-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-จันทน์ผา ขายได้ราคา โชคดีมีต้นด่าง
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - จันทน์ผา ขายได้ราคา โชคดีมีต้นด่าง
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

จันทน์ผา ขายได้ราคา โชคดีมีต้นด่าง

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 19/04/2010 6:10 pm    ชื่อกระทู้: จันทน์ผา ขายได้ราคา โชคดีมีต้นด่าง ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

จันทน์ผา ของเกษตรอำเภอบ้านลาด เพชรบุรี ปลูกมาก ขายได้ราคา โชคดีมีต้นด่าง

จันทน์ผา เป็นไม้ป่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบตามป่าเขาสูง ปัจจุบันถือว่าเป็นไม้ประดับเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้มากทีเดียว

ผู้คนนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับประจำบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นไม้มงคลมีคุณค่าทางจิตใจ บ้านไหนปลูกแล้วออกดอกจะถือว่าเป็นสิริมงคลนำโชคมาให้ บางบ้านก็ปลูกไว้เพื่อเสริมบารมี แต่ของป่าก็มีข้อหวงห้าม หน่วยงานราชการห้ามนำของป่าออกมาจำหน่ายหรือปลูกเลี้ยง จึงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับนักสะสมพันธุ์ไม้ที่ต้องการนำไม้ป่าตระกูลนี้มาปลูกเลี้ยง

แต่ปัญหานี้ก็หมดไป เพราะมีเกษตรกรหลายท่านสามารถเพาะเมล็ดพันธุ์จันทน์ผาได้ และจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้ที่สนใจ สามารถนำต้นพันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์ไปปลูกเป็นไม้ประดับประจำบ้านได้ ผู้ที่จะนำเรื่องราวมาเล่าให้ฟังในวันนี้คือ คุณชาญณรงค์ พวงสั้น

ปัจจุบัน คุณชาญณรงค์ ทำงานประจำรับราชการในตำแหน่งเกษตรอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 7 ตำบลวังจันทร์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่พักของครอบครัว และพักผ่อนยามเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก โดยส่วนตัวแล้วเกษตรอำเภอท่านนี้ ชื่นชอบต้นไม้เป็นชีวิตจิตใจ รู้จักจันทน์ผามาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี เห็นต้นจันทน์ผามาตั้งแต่สมัยนั้น

คุณชาญณรงค์ บอกว่า จันทน์ผา รูปทรงสวยงาม แถมชื่อก็ไพเราะจับหูเหลือเกิน และสงสัยว่าทำไมจันทน์ผาจึงโตช้า พอจบการศึกษาก็สอบเข้ารับราชการ ทำงานในสายงานด้านการเกษตรที่ตนร่ำเรียนมา

อาชีพข้าราชการเงินเดือนก็ไม่พอจับจ่ายใช้สอยสักเท่าใดนัก ด้วยความที่ตนมีความถนัดด้านการเกษตร และใจชอบเป็นทุนเดิม เลยทำให้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม อาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้จึงยึดอาชีพทำสวนป่าแบบผสมผสานเพื่อที่จะนำมาสู่ความยั่งยืนต่อรุ่นลูกหลานในอนาคต

สวนผสมผสานหมายถึง การปลูกพืชหลายชนิดแซมบนพื้นที่เดียวกัน เกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ธรรมชาติเป็นตัวจัดการสมดุลสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญสามารถจัดการความเสี่ยงด้านผลผลิต อันได้แก่ ปลูกไม้ยืนต้น (สัก) ประเภทไม้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว และปลูกไม้ประดับ (จันทน์ผา จันทน์หอม จันทน์หนู เป็นต้น) แซมเพื่อสร้างรายได้ในระยะสั้น นี่คือ วิธีการที่คุณณรงค์เลือกใช้

จันทน์ผา มาจากไหน!
ถามว่า ได้ต้นจันทน์ผามาจากไหน คำตอบที่ได้รับมีอยู่ว่า "ผมก็นำออกมาจากป่าแถวนี้แหละครับ จากเขื่อนแก่งกระจานบ้าง จากชาวบ้านแถบละแวกนี้ด้วย แต่กรณีนี้ไม่ผิดกฎหมายนะ เพราะส่วนที่ผมนำมาไม่มากเกินข้อห้วงห้ามทางกฎหมาย ผมนำมาเพื่อปลูกและขยายพันธุ์ให้เป็นที่แพร่หลาย ไม่มีเจตนาที่จะนำของป่ามาเลี้ยงเพื่อการค้าแต่อย่างใด"

เหตุผลอีกประการที่คุณชาญณรงค์นำจันทน์ผามาปลูกเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ ก็คือ นักสะสมพันธุ์ไม้มักจะชอบของสวยงาม แม้นว่าอยู่ที่ไหนก็จะสรรหามา ให้สมกับความอยาก โดยเฉพาะตามป่าเขาสูง สู้ราคากันแทบไม่ต้องต่อรอง แม้ว่าจะแพงแสนแพง ต่างก็ยื้อแย่งมาครอบครอง ดังนั้น จึงทำให้เกิดการลักลอบซื้อขายของป่า เพื่อเป็นการตัดปัญหานี้ ตนจึงใช้วิธีการขยายพันธุ์ต้นจันทน์ผาด้วยการเพาะเมล็ด ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จ ต้นจันทน์ผาที่ได้มีลักษณะสวยงาม เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินทั่วไป

เมื่อสามารถปลูกและขยายพันธุ์จันทน์ผาได้ คุณชาญณรงค์ ก็เริ่มขยายพื้นที่การปลูก จนปัจจุบันนี้มีพื้นที่ปลูกกว่า 20 ไร่ สภาพพื้นที่ปลูกอยู่บนเขาสูง มีหินภูเขาในปริมาณมาก หากสังเกตสภาพอากาศบริเวณนี้จะเห็นว่าแห้งแล้ง แต่ก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้นานาพรรณ

นอกจากจะปลูกต้นจันทน์ผาแล้ว เจ้าของก็ปลูกต้นสักร่วมด้วย ดินที่นี่เป็นดินทรายแดง ไม่อุ้มน้ำ ส่วนน้ำนั้นไม่มีความจำเป็นสำหรับจันทน์ผาเลย เพราะเป็นไม้ประดับที่ทนความแห้งแล้งได้ดี

การดูแลรักษาจันทน์ผาได้เปรียบกว่าไม้ประดับชนิดอื่นๆ ในส่วนนี้แหละ ไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรมากมาย ปุ๋ยก็ไม่ต้องการ เพียงเศษใบของลำต้นที่ร่วงหล่นลงสู่พื้นดินก็เพียงพอแล้ว ถ้าอยากให้ได้รูปทรงที่สวยงามแตกหน่อเป็นหลายหน่อก็ใช้วิธีการชักนำ โดยใช้มีดตัด หรือปล่อยให้แตกเองตามธรรมชาติยิ่งดี

คุณชาญณรงค์ เล่าให้ฟังว่า จันทน์ผาเป็นไม้โตช้า เหมาะสำหรับใช้ในการจัดสวน แต่นักจัดสวนไม่ค่อยให้ความสำคัญในการนำจันทน์ผามาใช้เป็นไม้ประดับนัก เหตุผลเพราะว่าเป็นไม้ป่าและมีราคาสูง ความโดดเด่นของจันทน์ผาจะอยู่ตรงฟอร์มของลำต้น หากจะจัดบริเวณสระน้ำ ก็ควรจะผลักให้ลำต้นเอนเอียงราบไปกับพื้นก็จะสวยงามไปอีกแบบ หากปลูกตามบ้านก็นิยมปลูกเป็นต้นเดียวโดยไม่ปล่อยให้แตกกิ่ง

สำหรับจันทน์ผาที่เหมาะจะนำมาปลูกตามสวนประดับบ้าน อายุที่เหมาะสมประมาณ 5-10 ปี เมื่อมีอายุถึง 5 ปี ก็จะออกดอกและมีเมล็ด หนึ่งช่อมีเมล็ดอยู่ จำนวน 1,000 เมล็ด หากต้นไหนที่สมบูรณ์ก็จะมีเมล็ดพันธุ์มากถึง 5,000 เมล็ด

จันทน์ผาด่าง ราคาสูง
มีอีกเรื่องสำคัญที่จะเล่าสู่กันฟังคือ จันทน์ผาด่าง เป็นที่นิยมของนักสะสมพันธุ์ไม้ในปัจจุบัน ลักษณะต้นด่างเกิดจากการกลายพันธุ์ของจันทน์ผาเขียวทั่วไป เมื่อนำเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูกปรากฏว่าต้นจันทน์ผารุ่นลูกเกิดคล้ายเป็นโรค

จันทน์ผาด่าง เจริญเติบโตได้ดีเหมือนจันทน์ผาเขียวทั่วไป ลักษณะที่ผู้เขียนได้พบเห็นมามี 3 ลักษณะ คือ
หนึ่ง...บริเวณกาบใบมีลายด่างสลับเขียว เหลือง ตามแนวยาวตลอดทั้งใบ
สอง...บริเวณกาบใบมีลักษณะด่างสีเหลืองอยู่ขนาบข้างของใบตรงกลางจะมีสีเขียว
และสาม...บริเวณกาบใบจะมีลักษณะด่างเป็นสีเหลืองตามแนวยาวครึ่งใบ ส่วนอีกครึ่งเป็นสีเขียว ส่วนลักษณะลำต้นก็เหมือนจันทน์ผาเขียวปกติทั่วไป เหล่านี้คือ ความโดดเด่นของจันทน์ผาด่างที่แตกต่างจากจันทน์ผาเขียว

เมื่อกล่าวถึงในส่วนของการเลี้ยงดูและการใช้ประโยชน์แล้ว ต่อไปจะมาพูดถึงเรื่องราคากันบ้าง เจ้าของบอกว่า จันทน์ผาที่สวนของตนก็สามารถจำหน่ายได้ หากมีคนสนใจหรืออยากได้ต้นไหนก็สามารถมาเลือกซื้อได้ตามแต่ใจชอบ ส่วนราคานั้นก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุต้น และการแตกกิ่ง ยิ่งอายุมากแตกกิ่ง 7-9 หน่อ ราคาก็ยิ่งสูง จำหน่ายกันตั้งแต่ต้นอายุ 1 ปีขึ้นจนถึงอายุ 10-20 ปี ช่วงอายุ 10-20 ปี จะเป็นที่ต้องการของคนรักต้นไม้

เมล็ดพันธุ์ จำหน่ายเมล็ดละ 1 บาท บางกรณีมีคนสนใจอยากนำไปปลูก ตนก็จัดส่งผ่านทางไปรษณีย์ ส่วนต้นใหญ่หากอยากได้ก็ต้องมาขนเองที่สวน ราคาสามารถตกลงกันได้ สำหรับต้นจันทน์ผาด่างจะมีราคาสูงเป็นพิเศษ อย่างต้นที่เห็นในภาพที่เจ้าของถ่ายคู่ด้วยนั้นอายุ 5 ปี ราคาประมาณ 50,000 บาท ราคาแตกต่างจากจันทน์ผาเขียวประมาณ 10 เท่า ส่วนต้นใหญ่ที่เห็นในภาพแตกกิ่งหน่อหลายกิ่งนั้น อายุราว 60 ปี มีคนมาให้ราคากว่า 200,000 บาท เจ้าของยังไม่ขาย เพราะเจ้าของหวงมาก

สำหรับจันทน์ผาในปัจจุบัน เริ่มเป็นที่นิยมของผู้ปลูกเลี้ยง แต่หากเปรียบเทียบกับพืชตระกูลปาล์มประดับเห็นจะมีกันเกลื่อน

ตลาดจันทน์ผาจะราคาดีกว่า จันทน์ผาเป็นไม้ป่าที่หายาก จึงน่าสนใจที่จะเพาะพันธุ์ทำเป็นอาชีพเสริม เรื่องกฎหมายข้อหวงห้ามนั้น เจ้าของบอกว่า น่าจะเปลี่ยนจากการหวงห้ามมาเป็นการส่งเสริมให้มีการปลูกเลี้ยงกันมากขึ้นจะเป็นการดีกว่า เพราะจะได้ไม่ต้องลำบากไปนำของป่ามาปลูกเลี้ยง และโอกาสในการพัฒนาเป็นไม้ประดับส่งนอกก็น่าสนอยู่ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะชักชวนให้นำของป่าห้วงห้ามมาใช้ในทางที่ผิดหรอกนะ แต่ถ้าหากว่าเรานำออกมาในจำนวนน้อยแล้วสามารถขยายพันธุ์ให้ได้ในปริมาณมาก ความอยากที่จะได้ของป่าก็เบนเป้าหมายมาที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ไม่ดีกว่าหรือ

หากเกษตรกรท่านใดที่กำลังมองหาอาชีพเสริมกันอยู่ ก็ลองติดต่อไปพูคคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะกับคุณชาญณรงค์ได้ตามที่อยู่ที่ให้ไว้ หรืออยากได้จันทน์ผาด่างมาเลี้ยงไว้สักต้นเสริมบารมี สามารถติดต่อได้ที่โทร. (081) 705-7911 หรือจะไปเดินดูที่ตลาดนัดจตุจักรก็ได้ แต่เป็นตลาดนัดเปิดใหม่นะ เจ้าของเพิ่งนำพันธุ์จันทน์ผาไปวางตลาดเมื่อ 3 เดือน ที่ผ่านมานี้เอง

ชื่อพื้นเมือง จันทน์ผา จันทน์แดง ลักกะจันทน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena Louriei Gagnep
ชื่อวงศ์ Dracaenaceae
กระจายพันธุ์ ประเทศเขตร้อนทั่วไป พบบนภูเขาหินปูนหรือลูกรังทั่วทุกภาคของไทย
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ปักชำ ตอนกิ่ง

ลักษณะ
ต้น ไม้ขนาดเล็ก สูง 3-7 เมตร ไม่ผลัดใบ บางครั้งมีลักษณะเป็นทรงพุ่มเรือนยอด ลำต้นตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามยาว โตช้า ชอบแดดจัด ทนแล้ง ไม่ชอบน้ำขังแฉะ

ใบ ใบเดี่ยว ยาวเรียวแคบ กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 45-60 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบเป็นกาบหุ้มซ้อนทับกันรอบต้น

ดอก เป็นช่อดอกขนาดใหญ่ ออกบริเวณซอกใบ กลีบดอก 6 กลีบ สีขาวนวล กลางดอกมีจุดสีแดง มีกลิ่นหอม ออกดอกราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ผล ทรงกลม ขนาดเล็ก เป็นพวงสีเขียว เมื่อสุกสีแดงคล้ำ

ประโยชน์ เนื้อไม้ที่มีเชื้อราลงจะมีสีแดงเข้ม เรียกว่า จันทน์แดง ใช้เป็นยาเย็นดับไข้ แก่น เป็นส่วนผสมในน้ำยาอุทัย ใช้ทำยาหอม ช่วยบำรุงหัวใจ ฝนทาภายนอกแก้ฟกช้ำ ฝี บวม

ภาวิณี สุดาปัน


ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©