-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบปัญหารายการวิทยุ 30 NOV *จบ ม.6 ไม่ต่อ ป. ขอทำนาใช้หนี้
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ถาม-ตอบ ปัญหาทางวิทยุ 1 DEC.. *เปิดตาดอกไม้ผล, ด้วงงวงมะพร้าว
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ถาม-ตอบ ปัญหาทางวิทยุ 1 DEC.. *เปิดตาดอกไม้ผล, ด้วงงวงมะพร้าว

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 01/12/2015 4:58 pm    ชื่อกระทู้: ถาม-ตอบ ปัญหาทางวิทยุ 1 DEC.. *เปิดตาดอกไม้ผล, ด้วงงวงมะพร้า ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทางรายการวิทยุ 01 DEC

AM 594 เวลา 06.30-07.00 (ทุกวัน) และ 08.10-09.00 (จันทร์-ศุกร์)

********************************************************************

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ
กองทัพบกเพื่อประชาชน เสนอรายการสีสันชีวิตไทย วิทยุเพื่อการเกษตร และอาชีพเสริม
ผลิตรายการโดยกองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก

@@ สนับสนุนรายการโดย ...

* บ.นิมุติ เอ็นจิเนียริ่ง เครื่องย่อยเศษพืช (02) 322-9175-6

http://kasate.site88.net/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=1
* ยิบซั่มธรรมชาติ เฟอร์มิกซ์, ธันเดอร์พลัส, ธาตุรอง/ธาตุเสริม มัลติแชมป์ (089) 144-1112

http://www.mysuccessagro.com
* บ.มายซัคเซส อะโกร---ปุ๋ยอินทรีย์ ตราคนกับควาย, กาวเหนียวดักแมลง มายฟิกส์, กลิ่นล่อแมลงวันทอง ฟลายแอต,
สารเสริมฤทธิ์สารสมุนไพร ไบโอเจ๊ต, ถังฉีดพ่นรุ่นใหม่ ใช้แบตเตอรี่ (081) 910-5034

กระผม พันโทวีระ ใจหนักแน่น (คิม ซา กัสส์) เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
เช่นเคยครับ รายการเรา 1188 ฝากข้อความ-ฝากคำถาม ที่ (081) 913-4986

----------------------------------------------------------------------------------------------

ตัวแทนจำหน่าย ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง, ไบโออิ, ไทเป, ยูเรก้า. (อินทรีย์ – เคมี)

1) ชมรม (ใหญ่) สีสันชีวิตไทย (089) 814-3204 ใกล้ไฟแดง สี่แยกบางแพ ราชบุรี
2) “คุณชาตรี” (081) 841-9874 ทรัพย์ทวีการเกษตร ชัฎป่าหวาย สวนผึ้ง ราชบุรี (ส่งทาง ปณ.)

3) ร.ต.ต.นันท์สุรัตน์ (089) 821-8273 ต.จรเข้เผือก ด่านมะขามเตี้ย กาญจนบุรี (ส่งทาง ปณ.)
4) “คุณล่า” (081) 944-8494 ทุกวันจันทร์ ตลาดนัดวัดอมรญาติ ดำเนินสดวก ราชบุรี

5) “คุณประเสริฐ” (080) 110-4645 บ.เขาดิน หนองแขม เดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี
6) “คุณพรพรรณ” (089) 814-7944 พลชัยเกษตรชีวภาพ ตลาดนัดธนบุรี ถ.เลียบคลองทวีวัฒนา
7) “คุณน้ำส้ม” (085) 055-7706 ชมรมฯ สาขาศาลายา หน้า ม.มหิดล พุทธมณฑลสาย 4 (ส่งทาง ปณ.)

----------------------------------------------------------------------------------------

@@ สารอาหาร (ปุ๋ย) เพื่อการสื่อสาร :

** ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง : ส่วนผสมหลัก .... อินทรีย์/เคมี (กุ้งหอยปูปลาทะเล, เลือด,
ไขกระดูก, นม, ขี้ค้างคาว, น้ำมะพร้าว, ธาตุหลักตามพืช, แม็กเนเซียม. สังกะสี. รอง/เสริม

** ไบโออิ : ส่วนผสมหลัก .... เคมี (แม็กเนเซียม. สังกะสี. รอง/เสริม)
** ยูเรก้า : ส่วนผสมหลัก .... เคมี (21-7-14, ไคโตซาน, อะมิโนโปรตีน)
** ไทเป : ส่วนผสมหลัก ..... อินทรีย์/เคมี (นม, ไข่, น้ำมะพร้าว, 13-0-46. 0-52-34)


มิได้มีเจตนาโฆษณาผลิตภัณฑ์ แต่ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เพื่อง่ายต่อการสื่อสารข้อมูล เท่านั้น
.... ต้นพืชไม่รู้จักยี่ห้อ ไม่รู้จักเจ้าของสูตร .....
...... ไม่รู้เจ้าของคนปลูก ไม่ฟังโฆษณา .......
...... ต้นพืชรู้จักแต่ส่วนผสมหรือเนื้อใน .......

-----------------------------------------------------------




สายตรง : (080) 098-xx
ปัญหา : เปิดตาดอกมะยงชิด
ตอบ :
* เป็นไม้ผลประเภทกระทบอากาศหนาวแล้วออกดอกดี ดังนั้น จึงควรเปิดตาดอกด้วย 13-0-46 (โปแตสเซียม ไนเตรท) ที่ชาวสวนลำไยภาคเหนือเรียกว่า “ปุ๋ยหนาว” เพราะฉีดพ่นแล้วใบเย็นทั้งต้น เป็นหลัก แล้วเสริมด้วย 0-52-34, ฮอร์โมนไข่, และสาหร่ายทะเล

* นิสัยออกดอกแบบทยอย บางต้นออกดอกเป็นชุดถึง 3 ชุด เริ่มออกชุดแรกเดือน ธ.ค. ไปจนถึงชุดสุดท้ายเดือน ก.พ. โดยต้นสมบูรณ์ดีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากเปิดตาดอกแล้วดอกชุดแรกจะออกมาจำนวนมาก แล้วดอกชุดหลังจะเริ่มลดน้อยลงหรือให้ดอกดก 1 ชุดกับดอกน้อย 2 ชุด

* โดยนิสัย มะปราง. ออกดอกง่ายกว่ามะยง. ภายใต้สภาวะปัจจัยพื้นฐานเดียวกัน
* บำรุงสะสมตาดอกด้วย 0-39-39 กระทั้งต้นเกิดอาการอั้นตาดอกดีแล้วงดน้ำ เมื่อใบสลดแล้วระดมให้น้ำ ถ้าอุณหภูมิต่ำติดต่อกัน 5-7 วัน ก็สามารถออกดอกได้โดยไม่ต้องเปิดตาดอก ทั้งนี้ ก่อนบำรุงสะสมตาดอกต้นต้องสะสมความสมบูรณ์สูง

* เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมตัวเอง หรือต่างดอกในต้นเดียวกันหรือต่างต้นได้
* เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) ผสมกัน เมื่อพัฒนาเป็นผลแล้วจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว

5.เปิดตาดอก
ทางใบ :

- ให้น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ 0-52-34 (500 กรัม) + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :

- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น
- ให้น้ำพอหน้าดินชื้นหรือพอให้ต้นรู้สึกตัว
หมายเหตุ :

- เริ่มปฏิบัติเมื่อต้นมีอาการอั้นตาดอกทั่วทั้งต้น หรือทุกจุดที่สามารถออกดอกได้
- ในฮอร์โมนไข่มี 0-52-34 แล้วส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนผสมปกติ แต่เนื่องจาก มะยง-มะปราง ต้องการธาตุอาหารตัวนี้ในอัตราเข้มข้นขึ้นในการเปิดตาดอก จึงแนะนำให้ใส่เพิ่ม 500 กรัม

- อาจจะพิจารณาใส่ 8-24-24 (100-200 กรัม) /ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.อีก 1 รอบก็ได้ ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นพอหน้าดินชื้น เพื่อเสริมของเก่าที่ใส่เมื่อช่วงสะสมอาหารและช่วงที่ปรับ ซี/เอ็น เรโช.

- เริ่มลงมือเปิดตาดอกหลังจากต้นได้กระทบอากาศหนาว 20-25 องศา 5-7 วันติดต่อกัน (ช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช) จะช่วยให้ออกดอกดีกว่าอุณหภูมิสูง

- นิสัย มะปราง-มะยง จะออกดอกแบบทยอยออก 3 รุ่น ห่างกันรุ่นละ 10-15 วัน หลังจากดอกรุ่นแรกออกมาแล้ว ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ด้วยสูตรเดิม หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ

ประสบการณ์ตรง :

มะยง-มะปราง ที่ได้ผ่านการบำรุงด้วย "แม็กเนเซียม. สังกะสี. และแคลเซียม." อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ช่วงเรียกใบอ่อน เมื่อถึงช่วงสะสมตาดอกให้บำรุงด้วย 0-39-39 + ธาตุรอง/ธาตุเสริม ทั้งทางใบและทางราก กระทั่งอุณหภูมิเริ่มเย็นลง (หนาว) ก็ให้ "งดน้ำ” จากนั้นประมาณ 10-15 วัน ให้สังเกตตุ่มตาที่โคนใบ ถ้าเป็นตุ่มตาดอกก็ให้ "ระดมให้น้ำ" ปกติ ไม่นาน มะปราง-มะยง ก็จะออกดอกได้ ทั้งๆที่ไม่ต้อง "เปิดตาดอก" หรืออาจจะเผื่อกันพลาดก็ให้เปิดตาดอกด้วยสูตรเปิดตาดอกเจือจาง 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก็ได้ .... ในต้นที่มีตุ่มตาทั้ง 2 แบบ ให้พิจารณาเทคนิค "ระดมให้น้ำทางราก" ร่วมกับ "เปิดตาดอกทางใบ” โดยให้ปุ๋ยเปิดตาดอกทางใบแบบ "เจือจาง" 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ก็ได้

http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=75&page=2
-----------------------------------------------------------------------

สายตรง :
(080) 098-xx
ปัญหา : เปิดตาดอกลำไย
ตอบ :
3.สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
ทางใบ :

- ให้ น้ำ 100 ล.+ 0-42-56 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 5-7 วัน ติดต่อกัน 2-3 รอบฉีดพ่นพอเปียกใบ ติดต่อกัน 1-2 เดือน จะช่วยให้ต้นสมบูรณ์เต็มที่
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ + 8-24-24 หรือ 9-26-26 (1-2 กก.) /ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. /เดือน
- ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติหลังจากใบอ่อนชุดสุดท้ายเพสลาด
- แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุด ควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2 เดือน โดยให้กลูโคสรอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุง และให้รอบสองห่างจากรอบแรก 20-30 วัน

- ไม้ผลที่ผ่านการบำรุงมาอย่างดีแล้วต้องกระทบหนาวจึงออกดอกดีนั้น ช่วงขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอก ถ้ามีการให้ “กลูโคส + 0-52-34 หรือ 0-42-56 + สังกะสี” ฉีดพ่นพอเปียกใบ ช่วงเช้าแดดจัด 1-2 รอบ ให้รอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอก จากนั้น อีก 20 วัน ให้อีกเป็นรอบ 2 ก็จะช่วยให้ต้นเกิดอาการอั้นตาดอกและส่งผลให้เปิดตาดอกแล้วมีดอกออกมาดีอีกด้วย

- วัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นได้สะสมสารอาหารทั้งกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล (ซี.) และกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้นไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกระทั่งเกิดอาการอั้นตาดอก ไม่มีการแตกใบอ่อนออกมาอีก ถ้าต้นแตกใบอ่อนออกมาใหม่ก็จะต้องย้อนกลับไปบำรุงที่ขั้นตอนเร่งใบอ่อนให้เป็นใบแก่อีกครั้งซึ่งทำให้เสียเวลา

- ปริมาณ 8-24-24 หรือ 9-26-26 ใส่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผลในรุ่นที่ผ่านมา กล่าวคือ ถ้ารุ่นที่ผ่านมาติดผลดกมาก ผลผลิตมีคุณภาพดีมาก ให้ใส่ในปริมาณที่มากขึ้น แต่ถ้ารุ่นที่ผ่านมาติดผลดกน้อยหรือไม่ติดผลเลย ให้ใส่ในปริมาณปานกลาง

- การเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้น หมายถึง การให้อัตราเดิมแต่ระยะเวลาให้ถี่ขึ้น เช่น จากเคยให้ 15 วัน/ครั้ง ก็ให้เปลี่ยนเป็น 10 วัน/ครั้ง

- ขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอก (สะสมทั้ง ซี. และ เอ็น.) นี้มีผลอย่างมากต่อการออกดอกในช่วงเปิดตาดอก ถ้ามีฝนตกให้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีกแม้ว่าจะได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกมากจนพอใจแล้วพร้อมกับให้ชะลอการเข้าสู่ขั้นตอนปรับ ซี/เอ็น เรโช. ไว้ก่อน การให้สารอาหารเพื่อการออกดอกในช่วงที่มีฝนตกนี้จะต้องให้ถี่ขึ้นเพื่อยับยั้งการแตกใบอ่อน หรือ “กดใบอ่อนสู้ฝน” ให้ได้ .... มาตรการให้สารอาหารถี่ขึ้นนี้อาจจะทำให้ใบกร้าน ปลายใบไหม้ แต่จะไม่ส่งผลเสียต่อการสะสมอาหารเพื่อการออกดอก ในทางตรงกันข้ามที่ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้ในต้นได้มากขึ้น หลังจากหมดฝนแล้วจึงลงมืองดน้ำ ปรับ ซี/เอ็น เรโช. จากนั้นเมื่อเปิดตาดอกๆจะออกมาดี

- การบำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อลำไยสายพันธุ์ที่มีนิสัยออกดอกยากหรือออกปีเว้นปีมีความสำคัญมากซึ่งนอกจากต้องกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอแล้ว ปริมาณและชนิดของสารอาหารที่ต้นต้องการทั้งทางใบและทางรากจะต้องให้มีสะสมในต้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะต้นที่ได้รับการบำรุงแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องมาหลายๆปีย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

- ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงขั้นต่อไป คือ ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ให้ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นหรือไม่ ถ้าใบอ่อนออกมาพร้อมกันดีทั่วทั้งต้นให้ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ต่อไปได้เลย แต่ถ้าใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นและค่อนข้างต่างรุ่นกันมากก็ให้บำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีก 2-3 รอบ เพื่อรอให้ใบอ่อนชุดหลังสะสมอาหารจนอั้นตาดอกดีเท่ากับใบอ่อนชุดแรกจากนั้นจึงลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช. ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้นนั่นเอง

4.ปรับ ซี/เอ็น เรโช
ทางใบ :

- ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56 (200 กรัม) + ธาตุรอ/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ฉีดพ่นพอเปียกใบ ระวังอย่าให้โชกจนตกลงถึงพื้น จนกระทั่งต้นเริ่มเกิดอาการใบสลดหรืออั้นตาดอกดี
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- เปิดหน้าดินโคนต้นโดยการนำอินทรีย์วัตถุคลุมโคนต้นออกให้แดดส่องได้ทั่วพื้นดินทรงพุ่ม
- งดให้น้ำเด็ดขาด กรณีสวนยกร่องน้ำหล่อจะต้องสูบน้ำออกให้หมด
หมายเหตุ :
- วัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่ม” ปริมาณ ซี. (อาหารกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล) แล “ลด” ปริมาณ เอ็น. (อาหารกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้น) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นออกดอกหลังการเปิดตาดอก

- ต้นที่มีอาการอั้นตาดอกดีจนพอใจแล้วไม่ต้องฉีดพ่นกลูโคสเพิ่มอีก แต่ถ้าต้นมีอาการอั้นตาดอกไม่ดีหรือยังไม่น่าพอใจ แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสทางใบอีกซ้ำอีก 1 รอบ โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างจากที่เคยให้เมื่อช่วงสะสมอาหารไม่น้อยกว่า 30-45 วัน

- ก่อนลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช จะต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศให้มั่นใจว่าระหว่างปรับ ซี/เอ็น เรโช จะไม่มีฝนตก เพราะถ้ามีฝนตกลงมา มาตรการงดน้ำก็ต้องล้มเหลว

- ขั้นตอนการปรับอัตราส่วน ซี/เอ็น เรโช. สมบูรณ์หรือไม่ ให้สังเกตจากต้น ถ้าต้นเกิดอาการใบสลดแสดงว่าในต้นมีปริมาณ ซี.มาก ส่วนปริมาณ เอ็น.เริ่มลดลง และความพร้อมของต้น (อั้นตาดอก) ก่อนเปิดตาดอก สังเกตได้จากลักษณะใบใหญ่หนาเขียวเข้ม กิ่งช่วงปลายและใบกรอบเปราะ ข้อใบสั้น หูใบอวบอ้วน ตาดอกนูนเห็นชัด ปลายยอดส่วนที่เรียกว่า “เดือยไก่” แข็ง ทดลองแทงท้องแขนแล้วรู้สึกเจ็บแต่ถ้าทดลองแทงท้องแล้วไม่รู้สึกเจ็บและเดือยไก่อ่อนลู่ตามก็แสดงว่าอาการอั้นตาดอกยังไม่ดี กรณีที่ต้นอั้นตาดอกไม่ดีจริงเมื่อเปิดตาดอกจะออกมาเป็นใบแทน

- การให้สารอาหารทางใบซึ่งมีน้ำเป็นส่วนผสม ระวังอย่าให้โชกจนตกลงถึงพื้น เพราะจะกลายเป็นการให้น้ำทางราก แนวทางปฏิบัติ คือ ให้บางๆเพียงเปียกใบเท่านั้น

- เมื่องดน้ำ (ไม่รดน้ำ) แล้วต้องควบคุมปริมาณน้ำใต้ดินโคนต้นไม่ให้มากเกินไปโดยการทำร่องระบายน้ำใต้ดินหรือร่องสะเด็ดน้ำด้วย

- กรณีสวนยกร่องน้ำหล่อต้องใช้ระยะเวลาในการงดน้ำนานกว่าสวนพื้นราบยกร่องแห้งจึงจะทำให้ใบสลดได้ อาจส่งผลให้แผนการผลิตที่กำหนดไว้คลาดเคลื่อน ดังนี้จึงจำเป็นต้องสูบน้ำออกตั้งแต่ก่อนปรับ ซี/เอ็น เรโช โดยกะระยะเวลาให้ดินโคนต้นแห้งถึงขนาดหน้าดินแตกระแหง และมีความชื้นไม่เกิน 10% ตรงกับช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช พอดี

- มาตรการเสริมด้วยการ “รมควัน” ทรงพุ่ม ช่วงหลังค่ำ ครั้งละ 10-15 นาที 3-5 รอบ ห่างกันรอบละ 2-3 วัน จะช่วยให้การปรับ ซี/เอ็น เรโช สำเร็จเร็วขึ้น

5. เปิดตาดอก
ทางใบ :
สูตร 1....
น้ำ 100 ล.+ 13-0-46 (1 กก.) + 0-52-34 (500 กรัม) + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.

สูตร 2...
น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 200 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 กรัม
ทางราก :
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้นเหมือนช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช
- ใส่ปุ๋ยทางรากสูตร 8-24-24 หรือ 9-26-26 (1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- ให้น้ำพอหน้าดินชื้น ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติเมื่อต้นมีอาการอั้นตาดอกดีทั่วต้นและสภาพอากาศพร้อม
- ใช้สูตร 1- 2 สลับกัน ห่างกันครั้งละ 5-7 วัน
- ชาวสวนลำไยภาคเหนือนิยมเปิดตาดอกด้วย 13-0-46 บอกว่าเป็น “ปุ๋ยเย็น” เพราะปุ๋ยตัวนี้เมื่อผสมน้ำและฉีดพ่นไปแล้วจะเย็นจัด ส่งผลให้ลำไยได้รับอุณหภูมิต่ำเหมือนฤดูหนาวนั่นเอง

- การใช้สาหร่ายทะเลร่วมในการเปิดตาดอกจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อต้นเกิดอาการอั้นตาดอกเต็มที่ ถ้าต้นอั้นตาดอกไม่เต็มที่ต้นจะแตกใบอ่อนแทน

- หลังจากเปิดตาดอกแล้ว ถ้าดอกออกมาไม่มากพอ สาเหตุมาจากตั้งแต่ช่วงเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้น ระหว่างที่ดอกชุดแรกยังเป็นดอกตูมอยู่นั้น ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2 รอบด้วยสูตรเดิมหรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ

http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=98&page=2
-----------------------------------------------------------------

สายตรง :
(090) 187-02xx
ปัญหา : เปิดตาดอกมังคุด
ตอบ :
* ต้นที่มีความสมบูรณ์เป็นทุนเดิมหรือได้รับการบำรุงภายหลังอย่างถูกต้อง หลังจากเปิดตาดอกจนดอกชุดแรกออกมาแล้วจะมีทั้งดอกและใบอ่อนชุดหลังทยอยออกตามมาอีก กลายเป็นผลและใบหลายชุดในต้นเดียวกัน กรณีนี้แก้ไขด้วยการให้ 0-42-56 + ธาตุรอง/ธาตุเสริม โดยฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้น ทุกครั้งที่มีดอกและใบอ่อนออกมา (ประมาณ 2-3 รอบ) หรือให้จนกว่าต้นจะยุติการออกดอกชุดใหม่ ทั้งนี้การแตกใบอ่อนของมังคุดจะไม่ทิ้งดอกหรือผลเล็ก ....สารอาหารชุดนี้นอกจากช่วยบำรุงดอกและกดใบอ่อนชุดใหม่ไม่ให้ออกแล้ว ยังเร่งใบอ่อนชุดที่ออกมาก่อนให้แก่เร็วขึ้นอีกด้วย

* ช่วงที่ดอกออกมาใหม่ๆ ถึงระยะหลังผสมติด สังเกตกลีบหุ้มหรือกลีบเลี้ยงที่ขั้วดอกหรือผล ถ้ากลีบหุ้มเหนือดอกเป็นสีเขียวเข้ม หนา ใหญ่ แสดงว่าดอกมีความสมบูรณ์สูง ดอกลักษณะนี้เมื่อพัฒนาเป็นผลก็จะเป็นผลที่คุณภาพดี ความสมบูรณ์ของดอกมาจากความสมบูรณ์ของต้น และความสมบูรณ์ของต้นมาจากความสมบูรณ์ของดินและสารอาหารพอเพียงถูกต้อง

เทคนิคการบำรุงด้วย "ฮอร์โมนน้ำดำ" ซึ่งมีแม็กเนเซียม. กับสังกะสี. เป็นส่วนประกอบหลัก ธาตุอาหาร 2 ตัวนี้จะช่วยบำรุงต้นให้สมบูรณ์อยู่เสมอ

* มังคุดอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติอย่างมาก กล่าวคือ ถ้าสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะความชื้นไม่เหมาะสมจะให้ผลผลิตไม่ดี ดอกร่วง ผลเล็ก ผลไม่ดก บางครั้งออกดอกติดผลปีเว้นปีหรือเว้น 2 ปี แต่ถ้ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมดี ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ก็พร้อมที่จะออกดอกติดผลทุกปีได้

* สรุประยะเวลาในการปฏิบัติบำรุงต่อมังคุดให้ได้ผลผลิตที่ดีในแต่ละรอบปีการผลิต ดังนี้
ส.ค. – ก.ย. .......... แตกใบอ่อน
ต.ค. – พ.ย. .......... สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
ธ.ค. ................... เปิดตาดอก
ม.ค. – มี.ค. .......... บำรุงผล
เม.ย. – พ.ค. ......... เก็บเกี่ยว (ได้ผลผลิตคุณภาพดี)
มิ.ย. – ก.ค. .......... เก็บเกี่ยว (ได้ผลผลิตคุณภาพไม่ดี)

* สรุปการปฏิบัติและการแก้ไขกรณีที่มังคุดออกดอกและไม่ออกดอก ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกของมังคุด คือ ความสมบูรณ์ของต้นและอายุใบตั้งแต่ใบอ่อนถึงใบแก่ไม่น้อยกว่า 9-12 สัปดาห์ ช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช. ตรงกับสภาพอากาศ (แล้ง) เหมาะสมติดต่อกันอย่างน้อย 20-30 วัน และให้น้ำเพื่อกระตุ้นตาดอกอย่างถูกวิธี ดังนี้

1. เมื่อสิ้นฤดูฝน ต้นมีความสมบูรณ์ อายุใบ 9-12 สัปดาห์และสภาพอากาศแล้ง ให้งดน้ำประมาณ 20-30 วัน จนต้นมีอาการใบสลดและปลายกิ่งเหี่ยว แล้วให้น้ำรอบแรกเต็มที่ปริมาณ 400-600 ล./ต้นทรงพุ่ม 5-6 ม. เมื่อต้นได้รับน้ำจะสดชื่นอย่างเดิม พร้อมกับตาดอกภายในเริ่มพัฒนาพร้อมที่จะแทงออกมา หลังจากต้นฟื้นสดชื่นขึ้นมาแล้วรอสังเกตอาการ 7-10 วัน ถ้าก้านใบและกิ่งปลายยอดเริ่มเต่งขึ้นก็ให้น้ำรอบสองปริมาณครึ่งหนึ่งของรอบแรก ให้น้ำรอบสองไปแล้วประมาณ 10-24 วันจะเริ่มมีตาดอกผลิออกมาให้เห็น

2. เมื่อสิ้นฤดูฝน ต้นมีความสมบูรณ์ อายุใบ 9-12 สัปดาห์และพร้อมที่จะออกดอกแล้ว แต่สภาพอากาศมีฝนชุก ให้ฉีดพ่น “น้ำ 100 ล.+ 13-0-46 (1 กก.) + สาหร่ายทะเล 200 ซีซี.” หลังจากนั้น 10-20 วันเริ่มให้น้ำรอบแรกเต็มที่ ต้นมังคุดก็จะแทงดอกออกมา

3. สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
ทางใบ :

- ให้น้ำ 100 ล. + 0-42-56 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 5-7 วัน ติดต่อกัน 2-3 รอบ ติดต่อกัน 1-2 เดือน ฉีดพ่นพอเปียกใบ จะช่วยให้ต้นสมบูรณ์เต็มที่
ทางราก :
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ + 8-24-24 (1-2 กก.) /ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. /เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติเมื่อใบชุด 2 เพสลาด
- บำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเท่าที่จะมากได้โดยใช้ระยะเวลาบำรุง 2-2 เดือนครึ่ง .... การให้กลูโคสเสริม โดยให้รอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุง และให้รอบสองห่างจากรอบแรก 20-30 วัน จะช่วยให้การสะสมอาหารเพื่อการออกดอกดีขึ้น

- ช่วงหน้าฝน แนะนำให้บำรุงทางใบด้วยสูตรสะสมอาหารปกติโดยให้ก่อนฝนตก 1 ชม. หรือให้ทันทีหลังฝนหยุดใบแห้ง ให้บ่อยๆได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งหรือช่วงระยะเวลาให้

- เพื่อให้ต้นได้มีการสะสมอาหารเพื่อการออดอกมากยิ่งขึ้น ให้ใส่มูลค้างคาว 100-200 กรัม/ต้นทรงพุ่ม 5 ม. ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นบริเวณชายพุ่มจะเป็นการดียิ่งขึ้น .... ใช้มูลค้างคาวด้วยความระมัดระวังเพราะในมูลค้างคาวมีสารอาหารสร้างเมล็ด อาจมีผลกระทบช่วงบำรุงผลกลาง (หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ) ได้

- เพื่อให้ต้นได้สะสมอาหารเต็มที่ทันต่อการปรับ ซี/เอ็น เรโช. ในเดือน ต.ค. อาจจะพิจารณาให้ทางใบถี่ขึ้นจาก 5-7 วันเป็น 3-5 วันก็ได้ แต่กลูโคสยังให้ 2 ครั้งเท่าเดิม

- ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงขั้นต่อไป คือ ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ให้ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นหรือไม่ ถ้าใบอ่อนออกมาพร้อมกันดีทั่วทั้งต้นให้ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ต่อไปได้เลย แต่ถ้าใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นและค่อนข้างต่างรุ่นกันมากก็ให้บำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีก 2-3 รอบ เพื่อรอให้ใบอ่อนชุดหลังสะสมอาหารจนอั้นตาดอกดีเท่ากับใบอ่อนชุดแรกจากนั้นจึงลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช. ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้นนั่นเอง

- ถ้ามังคุดออกดอกยาก จะด้วยเหตุผลทางสายพันธุ์ (พันธุ์หนัก) หรือสภาพอากาศ (อุณหภูมิ) ไม่อำนวยก็สุดแท้ .... ให้สะสมตาดอกด้วย 13-0-46 + 0-52-35 อัตราส่วน 1 : 3 แล้วเปิดตาดอกด้วย 13-0-46 + 0-52-34 อัตราส่วน 3 : 1

4. ปรับ ซี/เอ็น เรโช
ทางใบ :

- ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56(200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ ระวังอย่าให้ลงพื้น
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
งดน้ำ เปิดหน้าดินโคนต้น
หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติเมื่อใบอ่อนชุดสุดที่สองแก่จัด
- ก่อนเริ่มลงมือปฏิบัติจะต้องตรวจสอบข่าวสภาพอากาศให้รู้แน่ว่าช่วง 20-30 วันข้างหน้าจะมีฝนหรือไม่ จากนั้นจึงเริ่มงดน้ำหรือเลื่อนการปรับ ซี/เอ็น เรโช.ออกไป

- สภาพอากาศมีผลต่อการปรับ ซี/เอ็น เรโช.อย่างมาก กล่าวคือ สภาพอากาศต้องเปิด (แล้งหรือไม่มีฝน) หากสภาพอากาศปิด (ครึ้มฟ้าครึ้มฝนหรือฝนตก) จะทำให้เกิดความล้มเหลวจนใบไม่สลดหรือใบสลดก็เปิดตาดอกไม่ออก

- ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการปรับ ซี/เอ็น เรโช. หรืองดน้ำสำหรับต้นที่ผ่านการสะสมอาหารเพื่อการออกดอกมาแล้วอย่างสมบูรณ์แบบควรอยู่ระหว่าง 20-30 วัน

- ช่วงที่ ซี/เอ็น เรโช. แม้สภาพอากาศจะเอื้ออำนวยจนสามารถทำให้ใบสลดได้ภายในกำหนด แต่ถ้าสภาพต้นที่ไม่สมบูรณ์จริงจะเปิดตาดอกไม่ออก

- งดน้ำจนต้นเกิดอาการใบสลด จากนั้นจึงลงมือระดมให้น้ำพร้อมกับเริ่มเปิดตาดอกได้ ซึ่งหลังจากระดมให้น้ำแล้วถ้าต้นมีความสนมบูรณ์สูงจะแตกใบอ่อนพร้อมกับมีดอกตามออกมาด้วย .... ถ้างดน้ำจนใบสลดแล้วระดมให้น้ำพร้อมกับเปิดตาดอก ภายใน 1-2 อาทิตย์ ปรากฏว่าดอกไม่ออก ให้เริ่มงดน้ำใหม่เป็นรอบที่สอง งดน้ำจนกว่าใบจะสลดเหมือนครั้งแรก เมื่อใบสลดแล้วก็ให้ระดมให้น้ำพร้อมกับเปิดตาดอกอีกครั้ง คราวนี้ถ้าต้นมีความสมบูรณ์ ต้นก็จะแตกใบอ่อนพร้อมกับมีดอกออกมาด้วย .... ช่วงระหว่างงดน้ำ ทั้งครั้งแรกและครั้งที่สอง ควรมีการให้อาหารกลุ่ม ซี.ทางใบสม่ำเสมอ ให้พอสัมผัสใบ ไม่ควรให้จนโชกลงถึงพื้นดินเพราะจะกลายเป็นการให้น้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มาตรการงดน้ำไม่ได้ผล

5. เปิดตาดอก
ทางใบ :

- ให้น้ำ 100 ล.+ 13-0-46 (500 กรัม) + 0-52-34 (100 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. หรือฮอร์โมนไข่ 250 ซีซี. (สูตรใดสูตรหนึ่ง) หรือใช้ทั้ง 2 สูตรสลับกัน) ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรช่วงค่ำ ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 8-24-24 (½ กก.) /ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น
- ให้น้ำพอหน้าดินชื้น
หมายเหตุ :
- ในกรณีงดน้ำจนต้นใบสลดแล้วเปิดตาดอกไม่ออก ซึ่งเป็นผลมาจากความสมบูรณ์ของต้นไม่เพียงพอนั้น แก้ไขโดยการระดมให้ “น้ำ + ปุ๋ย” ทางราก และให้ “ธาตุรอง/ธาตุเสริม” ทางใบ ต่ออีก 3-4 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน โดยไม่ต้องเรียกใบอ่อนชุดใหม่ จากนั้นให้สำรวจความสมบูรณ์พร้อมต่อการเปิดตาดอก (อั้นตาดอก) ถ้าต้นสมบูรณ์ดีเห็นได้ชัดก็ให้งดน้ำอีกครั้ง จากนั้นจึงลงมือเปิดตาดอก

- ถ้ามังคุดออกดอกยาก จะด้วยเหตุผลทางสายพันธุ์ (พันธุ์หนัก) หรือสภาพอากาศ (อุณหภูมิ) ไม่อำนวยก็สุดแท้ .... ให้สะสมตาดอกด้วย 13-0-46 + 0-52-35 อัตราส่วน 1:3 แล้วเปิดตาดอกด้วย 13-0-46 + 0-52-34 อัตราส่วน 3:1

6. บำรุงดอก
ทางใบ :

- ให้ น้ำ 100 ล.+ 15-45-15 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ. 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรช่วงค่ำ ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 8-24-24 (1/2 กก.) /ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น
- ให้น้ำพอหน้าดินชื้น
หมายเหตุ :
- นิสัยมังคุดเมื่อออกดอกมักมีใบอ่อนตามมาด้วย ถ้าใบอ่อนออกมามากแล้วมีดอกออกมาน้อยกรณีนี้แก้ไขด้วยการให้ทางใบด้วยสูตรเปิดตาดอกต่อ 1-2 รอบ สารอาหารสูตรนี้นอกจากจะช่วยทำให้ดอกชุดใหม่ออกมาอีกแล้ว ยังช่วยกดใบอ่อนไม่ให้ออกมาจนมากเกินจำเป็นได้อีกด้วย .... มังคุดที่ระหว่างออกดอกหรือติดผลเล็กแล้วแตกใบอ่อนจะไม่ทิ้งดอกและผล ตรงกันข้ามกลับทำให้มีใบสำหรับสังเคราะห์อาหารบำรุงต้นและผลมากขึ้น

- กรณีที่เปิดตาดอกแล้วดอกออกไม่พร้อมกันทั้งต้นแต่ทยอยออกตามกันมาเรื่อยๆ แก้ไขโดยเมื่อดอกออกมาได้ปริมาณ 10-25% ของจำนวนยอดทั้งหมดของต้น ให้ฉีดพ่นทางใบด้วย “น้ำ 100 ล.+ 0-52-34 (500 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ สาหร่ายทะเล 100 กรัม” 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน พร้อมกับให้น้ำทุกวัน นอจากช่วยกดไม่ให้ใบอ่อนชุดใหม่ออกมาอีกได้แล้วยังช่วยเปิดตาดอกที่ยังไม่ออกให้ออกมาได้อีกด้วย

- ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็น (ก้านดอกยาว 1-2 ซม.) หรือระยะดอกตูมบำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. 1-2 รอบ จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมต่อการผสม การให้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ. ต้องใช้ด้วยระมัดระวังเพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล

- ให้จิ๊บเบอเรลลิน 30-40 ซีซี. /น้ำ 100 ล. ฉีดพ่นช่วงหลังดอกบาน 50% จะช่วยให้การติดเป็นผลดีขึ้น ทั้งนี้จิ๊บเบอเรลลินจะไม่ส่งผลต่อการขยายขนาดผลและคุณภาพผลแต่อย่างใด

- ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน. 1 รอบ จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี
- ฉีดพ่นสารอาหารเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่งทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้

- บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน” โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ให้แบบเดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้

- ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบานหรือผสมติดเป็นผล

- ดอกมังคุดที่ออกมาตรงกับช่วงฝนชุกหรือฝนแล้งไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเกสรอยู่ภายในดอกจึงไม่มีโอกาสสัมผัสกับสภาพอากาศภายนอก

http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=88&page=2
---------------------------------------------------

สายตรง :
(035) 766-6xx
สรุปปัญหา : เช้านี้ขอด่วน ด้วงงวงมะพร้าวกำลังลงมะพร้าวอย่างหนัก

ด้วงงวงมะพร้าว
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย :
ด้วงงวงมะพร้าวมี 2 ชนิด ได้แก่ ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และ ด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็ง ขนาดเล็กกว่าด้วงแรด ลำตัวสีน้ำตาลแดง ส่วนหัวมีงวงยื่นออกมา เพศเมียจะมีงวงยาวกว่าเพศผู้

การทำลายด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอมะพร้าว บางครั้งพบเข้าทำลายที่โคนลำต้น ทำให้ต้นตาย อาการบ่งชี้ที่แสดงว่าด้วงงวงทำลายคือยอดอ่อนเหี่ยวแห้ง ใบเหลืองสอดหักพับ เมื่อพบอาการนี้แล้ว จะไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากหนอนด้วงงวงจำนวนมากได้เข้ากัดทำลายภายในจนหมด ตัวเต็มวัยของด้วงงวงจะเข้าวางไข่ที่รอยแผลบริเวณยอด รอยแตกของโคนทางใบ โคนลำต้น หรือรอยแผลที่เกิดจากการตัดทางใบ เป็นต้นไข่จะฟักออกเป็นหนอนกัดกินอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนจนเข้าดักแด้

รูปร่างลักษณะและชีววิทยา
ไข่ :
สีขาว รูปร่างยาวรี วางไข่เดี่ยวๆ โดยด้วงงวงเพศเมียจะใช้งวงเจาะเข้าไปในรอยแผลที่ด้วงแรดเข้าทำลายให้เป็นรูก่อนแล้วจึงใช้อวัยวะสำหรับวางไข่สอดเข้าไปวางไข่ในรูดังกล่าว ไข่มีความกว้างประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตรไข่บางฟองจะมีช่องอากาศ สามารถ มองเห็นเป็นลักษณะใสๆ อยู่ที่ปลายอีกข้างหนึ่ง

หนอน :
หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ สีขาวหัวสีน้ำตาลแดง ไม่มีขา ลำตัวย่นเป็นปล้องๆ ความกว้างประมาณ 0.9 เซนติเมตร หนอนจะเจริญเติบโต และลอกคราบ >10-11 ครั้ง หนอนที่โตเต็มที่มีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร

ดักแด้ :
หนอนที่เตรียมตัวจะเข้าดักแด้จะสร้างรังโดยใช้เส้นใยจากอาหารที่มันกิน เช่น ถ้าเป็นหนอนที่เลี้ยงด้วยเปลือกมะพร้าวอ่อน หนอนจะใช้ใยของเปลือกมะพร้าวสร้างรัง ถ้าหนอนเกิดอยู่ภายในต้นมะพร้าวก็จะใช้เส้นใยจากต้นมะพร้าวสร้างรังดักแด้ ลักษณะรังดักแด้เป็นรูปยาวรี เส้นใยที่ใช้สร้างรังหนาแน่นมากจนมองไม่เห็นตัวหนอน หนอนในรังที่เตรียมเข้าดักแด้จะไม่กินอาหารประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจึงเปลี่ยนรูปเป็นดักแด้สีขาวนวล ลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย

ตัวเต็มวัย :
เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยใหม่ๆ จะยังไม่เจาะออกมาจากรังที่หุ้มตัวอยู่ และจะอยู่ในรังดักแด้ประมาณ 2-5 วัน จึงกัดรังออกมาภายนอก ลักษณะของด้วงงวงเล็ก สีของลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำ ส่วนหัวมีงวงยาวเรียวยื่นออกมา ปลายงวง ซึ่งเป็นส่วนปากที่มีขนาดเล็กมาก บนส่วนหลังของอกสีน้ำตาลแดงอาจมีจุดหรือลายลักษณะต่างๆ ด้วงงวงเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะของปลายงวงแตกต่างกันคือ งวงของเพศผู้มีขนสั้นๆ ขึ้นหนาแน่นตามแนวยาวของงวง ขนาดของงวงสั้นกว่าของตัวเมีย งวงของเพศเมียจะมีขนาดยาวกว่า และไม่มีขนบริเวณปลายงวง ด้วงงวงเพศเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้สูงสุด 527 ฟอง ในเวลา 112 วัน ใน 1 วันสามารถวางไข่ได้สูงสุด 30 ฟอง การฟักของไข่ประมาณ 80 %

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ด้วงงวงเล็กเกิดแพร่กระจายทั่วประเทศไทย ปริมาณการระบาดขึ้นอยู่กับเกษตรกรเอง ถ้าเกษตรกรรู้จักดูแลรักษามะพร้าว สังเกตการเปลี่ยนแปลงของมะพร้าวที่ปลูก ถ้าพบด้วงงวงเข้าทำลายก็จะทราบได้ ซึ่งในระยะแรกสามารถป้องกันกำจัดได้ แต่ถ้าเกษตรกรไม่ดูแลความเสียหายก็จะมีมาก อาจเกิดการระบาดทำให้ต้นมะพร้าวตายทั้งสวนได้

การป้องกันกำจัดด้วงงวงมะพร้าว

1. ป้องกันกำจัดด้วงแรด ไม่ให้ทำลายมะพร้าวเพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงเข้ามาวางไข่ และทำลายจนมะพร้าวล้มตายได้

2. หมั่นดูแลทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าว ถ้าพบรอยแผล รอยเจาะและยอดอ่อนที่ยังไม่เหี่ยว ให้ใช้เหล็กยาวปลายเป็นตะขอแทงเข้าไปเกี่ยวเอาตัวหนอนทำลาย และทาบริเวณรอยดังกล่าวด้วยสารทาร์ ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมันเครื่อง1 ลิตร ผสมกับกำมะถันผง 100 กรัม คนให้เข้ากัน เพื่อป้องกันไม่ให้ด้วงงวงเข้าทำลายซ้ำ

3. รอยแผลที่เกิดจากการตัดทางใบ หรือรอยตัดจั่นมะพร้าวเพื่อทำน้ำตาล รอยแตกที่โคนลำต้นเหล่านี้ควรใช้สารทาร์ทาเพื่อป้องกันการวางไข่ ตะขอสำหรับแทงเก็บตัวหนอนจากลำต้นมะพร้าว

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่
กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โทร 02-5797580

กรมวิชาการเกษตร 50 พหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพ 10900
Tel : 02-5797542 e-mail:gmis@doa.in.th

http://at.doa.go.th/coconut/weevil.html
-----------------------------------------------------------

ปุจฉา วิสัชนา :

* รหัสเบอร์โทร 035 น่าจะอยู่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ย่านนี้มะพร้าวมาก ปลูกกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย กับรายการสีสันชีวิตไทยจับงานเกษตรมาตั้งแค่ 27 มี.ค. 2537 เบ็ดเสร็จรวมแล้วกว่า 2 ทศวรรษ พูดอยู่เสมอว่า

“.... ไม่มีพืชใดในโลกนี้ ไม่มีศัตรูพืชประจำตระกูลหรือเผ่าพันธุ์ วันนี้ยังไม่มีเพราะยังไม่มา.... และ ไม่มีสารเคมีใด ไม่มีสารสมุนไพรใด ในโลกนี้ สามารถทำให้ส่วนของพืชที่ถูกศัตรูพืชทำลายไปแล้ว ให้ฟื้นคืนดีอย่างเดิมได้ เป็นแล้วเป็นเลย เสียหายแล้วเสียหายเลย หนทางแก้มีทางเดียว คือ “ป้องกัน” ดั่งภาษิต 10 ล้อว่า “กันก่อนแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน” นั่นแหละ....”

“.... ศัตรูพืช ทุกชนิดศัตรู/ทุกชนิดพืช เกิดมาในโลกก่อนแล้วตั้งแต่คนปลูกยังไม่จุติ ทั้งเกิดกับตัวเอง เกิดกับบ้านข้างเคียง ทั้งเกิดวันนี้กับที่เกิดมาก่อน เกิดมานับครั้งไม่ถ้วน นับปริมาณความสูญเสียมากมายมหาศาล แล้วทำไมเกษตรกรจึงไม่รู้....”

“.... ศัตรูพืชเป็นสิ่งมีชีวิต มีเกิดกินแก่เจ็บตายขยายพันธุ์ มีจิตวิญญาณ มีสัญชาติญาณในการดำรงชีวิต เหมือนมนุษย์และสัตว์....”

รู้เรา รู้ด้วงงวงมะพร้าว รบกับด้วงงวงมะพร้าว 100 ครั้ง ชนะ 101 ครั้ง....
ไม่รู้เรา ไม่รู้ด้วงงวงมะพร้าว รบกับด้วงงวงมะพร้าว 100 ครั้ง แพ้ 101 ครั้ง....


** ด้วงงวงมะพร้าว : เข้าหามะพร้าวเพื่อกินใบมะพร้าวเพราะพอใจรสของใบมะพร้าว หากเปลี่ยนรสใบมะพร้าวจากเดิมมีรสอย่างไรไม่รู้ (ยากรู้เด็ดชิม) ให้เป็นรส “ขม/เผ็ด/เบื่อเมา/เหม็น” ด้วงนั้นก็จะไม่กินมะพร้าวต้นนี้ แต่ไปกินต้นอื่นแทน ถ้ามะพร้าวทุกต้นทั้งสวนมีรสชาติแบบเดียวกันหมด ด้วงงวงก็จะไม่กินมะพร้าวสวนนี้แล้วกินที่สวนอื่นแทน .... ว่ามั้ย

** ไข่ด้วงงวงมะพร้าว : ทำให้ไข่ “ฝ่อ” ฝักออกเป็นตัวไม่ได้ วงจรชีวิตขั้นตอนการ “เกิด” ไม่มี ด้วงงวงมะพร้าวตระกูลนั้นก็สูญ .... ว่ามั้ย

** หนอนด้วงงวงมะพร้าว : เป็นวงจรชีวิตอีกขั้นตอนหนึ่ง หากหนอนไม่ลอกคราบ หรือตายคาคราบ ด้วงงวงมะพร้าวตระกูลนั้นก็สูญ .... ว่ามั้ย

** ดักแด้ด้วงงวงมะพร้าว : หากหนอนตายตั้งแต่ขั้นตอนเป็นหนอน หรือหนอนไม่ลอกคราบ ขั้นตอนการเข้าดักแด้ก็ไม่มี ด้วงงวงมะพร้าวตระกูลนั้นก็สูญ .... ว่ามั้ย

** ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง ติดทั่วแปลง ล่อด้วงงวงมะพร้าวมาเล่นสี แล้วติดกับดักกาวเหนียวตาย หรือกลางคืนให้มีหลอดไฟคู่กับดัก ล่อด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาเล่นแสงไฟแล้วติดกับดักกาวเหนียวตาย เท่ากับลดจำนวนประชากรด้วงงวงมะพร้าวได้ ....ว่ามั้ย

** ต้นมะพร้าวต้นสูง สูงมากๆ ใช้ไม้ต่อพ่วงหัวฉีด หรือติดสปริงเกอร์หม้อปุ๋ย เหนือยอด ฉีดสารสมุนไพรบ่อยๆ ฉีดกันก่อนแก้

** ข้อมูล เรื่องราว เกี่ยวกับด้วงงวงมะพร้าวแบบนี้ ชาวสวนมะพร้าวอยู่กับมะพร้าวมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่บอกว่า “ ไม่รู้” (หมายรวมไปถึงเกษตรกรพืชอื่นๆด้วย) .... เป็นไปได้ไง

** ก่อน-ระหว่าง-หลัง ด้วงงวงมะพร้าวกินมะพร้าวสวนนี้จนร้อยเรียบไปแล้วก็จะเข้าไปกินมะพร้าวสวนข้างเคียงหรือห่างออกไปแน่นอน เพราะนั่นคือ สัญชาติญานการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาๆ แต่คนไม่รู้นี่สิผิดธรรมชาติ .... ว่ามั้ย
--------------------------------------------------

ด้วงงวงมะพร้าว :

การเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่มีงานประจำ ไม่มีเงินเดือน ทำให้มองความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านในหลายด้านชัดเจนขึ้น สังคมเล็กๆ แห่งนี้สอนผมหลายอย่าง นับเนื่องแต่วัยเด็กกระทั่งปัจจุบัน ยุคนี้เป็นยุคของความเปลี่ยนแปลง เรือกสวนไร่นาแบบดั้งเดิมหดหายไป กลายเป็นสวนเชิงเดี่ยว ท้องนากลายเป็นสวนท้องร่อง

ก่อนหน้านี้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ ปี สวนท้องร่องคือกลุ่มของคนปลูกมะพร้าวเพื่อขายผลและทำน้ำตาลปี๊บ สวนท้องร่องที่เคยเต็มไปด้วยมะพร้าวเพิ่งมาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งกลายเป็นสวนปาล์มน้ำมันเมื่อ ๓-๕ ปีที่ผ่านมานี่เอง ชาวสวนจ้างตัดมะพร้าวออก อาจจะขายต้นหรือยอดอ่อนกลายเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของมนุษย์

ต้นและยอดอ่อนที่ยังเหลือถูกทิ้งกองไว้อย่างเดิมโดยไม่มีอะไรรบกวนไม่นานหากกลับไปที่กองเศษพวกนั้น จะได้ยินเสียงสวบสาบภายในยอดอ่อนที่เริ่มเน่าเปื่อย แมลงบางชนิดกำลังกัดกินอยู่ข้างใน

มนุษย์รู้จักการเอาตัวรอดในยุคแรกของการก่อนกำเนิด อาจเพราะการรู้จักสังเกตรอบตัว จดจำและบอกต่อ กลายเป็นตำรับตำราให้คนรุ่นต่อมาได้ถือเป็นวิถี

ในยอดอ่อนของต้นมะพร้าวซึ่งเริ่มผุ ใช้ขวานหรือมีดพร้าตัดฉีกออกเป็นริ้วพบตัวอ่อนของด้วงชนิดหนึ่ง ขนาดกำลังอ้วนพีเพราะอาหารที่เจาะกินได้รอบตัว ปากแข็งสีน้ำตาลดำจะกัดกินเจาะชอนไชไปเรื่อยๆ พร้อมกับทิ้งเศษอาหารที่ย่อยแล้วไว้ข้างหลังเป็นการปิดทางป้องกันศัตรูไปในตัว

ด้วงงวงมะพร้าวหรือด้วงมะพร้าวจัดเป็นแมลงศัตรูพืชตระกูลปาล์มต้นมะพร้าวชนิดหนึ่ง ซึ่งหากตัวอ่อนพวกนี้เจริญเติบโตกลายเป็นด้วงตัวเต็มวัย สามารถระบาดเข้าไปทำลายยอดอ่อนของมะพร้าวที่ยังยืนต้นให้ตายได้โดยการกัดกินยอดอ่อน

ธรรมชาติในยุคที่นักล่ากับเหยื่อมีความสมดุลกัน นกบางชนิดกินแมลงปีกแข็งพวกนี้เป็นอาหาร พืชที่มนุษย์ปลูกไว้เพื่อดำรงชีพคือพืชอาหารของสัตว์ในธรรมชาติเช่นกัน ความเชื่อมร้อยโยงใยเป็นเครือข่ายอาหารซึ่งมองไม่เห็นนี้ เป็นไปอย่างช้าๆ ในอดีต กระทั่งวงจรบางอย่างขาดสะบั้นรวดเร็วปัจจุบัน

แมลงศัตรูพืชระบาดลุกลามไปในแต่ละท้องถิ่นล้วนมีที่มาที่ไปที่สามารถสืบเสาะได้ไม่ยาก ทว่ากลับกลายเป็นภาระของหน่วยงานทางราชการที่เข้ามาจัดการเรื่องราวแนวๆ นี้ แทนที่จะเป็นไปอย่างสอดคล้องสมดุลด้วยวิธีวิถีอย่างโบราณกาล

ครับ..วิถีโบราณหลากหลายวิธีแม้ไม่เหมาะกับยุคนี้ หากแต่บางวิธียังคงใช้ได้ตลอดกาล สมัยละอ่อน, ผมเดินตามพ่อต้อยๆ เข้าสวน ตรงไปยังต้นมะพร้าวเตี้ยซึ่งโดนดัดยอดไปแล้ว เหลือกาบทางปิดปลายเอาไว้กันน้ำฝน พ่อเปิดกาบทางออกแล้วก้มลงเอาหูไปฟังเสียงจากในนั้น,ผมทำตาม ได้ยินเสียงสวบสาบดังลั่นภายในต้น จากนั้นพ่อใช้ขวานค่อยเฉาะเปลือก แกะออก แล้วความสนุกสนานก็บังเกิด

นี่คืออาหารโปรตีนชั้นยอดของคนบ้านสวนซึ่งมีทรัพยากรที่เอื้อให้เกิดหนอนพวกนี้ได้เท่าที่สามารถตัดต้นมะพร้าวหรือพืชตระกูลเดียวกันให้พวกนี้ได้มาวางไข่ สร้างตัวอ่อนและเติบโตทางใต้แถบสุราษฎร์ธานีตอนล่างไปจนจรดจังหวัดสตูล มีต้นพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งที่งอกงามริมคลองน้ำจืด ให้แป้งและให้ประโยชน์อื่นๆ หลากหลาย แต่ที่สำคัญ ลำต้นสามารถนำมาเลี้ยงหนอนด้วงพวกนี้ขายเป็นล่ำเป็นสัน เพราะราคาของหนอนด้วงในยุคนี้ ไม่ต่ำกว่า กก.ละ ๒๐๐ บาท แพงจนคนหัวใสบางคนคิดค้นวิธีเลี้ยงโดยให้อาหารบดจากต้นพืชชนิดอื่น เพียงนำตัวเต็มวัยมาปล่อยในโรงเรือนที่ปิดมิดชิด ให้มันวางไข่ในภาชนะที่บรรจุอาหารไว้จนเต็มจากนั้นรอคอย วิธีนี้สามารถทำรายได้ให้ผู้เลี้ยงโดยไม่ต้องโค่นต้นมะพร้าวหรือต้นสาคูอีก

วิธีการเปลี่ยนจากหนอนตัวอ้วนซึ่งบางคนกินสด หากปรุงสุกเป็นอาหารหรือกับแกล้ม ปรุงง่ายๆ โดยชุบน้ำเกลือหรือเนย เหยาะพริกไทยดำกลั้วๆ ทอดในกระทะน้ำมันร้อน รอให้ผิวนอกเหลืองเข้ม กรอบนอกนุ่มในแค่นั้น, อร่อยล้ำ

แม้จะมีการจับตัวอ่อนของหนอนด้วงมาบริโภค แต่ดูเหมือนไม่ได้ลดปริมาณลงไปเลย เพราะยังมีแหล่งอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากมะพร้าวและสาคู ซึ่งหนอนด้วงพวกนี้สามารถเติบโตแพร่เผ่าพันธุ์ได้อีก

ไม่แปลก หากจะพบว่าในแวดวงเกษตรกรรม โดยเฉพาะสวนมะพร้าวและปาล์มน้ำมันปลูกใหม่บางแปลงในบางท้องถิ่น ถูกกัดเจาะยอดอ่อนโดยด้วงชนิดนี้จนต้องมีการประกาศเป็นเขตระบาด

ครับ, การเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่มีงานประจำ ไม่มีเงินเดือน ทำให้มองความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านในหลายด้านชัดเจนขึ้น สังคมเล็กๆ แห่งนี้สอนผมหลายอย่าง ตั้งแต่วัยเด็กกระทั่งปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องหนอนตัวอ้วน ที่คลานกระดื๊บกระดื๊บอยู่ในยอดมะพร้าวซึ่งสามารถเชื่อมร้อยไปถึงสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต

http://www.oknation.net/blog/suankikran/2008/12/17/entry-1

------------------------------------------------------------------------


.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©