-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ชาวนาไทยเก่ง.....จริงหรือ ?
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ชาวนาไทยเก่ง.....จริงหรือ ?
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ชาวนาไทยเก่ง.....จริงหรือ ?

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 09/06/2015 7:42 pm    ชื่อกระทู้: ชาวนาไทยเก่ง.....จริงหรือ ? ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.

ชาวนาไทยปลูกข้าวเก่ง ยากจะหาชนชาติใดเสมอเหมือน...จริงหรือ???


จะเชื่อหรือไม่ ถ้าจะบอกว่า ไปๆ มาๆ ชาวนาไทยกำลังจะกลายเป็นคนปลูกข้าวไม่เป็น...เห็นได้จากสถิติการปลูกข้าวของเราให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ สู้เพื่อนบ้านไม่ได้

ไม่ใช่เพราะดินเราเสื่อม
ดินเราไม่ดีสู้เพื่อนบ้านไม่ได้อย่างที่อ้างกัน...
แต่เพราะเราละเลยวิธีปลูกข้าวที่บรรพบุรุษเคยทำมา

“เดี๋ยวนี้ชาวนาไทยไม่ค่อยรู้จักวิธีปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบอินทรีย์ ในขณะที่ชาวนามาดากัสการ์ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา กัมพูชายังใช้วิธีนี้
และยอมรับว่าเป็นระบบปลูกข้าวแบบเข้มข้น (System of Rice Intensification-SRI เลยทำให้การปลูกข้าวของเขาได้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ”


ดร.อาพา มิชรา หัวหน้าโครงการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบอินทรีย์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งได้รับทุนจากสหภาพยุโรป ศึกษาหาทางสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนใต้ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม บอกว่า การปลูกข้าวต้นเดี่ยวเป็นวิธีที่คนไทยรู้จักกันมานาน

แต่ถูกทอดทิ้งไป เพราะหลงติดใจวิธีปลูกแบบเอาสะดวกเข้าว่า หว่านข้าวโดยไม่สนว่า...
ต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์จะสูง....
การกำจัดวัชพืชทำได้ยาก....
ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตต่ำทั้งๆที่ซัดปุ๋ย....
ใส่ยาเคมีสารพัด....

“การปลูกข้าวต้นเดี่ยวหรือทำนาดำ เป็นภูมิปัญญาอันหลักแหลมของบรรพบุรุษไทย เพราะ เป็นวิธี
ทำให้ต้นข้าวแตกกอได้ดี ....
ผลผลิตสูง ....
ต้นทุนต่ำ ....
เพราะต้นข้าวแตกกอได้มาก ....
นั่นหมายถึง ผลผลิต เพิ่มขึ้น ....


แล้วหากเปรียบเทียบระหว่างการปลูกข้าวต้นเดี่ยวกับนาหว่าน นายมานพ สายเพชร ผู้ช่วยวิจัยโครงการ บอกว่า การปลูกข้าวต้นเดี่ยวในพื้นที่ 1 ไร่ใช้เมล็ดพันธุ์ 1-2 กก. เอาไปเพาะกล้าก่อนด้วยวิธีทำร่องน้ำ ยกพื้นเหมือนแปลงผักขนาด 1x4 เมตร โรยปุ๋ยคอกก่อน ถึงเอาเมล็ดพันธุ์ 1 ไร่ใช้แค่ 1-2 กก. แล้วโรยปุ๋ยคอกทับอีกชั้น ใช้บัวรดน้ำเหมือนการปลูกผัก 12 วัน ต้นกล้าจะงอก ถอนเอาไปปลูกในแปลงนา

ห้ามใช้วิธีถอนแล้วเตะต้นกล้า เพราะจะทำให้กล้าช้ำ โคนหัก ฟื้นตัวยากและตาย ต้องมาปลูกซ่อมกันใหม่ การปลูกต้นกล้าให้วางลงดินลึกไม่เกิน 2 ซม. ระยะห่างระหว่างต้น 25x25 ซม.เพียงคืนเดียวต้นกล้าจะตั้งตรงได้ และอีก 1 สัปดาห์

จะแตกกอใหญ่ ปลูกเป็นแถวเป็นแนวมีระเบียบ การดูแลเก็บถอนวัชพืชทำได้ง่าย แต่ละต้นรับแสงเต็มที่ไม่ต้องแย่งกัน ผลผลิตที่ได้ข้าวเต็มรวงน้ำหนักดี...หนอนกอไม่ค่อยมากวน โรครวงสีขาวลดลงไป 80 เปอร์เซ็นต์ ต้นข้าวแข็งแรงไม่ล้มง่าย

ส่วนนาหว่านที่ชาวนาไทยยุคนี้ชอบทำกันนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์สูงถึง 35 กก. หรืออาจมากกว่านี้ นอกจากเปลืองพันธุ์ข้าว เข้าไปกำจัดวัชพืชยาก แล้วยังเป็นที่อยู่อาศัยของหนอกอ โรคต่างๆอีกต่างหาก.


เพ็ญพิชญา เตียว


http://www.thairath.co.th/content/342931




.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
DangSalaya
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 23/06/2011
ตอบ: 1874

ตอบตอบ: 09/06/2015 10:42 pm    ชื่อกระทู้: สกู๊ปพิเศษ ... ชาวนาไทย เก่งจริงหรือ..... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.

สวัสดีครับลุงคิม ...และเพื่อนสมาชิก ที่ปลูกข้าวแล้วเป็นหนี้ ทุกท่าน

สกู๊ปพิเศษ ... ชาวนาไทย เก่งจริงหรือ.....

ชาวนาไทย ที่เก่งก็ยังมี แต่โดนเหยียบเอาไว้(ครับลุง)

ขออนุญาตครับลุง ....


ตอนที่ผมเริ่มจำเป็นต้องทำนา
มีคนบอกว่า....ใช้ปุ๋ยชีวภาพ มีหวังเอ็งพังพาบแหง๋ ๆ .....
ตามด้วย....ข้าวเอ็ง ไม่ใส่ยูเรีย ไม่ได้แดก ร็อก ของข้าใส่ไร่สองกระสอบ ยังไม่ดีเล๊ย

ทั้งสองบริบท....พูดจบก็ตามด้วยเสียงหัวเราะแบบเยาะเย้ยแล้วก็เดินจากไป....ผมจำใส่ไว้ในใจไม่มีวันลืม

เคยเล่าให้ลุงคิมฟัง (ด้วยความโกรธ)...ลุงคิมบอกว่า
เฮ่ย อย่าไปทะเลาะกับคนข้างบ้าน....

คนไม่เคยปลูกข้าวมาก่อนในชีวิต จะทำยังไง ก็มีแต่ลุงคิม....หลังจากนั้นก็ ถาม ๆๆๆๆ

บอกตามตรง รู้งี้ ทะเลาะกับคนข้างบ้านดีกว่า เพราะม้วนเดียวจบ แต่ถามลุงคิม เรื่องมันยาวววววว จริง ๆ แบบดูหนัง ซีรี่ส์ นั่นแหนะ.....หูอื้อก็แล้วกัน..

..อย่างไรก็ตาม....ขอบคุณครับลุง ขอบคุณที่ทำให้คนที่เกิดมาไม่เคยปลูกข้าว ปลูกแบบ อินทรีย์นำ เคมีเสริม ตามความเหมาะสม + น้ำหมักชีวภาพ.แล้วได้กินข้าว ได้ดีซะด้วย

ป้าห่านบอกว่า วิธีนี้ แบบคนไม่บ้า ไม่กล้าทำ



ผมอ่านบทความของลุงแล้ว เห็นจริงด้วย แต่ไม่ทั้งหมด
ชาวนาไทย ที่เก่งก็ยังมี แต่โดนเหยียบ (ครับลุง)


(1)

(2)

(3)

(4)
(1 – 4) มีคนบอกว่า.....มาเห็นแปลงนาจริงๆต่างจากที่เห็นในเฟสมาก
ขอบคุณที่มีคนเห็นคุณค่าของคนบ้า ทำให้เรามีกำลังใจบ้าต่อไป



(5)

(6)

(7)
(5 – 7) ถอนข้าวมาดำแทนตรงที่ข้าวขึ้นบางตา



(8 )

(9)
(8 – 9) ต้นข้าว ที่กำลังเจริญเติบโต



(10) ข้าวแตกกอ

(11)

(12)

(13)

(14)
(11 -14) ไม่ได้ใส่ยูเรียซักแหมะเดียว......แบบนี้ ไม่รู้จะ พังพาบ แล้วจะได้กินข้าวรึเปล่า.....



มีคนถามมาว่าขั้นตอนการหมักฟาง ไร่ละ 300 บาทแพงไปหรือไม่
ตอบ...ที่แพงเพราะ ตัวนี้หมักฟาง + ข้าวดีด + เม็ดวัชพืช + ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย + ปรับสภาพดิน + ไข่แมลงศัตรูพืชที่อยู่ในดิน คุ้มมั๊ย ถ้าคิดว่าแพงอย่าใช้


วันนี้มาคำนวณต้นทุนกันเล่นๆ
1. เตรียมดินใช้หมักฟางไร่ล่ะ 300 บาท
2. ค่าจ้างฉีดไร่ล่ะ 50 บาท
3. ค่าจ้างปั่นไร่ล่ะ 200 บาท
4. ทำเทือกไร่ล่ะ 200 บาท
5. ค่าข้าวปลูกไร่ล่ะ 150 บาท
6. ค่าหว่านไร่ล่ะ 50 บาท
7. ค่าฉีดจุลินทรีย์และอื่นๆไร่ล่ะ 260 บาท
8. ฉีดรอบสอง 230 บาท
9. ฮอร์โมนหมักเองและอื่นๆ 120 บาท
10. ค่าจ้างเกี่ยวไร่ล่ะ 400 บาท
11. ค่าส่วนเกินอื่นๆ(ถ้ามี).. 200 บาท

รวมต้นทุนทั้งหมด = 2,160 บาท / ไร่

นี่คือการทำนาแบบ ผู้จัดการนา (คนบ้าทำนาอินทรีย์) ถ้าทำเองทุกขั้นตอน จะถูกตัดลงหลายรายการ ทุนก็จะต่ำลงกว่านี้ คิดเอาเองนะ. ผลผลิตได้เท่าไรบวกกำไรกันดู

ไอ้พวกที่ทำแบบ ยูเรีย ไร่ละ สองกระสอบ + 16-20-0 อีก 1 กระสอบ + ค่ายาฉีดกันหนอนแมลงอีก รวมต้นทุนแล้ว เกือบ 6,000 นั่นและครับคนเก่ง(ซะไม่มีละ)



(15) สังคมตอแหล๋

(16) ตะวันกำลังจะลับขอบฟ้า.....ไปก่อนละครับลุง เดี่ยวจะมืดค่ำ กลับบ้านลำบาก กัวปี๋อ่ะ.....



ขอบคุณข้อมูลจาก อจ. ประพันธ์ พงษ์ภู่ ศูนย์วิจัยข้าว สุโขทัย
ขอบคุณครับลุง....





.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
hans
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 28/04/2013
ตอบ: 146

ตอบตอบ: 10/06/2015 9:53 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
สวัสดีค่ะ ลุงคิม ทิดแดง และสมาชิก ทุกๆๆท่าน

ป้ารู้อย่างเดียว ตอนนี้ชาวนาแถวบ้านป้ามักง่าย เอาสบายเข้าไว้ ทุนเทาไหร่ ไม่สนใจ
เพราะมีลูกไปทำงานส่งเงินมาให้ (ส่วนมาก)

เห็น รู้ แนวคิดเขาแล้ววังเวง อนาคตคงซื้อข้าวเวียตนามแน่ๆๆ



อ่านทุกวันแต่ไม่ค่อยมีเรื่องคุย

ป้าห่าน




.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 11/06/2015 1:32 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ชาวนาไทยจนสุดในอาเซียน

ชาวนาไทยจนสุดในอาเซียน หอการค้าเผย ชาวนาไทยจนสุดในอาเซียน มีกำไร 2.8 หมื่นบาทต่อปี เหตุต้นทุนสูง จี้รัฐตั้งกองทุน 2 แสนล้าน อุดหนุนต้นทุน 40%


นายอัทธ์พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลวิเคราะห์ข้าวไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ขณะนี้กำไรสุทธิต่อไร่ของชาวนาไทยอยู่ในระดับที่ต่ำสุดของชาวนาในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผลศึกษาพบว่า

ชาวนาไทยมีกำไรสุทธิที่ 1,555.97 บาทต่อไร
ชาวนาพม่าที่มีกำไรสุทธิ 3,484.1 บาทต่อไร่
ชาวนาเวียดนามมีกำไรสุทธิ 3,180.74 บาทต่อไร่


เนื่องจากต้นทุนการผลิตของชาวนาไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ อย่างมาก แม้ว่าราคาข้าวไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดพบว่า ชาวนาในประเทศไทยจะมีการถือครองที่ดินเฉลี่ยที่ 20 ไร่ต่อครัวเรือน โดยปริมาณข้าว 1 ตันต้องใช้ที่ดิน 2.22 ไร่ และแต่ละปีทำนาได้ 2 ครั้ง ส่งผลให้มีกำไรสุทธิที่ 28,035.5 บาทต่อปี ส่วนเวียดนามจะถือครองที่ดินรายละ 6.25 ไร่มีผลผลิต 1 ตัน ต่อนา 1.11 ไร่ ในแต่ละปีทำนาได้ 3 ครั้ง ทำให้มีกำไรสุทธิ 54,217.23 บาทต่อปี และ พม่าถือครองที่ดิน 10 ไร่ต่อราย ผลผลิตข้าว 1 ตันต่อนา 2.38 ไร่ แต่ละปีทำนา 2 ครั้งทำให้มีกำไรสุทธิ 29,278.11 บาทต่อตัน

“เป็นการสำรวจปี 55 ชาวนา ....
ไทยมีต้นทุน 9,763.4 บาท/ไร่ มีรายได้ 11,319.37 บาท มีเงินเหลือ 1,555.97 บาท
เวียดนามมีต้นทุน 4,070.76 บาท/ไร่ มีรายได้ 7,251.5 บาท มีเงินเหลือ 3,180.74 บาท
พม่ามีต้นทุน 7,121.76 บาท/ไร่ มีรายได้ 10,605.86 บาท มีเงินเหลือ 3,484.1 บาท

ซึ่งไม่รู้ว่าจะพูดได้หรือไม่ว่าชาวนาไทยจะจนที่สุดในอาเซียนแม้ว่าจะมีรายได้มากที่สุดและที่ดินเฉลี่ยก็จะเยอะที่สุดก็ตาม แต่ปัญหาคือ ชาวนาไทยมีต้นทุนสูงสุด”


สาเหตุที่ทำให้ชาวนาไทยมีกำไรสุทธิน้อยกว่าประเทศอื่นคือ ประสิทธิภาพการผลิตข้าวที่ปัจจุบันยังต่ำกว่าคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม, ต้นทุนการผลิตที่สูงมาก และนโยบายการแทรกแซงตลาดของรัฐบาล ดังนั้น ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาวงการข้าวภาพรวมของประเทศแบบยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ควรตั้งกองทุนอุดหนุนชาวนาวงเงินปีละ 196,000 ล้านบาท โดยการเงินอุดหนุนชาวนา 40% ของต้นทุนการผลิต โดยปัจจุบันต้นทุนการผลิตชาวนาไทยเฉลี่ยที่ 9,763.40 บาทต่อตัน หากอุดหนุน 40% ก็จะทำให้กองทุนฯ จ่ายเงินให้ชาวนาเฉลี่ยตันละ 3,905.36 บาท แต่การอุดหนุนก็ไม่ควรเกินครอบครัวละ 20 ไร่

“แนวคิดดังกล่าว ได้มาจากเวียดนาม ที่ปัจจุบันให้เงินอุดหนุนชาวประมาณ 30% ของต้นทุน ซึ่งก็ถือว่าดีเพราะเมื่อรัฐอุดหนุนต้นทุนแล้ว ชาวนาก็สามารถขายข้าวได้ตามกลไกตลาดโลก และรัฐบาลก็ไม่ต้องนำข้าวมาเก็บไว้ในสต็อกเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว ที่อาจทำให้เกิดปัญหาข้าวเต็มสต็อกและต้องเสียค่าบริหารจัดการต่างๆ ปีละหลายหมื่นล้านบาท”

ขณะนี้ข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วย
ข้าวผกามะลิ ของกัมพูชา
ข้าวจัสมิน ประเทศเวียดนาม
ข้าวเพิร์ล ปอว์ ซาน ประเทศพม่า


ทยอยเข้ามาตีตลาดข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านไทยได้พัฒนาคุณภาพข้าวดังกล่าวจนทำให้ผู้บริโภคประเทศต่างๆ เริ่มติดใจสินค้า โดยเฉพาะข้าวเพิร์ล ปอว์ ซาน และ ข้าวผกามะลิ เคยได้รับตำแหน่งข้าวดีที่สุดในโลกในปี 55 และ ปี 56 ที่ผ่านมา

ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพข้าวไทยทั้งระบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าทั่วโลก

ทั้งนี้เป็นห่วงว่าหากประเทศเพื่อนบ้านสามารถพัฒนาศักยภาพของข้าวปริมาณสินค้า และการตลาดในอนาคตก็จะมีหลายประเทศอาจเปลี่ยนการสั่งข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าไทย 50-100 เหรียญฯ ต่อตันแทน เพราะต้องการที่จะประหยัดรายจ่ายในการใช้งบประมาณในแต่ละประเทศ

“ตอนนี้ข้าวหอมมะลิไทย เริ่มทยอยเสียตลาดในบางประเทศแล้ว ให้แก่ข้าวหอมจากทั้ง3 ประเทศ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า หากข้าวหอมจากพม่า และกัมพูชา มีการเพิ่มปริมาณผลผลิตและมีการพัฒนาการทำตลาดในต่างประเทศ อาจจะทำให้ข้าวหอมไทยเดือดร้อนแน่นอน ขณะที่ข้าวหอมจากเวียดนาม แม้จะมีเมล็ดยาวสวยงามแต่ก็กำลังที่จะพัฒนาความหอมและรสชาดมาแข่งขันไทยอยู่ แต่คาดว่าคงใช้เวลาไม่นาน”

http://www.dailynews.co.th/economic/218763





.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 12/06/2015 8:00 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 11/06/2015 8:54 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.

ยิ่งทำก็ยิ่งจน : ชาวนาไทยวันนี้

ถ้าย้อนเวลาไปในอดีตประมาณ 30 ปีหรือกว่านี้ และในเวลานั้นท่านผู้อ่านเดินไปยังทุ่งนาในฤดูทำนาในช่วงเวลาก่อนเที่ยงวัน ท่านจะได้เห็นคนไถนาโดยใช้แรงงานวัวหรือควาย และในแปลงนาข้างๆ ท่านอาจได้เห็นคนถอนกล้าหรือดำนา แต่ถ้าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวท่านจะได้เห็นคนเกี่ยวข้าวโดยใช้เคียว หรือถ้าเป็นในภาคใต้จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แกะเป็นรวงข้าวแต่ละรวง ข้าวที่เกี่ยวแล้วจะถูกมัดเป็นฟ่อน และที่เก็บด้วยแกะจะถูกมัดเป็นกำเรียกว่า เลียง แล้ววางเรียงไว้บนตาชั่งเพื่อรอการนำไปเก็บในยุ้งฉาง และนำออกมาขายเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นการใช้เงิน หรือนำออกมาแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อการบริโภค และจะขายออกไปทั้งหมดเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวใหม่มาถึง และเหลือไว้เพียงเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก

แต่ในวันนี้ ถ้าท่านผู้อ่านไปยังทุ่งนาจะเห็นคนขับรถไถนาดำนาด้วยใช้เครื่องดำ และถ้าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวก็จะเห็นรถเกี่ยวนวด และบรรจุเมล็ดข้าวใส่กระสอบหรือรถบรรทุกเพื่อนำไปขายที่โรงสีหรือแหล่งรับซื้อข้าวเปลือกที่เรียกว่า ท่าข้าว

เมื่อท่านผู้อ่านนำภาพชาวนาในอดีตมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยใช้สิ่งที่เห็นเป็นประเด็นการเปรียบเทียบ โดยในส่วนลึกก็จะอนุมานได้ว่าชาวนายุคนี้จะสบาย และอยู่กินดีกว่าในยุคก่อนค่อนข้างแน่นอน

แต่ถ้าดูให้ลึกลงไปในรายละเอียดในเรื่องของต้นทุนการผลิต และราคาขาย รวมไปถึงภาวการณ์มีหนี้แล้วก็จะพบว่า ชาวนาในยุคปัจจุบันสะดวกสบายในทางกายภาพคือ ทำนาเหมือนน้อยลง และใช้แรงงานน้อยลงก็จริง แต่ในด้านจิตใจเดือดร้อน และหลายรายเป็นทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตายมาแล้ว ทั้งนี้ด้วยเหตุประการเดียวคือการมีหนี้สิน และเหตุที่ทำให้ชาวนามีหนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความสะดวกสบายที่ท่านเห็นนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ราคาน้ำมันหรือพลังงานอื่นใดซึ่งใช้ในการขับเคลื่อนจักรกลมีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ต้นทุนในการทำนา รวมไปถึงปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่น ปุ๋ย และน้ำยาปราบศัตรูพืชมีแนวโน้มแพงขึ้นด้วย ดังนั้น ต้นทุนการทำนาจะต้องสูงขึ้นตาม

2. ในขณะที่ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น ราคาข้าวเปลือกซึ่งผูกอยู่กับราคา ข้าวสารที่ส่งออกไปต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกข้าวซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม เป็นต้น มีต้นทุนในการทำนาถูกกว่า และแถมผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยจึงสามารถขายในราคาต่ำกว่า จึงทำให้ราคาขายในตลาดโลกถูกลง

3. ถึงแม้รัฐบาลช่วยเหลือชาวนา โดยการเข้าไปแทรกแซงราคาในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น ก็เป็นการช่วยเหลือที่ปลายเหตุ และเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ข้อจำกัดในด้านงบประมาณ และเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สักวันหนึ่งการช่วยเหลือในลักษณะนี้ก็จะต้องเลิก เพราะขืนช่วยในทำนองนี้ต่อไปจะทำให้ประเทศล่มจม เนื่องจากใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นเหตุอ้างให้เกษตรกรแขนงอื่นถือเป็นตัวอย่างขอความช่วยเหลือบ้าง ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของชาวสวนยางพารา ยิ่งกว่านี้โครงการให้ความช่วยเหลือชาวนาจะยิ่งเลวร้าย และเป็นเหตุให้ประเทศหายนะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการรั่วไหลโดยอาศัยความเดือดร้อนของชาวนา ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นข่าวฉาวโฉ่อยู่ในขณะนี้

จากปัจจัย 3 ประการนี้ค่อนข้างเชื่อได้ว่าความทุกข์ของชาวนาจะยังคงมีอยู่ต่อไป ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นทุน และดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องกันจนกว่าปัญหาของชาวนาจะหมดไปอย่างถาวร และการแก้ปัญหาอย่างถาวรน่าจะดำเนินการได้ดังต่อไปนี้

1. รัฐควรจะจัดการปฏิรูปที่ดินเพื่อการทำนา เพื่อให้ชาวนาทุกครอบครัวมีที่ทำกินเป็นของตนเองอย่างน้อยครอบครัวละ 20 ไร่ในเขตชลประทาน และ 50 ไร่ในเขตนอกชลประทาน

ในการจัดหาที่ทำกินให้แก่ชาวนา อาจทำได้หลายวิธีเริ่มตั้งแต่นำที่ดินรกร้างซึ่งเป็นของราชพัสดุมาให้ชาวนาเช่าทำนาในราคาไม่แพงนักไปจนถึงออกกฎหมายเวนคืนที่ดินจากผู้ถือครองที่ดิน แต่ไม่ทำกิจกรรมใดๆ โดยเฉพาะไม่ทำการเกษตร โดยไม่ทำกิจกรรมใดๆ โดยเฉพาะไม่ทำการเกษตรโดยให้ค่าตอบแทนในราคาประเมิน และทำที่ดินมาให้ชาวนาที่ไม่มีที่ทำกินหรือมีแต่น้อยกว่าที่กำหนดเช่าซื้อ โดยผ่อนชำระเป็นรายปีในอัตราที่เคยเช่านาเขาทำ และเมื่อชำระหมดก็ให้โอนเป็นของชาวนา

2. รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ทุ่มงบประมาณค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการทำนาเริ่มตั้งแต่คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และการใช้ปุ๋ยให้สอดคล้องกับสภาพของที่ดิน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอก

3. ควรจะแบ่งเขตการปลูกข้าวแต่ละชนิดให้ชัดเจน โดยมุ่งเน้นทั้งจำนวน และคุณภาพของข้าวที่ปลูกได้เป็นสำคัญ เมื่อทดลองได้ผลแล้วก็ส่งมอบให้ชาวนาไปดำเนินการเพาะปลูกต่อไป

4. ควรจัดให้ชาวนามีการรวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์เพื่อลดต้นทุน โดยใช้เครื่องมือทำการเกษตรร่วมกัน และมีอำนาจต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิตจากผู้ขาย ทั้งนี้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการขายข้าวด้วย

ในส่วนของชาวนาเอง ก็จะต้องมีการปรับตัวเพื่อสนองมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวข้างต้น ด้วยการฝึกตนเองให้อยู่ในกรอบแห่งคุณธรรม 4 ประการดังต่อไปนี้คือ ขยัน อดทน ประหยัด และซื่อสัตย์ต่อตนเอง

โดยสรุป ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาที่ชาวนาประสบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้สินส่วนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่ก็ว่าได้เกิดจากตัวชาวนาคือไม่พยายามช่วยตนเองเอาแต่เรียกร้องให้รัฐช่วย และที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือมีความหวังลมๆ แล้งๆ กับโครงการขายฝันของนักการเมืองที่ใช้ชาวนาเป็นเครื่องมือ โดยการมอมเมาให้หลงเชื่อในสิ่งที่จะได้รับโดยการแลกกับการลงคะแนนให้ และนั่งรอ เมื่อรอไม่ไหวก็เดินไปประท้วง และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของม็อบแบมือ และเป็นเหตุให้ประเทศหายนะดังที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว และโครงการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในทำนองนี้

ดังนั้น ถ้าจะให้ชาวนาโดยปลอดหนี้ทั้งชาวนาและรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องเลิกมอมเมาประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม และหันมาแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยยึดความเป็นจริง และประโยชน์อันจะเกิดแก่ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ก็จะแก้ปัญหานี้ได้ แต่อาจต้องใช้เวลาบ้าง

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000138383





.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 12/06/2015 7:56 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 11/06/2015 9:03 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ทางเลือกทางรอด 'ชาวนา' ไทยปลูกข้าวต้นทุนต่ำ

แนวทางการบริหารจัดการ “ข้าว” หลังยุติโครงการรับจำนำข้าวที่ดูจะไม่เป็นผลนัก นับตั้งแต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คือการใช้มาตรการช่วยเหลือด้วยการลด “ต้นทุน” ด้านปัจจัยการผลิต และต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) ขณะเดียวกัน ได้ปล่อยให้ราคาและตลาดข้าวเป็นไปตามกลไก โดยไม่มีการเข้าไปแทรกแซงใดๆ

ทั้งนี้ ในการประชุมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับผู้นำกลุ่มชาวนาครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายแกนนำชาวนาต่างนำเสนอมาตรการ โดยใช้ “ราคา” เป็นตัวชูโรง เสนอเป้าหมายการยกระดับราคาข้าวเปลือกเจ้าให้ไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000-12,000 บาท ที่ความชื้น 15% อ้างเหตุผลถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกว่า 6,000 บาทต่อไร่ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์กลับเห็นต่าง และยืนยันหนักแน่นว่า จะไม่ใช้เงินงบประมาณในการอุดหนุน หรือแทรกแซงราคา แต่ภาครัฐจะจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว เป็นแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนชาวนาเองก็ต้อง ปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการผลิต และหันมาปลูกข้าวที่เป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มมูลค่า ด้วยเช่นกัน

รัฐยันไม่แทรกแซงราคา-กลไก
นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และควบตำแหน่งที่ปรึกษาปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันคือ จะไม่ใช้เงินงบประมาณในการเข้าไปอุดหนุน หรือแทรกแซงทั้งราคาและกลไกตลาดข้าว แต่การใช้เงินช่วยเหลืออาจจะเป็นในรูปของการลดต้นทุนด้านดอกเบี้ย โดยจะมุ่งส่งเสริมด้านการพัฒนาคุณภาพข้าว การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนอื่นๆ ซึ่งคาดว่ายุทธศาสตร์ข้าวที่จะเป็นแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย น่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ ส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวคือ การจัดทำโซนนิ่งสินค้าเกษตร ด้วยการจัดทำแผนการเพาะปลูกพืชตามพื้นที่ที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของตลาด

ในด้านการตลาดนั้น เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ มียุทธศาสตร์และกลยุทธ์ดำเนินการต่างๆ ดังนี้

1. สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว
2. ส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้า
3. สร้างค่านิยมการบริโภคข้าว
4. พัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าว
5. การสร้างนวัตกรรมข้าว
6. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านโลจิสติกส์

โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวในอาเซียน และเป็นผู้ชี้นำราคาข้าวในตลาดโลก

"อยากฝากบอกชาวนาว่าทางเลือกในการปลูกข้าวมีอยู่หลายแนวทาง รวมทั้งแนวทางในการช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งแนวทางหนึ่งนั้น ก็คือการปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษ หรือข้าวอินทรีย์ ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างมาแล้วว่าสามารถทำได้จริง ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์สามารถผลิตข้าวได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และยังมีกำไรได้มากกว่าการปลูกข้าวในลักษณะทั่วไปอย่างปัจจุบัน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ตลอดจนสร้างอาชีพให้มีความยั่งยืน และมั่นคงได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องใดๆ จากภาครัฐ" นางจินตนากล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวทางการปรับตัวนี้ ภาครัฐเองจะเป็นตัวกลางในการประสานเพื่อสร้างองค์ความรู้ เพราะแนวทางการลดต้นทุนด้วยการปลูกข้าวปลอดสารนี้ ซึ่งมีตลาดรอรับซื้อที่แน่นอน มีรายได้ต่อครอบครัวที่แน่นอน ตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการ เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพข้าว
ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีกับชาวนาแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย ที่ข้าวปลอดสารนี้จะไม่มีสารพิษตกค้างใดๆ

ในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท ซึ่งพยายามทำให้ชาวนาได้รับรู้ถึงแนวทางการลดต้นทุนว่าสามารถทำได้เอง โดยเน้นการผลิตข้าวที่ตลาดมีความต้องการดูแลในด้านสุขภาพ ซึ่งยืนยันว่าตลาดที่มีความต้องการซื้อข้าวปลอดสารนั้นมีแน่นอน และได้ราคาดีด้วย ขณะเดียวกันการลดต้นทุนอย่างเดียวก็อาจจะยังไม่เพียงพอ ก็จะต้องเพิ่มผลผลิตข้าวด้วย ซึ่งเมื่อขายได้ราคาดีในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ก็จะมีกำไรมากขึ้น และทำให้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้นได้

ชู ปลูกข้าวปลอดสาร-ต้นทุนต่ำ
ดังเช่นแนวทางการทำนาของเกษตรกรมือใหม่วุฒิปริญญาโท ที่ผันตัวเองจากการทำงานออฟฟิศในต่างประเทศ มาเป็นชาวนาเต็มตัว จากการลองผิดลองถูกมานานถึง 5 ปี แต่ปัจจุบันสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างพอเพียง เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการทำนาได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ทำได้จริง ตลอดจนมีการจัดหาตลาดรับซื้อข้าวกล้องปลอดสาร ภายใต้แบรนด์ “ข้าวหอมคุณยาย” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"กานต์ ไตรทอง" และ “นิศารัตน์ นาครักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด เล่าว่า ....

ปัจจุบันมีที่นาเป็นของตัวเองอยู่ 50 ไร่ รวมถึงนาฝากจากกลุ่มเพื่อนอีก 20 ไร่ รวมเป็น 70 ไร่
อีกทั้งยังมีเครือข่ายชาวนาในกลุ่มของตนเองอีกกว่า 100 ไร่ รวมเป็นเกือบ 200 ไร่

ปลูกข้าวปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ โดยยืนยันว่าการปลูกข้าวปลอดสารด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมที่มีมานานสมัยรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย นั้นใช้ต้นทุนที่ต่ำ อีกทั้งลงมือทำนาด้วยตนเอง ไม่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ถือเป็นชาวนาแท้จริงไม่ใช่เป็นผู้จัดการนาอย่างที่ส่วนใหญ่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน

“ต้นทุนการผลิตของเราเฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ ซึ่งถือว่าต่ำมาก ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุดในกลุ่มเราพบว่ามีสูงถึง 900-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ และผมรับซื้อข้าวจากชาวนาในกลุ่มในราคา 12,000 บาทต่อตัน ที่ความชื้น 15% และ 10,000 บาทต่อไร่ ที่ความชื้น 19% ทำให้ยืนยันได้ว่าการทำนาในแบบนี้มีกำไรได้อย่างแน่นอน” นายกานต์กล่าว

หลังจากเมื่อมีความคิดที่จะผลิตเอง และจำหน่ายเอง "กานต์" จึงได้ตั้งบริษัทขึ้นมา ทำให้ปัจจุบันทำครบวงจร ทั้งกระบวนการปลูก การเก็บรักษาข้าว การสีข้าว บรรจุ และทำตลาดเองโดยเน้นการตลาดทุกช่องทาง ทำให้มีมูลค่าเพิ่มตามขั้นตอนของมันเอง และเชื่อว่าการที่ผลิตสินค้าคุณภาพในทุกขั้นตอนแล้ว และทำอย่างมีความสุข ผู้บริโภคก็จะสามารถสัมผัสได้และเชื่อว่ามีความคุ้มค่ากับการจ่ายเงินเพื่อซื้อข้าวปลอดสารที่ผลิตขึ้น

ทั้งนี้ ในด้านตลาด ข้าวหอมคุณยาย เน้นผลิตข้าวกล้องปลอดสารพิษเพื่อขายให้แก่คนไทย ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 70 กว่าบาท ซึ่งทั้งคู่เริ่มทำนามา 5 ปี และเริ่มทำบริษัทมากว่า 3 ปี เขาบอกว่ามีอัตราการเติบโตปีละ 300% และปัจจุบันส่งออกไปสิงคโปร์ด้วย และเน้นทำการตลาดทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป้าหมายของการทำนาครบวงจรของ กานต์ และนิศารัตน์ ยังไม่ถึงเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ แต่ทั้งคู่ได้พูดคุยกันว่าจะไม่รีบที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย นั่นคือ การขายข้าวกล้องปีละ 360 ตัน หรือวันละ 1 ตัน และการจะไปถึงเป้าหมายได้ก็ต้องมีเครือข่ายที่จะผลิตข้าวกล้องป้อนเข้ามาไม่ต่ำกว่า 400 ไร่

กานต์ บอกด้วยว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ข้าวหอมคุณยายคือ สามารถระบุแหล่งที่มาได้เลยว่า ชาวนาคนไหนปลูกข้าวถุงนั้นๆ เหมือนการตรวจสอบย้อนกลับ ผ่านบาร์โค้ดที่อยู่หน้าห่อบรรจุข้าว จะทำให้ได้รู้ว่าผู้บริโภคกินข้าวจากนาแปลงใด และมั่นใจในคุณภาพได้ รวมทั้งสิ่งที่เราเน้นสำหรับแบรนด์ข้าวของเราคือ การกินแล้วมีความสุข ซึ่งก็ยืนยันได้ว่าชาวนาในกลุ่มทำนาด้วยกันมีความสุขทุกคน ส่วนที่จะรู้สึกถึงความแตกต่างได้ผู้บริโภคก็จะต้องชิมข้าวเอง จึงจะรู้ถึงความแตกต่าง หากมองด้วยตาเปล่าหรือแค่สัมผัสคงไม่เห็นความแตกต่าง

ชาวนาเปลี่ยนได้เองไม่ต้องรอรัฐ
ส่วนกรณีที่ชาวนาบอกว่าขายข้าวแล้วไม่มีกำไร ขาดทุน เพราะมีต้นทุนสูงถึง 6,000 บาทต่อไร่นั้น กานต์บอกว่า คงต้องถามว่าเป็นชาวนาหรือผู้จัดการนา ซึ่งการเป็นชาวนาก็ต้องทำนาเอง ซึ่งเราทุกคนขับรถไถนาเอง ฉีดสารป้องกันแมลงกันเอง ปลูกข้าว และดูแลรักษากันเอง ซึ่งข้าวจะมีความสมบูรณ์แข็งแรง เพียงแต่ต้องใช้เทคนิคการดูแลรักษา ไม่ทิ้งขว้าง มีความรู้ความเข้าใจในแง่วิทยาศาสตร์มากกว่าความเชื่อ เพื่อให้การปลูกข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น รู้ว่าข้าวต้องการสารอาหารอะไรบ้าง เป็นต้น

นายกานต์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเจ้าเดียวในจังหวัดสระบุรีหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่ามีชาวนาที่มีแนวคิดเหมือนตนนี้อยู่หลายรายทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมีชาวนาสนใจต้องการข้อมูล ตนก็ยินดีโดยไม่จำเป็นต้องมาเป็นเครือขายของกลุ่มตนก็ได้ หรือหากจะเข้ามาเป็นเครือข่ายก็จะต้องมีการพูดคุยกันก่อนตั้งแต่เริ่มต้นก่อนปลูกข้าว เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การจูงใจให้ชาวนารายอื่นหันมาปลูกข้าวอินทรีย์นั้น ยืนยันว่าไม่จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการอะไร ขึ้นอยู่กับชาวนาเองมากกว่า ว่าจะตัดสินใจตัวเองว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร หากชอบชีวิตที่เป็นอยู่นี้แล้วคิดว่ามีความสุข ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่หากคิดว่าชีวิตที่เป็นอยู่นี้ไม่มีความสุข และอยากเปลี่ยน เชื่อว่า องค์ความรู้ต่างๆ มีอยู่เต็มประเทศไทย และไม่ต้องรอให้ใครเข้ามาช่วยเหลือ ก็สามารถเริ่มได้เลย หากจะรอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ตนกลับมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา

“การที่ชาวนาทั่วไปต้องการจะเปลี่ยนตัวเองจากการปลูกข้าวแบบเดิมๆ มาผลิตข้าวปลอดสารพิษด้วยต้นทุนที่ต่ำแบบนี้ ก็สามารถทำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอปรับหน้าดิน หรือเตรียมเพราะเราเป็นข้าวปลอดสาร เพียงอย่าเผาฟาง เพราะฟางจะเป็นปุ๋ยหมักที่ดีที่สุด และต้นทุนถูกที่สุด ส่วนความเชื่อว่าที่ฟางมีเยอะจะทำให้ดินเสียนั้นไม่เป็นความจริง และจุลินทรีย์ในธรรมชาติจะทำงานได้ดีกว่าที่คิดไว้เยอะมาก” กานต์กล่าว และยืนยันว่า ความต้องการข้าวปลอดสารมีอยู่มาก แต่ผู้บริโภคหาซื้อไม่ค่อยได้เท่านั้น และปัจจุบันตนจำหน่ายข้าวแบรนด์ ข้าวหอมคุณยาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ สิงคโปร์ ที่ผู้จัดซื้อจากสิงคโปร์ซื้อข้าวและส่งไปจำหน่ายตามร้านค้าเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญคือ ชาวนาต้องปรับตัว เปลี่ยนทัศนคติ และเปลี่ยนความคิด ซึ่งการทำนาเองจะทำอย่างไรเสียก็มีกำไรแน่นอน

“ผมอยากเห็นลูกหลานชาวนามาช่วยกันทำนา อยากให้กลับมาทำนา ประเทศไทยเราเคยทำนาดีๆ มาเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว และวันหนึ่งเราเปลี่ยนมาทำนาแบบเป็นทุกข์ แล้วการที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมจะยากนักหรือ และการเปลี่ยนก็ไม่ใช่วิธีใหม่ แต่เป็นวิธีเดิมๆ ที่เราประสบความสำเร็จกันมาแล้ว แค่เปลี่ยนทัศนคติก็เริ่มได้เลย” กานต์กล่าวทิ้งท้าย


http://www.komchadluek.net/detail/20141006/193440.html



.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 12/06/2015 7:54 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 12/06/2015 6:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.

ชาวนายังไม่ตาย !
สัมมนาถามหา คุณค่า-ความหมาย ในภาวะหนี้สินทำช้ำหนัก


กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Action Links) ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ “คุณค่า ความหมายของชาวนาและชุมชน ในยุคโลกาภิวัตน์” ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นำเสนอ ข้อค้นพบบางประการจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ภาวะหนี้สินชาวนากับนัยที่มีผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” ใน 2 กลุ่มพื้นที่ คือ

1. เกษตรกรกลุ่มอุทัยพัฒนา จ.อยุธยา จำนวน 100 ราย
2. เกษตรกรกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชร จ.เพชรบุรี จำนวน 135 ราย

และเรื่อง “การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยกับนัยยะที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” ศึกษาพื้นที่ ชุมชนบ้านไร่เหนือ ต.ในเตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยดำเนินโครงการตั้งแต่ ก.ย.55 - ส.ค.56


อยุธยา : การเปลี่ยนผ่าน เมืองเกษตรสู่นครโรงงาน
กิมอัง พงษ์นารายณ์ ชาวนา จ.ชัยนาท ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) นำเสนอผลสรุปกรณีศึกษา จ.อยุธยาว่า อยุธยาจากที่เคยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ตอนนี้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม โดยผลผลิตมวลรวม (จีดีพี) ของจังหวัดมาจากภาคอุตสาหกรรมถึง 98.27% และจากภาคเกษตรกรรมเพียง 1.73%

ชาวนาส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 62 ปี และมีแนวโน้มไม่มีลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรกรต่อ ปัจจุบันเกษตรถึง 84 % เปลี่ยนไปทำอาชีพนอกภาคเกษตร ด้วยสาเหตุที่ว่ารายได้ไม่เพียงพอ ภาระหนี้สิน ราคาผลผลิตตกต่ำ และสุขภาพไม่เอื้ออำนวยตามลำดับ

ในส่วนของพื้นที่ ปัจจุบันเนื้อที่ 60% ของ จ.อยุธยา ยังคงเป็นที่ทำนาปลูกข้าว แต่มีแนวโน้มลดลง และชาวนาส่วนใหญ่ คือ 72% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองจึงมีการเช่าทำนามายาวนานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย

กิมอัง กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันเกษตรกร 27% มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ เกษตรกร 45% มีที่ดิน 1-4 ไร่ ส่วนเกษตรกรที่มีที่ดิน 5-9 ไร่ คิดเป็น 15% รวมแล้วเกษตรกร 87% มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และมีคนที่ต้องเช่าที่นาทำนาถึง 85% โดยเสียค่าเช่านาประมาณ 1,052 บาทต่อไร่ ซึ่งคิดเป็น 17.5% ของต้นทุนทำนาทั้งหมด 6,007 บาทต่อไร่

สำหรับเรื่องหนี้สิน เกษตรกรอยุธยากลุ่มตัวอย่างมีหนี้สินเฉลี่ย 636,387 บาทต่อครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยถึง 58% ของหนี้สินทั้งหมด


เพชรบุรี : ที่ดินปัจจัยการผลิตที่ต้องเลือกเพาะปลูก
งานศึกษา จ.เพชรบุรี ระบุข้อมูลว่า ผู้ที่มีอาชีพทำนาส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุเฉลี่ย 60 ปี และตัวเลขของคนที่ทำนาเป็นอาชีพหลักลดลงจากอดีตประมาณ 1 ใน 3 ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้เกษตรกร 89% ยังคงสืบทอดอาชีพทำนาจากรุ่นพ่อแม่ แต่อาชีพทำนาไม่ใช่อาชีพหลักของเกษตรกรส่วนใหญ่ และพื้นที่นาได้ถูกปรับขนาดให้ลดลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อตอบสนองตลาด

อีกทั้ง พบว่ารายได้ที่เป็นกำไรสุทธิจากการทำนาขายข้าวของชาวนา จ.เพชรบุรี เท่ากับ 8,220 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 7,500 บาทต่อเดือน มีส่วนต่างรายได้เพียง 720 บาท ซึ่งไม่มากนัก ตรงนี้อาจเป็นเงื่อนไขให้ชาวนานำไปเปรียบเทียบรายได้จากการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

กิมอัง ให้ข้อมูลว่า พบเกษตรกรมีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ 4% เกษตรกรมีที่ดิน 1-4 ไร่ 27% เกษตรกรมีที่ดิน 5-9 ไร่ 29% รวมแล้วเกษตรกร 60% ที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และมีคนที่ต้องเช่าที่นาทำนา 24% โดยค่าเช่านาเฉลี่ย 2,400 บาทต่อไร่ คิดเป็น 35% ของต้นทุนทำนาเฉลี่ย 6,950 บาทต่อไร่ และค่าใช่จ่ายในการลงทุนทางการเกษตรที่สูงที่สุดคือค่าเช่าที่ดิน

ส่วนหนี้สินของเกษตรกร จ.เพชรบุรี เฉลี่ย 364,787 บาทต่อราย ในจำนวนหนี้เป็นดอกเบี้ย 35% ของหนี้สินทั้งหมด


ภาวะหนี้สินชาวนาวังวนปัญหาที่ยังรอการแก้ไข
กิมอัง แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ก็ทำได้เพียงเยียวยา ไม่ได้ลงลึกถึงโครงสร้างของปัญหา ซึ่งจะช่วยเหลือและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมชาวนาได้จริง อีกทั้งยังพบปัญหาการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม การไม่ควบคุมราคาปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรม การกว้านซื้อที่ดินเพื่อปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทั้งสิ้น

กิมอังให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรรายใหญ่ที่ให้ผลผลิตสูง โดยมีการรับปากว่าจะรับซื้อผลผลิตคืน ซึ่งส่วนตัวกลัวว่าหากพันธุข่าวดังกล่าวปลูกกันอย่างแพร่หลายแล้ว เกษตรกรจะถูกผูกขาดต้องซื้อทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่บริษัทฯ เป็นผู้กำหนดราคา

“ผลผลิตเกษตรตกอยู่ในมือเขา แล้วนโยบายของรัฐสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า” กิมอังตั้งคำถาม

ส่วนเรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกร นางกิมอัง กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ยื่นคำร้อง 500,000 ราย มีหนี้สินกว่า 60,000 ล้าน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพียง 30,000 ราย คิดเป็นหนี้สิน 3,000 กว่าล้าน ซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้ปัญหาหมด

กิมอัง กล่าวด้วยว่า ทางรอดของเกษตรคือลด-เลิกการใช้สารเคมี หันมาใช้ชีวภาพ แต่ทางรอดกลับไปไม่ได้เพราะวิธีดังกล่าวต้องใช้เวลา ตราบใดที่เกษตรกรยังมีหนี้สินติดหลังอยู่คงเกิดขึ้นยาก อีกทั้งยังไม่มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของเกษตร


นักวิชาการฟันธงไม่มีวันที่ชาวนาไทยจะหมดไป
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงคำถามสำคัญสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับชาวนาที่ว่า “ชาวนาคือใคร ?” ว่า สถานะของชาวนามีความสับสนมาตั้งแต่ในอดีต โดยชาวนาถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีสถานะที่ยื่นอยู่ระหว่างกลางไม่ใช่คนรวยหรือคนจน เพราะชาวนามีปัจจัยการผลิตคือที่ดินอยู่แต่ไม่มากนัก แต่มีวิถีชีวิตแบบขึ้นๆ ลงๆ เพราะพึ่งพาดินฟ้าอากาศในการทำการเกษตร จึงต้องดิ้นรนตลอดเวลา ต่างจากโลกสมัยใหม่ ที่ชาวนากลายเป็นผู้รับจ้างทำนาหรือเป็นกรรมกรที่ใช้แรงงานโดยไม่มีที่ดิน ไม่ต้องแบกรับภาวะความเสี่ยง

ส่วนคำถามที่ว่าชาวนาจะหายไปจากสังคมหรือไม่ เพราะในอดีตมีความเชื่อว่าชาวนานั้นอยู่ในช่วงรอยต่อที่จะก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อเข้าสู่สังคมสมัยใหม่แล้วชาวนาจะถูกผลักเข้าไปเป็นกรรมกรในเมือง ก็มีข้อถกเถียงทางทางทฤษฎีว่าคนที่ทำนาอยู่ในทุกวันนี้เป็นชาวนาหรือไม่

ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันชาวนาไทยอยู่ในภาวะที่ยังมีที่ดินขนาดเล็กอยู่ แต่กำลังจะสูญเสียที่ดินไปเรื่อยๆ และมีหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า “ทำไมชาวนายังไม่ตาย” ซึ่งตรงนี้เป็นข้อค้นพบใหม่ที่ได้จากงานศึกษาวิจัยในวันนี้ นั่นคือชุดความคิดที่พูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

ในทางหนึ่งมีการค้นพบกรณีคลาสสิกในงานวิจัยชุมชนเกี่ยวกับชาวนาเสมอๆ นั่นคือ ที่ดินลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ที่ชาวนาไม่ตายเพราะความเสี่ยง เนื่องจาก

1.โลกต้องการอาหาร หากไม่มีชาวนาก็อาจยังผลิตอาหารได้ในลักษณะที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จ้างแรงงานชาวนาในการผลิต แต่ในความเป็นจริงไม่มีวันที่ชาวนาจะหมดไปโดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทย เพราะทุนขนาดใหญ่ไม่กล้าแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนผลิตเอง แต่โยนความเสี่ยงให้เกษตรแบกรับ

2. มิติทางการเมือง ทางการแรงตึงเครียดตรงนี้รัฐได้ทำหน้าที่บางประการ เพื่อให้วิกฤตดีขึ้น ภายใต้การช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะรัฐที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งทางหนึ่งเป็นเพราะต้องการได้รับการเลือกตั้ง และอีกทางหนึ่งคือต้องการลดวิกฤติ ไม่เช่นนั้นคนจะไม่มีอาหารกิน หากไม่มีการเพาะปลูก ดังนั้นหน้าที่ทางการเมืองตรงนี้จึงยังมีอยู่เสมอ

“ความแตกต่างก็คือทุกข์ของชาวนาเปลี่ยน มันมีความซับซ้อน แต่ชาวนาก็ยังดำรงอยู่ ตราบใดที่ยังมีวิกฤติของสังคมในการสะสมทุนในวันนี้ ในลักษณะพิเศษแบบนี้ คือโลกนี้ในทางหนึ่งยังจำเป็นต้องมีอาหาร และในอีกทางหนึ่งทุนใหญ่ก็ไม่อยากแบกความเสี่ยง ฉะนั้นชาวนาก็ต้องมาทำหน้าที่แบบความเสียงของทุน แล้วก็ต้องเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงโลก แต่การพูดแบบนี้ก็ต้องเอาทุกข์ชาวนาเป็นที่ตั้งด้วย”


มองทิศทางการต่อสู้ของชาวนา ยังคงต้องต่อรองกันไปเรื่อยๆ
ผศ.ดร.พิชญ์ ยังกล่าวแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า เรื่องความมั่นคงทางอาหารดีในทางหนึ่งคือทำให้คนชั้นกลางในเมืองได้เข้าใจว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นมาจากไหน ความมั่นคงทางอาหารในขั้นลึกคือชาวนาต้องสามารถที่จะยืนอยู่ได้จึงจะผลิตออาหารที่มั่นคงให้ชนชั้นกลางได้ แต่ในอีกทางหนึ่งข้อเสนอนี้เป็นแนวความคิดที่เห็นแก่ตัว เพราะสุดท้ายไม่ได้เอาทุกข์ชาวนาเป็นที่ตั้ง แต่เอาทุกข์ระยะสั้นของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง

อีกประเด็นใหม่ที่พบในงานวิจัยคือโครงสร้างอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ไม่ใหม่คือชาวนาออกจากภาคเกษตรไปทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามักตอบว่าเป็นเพราะไม่พอกิน หากมองในระดับทฤษฎีนักวิชาการจะบอกว่าเหตุผลที่สำคัญเป็นเพราะวิธีการผลิตข้าวในปัจจุบันนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเพียงพอ แต่กลับไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในระดับตัวชาวนาเองและกลุ่มทุนก็ไม่เห็นความสำคัญ ชาวนาจึงต้องดิ้นรนไปทำอย่างอื่น

ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวด้วยว่า จากงานวิจัยพบว่ามีองค์กรใหม่ๆ ที่การเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจำนวนมากทั้งของรัฐเอง และการรวมตัวของชาวนา แต่ลักษณะการประเมินผลอาจกระจุกอยู่เฉพาะเรื่องการเจรจาต่อรองเรื่องหนี้สิน ทั้งที่ภาพใหญ่ในวันนี้ ในงานวิจัยหลายๆ ชุดพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องชาวนาเข้ากับมิติทางการเมืองในระดับชาติด้วย

ยกตัวอย่างงานวิจัยของนักวิชาการอินเดีย ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนาข้อหนึ่ง จากอดีตที่เรานิยามสังคมชาวนาว่าเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษ มีชุดทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง เป็นสังคมช่วงรอยต่อจากเก่าสู่ใหม่ แล้วมักจะต้องรวมตัวกันต่อสู้กับโลกภายนอกที่เข้ามากดขี่ขูดรีดชาวนาโดยเฉพาะรัฐ แต่ในวันนี้นักวิจัยในอินเดียค้นพบว่า โครงสร้างของรัฐ โครงการต่างๆ มันแทรกซึมลงไปในชีวิตของหมู่บ้านหมดแล้ว ชาวนาไม่ได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของภายนอกที่จะเข้ามาทำลายสังคมชาวนาให้กระจัดกระจายอีกต่อไป และชาวนาก็มีความสามารถในการต่อรองในโครงการต่างๆ สูง

“คือมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวนา เพราะฉะนั้นชาวนาก็ไม่ได้ปฏิเสธรัฐ หรือถูกรัฐครอบงำอย่างสมบูรณ์ แต่มันเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งมันต่างจากเดิมที่เรามองว่าชาวนาจะถูกดกขี่โดยรัฐอย่างสมบูรณ์” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว และว่าชีวิตชาวนาเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องเนื่องจากชาวนามีหลายสถานภาพ ดังนั้นการพูดถึงหนี้สินชาวนาในงานวิจัยยังจำเพาะอยู่ในเรื่องเดียวไม่ได้เชื่อมกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นความอยู่รอดของสังคมชาวนา

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ยังตั้งคำถามด้วยว่า ทิศทางการต่อสู้ของชาวนาจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นทิศทางการตั้งรับและประนีประนอมหนี้ ซึ่งจะยังไม่นำไปสู่การระเบิดออกมา เพราะสุดท้ายทุกคนยังคงต้องพึ่งพากันอยู่ ทุนนิยมต้องการชาวนา รัฐก็ต้องการชาวนาเป็นฐานคะแนนเสียง ชาวนาก็ต้องการคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้นความเชื่อแบบโบราณที่นำไปสู่การศึกษาเรื่องสังคมชาวนา ที่เชื่อว่าชาวนานั้นจะเป็นปัจจัยในการปฏิวัติสังคมคงไม่จริง วันนี้ก็คงต้องเจรจาต่อรองกันไปเรื่อยๆ

“ชาวนาไม่มีวันตาย แต่ทุกวันชาวนาก็เหมือนตายอยู่อย่างนี้ นี่คือลักษณะปกติของความเป็นชาวนาในทฤษฎี เพราะชาวนาจะมีอาการปริ่มน้ำตลอดเวลา” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย

----------------------------------------------------------------------

ดาวน์โหลดงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.landactionthai.org :
- “ภาวะหนี้สินเกษตรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” กรณีศึกษา สค.ปท. จ.พระนครศรีอยุธยา โดย อารีวรรณ คูสันเทียะ นักวิจัยพื้นที่ จ.อยุธยา

- “ภาวะหนี้สินเกษตรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” กรณีศึกษา สค.ปท. จ.เพชรบุรี โดย เมธี สิงห์สู่ถ้ำ นักวิจัยพื้นที่ จ.เพชรบุรี

- “การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย กับนัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” กรณีศึกษา องค์กรชุมชนบ้านไร่เหนือ คปบ. จ.ตรัง โดย กฤษดา ขุนณรงค์ นักวิจัยพื้นที่ จ.ตรัง

- “นัยยะความมั่นคงทางอาหารในกระแสความเปราะบางของสังคมผู้ผลิต” โดย ปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิจัยประจำโครงการสิทธิชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร

http://www.prachatai.com/journal/2013/08/48247



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©