปื่อย เช่น เปลือกแตงโม เปลือกสับปะรด เปลือกขนุน และเปลือกมะม่วง เป็นต้น1.4 วัสดุมีน้ำหนักใช้ในการกดทับ เช่น อิฐบล็อก หรือก้อนหิน

2. วิธีทำ
2.1 นำพืช ผัก ผลไม้ ตามข้อ 1.3 หั่นหรือสับให้เป็นชิ้นขนาด 1-2 นิ้ว แล้วนำผสมกับน้ำตาลในภาชนะที่เตรียมไว้ในอัตราน้ำตาล 1 ส่วน ต่อพืช ผัก ผลไม้ 3 ส่วน คลุกให้เข้ากัน หรือถ้ามีปริมาณมากจะโดยทับสลับกันเป็นชั้นๆ ก็ได้ ในกรณีผักผลไม้ที่ใช้หมักเป็นชนิดที่ไม่อวบน้ำ ควรเติมน้ำพอให้อยู่ระดับเดียวกับผักผลไม้ที่อยู่ในภาชนะ

2.2 ใช้วัสดุมีน้ำหนัก ตามข้อ 1.4 วางทับบนพืชผักที่หมัก เพื่อกดไล่อากาศที่อยู่ระหว่างพืชผัก ของหนักที่ใช้ทับควรมีน้ำหนักประมาณ 1 ใน 3 ของน้ำหนักพืช ผัก วางทับไว้ 1 คืน ก็เอาออกได้

2.3 ปิดภาชนะที่หมักให้สนิทถ้าเป็นถุงพลาสติก ก็มัดปากถุงพลาสติกให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปได้ เป็นการสร้างสภาพที่เหมาะสมให้แก่จุลินทรีย์หมักดองลงไปทำงาน

* หมักทิ้งไว้ 3-5 วัน จะมีของเหลวสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ (ขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้และน้ำตาลที่ใช้หมัก) เกิดขึ้นจากการละลายของน้ำตาลและน้ำเลี้ยงจากเซลล์ของพืชผักน้ำตาล และน้ำเลี้ยงเป็นอาหารของจุลินทรีย์ จุลินทรีย์หมักดองก็จะเพิ่มปริมาณมากมาย พร้อมกับผลิตสารอินทรีย์หลากหลายชนิด ดังกล่าวข้างต้นของเหลวที่ได้เรียกว่า “น้ำสกัดชีวภาพ”

2.4 ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน เมื่อน้ำสกัดชีวภาพมีปริมาณพอประมาณ ก็ถ่ายน้ำสกัดชีวภาพออกบรรจุลงในภาชนะพลาสติก น้ำสกัดชีวภาพที่ถ่ายออกมาใหม่ๆ กระบวนการหมักยังไม่สมบูรณ์ จะมีก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เกิดขึ้นในภาชนะ ต้องคอยเปิดฝาภาชนะบรรจุทุกวันจนกว่าจะหมดก๊าซ

* ปริมาณของน้ำสกัดชีวภาพที่ได้จากการหมักจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ผัก ผลไม้ ที่ใช้หมัก ซึ่งจะมีน้ำอยู่ร้อยละ 95-98

2.5 ควรเก็บถังหมักและน้ำสกัดชีวภาพไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกฝนและแสงแดดจัดๆ น้ำสกัดชีวภาพที่ผ่านการหมักสมบูรณ์แล้ว ถ้าปิดฝาสนิทสามารถเก็บไว้ได้หลายๆ เดือน

2.6 กากที่เหลือจากการหมัก สามารถนำไปฝังเป็นปุ๋ยบริเวณทรงพุ่มของต้นไม้ได้ หรือจะคลุกกับดินหมักเอาไว้ใช้เป็นดินปลูกต้นไม้ก็ได้ ในกรณีต้องการหมักต่อโดยใช้กากที่เหลือ อาจจะเติมผักผลไม้ลงไปเพิ่ม พร้อมกับเพิ่มปริมาณน้ำตาลตามสัดส่วน 1:3 ลงไปก็ได้

2.7 น้ำสกัดชีภาพที่มีคุณภาพดี จะมีกลิ่นหมักดอง และมีกลิ่นแอลกอฮอล์บ้าง มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาลและปริมาณผลไม้ที่หมัก ถ้าชิมดูน้ำสกัดชีวภาพจะมีรสเปรี้ยว แต่ถ้าหากเกิดกลิ่นเหม็นเน่าเกิดขึ้น แสดงว่าปริมาณน้ำตาลที่ใช้น้อยเกินไป ให้เติมน้ำตาลเพิ่มเข้าไปให้มากขึ้น


3. วิธีใช้ในพืช
3.1 ผสมน้ำสกัดชีวภาพ กับน้ำในอัตรา 1 ส่วนต่อน้ำ 500-1,000 ส่วน (1 ช้อนแกงต่อน้ำ 10 ลิตร) รดต้นไม้หรือฉีดพ่นบนใบ แล้วให้ไหลลงดินรอบต้นไม้ เพื่อให้จุลินทรีย์ลงไปช่วยทำงานในดิน
3.2 ควรทำในตอนเช้าหรือเย็น
3.3 ควรใช้อย่างสม่ำเสมอ และในดินควรมีอินทรียวัตถุอย่างเพียงพอ เช่นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หญ้าแห้ง ใบไม้แห้งและฟาง เป็นต้น
3.4 ใช้ได้กับพืชทุกชนิด น้ำสกัดชีวภาพเจือจางใช้แช่เมล็ดพืชก่อนนำไปเพาะ จะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น และจะได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและสมบูรณ์


ประโยชน์
นอกจากจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่นจุลินทรีย์ที่ช่วยอินทรียวัตถุ จุลินทรีย์ที่ช่วยกำจัดโรคพืชแล้วในน้ำสกัดชีวภาพยังประกอบด้วยสารอินทรีย์ต่างๆ หลากหลายชนิด เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมน และธาตุอาหารต่างๆ เอนไซม์บางชนิดจะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นสารอินทรีย์ เป็นอาหารของจุลินทรีย์เอง และเป็นอาหารของต้นพืช อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนหลายชนิดที่จุลินทรีย์สร้างขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อพืชถ้าใช้ในปริมาณเล็กน้อย ถ้าใช้ในปริมาณที่เข้มข้นเกินไปก็อาจจะทำให้ต้นไม้เฉาตายได้ ฉะนั้น จำเป็นต้องใช้ในอัตราเจือจาง สารอินทรีย์บางชนิดที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นเป็นสารที่เพิ่มความต้านทานให้แก่พืช ทำให้พืชมีความต้านทานต่อโรคและแมลง


การผลิตน้ำสกัดชีวภาพ เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
น้ำสกัดชีวภาพ ช่วยสร้างความต้านทานแก่พืชเพื่อสู้กับศัตรูพืช ถึงแม้มีโรคและแมลงมารบกวนก็จะไม่เกิดความเสียหาย เนื่องจากพืชมีความแข็งแรงเช่นเดียวกับมนุษย์ที่แข็งแรงก็จะไม่เจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม น้ำสกัดชีวภาพที่ได้จากการหมักผลไม้ผสมสมุนไพรจะช่วยให้พืชมีความต้านทานต่อศัตรูพืชได้ผลดียิ่งขึ้น

วิธีทำ
1. วิธีทำน้ำสกัดชีวภาพเพื่อป้องกันและรักษาศัตรูพืชก็เช่นเดียวกับการทำน้ำสกัดชีวภาพที่ได้กล่าวมาแล้ว เพียงแต่ใช้ผลไม้หมักทั้งหมด ผลไม้ใช้ได้ทั้งดิบและสุก หรือเปลือกผลไม้ถ้าเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ทางยาสมุนไพร เช่น ผลมะม่วงหินพานต์ จะยิ่งดี

2. สมุนไพรที่ต้องการใช้ร่วมกับน้ำสกัดชีวภา ได้แก่ ใบสะเดา ตะไคร้หอม ฟ้าทะลายโจร กระเทียม พริกขี้หนู ว่านหางจระเข้ ขิง ข่า และยาสูบเป็นต้น นำมาทุบหรือตำให้แตก ใส่น้ำให้ท่วม หมักไว้ 1 คืน เพื่อสกัดเอาน้ำสมุนไพร นำไปกรองเอาแต่น้ำ

วิธีใช้
- ผสมน้ำสกัดชีวภาพกับน้ำสมุนไพรและน้ำในอัตราน้ำสกัดชีวภาพ 1 ส่วน น้ำสมุนไพร 1 ส่วน และน้ำ 200-500 ส่วน
- ฉีดพ่นต้นพืชให้เปียกทั่ว ควรเริ่มใช้ตั้งแต่ต้นพืชเริ่มงอก ก่อนที่โรคและแมลงจะมารบกวนอย่างต่อเนื่อง
- ควรฉีดพ่นในตอนเช้าหรือเย็น หรือหลังฝนตก


การผลิตปุ๋ยน้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์น้ำ
ในปัจจุบันมีเศษของสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของมนุษย์ และศัตรูพืชเหลือทิ้งให้เป็นขยะที่สร้างกลิ่นรบกวนแก่ผู้ที่อยู่ในบริเวณข้างเคียง และผู้รับผิดชอบต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัดขยะเหล่านั้นอีกมากมายด้วย แต่ถ้าหากได้นำสิ่งเหลือใช้เหล่านั้น มาผ่านขบวนการหมักด้วยน้ำตาลและจุลินทรีย์ที่ดีก็จะเปลี่ยนของเสียเหล่านั้นให้กลายเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์

นอกจากนี้สัตว์น้ำบางชนิดที่เป็นศัตรูของพืช เช่น หอยเชอรี่ ศัตรูพืชในนาข้าวที่ทำลายต้นข้าวให้เสียหาย แต่ในปัจจุบันชาวนาที่ฉลาดในหลายๆ ท้องที่ได้นำหอยเชอรี่มาหมักกับกากน้ำตาลเป็นน้ำหมักชีวภาพใช้ในการบำรุงต้นไม้และช่วยลดการระบาดของโรคและศัตรูพืชได้ดีอีกด้วย


วิธีทำ
1. นำปลาหรือเศษปลามาสับให้เป็นชิ้นขนาดประมาณ 1-2 นิ้ว ในกรณีที่ใช้หอยเชอรี่ ให้ทุบหรือบดด้วยเครื่องบด แต่ในบางโอกาสที่ไม่ต้องการเสียเวลาก็อาจจะใช้หอยเชอรี่ทั้งตัว โดยไม่ต้องทุบหรือบดก็ได้ แต่การหมักจะต้องใช้เวลานานกว่าปกติ (ไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน)

2. นำปลาหรือหอยเชอรี่ ตามข้อ 1 ผสมกับกากน้ำตาลในอัตราส่วน 1:1 โดยน้ำหนัก ผสมให้เข้ากันดี โดยจะผสมในภาชนะที่จัดไว้ผสมโดยเฉพาะ หรือทำในภาชนะที่ใช้หมักก็ได้ ขนาดบรรจุของภาชนะที่ใช้หมักอาจแตกต่างกันตามต้องการอาจจะเป็นขนาด 20, 50, 100 หรือ 200 ลิตร ก็ได้ตามปริมาณการใช้ ที่ต้องการหลังจากนั้นให้เติมหัวเชื้อน้ำสกัดชีวภาพที่ทำจากสับปะรดในอัตรา 1 ต่อ 10 ของปริมาตรส่วนของผสมของปลากับหอย และน้ำตาลที่คลุกเคล้ากันแล้ว ในระหว่างการหมักหากมีกลิ่นเหม็นแสดงว่าใส่น้ำตาลน้อยเกินไป ควรเติมน้ำตาลเข้าไปให้มากขึ้น แล้วกวนให้เข้ากับส่วนผสมเดิมให้คลุกเคล้ากันดี

* อนึ่ง ระหว่างการหมักอาจจะใช้เครื่องเติมอากาศที่ใช้กับตู้ปลาสวยงาม เพื่อให้ออกซิเจนในการหมักเพิ่มอัตราเร็วขึ้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ของผู้ที่ผลิตเป็นการค้าที่ทำอยู่ในขณะนี้

3. ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน จึงเอาน้ำที่ได้มาผสมน้ำในสัดส่วน 1:500 ถึง 1:1,000 หรือประมาณ 2-3 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดให้เป็นฝอยให้เคลือบใบพืช และใส่ลงดินที่โคนต้นพืช


การผลิตปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ
ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีในน้ำสกัดชีวภาพ จนเกิดการย่อยสลายอินทรียวัตถุโดยจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์ และช่วยในการปรับปรุงดิน ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นอาหารแก่พืช

วัสดุทำปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ
- มูลสัตว์แห้งละเอียด 3 ส่วน
- แกลบดำ (ที่ผ่านการเผา) 1 ส่วน
- อินทรียวัตถุอื่นๆ ที่หาได้ง่าย เช่น แกลบ ชานอ้อย ขี้เลื้อย เปลือกถั่วลิสง เปลือกถั่วเขียว และขุยมะพร้าว เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน 3 ส่วน
- รำละเอียด 1 ส่วน
- น้ำสกัดชีวภาพ 1 ส่วน+น้ำตาล 1 ส่วน-น้ำ 100 ส่วน คนจนละลายเข้าด้วยกัน

วิธีทำ
นำวัสดุต่างๆ มากองซ้อนกันเป็นขั้นๆ แล้วคลุกเคล้าจนเข้ากันดี เอาส่วนผสมของน้ำสกัดชีวภาพ น้ำตาล และน้ำใส่บัว ราดบนกองวัสดุปุ๋ยหมัก คลุกให้เข้ากันทั่วจนได้ความชื้นพอหมาดๆ อย่าให้แห้งหรือชื้นเกินไป หมักกองปุ๋ยหมักไว้ 4-5 วัน ก็นำไปใช้ได้

วิธีหมักทำได้ 3 วิธี คือ
4.1 เกลี่ยกองปุ๋ยหมักบนซีเมนต์หนาประมาณ 1-2 คืบ คลุมด้วยกระสอบป่านทิ้งไว้ 4-5 วัน ตรวจดูความร้อนในวันที่ 2-3 ถ้าร้อนมากอาจต้องเอากระสอบที่คลุมออกแล้วกลับกองปุ๋ยเพื่อระบายความร้อน หลังจากนั้นกองปุ๋ยจะค่อยๆ เย็นลง นำลงบรรจุกระสอบเก็บไว้ใช้ต่อไป

4.2 บรรจุปุ๋ยหมักที่คลุกเข้ากันดีแล้วลงในกระสอบปุ๋ยไม่ต้องมัดปากถุง ตั้งทิ้งไว้บนท่อนไม้ หรือไม้กระดานที่สามารถถ่ายเทอากาศใต้พื้นถุงได้ทิ้งไว้ 5-7 วัน

4.3 บรรจุในที่สานด้วยไม้ไผ่ สามารถถ่ายเทความร้อนได้รอบด้าน โดยใช้กระสอบปิดด้านบนไว้ 5-7 วัน ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพที่ได้จากการเตรียมดังกล่าว จะประกอบด้วยจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ต่างๆ เช่นเดียวกับน้ำสกัดชีวภาพแต่อยู่ในรูปแห้ง ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ดีจะมีกลิ่นของดินที่ไม่เหม็น มีใยสีขาวของเชื้อราเกาะกันเป็นก้อน อุณหภูมิในระหว่างการหมักที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 40-50 องศาเซลเซียส ถ้าหากให้ความชื้นสูงเกินไปจะเกิดความร้อนสูงเกินไปด้วย ฉะนั้นความชื้นที่ให้ต้องพอดีประมาณร้อยละ 30 (สังเกตจากการกำวัตถุที่หมักพอจับกันเป็นก้อนไม่เหลวผ่านซอกนิ้วออกมา) ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพเมื่อแห้งดีแล้ว สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน โดยเก็บไว้ในที่แห้งในร่ม


วิธีใช้
ผสมปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพกับดินในแปลงปลูกผักทุกชนิดในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร พืชผักอายุเกิน 2 เดือน เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แตง และฟักทอง ใช้ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพคลุกกับดินรองก้นหลุมก่อนปลูกกล้าผักประมาณ 1 กำมือ
ไม้ผลควรรองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ใบไม้แห้ง ฟาง และปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ 1-2 กิโลกรัม สำหรับไม้ผลที่ปลูกแล้วใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ แนวทรงพุ่ม 1-2 กำมือต่อ 1 ตารางเมตร แล้วคลุมด้วยหญ้าแห้ง ใบไม้แห้งหรือฟางแล้วรดน้ำสกัดชีวภาพให้ชุ่ม
ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้กระถาง ควรใส่ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 กำมือ

การนำปุ๋ยหมักไปใช้อย่างประหยัด และได้ผลอีกวิธีหนึ่งก็คือ ก่อนนำไปใช้ควรผสมปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเสียก่อน ในอัตราส่วนปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ 1 ส่วนต่อปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 10 ส่วน คลุกให้เข้ากันดีแล้วนำไปใช้เช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกโดยวิธีนี้จะใช้มากเท่าไรก็ไม่เป็นผลเสีย อย่าลืมด้วยว่าเทคนิคจุลินทรีย์ เราไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกปริมาณมากเช่นที่เราเคยปฏิบัติมาใช้เพียง 1 ใน 4 ก็พอแล้ว หรือขึ้นอยู่กับปริมาณอินทรียวัตถุที่มีอยู่แล้วในดิน ถ้ามีอยู่มากเราก็ใส่แต่น้อย ถ้ามีอยู่น้อยเราก็ใส่มากหน่อยหรือบ่อยหน่อย ตามปกติในการทำปุ๋ยหมักจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้ปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายสมบูรณ์ แต่ถ้าใช้น้ำสกัดชีวภาพเป็นตัวเร่งจะได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ภายใน 7-15 วัน


หมายเหตุ
ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ คือ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ที่มีการย่อยสลายอินทรียวัตถุอย่างสมบูรณ์ เมื่อใส่ลงดินที่มีความชื้นพอเหมาะ เชื้อจุลินทรีย์จะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้เป็นสารอินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อต้นไม้ จึงไม่จำเป็นต้องให้ในปริมาณมากๆ แต่ในดินต้องมีอินทรียวัตถุพวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หญ้าแห้ง และใบไม้แห้งและมีความชื้นอย่างเพียงพอ ต้นพืชจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ ตรงกันข้ามถ้าให้ครั้งละมากเกินไป อาจทำให้ต้นไม้ตายได้ ปริมาณที่พอเหมาะนั้น สำหรับการปลูกโดยทั่วไปจะใช้รองก้นหลุมประมาณ 1 กำมือต่อต้น หรือประมาณ 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1-2 ตารางเมตร


http://it.doa.go.th/organic/organic/intellect_district/chulinse.html

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

8. ไรโซเบียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไรโซเบียม (Rhizobium) เป็นจีนัสของแบคทีเรียที่อยู่ในปมรากของพืชตระกูลถั่ว มีรูปร่างไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงตลอดวงชีวิต แหล่งพลังงานของไรโซเบียมได้แก่ มอลโตส ซูโครส กลูโคสและแมนนิทอลแต่ไม่สามารถใช้เซลลูโลส แป้งและเพกตินเป็นแหล่งพลังงานได้ เมื่อมีคาร์บอนมากเกินไป ไรโซเบียมจะสะสมอาหารในรูป poly-3-hydroxybutyrate (PHB) เพื่อนำไปใช้ในช่วงมืด ภาวะอดอยากหรือสภาวะที่ปมรากเริ่มชรา ใช้ออกซิเจนเป็นตัวรับอิเล็กตรอน ถ้าอยู่ในปมรากจะได้ไนโตรเจนจากอากาศ ถ้าอยู่ในอาหารเลี้ยงเชื้อต้องเติมไนโตรเจนลงในอาหารด้วย แบ่งตามการเจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อเป็น 2 กลุ่มคือ พวกเจริญเร็ว เกิดโคโลนีภายใน 3-5 วัน กับพวกเจริญช้า เกิดโคโลนีภายใน 5-10 วัน


การจัดจำแนก
ไรโซเบียมแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ
- Rhizobium เป็นกลุ่มที่เจริญเร็ว เกิดปมกับถั่วอัลฟัลฟา ถั่วลันเตา และพืชตระกูลถั่วอื่น
- Bradyrhizobium เป็นกลุ่มที่เจริญช้า เกิดปมกับถั่วเหลือง ถั่วพร้า และถั่วในเขตร้อนอื่น เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของไรโซเบียมในประเทศไทย ประมาณ 99%
- Azorhizobium เป็นกลุ่มที่เกิดปมกับลำต้นพืชตระกูลถั่ว และตรึงไนโตรเจนเมื่ออยู่เป็นอิสระได้

ปมรากของถั่วเหลืองการจัดจำแนกไรโซเบียมในปัจจุบันมี 5 วิธี ได้แก่ [1]

การจัดจำแนกตามพืชตระกูลถั่วที่ทำให้เกิดปม ใช้หลักความสามารถที่ทำให้พืชตระกูลถั่วเกิดปมได้เป็นเกณฑ์ วิธีนีเจแนกไรโซเบียมได้หลายชนิด และแบ่งถั่วเป็นกลุ่มได้ 20 กลุ่ม แต่มีความสัมพันธ์ชัดเจนเพียง 6 กลุ่ม นอกจากนั้นยังมีความไม่แน่นอนที่ไรโซเบียมบางสายพันธุ์ทำให้ถั่วต่างกลุ่มเกิดปมได้ อย่างไรก็ตาม ชื่อสปีชีส์ของไรโซเบียมในปัจจุบันกำหนดโดยวิธีนี้

การจัดจำแนกตามความสามารถในการผลิตกรดหรือด่าง ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่ผลิตกรด กับชนิดที่ผลิตด่างในอาหาร นิยมใช้เป็นวิธีที่ทดสอบข้อมูลเบื้องต้นของไรโซเบียม


การจัดจำแนกโดยใช้ข้อมูลจาก ดีเอ็นเอ
การจัดจำแนกโดยนำลักษณะหรือสมบัติต่างๆ มาเปรียบเทียบแล้วหาร้อยละความคล้ายคลึง


วงชีวิต
วงชีวิตของไรโซเบียมมีขั้นตอนดังนี้
- เซลล์รูปกลม ไม่เคลื่อนที่ พบในสารละลายดินที่มีฤทธิ์เป็นกลาง
เซลล์มีขนาดโตขึ้น รูปกลม พบในสภาพแวดล้อมที่มีฟอสเฟตหรือคาร์โบไฮเดรตบางชนิด
- เซลล์ขยายเป็นรูปวงรี มีแฟลกเจลลา เคลื่อนที่ได้เร็ว
- เซลล์ขยายตัวมากขึ้นจนเป็นท่อนยาวเล็ก เคลื่อนที่ช้าลง
- เซลล์เป็นท่อนยาว สร้างท่อเส้นด้ายและเข้าสู่พืช
- เซลล์ในปมรากอยู่ในรูปของแบคทีรอยด์ พร้อมที่จะแบ่งตัวมาเป็นเซลล์รูปกลมอีกครั้ง


การเข้าสู่พืชตระกูลถั่ว
การเกิดปมที่ราก เริ่มจากพืชตระกูลถั่วส่งสัญญาณทางเคมี เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ หรือไอโซฟลาโวนอยด์ สารนี้จะไปกระตุ้นการทำงานของ nod gene ในไรโซเบียม เมื่อยีนนี้ทำงานจะกระตุ้นให้ไรโซเบียมสร้างและปล่อยสารที่กระตุ้นให้รากพืชโค้งงอและเกิดการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อเจริญจนเป็นปม พร้อมกันนั้น ผนังเซลล์ของพืชจะออ่อนตัวลงและยอมให้ไรโซเบียมเข้าสู่เซลล์ได้ ถั่วบางชนิดที่ไม่มีรากขนอ่อน เช่นถั่วลิสง ไรโซเบียมจะเข้าทางรอยแตกที่รากแขนงแทงออกมา[1]


การเกิดปมที่ลำต้น
พืชที่เกิดปมกับไรโซเบียมที่ลำต้นมีน้อย ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือโสนแอฟริกันเพราะมีตำแหน่งการเกิดปมบนลำต้นที่ทราบล่วงหน้าได้ และเกิดขึ้นอย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับไรโซเบียม ไรโซเบียมจะเข้าสู่ลำต้นทางรอยแตกหรือรอยแยกบนปุ่มกลม


ลักษณะของปมรากถั่ว
ปมที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนต้องมีรูปร่างถูกต้องตามลักษณะของถั่ว ขนาดโตพอสมควร ผิวเรียบ ไม่ขรุขระ ควรจับเป็นกลุ่มบริเวณรากแก้ว มีสีแดงหรือสีชมพูของ legheamoglobin มีจำนวนปมมากพอสมควร [1]


โครงสร้างของปมรากพืชตระกูลถั่วมี 4 ชั้น ดังนี้
- ชั้นนอกสุดเป็นเนื้อเยื่อพาเรงไคมา บางครั้งจะมีแทนนินด้วย
- ชั้นเนื้อเยื่อเจริญ อยู่ด้านนอกถัดจากชั้นแรกเข้ามา ในถั่วบางชนิดเห็นชัด แต่บางชนิดไม่เห็นเลย
- เนื้อเยื่อลำเลียง เกิดขึ้นหลังจากเกิดปมแล้ว โดยเจริญมาจากเนื้อเยื่อลำเลียงของรากพืช
- ส่วนที่มีแบคทีรอยด์อยู่ เป็นบริเวณที่แยกจากเนื้อเยื่อลำเลียงอย่างชัดเจน มีแบคทีรอยด์จำนวนมาก มักมีสีแดงของ legheamoglobin


ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญ
อุณหภูมิ อุณหภูมิที่ทำให้เกิดปมได้ดีที่สุดคือ 20 -30 องศาเซลเซียส ถ้าสูงหรือต่ำกว่านี้การเกิดปมจะลดลง ซึ่งอุณหภูมินี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของเอนไซม์ไนโตรจีเนสด้วย

pH การตรึงไนโตรเจนที่เกิดในพืชตระกูลถั่วและไรโซเบียม เกิดที่ pH 5-8

แสง อิทธิพลของแสงจากการสังเคราะห์ด้วยแสง จะส่งผลต่อปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ส่งมายังราก ถ้าอัตราส่วนระหว่างคาร์บอนต่อไนโตรเจนไม่เหมาะสม การตรึงไนโตรเจนจะหยุด

อิทธิพลของแสงสีแดง แสงสีแดงมีอิทธิพลต่อการแบ่งเซลล์ในรากพืชให้เกิดเป็นปมขึ้น

น้ำ ถ้าน้ำในดินต่ำมากจนน้ำหนักปมลดลงต่ำกว่า 80% ของน้ำหนักที่อุ้มน้ำเต็มที่ การตรึงไนโตรเจนจะหยุด ปมรากจะหลุดออก ถ้าน้ำท่วม การตรึงไนโตรเจนในรากจะต่ำมาก ถ้าน้ำขังนานเกินไป ปมจะเน่าไป


อิทธิพลของธาตุต่างๆ
ไนโตรเจน...... ไนโตรเจนต่ำจะกระตุ้นให้เกิดปมได้ดี ถ้าสูงเกินไปจะขัดขวางการเข้าสู่ปมของไรโซเบียม

ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ......ส่งผลต่อการเจริญของต้นถั่วมากกว่า

แคลเซียม ..... ช่วยให้ไรโซเบียมเพิ่มจำนวนก่อนเข้าสู่ปมราก การเข้าสู่รากพืชต้องการแคลเซียมสูง

แมกนีเซียม ..... มีความจำเป็นต่อการทำงานของ ATP และส่งผลต่อการเจริญของต้นถั่ว

กำมะถัน...... เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ไนโตรจีเนส ถ้าไม่พอ การตรึงไนโตรเจนถูกจำกัด

แมงกานีส. สังกะสี. ทองแดง. อะลูมิเนียม .....ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เกิดปมได้น้อยลง

โมลิบดินัม ..... เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ไนโตรจีเนส ถ้าไม่พอ การตรึงไนโตรเจนถูกจำกัด

โคบอลต์ ..... เป็นองค์ประกอบของวิตามินบีสิบสอง เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ legheamoglobin

โบรอน ...... จำเป็นต่อการตรึงไนโตรเจนแต่ยังไม่ทราบกลไก

แคดเมียม ......ถ้ามีมากเกินไปเป็นพิษต่อเอนไซม์ไนโตรจีเนส

เหล็ก ..... เป็นองค์ประกอบของไนโตรจีเนสและโปรตีนอื่นๆ เช่น legheamoglobin ไรโซเบียม.จะสร้าง siderophore เพื่อช่วยในการนำเหล็กมาใช้ภายในเซลล์ การขาดเหล็กทำให้การพัฒนาของปมถูกจำกัด นอกจากนั้น เหล็กยังมีบทบาทสำคัญในการตรึงไนโตรเจนโดยเป็นโคแฟคเตอร์ในการสร้าง โปรตีนควบคุมการตรึงไนโตรเจน (NiFA) ที่ทำงานได้


อิทธิพลของก๊าซ
ก๊าซไนโตรเจน..... ต้องมีในระดับที่เพียงพอ และขึ้นกับความสามารถในการแพร่เข้าสู่ปม

ก๊าซไฮโดรเจน..... เป็นตัวให้อิเล็กตรอนแก่การตรึงไนโตรเจน และป้องกันอันตรายของออกซิเจนต่อไนโตรจีเนส ถ้ามีออกซิเจนมากไป

ก๊าซออกซิเจน..... ต้องมีปริมาณต่ำจึงจะเกิดการตรึงไนโตรเจนได้ดี ถ้ามากไปจะยับยั้งการทำงานของไนโตรจีเนส น้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อการหายใจของไรโซเบียม legheamoglobin จะรวมกับออกซิเจนได้เป็น oxygenated legheamoglobin ซึ่งจะเป็นตัวรับอิเล็กตรอนในการหายใจของไรโซเบียมในปม

ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ .....จับกับไนโตรจีเนสได้ดี จึงเป็นคู่แข่งขันกับก๊าซไนโตรเจน และยังแข่งขันกับก๊าซออกซิเจนในการจับกับ legheamoglobin ได้ด้วย ทำให้ความสามารถในการควบคุมปริมาณออกซิเจนของ legheamoglobin ลดลง

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ .....ลดอัตราการหายใจของแบคทีรอยด์ในปมรวมทั้งไรโซเบียมในดิน

ก๊าซอะเซทิลีน ..... แข่งขันกับก๊าซไนโตรเจนในการจับกับไนโตรจีเนส
ก๊าซเอทิลีน ทำให้การเกิดปมหยุดชะงัก

จุลินทรีย์ในดิน .....จุลินทรีย์บางชนิดสร้างสารปฏิชีวนะทำให้ไรโซเบียมหยุดการเจริญเติบโต จุลินทรีย์บางชนิด เช่น Bdellouibrio ทำลายเซลล์ของไรโซเบียมโดยตรง

จุลินทรีย์บางชนิดสร้างสารที่เป็นประโยชน์ต่อไรโซเบียม เช่น Cytophaga ซึ่งย่อยสลายเซลลูโลสให้เป็นอาหารของไรโซเบียม

อินทรียวัตถุ ..... ถ้ามีมากจะทำให้ไรโซเบียมมีชีวิตอยู่ในดินได้นานโดยไม่ต้องอาศัยพืชตระกูลถั่ว แต่สารอินทรีย์ที่เป็นพิษต่อไรโซเบียม เช่น กรดฟีโนลิก จะทำให้การเจริญของไรโซเบียมหยุดชะงักและเกิดการกลายพันธุ์ได้

บริเวณไรโซสเฟียร์ของพืช สารอินทรีย์ที่ปล่อยออกมาจากรากพืชชนิดอื่นมีประโยชน์ต่อไรโซเบียมเช่นกัน เช่น สารที่ปล่อยออกมาจากรากพืชของพืชวงศ์ Polygonaceae Malvaceae Graminae แต่พืชบางชนิด เช่น ทานตะวัน จะปล่อยสารที่เป็นพิษต่อไรโซเบียม

ฤดูกาลและการใช้พื้นที่ พื้นที่ป่าที่ไม่ถูกรบกวนมีไรโซเบียมน้อยกว่าพื้นที่ทำการเกษตร ประชากรของไรโซเบียมในดินในฤดูหนาวจะต่ำกว่าฤดูฝนและฤดูแล้ง [3]
สารปราบศัตรูพืช ทำให้การเจริญของไรโซเบียมหยุดะงักหรือเกิดการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืช


การใช้ประโยชน์
การใช้เป็นปุ๋ยพืชสด โดยนำไปคลุกกับพืชตระกูลถั่วก่อนปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด [1]
การเพิ่มประสิทธิภาพของไรโซเบียมโดยการปรับปรุงพันธุ์หรือใช้ร่วมกับแบคทีเรียชนิดอื่น เช่น แบคทีเรียที่ผลิตยาปฏิชีวนะเพื่อเพิ่มการยึดครองพื้นที่และการเกิดปมหรือการการถ่ายฝากยีน nif จากไรโซเบียมไปยังพืช

การตัดต่อยีนที่ย่อยสลายสารพิษเข้าสู่ไรโซเบียม เพื่อให้ไรโซเบียมนั้นย่อยสลายสารพิษได้ด้วย เช่น การเพิ่มยีนที่ย่อยสลาย ไตรคลอโรเอทิลีน เข้าสู่ไรโซเบียมทำให้ไรโซเบียมนั้นย่อยสลายสารพิษได้




อ้างอิง
สมศักดิ์ วังใน. การตรึงไนโตรเจน:ไรโซเบียม-พืชตระกูลถั่ว. กทม. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2541
^ Atlas, R.M., and R. Bartha. 1998. Microbial Ecology: Fundamental and application. 4th ed. Mehlo park. Benjamin/Cumming Science Publishing

นันทกร บุญเกิดและคณะ. 2544. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงประชากรของกระบวนการทางนิเวศวิทยาต่อการเปลี่ยนแปลงประชากรของจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจนในดิน ใน รายงานการวิจัยในโครงการ BRT. วิสุทธิ์ ใบไม้ และรังสิมา คุ้มหอมม บรรณาธิการ. กทม.: โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย.

^ Reigh, G.,and M. O'Connell. 1993. Siderophore-mediated iron transport correlate with the presence of specific iron-regulated protein in the outer membrane of Rhizobium meliloti. Journal of Bacteriology. 175, 94-102
^ Robert, J.M.F. 1992. Effect of pest management system on biological nitrogen fixation In Biological Nitrogen Fixation and Sustainability of Tropical Agriculture, K. Melongoy, M. Gueye, and D.S.C. Spancer, eds. John Wiely and Sons.
^ Killham, k. 1995. Soil Ecology. Cambridge university. Cambridge
^ Lynch, C.M. 1983. Soil Biotechnology. Blackwell Scientific Publication.
^ Shim, H. et al. 2000. Rhizosphere competitiveness of trichloroethylene-degrading poplar colonizing bacteria. Applied and Environmental Microbiology. 66 (11): 4673-4678



http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1

----------------------------------------------------------------------------------------------



9. จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย อี-เวิร์ม (E-Worm)




แม่โจ้เตรียมส่งจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย อี-เวิร์ม (E-Worm) ช่วยพื้นที่ประสบอุทกภัยที่น้ำท่วมขังจนเริ่มเน่าเสียในภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารศูนย์ราชการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้พร้อมคณะทำงานในการเตรียมส่งชุดจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย หรือ อีเวิร์ม(E-Worm)เพื่อส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลางและ กทม.ฯ ว่า “จากสถานการณ์มหาอุกทกภัยของประเทศทำให้พื้นที่ในหลายจังหวัดในประเทศไทยถูกน้ำท่วมอย่างหนักในรอบกว่า 50 ปี มีประชาชนได้รับความเสียหายและเดือดร้อนนับล้านคน สถานที่ราชการ สถานประกอบการ และบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมกำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หลายแห่งระดับน้ำลดลง แต่ก็ยังมีอีกหลายแห่งที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้เกิดน้ำน้ำเสีย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศด้านการเกษตรและมีองค์ความรู้ด้านการใช้จุลินทรีย์มาบำบัดน้ำเสีย ที่เรียกว่า อี-เวิร์ม (E-Worm) คือ กลุ่มจุลินทรีย์ธรรมชาติจากลำไส้ไส้เดือนดินท้องถิ่นไทยที่มีความหลากหลายและมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์ที่เกิดจากโครงการขยะอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดิน ซึ่งนอกจากการกำจัดขยะอินทรีย์อย่างได้ผลแล้ว ยังเกิดผลผลิตที่เป็นมูลไส้เดือนดิน ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีและน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน ซึ่งสามารถใช้เป็นปุ๋ยบำรุงพืชและยังใช้บำบัดน้ำเสียได้ผลดี เพราะมีจุลินทรีย์จากลำไส้ของไส้เดือนดินมากกว่า 300 ชนิด อี-เวิร์ม (E-Worm) เป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำลึก บริเวณแอ่งน้ำได้เป็นอย่างดี โดยจะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ให้มีอนุภาคเล็กลง และตกตะกอนอย่างรวดเร็ว มีค่าความเป็นกรดด่าง(PH) อยู่ในช่วง 7-8 เมื่อเทลงสู่น้ำเน่าเสียซึ่งมีค่าความเป็นด่างสูง อี-เวิร์ม (E-Worm) จึงสามารถทำการบำบัดน้ำเสียได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่จุลินทรีย์ทางการค้าทั่วไปในท้องตลาด ที่ใช้กากน้ำตาลในกระบวนการขยายเชื้อรวมถึงน้ำหมักชีวภาพทั่วไป จะชอบทำงานที่ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (PH) ในช่วงที่เป็นกลดอ่อน-กรดจัด” ซึ่งวิธีการใช้นั้น จะจุ่มท่อปล่อยน้ำ E-Worm ลงไปให้ลึกถึงก้นแอ่งน้ำ 1-1.5 เมตร แล้วเทน้ำ E-Worm ลงในกรวยให้น้ำ E-Worm ไหลลงไปก้นแอ่งน้ำ โดยเทกระจายตามจุดต่างๆ ของแหล่งน้ำเสียตามอัตรา น้ำE-Worm 1 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร

ซึ่งทางศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยความร่วมมือจาก สวทช.ภาคเหนือ และมูลนิธิโครงการหลวง จึงจัดทำชุดจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย เป็นชุดสำเร็จรูปใช้งานได้ทันที จำนวน 1,000 ชุด เพื่อส่งไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางน้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ประสบอุทกภัยต่อไป”



สุพิมพร ปาฬี นักศึกษาฝึกงานชั้นปีที่ 4 แขนงวิชาการโฆษณา
สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

http://www.focus-cm.com/News/?p=139


-----------------------------------------------------------------------------------------------




10. เลือกจุลินทรีย์สายพันธุ์ดี มาบำรุงต้นพืชและป้องกันโรค


อาหารพืช…มีทั้งธาตุอาหารหลัก รองและ เสริม ซึ่งอยู่ในธรรมชาติทั้งใน ดิน อากาศ และ น้ำ โดยเกษตรกรยังไม่สามารถเข้าใจถึงการนำออกมาใช้ประโยชน์…

กับ…อีกหนึ่งปัญหาคือ แมลงและโรคพืช ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเสียหาย…เกษตรกรจึงใช้วิธีง่ายๆ คือซื้อ ปุ๋ยเคมี ในราคาแพงจึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผศ.ดร.นารีรัตน์ มูลใจ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กับ ทีมงาน จึงได้วิจัยหาเชื้อจุลินทรีย์มาใช้กับการเกษตร…เพื่อหาทางลดต้นทุนให้กับเกษตรกร

และได้เผยถึงโครงงานว่า…เชื้อจุลินทรีย์ที่ดี มีอยู่หลายสายพันธุ์ ประกอบด้วย Azotobacter vinelandii, Bacillus megaterium, Bacillus circulans, Bacillus amyloliquefaciens, Saccharomyces cerevisiae, Trichoderma harzanum, Bacillus subtilis, Beauveria bassiana, Metarhizium anisopliae

เริ่มการทดลองในห้องแล็บ โดยเพาะเชื้อราที่ก่อโรคแก่พืช แล้วนำเชื้อ Bacillus subtilis ซึ่งเป็นเชื้อไม่ก่อโรคมาใส่ในถาดทดลองเดียวกัน ในอัตรา 1 ต่อ 5 ส่วน

จึงสังเกตพบว่าระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีสามารถสร้าง สารป้องกันและยับยั้งเชื้อราก่อโรค ได้ แล้วทำการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อ Trichoderma harzianum ที่เป็น ปรสิต ทำลายเชื้อราก่อโรคพืช ให้หยุดการเจริญเติบโตและตายไปในที่สุด

ทีมงานได้ศึกษาข้อมูลพบอีกว่ายังมีจุลินทรีย์ สายพันธุ์ Beauveria bassiana กับ Metarhizium anisopliae สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยต่างๆ แมลงหวี่ขาว ตั๊กแตน มวน ด้วง มอด หนอนเจาะ และ หนอนต่างๆ โดยวิธีการสร้าง เส้นใยเข้าไปทำลายให้แมลงเบื่ออาหารตายในเวลาต่อมา…

เมื่อได้ผลงานวิจัยครบองค์ประกอบทั้งหมดจึงนำเชื้อจุลินทรีย์ที่ดี มาเพาะเลี้ยงด้วย เทคโนโลยีชีวภาพ ให้เป็นเชื้อที่บริสุทธิ์ มีความเข้มข้นสูง แล้วนำมามิกซ์กันก่อนใช้ทดลองกับ ไม้ผล พืชไร่ และ ข้าว ในแปลงทดลองผลปรากฏว่า ช่วยตรึง ไนโตรเจน (N) จากอากาศ ช่วยละลาย ฟอสเฟต (P) และ โพแทสเซียม (K) ที่ตกค้างในดิน

พืชจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ และให้ ผลผลิตดีขึ้นกว่าการใช้ปุ๋ยแบบเดิม อีกทั้งยัง ป้องกัน และ กำจัดแมลงศัตรูพืช ได้อีกด้วย

ผศ.ดร.นารีรัตน์ ยังบอกต่ออีกว่า….ทีมงานได้ส่งตัวอย่างผลผลิตงานวิจัยนี้ไปตรวจวิเคราะห์ ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข …ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ให้การรับรองว่า มีความปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในคน สัตว์ และ พืช

ข้อมูลทั้งหมดได้มอบให้กับภาคเอกชนรายหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนทำโครงการวิจัยชิ้นนี้ เพื่อนำไปต่อยอดออกมาเป็น ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ…หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติม กริ๊งกร๊างที่ ผศ.ดร. นารีรัตน์ 0-3834-0050-1 ไม่เว้นวันหยุดราชการ.


ไชยรัตน์ ส้มฉุน

http://news.enterfarm.com/content/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81

--------------------------------------------------------------------------------------------------


.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 05/10/2012 4:54 pm, แก้ไขทั้งหมด 24 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 27/12/2011 4:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

...
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©