ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป |
ผู้ส่ง |
ข้อความ |
kimzagass หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009 ตอบ: 11625
|
ตอบ: 20/04/2010 1:28 pm ชื่อกระทู้: น้ำหมักชีวภาพเหมาะใช้ในภาคเกษตรเท่านั้น |
|
|
กรมพัฒน์ย้ำน้ำหมักชีวภาพเหมาะใช้ในภาคเกษตรเท่านั้น
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยถึงผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพสูตร พด.
ว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อ
ประโยชน์ทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำหมักชีวภาพที่ ส่งเสริมให้
เกษตรกรใช้อยู่ในขณะนี้มีอยู่ 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สารเร่งซูเปอร์ พด.2 ใช้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ
จากผักและผลไม้ ปลา หอยเชอรี่ สารเร่ง พด.6 ใช้สำหรับผลิตสารบำบัดน้ำเสียและขจัด กลิ่น
เหม็น โดยย่อยสลายขยะสด ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร เศษผักและผลไม้จากครัวเรือนหรือตลาดสด
และสารเร่ง พด.7 จะใช้เป็นตัวสกัดฤทธิ์จากพืชสมุนไพร เช่น หางไหล หนอนตายหยาก
บอระเพ็ด ซึ่งจะได้เป็นสารป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช
ผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพของ กรมฯ ทุกชนิดล้วนแต่ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้า และทดลอง
ผลมาเป็นอย่างดี ก่อนที่จะถ่ายทอดสู่เกษตรกร ซึ่ง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรได้
อย่างปลอดภัยต่อพืช เกษตรกรและผู้บริโภค ที่สำคัญการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพยังช่วยเพิ่ม
ผลผลิต ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับกรณีที่ขณะนี้มีข่าวเรื่องการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ นั้น จากที่
เห็นกระบวนการผลิตไม่อยู่ในสภาพควบคุมการปลอดเชื้อ อีกทั้งน้ำหมักมีฤทธิ์เป็นกรด ก่อนใช้
ต้องนำมาละลายน้ำให้เจือจางในสัดส่วนที่เหมาะสม ดังนั้น การที่นำไปหยอดตาหรือใช้กับร่างกาย
โดยที่ไม่มีผลทดสอบยืนยันว่าปราศจากเชื้อโรคหรือไม่นั้น จึง ไม่น่าจะมีผลดีต่อสุขภาพของผู้ใช้
อย่างไร ก็ตาม น้ำหมักชีวภาพสูตร พด. ถึงแม้ จะผ่านกระบวนการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่เหมาะสมกับ
การย่อยสลายวัตถุดิบที่นำ มาผลิตน้ำหมักชีวภาพ แต่ก็สามารถใช้กับพืชได้เท่านั้น ไม่ได้มีการ
ทดลองใช้กับคนแต่อย่างใด รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว.
ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=49952 |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
kimzagass หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009 ตอบ: 11625
|
ตอบ: 20/04/2010 5:50 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
เภสัช มช.ช่วยไขข้อข้องใจ 5 ประการ ว่าด้วย น้ำหมักชีวภาพ
ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค ภาควิชา
วิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไขข้อข้องใจ 5 ประการสำคัญ
เพื่อความกระจ่างให้กับประชาชน จากข่าวกรณีน้ำหมักชีวภาพ มหาบำบัด ที่ สำนักงานคณะ
กรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิต ซึ่งเป็นทั้งผู้จำหน่ายและผู้โฆษณาด้วย
ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต กล่าวว่า น้ำหมักชีวภาพมีบทบาทเป็นทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพ
แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาหลายด้าน เช่น เรื่องคุณภาพมาตรฐาน รูปแบบการจำหน่าย และการ
โฆษณา กรณีข่าวที่เกิดขึ้น มีประชาชนจำนวนมากติดตามข่าว และมีข้อสงสัยหลายประการ ดังนั้น
การแยกแยะประเด็นจากข่าวเรื่องน้ำหมักชีวภาพจึงมีความจำเป็นทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
น้ำหมักชีวภาพ ใช้กับคน พืชหรือสัตว์ กันแน่
น้ำหมักชีวภาพโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
(1) น้ำหมักชีวภาพที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์
(2) น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค
ทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่าง คือ ความความแตกต่างในเรื่อง วัตถุดิบและกระบวนการผลิต เช่น
น้ำหมักชีวภาพที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์ มักใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะ, สิ่งเหลือใช้ทั้งจากพืชจากสัตว์
หรือบางสูตรอาจใช้พืช ผัก และผลไม้ ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ในพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด
โดยกระบวนการผลิตจะทำอย่างง่ายเพื่อใช้ในภาคเกษตร ส่วนน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค จะ
ต้องคัดเลือกวัตถุดิบ เช่น พืช ผัก ผลไม้ โดยวัตถุดิบแต่ละชนิดจะมีกระบวนการคัดเลือกตาม
คุณสมบัติเพื่อการบริโภคทั้งด้านโภชนาการ และสรรพคุณของพืชนั้นๆ ที่สำคัญ คือกระบวนการ
ผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนที่
เป็นอันตรายทั้งจากวัตถุดิบหรือที่เกิดขึ้นในกระบวนการหมัก และต้องผลิตให้ได้ตามมาตรฐานน้ำ
หมักสำหรับการบริโภค ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาใช้ต้นเชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ซึ่ง
ต้นเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิตนั้นอาจเป็นได้ทั้งรูปแบบอย่างง่าย คือ ต้นเชื้อผักดอง ซึ่งเป็นต้น
เชื้อที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้นเชื้อบริสุทธิ์ที่สามารถควบคุมทั้งความปลอดภัยของ
น้ำหมัก และยังสามารถทำให้ได้คุณภาพ และประสิทธิผลต่อสุขภาพจากต้นเชื้อและสารเมทาบอ
ไลต์ที่ได้จากต้นเชื้อ ซึ่งต้นเชื้อบริสุทธิ์นี้จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือก ให้ได้ต้นเชื้อบริสุทธิ์
และศึกษาถึงคุณสมบัติของการส่งเสริมสุขภาพ ที่เรียกว่า โปรไบโอติกหรือจุลินทรีย์เสริมชีวนะ ซึ่ง
จะต้องคัดสรรและศึกษาคุณสมบัติต่างๆดังกล่าวในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นในการจะ
ผลิตน้ำหมักชีวภาพให้ปลอดภัยในการบริโภค จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ มา
ประกอบพอสมควร
น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ประเด็นนี้เป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อมีการหมักจะต้องมีจุลินทรีย์เกิดขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วไม่เพียงแต่มี
จุลินทรีย์ หากแต่มีหลายสิ่งที่ปนเปื้อนซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ เช่น เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้
มี เมทาทอล เอทานอล และกลุ่มฟูเซลล์ออยล์ (Butanol, Propanol) ซึ่งหากรับประทานจะ
ทำให้มึนหัว ดังนั้น เราต้องมีการควบคุมคุณภาพให้ได้น้ำหมักที่ดีคือ ไม่พบสิ่งปลอมปน เอทานอล
ต้องไม่เกินร้อยละ 3 เมทานอลต้องไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อลิตร
ส่วนจุลินทรีย์นั้นในการหมักอาจพบจุลินทรีย์ได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มก่อโรคและกลุ่มเสริม
สุขภาพ จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคที่ต้องควบคุมคือ ซาลโมเนลลา ต้องไม่พบในตัวอย่าง 50 กรัม
สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส ต้องไม่พบในตัวอย่าง 1 มิลลิกรัม คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ต้อง
ไม่พบในตัวอย่าง 0.1 กรัม เอสเชอริเชีย โคไลต้องน้อยกว่า 2.2 ต่อตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร ยีสต์
และราต้องไม่เกิน 100 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร
ส่วนจุลินทรีย์ที่ดี คือ จุลินทรีย์เสริมชีวนะหรือโปรไบโอติก (probiotic) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่
ทำให้เกิดกรดแลกติก (กรดน้ำนม) จุลินทรีย์ชนิดนี้ ถูกนำใช้ในการผลิตโยเกิร์ต นมเปรี้ยว มี
ประโยชน์ คือ ช่วยไม่ให้เชื้อก่อโรคเจริญได้ ปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ช่วยในการเหนี่ยว
นำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล นอกจากนี้ยังพบคุณสมบัติของจุลินทรีย์เส
ริมชีวนะในการช่วยลดการเกิดสารก่อมะเร็ง และกลไกที่ชักนำให้เกิดมะเร็งจากการสามารถย่อย
และจับสารก่อมะเร็งเอาไว้ได้ รวมถึง การลดการทำงานของเอนไซม์ที่มีกิจกรรมก่อให้เกิดสาร
พลอยได้ที่เป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น ยกตัวอย่างจุลินทรีย์กลุ่มนี้ คือ แบคทีเรีย แลกโตบาซิลลัส
เคซิอิ (Lactobacillus casei) แลกโตบาซิลลัส อะซิโดฟิลุส (Lactobacillus
acidophilus) แลกโตบาซิลลัส แพลนทารัม (Lactobacillus plantarum) เป็นต้น
การควบคุมอีกเรื่องที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในการหมัก คือ กรด ซึ่งโดยทั่วไปกรดที่เกิดในกระบวน
การหมักถือเป็นการถนอมอาหารไปในตัว ความเป็นกรดของน้ำหมักเพื่อการบริโภคต้องมีค่าความ
เป็นกรดด่าง หรือค่าพีเอช (pH) ต่ำกว่า 4.3 จึงจะควบคุมการเจริญของเชื้อก่อโรคได้ ในกรณีที่
เป็นข่าวว่านำน้ำหมักไปใช้หยอดตานั้น โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์สำหรับตานั้นต้องไม่มีจุลินทรีย์ รวมทั้ง
ต้องปรับสภาพความเป็นกรดด่างให้มีค่า 7.4 เพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อตา การนำน้ำหมักที่ยังไม่
ผ่านกระบวนการใด ๆ ไปหยอดตาถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร
ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคคือได้จากจุลินทรีย์ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับว่าต้นเชื้อ
เป็นจุลินทรีย์สายพันธุ์ใด และประโยชน์จากคุณค่าสารสำคัญตามชนิดของพืชผักผลไม้ที่นำมาใช้
หมัก เพราะการหมักเป็นการแปรรูปที่เป็นการสกัดสารสำคัญในพืชผักผลไม้ ซึ่งในประเทศไทยเรา
มี พืชวัตถุดิบมากมายที่นำมาใช้ เช่น ลูกยอ มะขามป้อม ผลไม้ชนิดต่าง ๆตามฤดูกาล ดังนั้น น้ำ
หมักชีวภาพที่ดี ก็ต้องมีสารสำคัญของพืชผักผลไม้ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในการหมักจะมีสาร
สำคัญออกมา สารสำคัญนี้แหละที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสุขภาพ นอกเหนือจากโปรไบโอติก
ดังนั้นในวัตถุดิบที่เราหมัก จะใช้เวลาแตกต่างกันที่จะสกัดสารสำคัญออกมา
หมักยิ่งนานยิ่งดีจริงหรือ
การหมักแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาที่เหมาะสม 2 องค์ประกอบ คือ ระยะเวลาของการเจริญของ
จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหากมีการหมักนานกว่า 2 ปี จุลินทรีย์กลุ่มนี้ จะตายหรือหมดไป อีก
ประการหนึ่งคือ การหมักจะทำให้เราได้สารสำคัญออกมา เพราะเมื่อสารสำคัญออกมาหมดแล้ว
กระบวนการสกัดก็สิ้นสุดลง ดังนั้นหากหมักนานเกินไปอาจจะไม่มีประโยชน์ ในแง่ที่ว่า สารสำคัญ
ของพืชที่ถูกสกัดออกมานั้น ไม่มีความคงสภาพในน้ำหมักชีวภาพ แต่ก็มีประเด็นว่าผู้ผลิตบางราย
ต้องการหมักให้นานๆ เพื่อหวังผลให้เกิดพลังงานมากๆนั้น คงต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อคุณสมบัติของน้ำหมัก คือเมื่อมีการหมักจะทำให้ วิตามิน ซี
สลายตัวไป โดยปกติคนเราจะคิดว่ารสเปรี้ยวแสดงว่ามีวิตามิน ซี ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิด สำหรับ
น้ำหมักจะมีรสเปรี้ยวเพราะเกิดจากจุลินทรีย์กลุ่มแลกติก ที่อยู่ในกระบวนการหมัก ส่วน ภาชนะ
บรรจุ แสง อุณหภูมิ และ อากาศ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คุณสมบัติของน้ำหมักไม่คงตัว ดังนั้นการควบ
คุมคุณภาพของน้ำหมักเพื่อการบริโภคจึงต้องดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ด้วย
น้ำหมักชีวภาพใช้ได้ครอบจักรวาลหรือไม่
ประเด็นนี้เกิดปัญหาโฆษณาเกินจริง เพราะมีการเหมารวม ซึ่งไม่ถูกต้อง ประการแรกน้ำหมัก
ชีวภาพเพื่อการบริโภคเป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (พืช ผัก ผลไม้) เพื่อการสร้างเสริม
สุขภาพ ไม่ใช่เป็นยา ประการที่สอง น้ำหมักแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติต่างกัน จากวัตถุดิบที่ต่างกัน
และต้นเชื้อจุลินทรีย์ต่างกัน ดังนั้นน้ำหมักแต่ละชนิดไม่สามารถดูแลสุขภาพได้ครอบจักรวาล
น้ำหมักชีวภาพแบบภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ได้หรือไม่
เรื่องนี้เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของประเทศไทย ที่มีภูมิปัญญาดั้งเดิมสำคัญคือ
1) กระบวนการหมักของชุมชน
2) วัตถุดิบพืชผักผลไม้ไทยที่หลากหลาย และ
3) ภูมิปัญญาการนำพืชไทย
มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งสามประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของน้ำหมักชีวภาพ แต่ประเด็นที่อยาก
ทำความเข้าใจคือ แต่เดิมมาการใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้เป็นลักษณะพื้นบ้าน ผลิตกันเองในครอบครัว
หรือในหมู่บ้าน ไม่ได้ทำจำนวนมาก ไม่มีการขาย ไม่มีการเห่อตามกระแส แต่ปัจจุบันมีการผลิต
เพื่อการจำหน่ายมากขึ้น การควบคุมคุณภาพมาตรฐานจึงต้องมีการพัฒนา เพื่อความปลอดภัย และ
เพื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพ
ปัจจุบันมีความพยายามพัฒนาน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคในชุมชนตลอดมา และขณะเดียว
กันก็มีการต่อยอดการวิจัยมากมาย เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพมาตรฐาน จึงมีการ
วิจัยร่วมกับชุมชน เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้ต้นเชื้อผักดอง
ทั้งนี้ ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงาน
พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ศพช.อย.) ได้เข้ามามีบทบาทใน
แง่ของการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยในเรื่องดังกล่าว โดยจะมีการจัดถ่ายทอดเทคโนโลยีการ
ผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคขึ้นอีก ในระหว่าง วันที่ 13-14 มีนาคม 2553 ณ คณะ
เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2553 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิริน
ธร สวทช. ติดต่อเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ที่ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส ศูนย์วิทยา
ศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช. โทร. 0-2564-8000 หรือคณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร 08-6448-8073 และติดต่อบทเรียนอิเลคโทรนิคส์ได้ที่ ศูนย์
หนังสือสวทช.โทร. 0-2564-7000
หากชุมชนหรือผู้ประกอบการต้องการที่จะผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค ควรเพิ่มเติม
ความรู้เพื่อการผลิตที่ดี และพึงตระหนักว่าน้ำหมักชีวภาพไม่ใช่ยา แต่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่
มีคุณสมบัติแตกต่างกัน จึงไม่ควรหลงเชื่อการโฆษณาเกินจริง ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : ผู้จัดการ |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
|