ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป |
ผู้ส่ง |
ข้อความ |
ott_club หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 20/07/2009 ตอบ: 718
|
ตอบ: 25/05/2010 11:25 am ชื่อกระทู้: หมอนทอง GAP...หมอนทองพ่ายนกกระจิบ...มุงคุด 100 ปี. |
|
|
วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 479
เทคโนโลยีการเกษตร
มนตรี กล้าขาย วรนุช สีแดง
ลุงเสด ใจดี คนระยอง มีสวนทุเรียนหมอนทอง GAP
ทุเรียน ผลไม้ยอดนิยมของคนไทยและคนเอเชียทุกประเทศ จากรสชาติที่หวานมัน สีสันของเนื้อสีเหลืองทอง ดูสวยงาม เคี้ยวนุ่มลิ้นไม่เละและเก็บไว้ได้นาน จึงถูกยกย่องให้เป็นราชาแห่งผลไม้ (king of fruit) จุดเด่นเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาคุณภาพแบบต่อเนื่องของเกษตรกรหลายร้อยหลายพันคน ทำให้ไทยเราส่งทุเรียนไปขายต่างประเทศ นำรายได้เข้ามาปีละมากกว่า 3,500 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่เป็นพันธุ์ดีที่สุด ทั้งการรับประทานผลสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
วันนี้จึงขอพาท่านไปเยี่ยมสวน คุณลุงเสด ใจดี แห่งจังหวัดระยอง หนึ่งในเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนทุเรียนคุณภาพ ผ่านการรับรองแปลงตามระบบ GAP และเป็นแปลงเรียนรู้ของเกษตรกรจากทั่วประเทศ จากผลผลิตที่ได้คุณภาพจึงมีพ่อค้าเข้าซื้อแบบมาเหมาสวนเป็นประจำและไม่เกี่ยงด้านราคารับซื้อแต่อย่างใด
ถิ่นฐานและบ้านเกิด
ก่อนที่จะเข้าไปเยี่ยมสวนทุเรียนหมอนทองคุณภาพส่งออกของคุณลุงเสด มารู้จักกับภูมิหลังของเกษตรกรคนเก่งที่ชาวระยองยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านคนนี้กันหน่อยครับ
คุณลุงเสด เล่าว่า ตนเองเป็นคนระยองโดยกำเนิด เกิดที่หมู่ที่ 7 บ้านชำสมอ ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีพี่น้อง 9 คน ผมเป็นคนที่ 6 ตอนเด็กๆ ก็ค่อนข้างลำบากเพราะครอบครัวทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนาและปลูกมันสำปะหลัง จะมีสวนผลไม้บ้างก็ไม่มากมายอะไร เป็นแบบสวนหลังบ้าน มีรายได้ไม่มากนัก จุดเริ่มต้นของการทำสวนทุเรียนก็เมื่อพี่ชายแบ่งที่ดินให้ 2 ไร่กว่าๆ เท่านั้น จึงไปซื้อกิ่งพันธุ์ทุเรียนมาลงจนเต็ม ทำได้มาก็เก็บเงินซื้อที่ดินขยายสวนเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ ซึ่งทุกวันนี้ มีทุเรียนหลายแปลง รวมต้นทุเรียนก็ 1,000 กว่าต้น แล้วก็มีมังคุดกับลองกองอีกนิดหน่อย เอาไว้เป็นรายได้หมุนเวียนในครอบครัว การทำสวนก็ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก จะมีคนงานจ้างบ้างไม่กี่คน แต่ก็สามารถจัดการทุกสวนได้ทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไร
สภาพสวนและการบำรุงดินในสวน
สภาพพื้นที่สวนที่นี่เป็นดินลูกรังหยาบเป็นเม็ดสีแดง (ก้อนกรวด) ระบายน้ำได้ดี ให้น้ำแล้วไม่เหนียวเละหรือแข็งเมื่อดินแห้ง ไม่เหมือนชุดดินเหนียวสีแดงที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่เกษตรกรปลูกพริกไทยและทำสวนผลไม้หลายชนิด คุณลุงเสดใส่ปุ๋ยขี้วัวทุกปี ใส่ต้นละ 10 กิโลกรัม ไม่ใส่ขี้ไก่เพราะทำให้ทุเรียนเป็นโรคและเสี่ยงต่อสารโซดาไฟที่อาจตกค้างมากับขี้ไก่ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อต้นทุเรียน อีกอย่างคุณลุงเสดทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เองโดยใส่ทุกเดือนช่วงการเตรียมต้นทุเรียนก่อนที่จะออกดอก ส่วนกิ่งและใบทุเรียนที่ตัดแต่งออกจากต้น ก็จะนำสุมที่โคนต้นทุเรียน ปล่อยให้ผุพังสลายตัวเป็นอินทรียวัตถุทำให้สภาพดินร่วนซุยขึ้น เก็บความชื้นได้ดีและยังเป็นอาหารของไส้เดือนอีกด้วย
สังเกตว่าพอเดินเหยียบย่ำจะรู้สึกนุ่มหยุ่น ไม่แข็งกระด้างเหมือนเมื่อก่อน อ้อ!...ลืมบอกไปว่า เมื่อก่อนตอนลงทุเรียนใหม่ๆสภาพดินไม่ค่อยดีนัก เพราะใช้ปลูกมันสำปะหลังมานาน ฉีดสารฆ่าหญ้าทุกปี ดินแน่นแข็ง จะขุดหาไส้เดือนทำเหยื่อตกปลาสักหน่อยก็ต้องขุดดินหาจนได้เหงื่อกว่าจะได้มากพอ แต่เดี๋ยวนี้ไส้เดือนชุกชุมมาก ทดลองวัดพื้นที่ประมาณ 1 ตาราเมตร ในหลายจุด แล้วขุดบริเวณหน้าดินลึกสัก 10-15 เซนติเมตร ก็พบว่ามีไส้เดือนมากถึง 20, 80-250 ตัว ต่อจุด โดยเฉพาะหน้าฝนหรือบริเวณที่มีความชื้นที่มีใบทุเรียนหรือใบไม้คลุมหน้าดินจะพบไส้เดือนมากหน่อย อันนี้เป็นผลจากการที่คุณลุงเสดใส่ขี้วัว หมักใบทุเรียนร่วมกับใช้ปุ๋ยชีวภาพมาตลอด อีกอย่างคงเป็นเพราะให้น้ำทุเรียนตลอดปี ดินมีความชื้นตลอด สวนของคุณลุงเสดวางระบบน้ำด้วยหัวพ่นฝอยแบบสปริงเกลอร์ตรงที่ใต้ทรงพุ่มทุเรียน และให้น้ำทุก 1-2 สัปดาห์ ขึ้นกับสถานการณ์ของอุณหภูมิ แสงแดดและช่วงฤดูกาลต่างๆ การให้น้ำคำนวณในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป คอยสังเกตดินและใบทุเรียนด้วยว่าเป็นอย่างไร แล้วคอยปรับปริมาณน้ำและปุ๋ยชีวภาพที่ใส่ลงไป ส่วนปุ๋ยเคมีนั้นก็ใส่ประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ทั้งหมดเป็นพื้นฐานการปฏิบัติในสวนทุเรียนแห่งนี้
ตัดแต่งช่อผล : เทคนิคการเพิ่มคุณภาพ
"ผมอยู่กับทุเรียนมาราวๆ 47 ปี พอจะจับทางได้แล้ว ดูจากคุณภาพทุเรียนที่ได้รับค่อนข้างดี แต่ก่อนนี้เอาไว้ทุกลูกที่ติด มองดูเต็มต้นไปหมด ต่อมาเรียนรู้ว่ามันมากเกินไป อาหารไม่พอไปเลี้ยงผล ขนาดของผลทุเรียนจึงเล็ก พูไม่เต็มและผลบิดเบี้ยวไปบางส่วน เดี๋ยวนี้ผมตัดแต่งเอาไว้แค่ต้นละ 60-80 ผล เท่านั้น ขึ้นกับขนาดของต้นทุเรียนและจะดูจำนวนกิ่งใหญ่ที่จะเอาไว้ผลด้วย สังเกตไหมว่าทุเรียนหลายต้นที่กิ่งล่างจะไม่มีลูกทุเรียนเลย เพราะถูกตัดแต่งออกไปหมดเนื่องจากลูกไม่สมบูรณ์ ตรงนี้เพื่อให้อาหารส่งขึ้นไปเลี้ยงลูกที่กิ่งข้างบน การตัดแต่งลูกทุเรียนผมจะตัดแต่ง 4 ครั้ง ตามระยะการเติบโตของลูกทุเรียนคือ ครั้งที่ 1 ระยะที่ผลทุเรียนอ่อนมีขนาดเท่ากับไข่นกกระทา จะตัดผลอ่อนที่มีหางแย้ (ส่วนที่ยื่นจากปลายผลทุเรียนอ่อนยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ดูคล้ายปลายหางแย้) ที่โค้งบิดเข้าหาผลทิ้งไป เลือกเอาไว้เฉพาะผลทุเรียนที่มีหางแย้ตรงเท่านั้น เพื่อจะได้ผลทุเรียนที่สมบูรณ์ พูเต็มทุกด้าน หากเลือกผลอ่อนที่หางแย้บิดเบี้ยวไว้จะได้ทุเรียนที่มีทรงผลบิดเบี้ยว บางส่วนของผลจะลีบ ไม่มีเนื้อหรือไม่เต็มพู (ทรงแป้ว) ไม่ได้คุณภาพ ขายไม่ได้ราคา ครั้งที่ 2 ตัดแต่งผลหลังจากครั้งแรกประมาณ 15-20 วัน ดูว่าขนาดผลทุเรียนประมาณไข่ไก่ รูปทรงผลจะเริ่มชัดเจนขึ้นกว่าครั้งแรก ก็ยังคงเลือกตัดผลทุเรียนที่มีหางแย้บิดเบี้ยวออกทิ้งไป คำนวณว่าเอาไว้ 60-80 ลูก ต่อต้น อาจเผื่อไว้อีกนิดหน่อยก็ได้ การเลี้ยงผลจะเลือกไว้เฉพาะกับกิ่งที่ใหญ่ โดยเฉลี่ยก็ราวๆ 2-4 ผล ต่อกิ่ง เท่านั้น ครั้งที่ 3 ตัดแต่งผลทุเรียนเมื่อมีขนาดของผลเท่ากับกระป๋องนมโดยประมาณ เลือกตัดผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากแต่จะมีหลงเหลือมาไม่มากนัก ผลทุเรียนเกือบทั้งหมดค่อนข้างสมบูรณ์ดีแล้ว ครั้งที่ 4 นั้นเป็นครั้งสุดท้ายก็จะเข้าไปดูว่ายังมีผลทุเรียนที่บิดเบี้ยว ทรงไม่ได้คุณภาพหลงเหลืออีกหรือไม่ หากพบก็ตัดทิ้งไป ปกติก็จะมีสัก 1-3 ผล ต่อต้น เท่านั้น แต่หากพอรับได้ก็จะเก็บไว้ตัดขายต่อไป" คุณลุงเสดอธิบาย
การให้น้ำและใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม
การที่จะทำทุเรียนให้มีคุณภาพนั้น ผมจะเน้นการเตรียมต้นแม่ให้สมบูรณ์เสียก่อน ดังนั้น จึงเน้นที่การให้น้ำและให้ปุ๋ยตลอดปี โดยเฉพาะหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ต้องรีบบำรุงต้นทันที เริ่มจากการตัดแต่งกิ่งที่โทรม กิ่งตายและกิ่งที่ไม่ต้องการออก แล้วก็ให้น้ำและปุ๋ยควบคู่กันไป คุณลุงเสดเน้นปุ๋ยขี้วัวที่ใส่ต้นละ 10 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยสูตร 12-12-17+2 อัตราต้นละ 2 กิโลกรัม วิธีการโดยโรยรอบๆ ต้นให้ห่างจากโคนต้นทุเรียนสัก 1 เมตร และปุ๋ยหมักชีวภาพ (ปุ๋ยจุลินทรีย์) ที่ให้พร้อมกับน้ำ อัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร สลับกับการฉีดพ่นทางใบ เพื่อให้ต้นทุเรียนสะสมอาหารให้เพียงพอกับการออกดอกรุ่นต่อไป
ปุ๋ยหมักชีวภาพ ได้จากการหมักใบตำลึงหรือผักบุ้งหั่นหรือบดละเอียด 3 กิโลกรัม กล้วยน้ำว้าสุกหั่นหรือบดละเอียด 3 กิโลกรัม และน้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลแดง 2 กิโลกรัม โดยนำส่วนผสมทั้งหมดผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี นำไปหมักในภาชนะปิดฝา ทิ้งไว้สัก 15 วัน แล้วจึงเติมน้ำลงไปอีก 20 ลิตร คนให้เข้ากัน หมักต่อทิ้งไว้ 15-20 วัน กรองเอากากออกจะได้น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้นไว้ใช้ต่อเชื้อในปริมาณที่มากขึ้น
วิธีการขยายเชื้อทำน้ำหมักใช้ คือใช้น้ำหมักหัวเชื้อ 10 ลิตร ผสมน้ำตาลทรายแดง 10 กิโลกรัม หมักกับน้ำ 200 ลิตร คนให้เข้ากันดี หมักในภาชนะปิดฝาอีก 1-5 เดือน ก็นำออกมาใส่หรือฉีดต้นทุเรียนได้ การใช้กับทุเรียน คือใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ไปฉีดพ่นทางใบเพื่อช่วยให้ทุเรียนได้ปุ๋ยเร็วขึ้น ส่วนอีกทางก็ให้ไปพร้อมกับการให้น้ำระบบสปริงเกลอร์ ต้นละประมาณ 80-100 ลิตร ต่อครั้ง เทคนิคคือจะให้น้ำในทรงพุ่มเท่านั้น ไม่กระจายถึงปลายทรงพุ่ม เพราะจะทำให้ทุเรียนแตกใบอ่อน ไม่สร้างดอกสร้างผล วิธีการนี้จะทำให้ทุเรียนได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่ ลองใช้มือปาดหน้าดินดูจะพบว่ามีรากทุเรียนเล็กๆ เส้นสีขาวแผ่กระจายเต็มไปหมดเลย นั่นแสดงว่าใช้ได้ สำหรับกิ่งและใบทุเรียนที่ตัดแต่งออกก็นำสุมไว้บริเวณใต้ต้นทุเรียน ปล่อยให้มันจะผุพังสลายตัวเป็นอินทรียวัตถุและเป็นปุ๋ยในที่สุด
ขนาดของสวน จำนวนต้นและผลผลิต
ทุเรียนของคุณลุงเสดเป็นหมอนทองเกือบทั้งหมด ที่ให้ผลแล้วประมาณ 780 ต้น จะมีกระดุมบ้างเล็กน้อย เอาไว้นิดหน่อย เพราะออกก่อนและแก่เร็วกว่าเพื่อน แล้วก็ยังมีมังคุดกับลองกองอีกประมาณ 200 กว่าต้น เห็นจะได้ เอาไว้ขายพอมีรายได้เป็นค่าขนมเด็กๆ คนงานและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้บ้าง แต่รายได้หลักนั้นมาจากทุเรียนหมอนทอง
เมื่อปี 2552 คุณลุงเสดตัดทุเรียนไปรวม 115 ตัน เริ่มตัดขายตั้งแต่ราคากิโลกรัมละ 50 บาท และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 22 บาท ต่อกิโลกรัม ลงทุนเป็นเงินสดไปราวๆ 250,000 บาท มีรายได้จากการขายทุเรียน ลองกองและมังคุด รวมเป็นเงินประมาณ 3,125,000 บาท คิดแล้วการผลิตทุเรียนแนวนี้ ทำให้คุณลุงเสดอยู่ได้ เพราะต้นทุนค่อนข้างต่ำ ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน รวมทั้งลูกหลานที่ยังเรียนหนังสือ ฝึกให้เขารู้จักการทำงาน รักงานตั้งแต่เด็กๆ ที่สุดแล้วเขาก็ได้รับค่าตอบแทนที่มากพอและทุกคนก็พอใจ ในฤดูปี 2553 ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น คาดว่าจะตัดทุเรียนได้ 120 ตัน รุ่นแรกจะเก็บเกี่ยวได้วันที่ 27 เมษายน 2553 มีทุเรียนแก่ที่ตัดได้ 15,000 ผล น้ำหนักโดยเฉลี่ย 3-4 กิโลกรัม ต่อผล คิดว่าราวๆ 50 ตัน ส่วนรุ่นที่ 2 จะตัดได้วันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ก็ประมาณ 16,000 ผล น้ำหนักราวๆ 50-60 ตัน ใกล้เคียงกับรุ่นแรก หากใครสนใจที่จะซื้อทุเรียนคุณภาพดีก็ติดต่อไปได้ที่คุณลุงเสดโดยตรง อยากให้มาดูที่สวนก่อนให้แน่ใจ ส่วนราคาซื้อขายนั้นตกลงกันได้ ผมเป็นคนที่พูดง่ายไม่เอาเปรียบผู้ค้า
ชาวสวนรุ่นใหม่ต้องใส่ใจการบริหาร
การปฏิบัติในสวน คุณลุงเสดเป็นคนจัดการทุกด้าน ตั้งแต่การใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ตัดแต่งกิ่ง ดอก ผล ซึ่งคุณลุงเสดจะวางแผนการทำงานไว้อย่างเป็นขั้นตอนตลอดทั้งปี แล้วมอบหมายให้ลูกหลานและคนงานไปทำ คอยแนะนำ ควบคุมดูแลและลงมือทำไปด้วย ให้เป็นไปตามช่วงเวลาและกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ จนที่สุดถึงการขายผลผลิต ซึ่งคุณลุงเสดขายทุเรียนแบบเหมายกสวน จะตกลงกับพ่อค้า/แม่ค้ากันเลย โดยมีข้อมูลด้านจำนวนลูกทุเรียน ขนาดน้ำหนักผลเฉลี่ย ช่วงการแก่และตัดได้ให้เขาไปพิจารณา หลังจากที่ตกลงซื้อขายกันแล้วก็จ่ายเงินกันเมื่อมาตัดทุเรียนในแต่ละครั้ง ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาด้านราคาซื้อขาย เพราะพ่อค้าส่วนมากเป็นขาประจำกันมาก่อน ส่วนรายใหม่ก็มีบ้างที่เขาต้องสอบถามข้อมูลมากหน่อย แล้วก็มีการต่อรองราคากันบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการค้าขาย
สิ่งหนึ่งที่คุณลุงเสดให้กับผู้เหมาสวน คือไม่กำหนดวันว่าเขาจะตัดทุเรียนหมดเมื่อไร ตามแต่เขาจะสะดวกและผมก็จะดูแลทุเรียนส่วนที่ยังไม่ได้ตัดให้เป็นอย่างดี ไม่มีการแอบขายต่อหรือสูญหายแม้แต่ลูกเดียว เพราะทุเรียนทุกลูกเป็นของเขาไปแล้ว ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน อีกอย่างคุณลุงเสดได้ติดป้ายบันทึกจำนวนผลทุเรียนไว้ทุกต้น ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบจำนวนผลทุเรียนในแต่ละต้นได้ และเพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานคุณภาพของทุเรียนและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอนนี้คุณลุงเสดได้สร้างโรงคัดแยกผลผลิตขึ้น เพื่อคัดเกรดทุเรียน มังคุดและลองกอง เป็นการรองรับลูกค้าหรือให้เป็นทางเลือกของลูกค้าที่มีความต้องการทุเรียนที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดผล ความแก่ ห่ามหรือผลสุก ราคาก็ว่ากันไปตามที่กำหนดหรือแล้วแต่จะตกลงกัน เรื่องที่สำคัญมาก คือการเงิน ทั้งรายจ่ายและรายรับทุกอย่างในครอบครัว ซึ่งตรงนี้ผมมีการจดบันทึกทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้อย่างละเอียด เพื่อทราบสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวแล้วมาคำนวณดูว่าเป็นอย่างไร จะได้ปรับให้เหมาะสม ดังนั้น การเบิกจ่ายเงินจะเป็นไปอย่างมีเหตุผล รายได้จะฝากธนาคารไว้ คุณลุงเสดจะถือบัญชีไว้คนเดียว ค่าใช้จ่ายของทุกคน ค่าจ้าง คุณลุงเสดจ่ายให้ทุกคนแบบพอใช้และมีส่วนเหลือเก็บ คุ้มกับงานที่ได้ทำร่วมกัน
จุดเด่นทุเรียนหมอนทองลุงเสด
ที่ว่าทุเรียนหมอนทองสวนผมมีคุณภาพดีเด่นนั้น ขออธิบายอย่างนี้ ประเด็นแรก คุณลุงเสดเน้นที่การตัดทุเรียนระยะผลแก่เต็มที่ บ่มสุกตามธรรมชาติ ไม่จุ่มสารเร่งการสุก แม้ว่าจะขายแบบเหมาสวนแต่ผู้ซื้อจะต้องตัดทุเรียนที่แก่จัดเท่านั้น นี่เป็นข้อตกลงกันตั้งแต่เจรจาซื้อขาย คุณลุงเสดต้องการรักษาชื่อเสียงที่สะสมมายาวนาน ประการต่อมา เป็นทุเรียนปลอดสารพิษ เพราะที่สวนไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูทุเรียนทุกชนิด ผ่านการรับรองแปลงผลิตตามระบบ GAP จากกรมวิชาการเกษตร ประการที่สาม ทุเรียนทุกลูก จะสมบูรณ์เต็มพู มีหลายเมล็ด เปลือกบาง เนื้อมากเมล็ดลีบ เนื้อสีเหลืองทองสวยงาม เหนียวเนียน รสชาติหวานมัน กลิ่นหอม เส้นใยในเนื้อน้อย เนื้อแห้งร่อน ไม่ติดพู แกะง่าย จับถือไม่เปื้อนมือ (ไม่ติดมือ) เก็บไว้ได้นาน สุกเนื้อไม่เละ ไม่เน่าไม่เสียง่าย และประการที่สี่ ผิวสะอาดทุกลูก ปราศจากโรคและแมลงศัตรู สารปนเปื้อน ข้อดีเหล่านี้ทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่ได้รับประทานทุเรียนจากสวนของผม ส่งประกวดในงานผลไม้ประจำปีจังหวัดระยองก็ชนะเลิศมาหลายครั้ง คว้ารางวัลมากมาย นี่เป็นสิ่งยืนยันคุณภาพให้กับทุเรียนของคุณลุงเสด
สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ ให้สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณลุงเสด ใจดี โทร. (086) 144-9103 และที่สำนักงานเกษตรอำเภอแกลง จังหวัดระยอง โทร. (038) 671-379
จากการเยี่ยมชมสวนทุเรียนหมอนทองของ คุณลุงเสด ใจดี ปราชญ์ไม้ผล แห่งอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่เล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้ผู้เขียนและคณะได้ฟัง ซึ่งเห็นว่ามีสาระสำคัญในกระบวนการผลิตทุเรียนหมอนทองคุณภาพ จึงขอสรุปประเด็นหลักที่น่าสนใจไว้ดังนี้
1. การเตรียมสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์พวกขี้ไก่ ปุ๋ยหมักชีวภาพและใช้ประโยชน์จากกิ่งและใบทุเรียนที่ตัดแต่งออก โดยสุมไว้ใต้ทรงต้น ปล่อยให้ผุพัง ทำให้ดินดีขึ้นแล้วก็กลายเป็นปุ๋ยทุเรียน
2. ปุ๋ยหมักชีวภาพทำจากวัสดุหาง่ายในพื้นที่ เช่น ใบตำลึงหรือผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า น้ำตาลทรายแดง นำไปหมักให้สลายตัวจนได้ที่ สามารถใช้เป็นปุ๋ยทางใบ หรือทางดิน ทำให้ทุเรียนได้รับฮอร์โมนและธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์และเป็นสารไล่แมลงศัตรูทุเรียนบางชนิดได้อีกด้วย
3. มีการให้น้ำทุเรียนตลอดปี แต่ให้ในระดับที่เหมาะสมตามช่วงเวลา แสงแดด และฤดูกาล ช่วยให้ทุเรียนมีความแข็งแรง สามารถได้รับธาตุอาหารจากดินตลอดฤดู ช่วยในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ และปรับสภาพแวดล้อมในดินให้เหมาะสม มีผลต่อจำนวนประชากรของไส้เดือนดินที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อต้นทุเรียนแบบถาวร
4. การใส่ปุ๋ยเคมีพิจารณาตามความต้องการของต้นทุเรียน โดยการสังเกตดูใบและปริมาณผลผลิตที่ตัดออกจากสวน/ต้น การใส่ปุ๋ยขี้ไก่ ปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต
5. การตัดแต่งผลทุเรียนเพื่อเลี้ยงไว้ในปริมาณที่พอเหมาะ เลือกขนาดของกิ่งที่ไว้ผล จำนวนผลทุเรียน/กิ่ง จำนวนผลทุเรียน/ช่อ และการเลือกตัดแต่งผลที่ไม่ต้องการทิ้งไป
6. มีการวางแผนการผลิตและบริหารจัดการสวนอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบค่าใช้จ่าย รายรับทางระบบบัญชี และประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่โดยการเรียนรู้และประเมินผล
7. จุดเน้นที่พัฒนาคุณภาพผลผลิตอย่างเคร่งครัด มีความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้า และเป็นผู้นำด้านความรู้และการปฏิบัติในชุมชนและบุคคลทั่วไป
ที่มา http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05028150553&srcday=2010-05-15&search=no |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
meninblack สาวดอง
เข้าร่วมเมื่อ: 15/02/2010 ตอบ: 81
|
ตอบ: 25/05/2010 12:35 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
สักวันหนึ่งจะเป็นเช่นลุงเสดบ้าง....ส่วนวันนี้ล้มลุกคลุกคลานไปก่อน |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
kimzagass หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009 ตอบ: 11658
|
ตอบ: 25/05/2010 5:11 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
ที่มา คัดลอกจาก http://www.thairath.co.th/today/view/82033
เทศกาลผลไม้ระยอง หมอนทองพ่ายกระจิบ
ไพบูลย์ - สยุมพร - สุนทร
ผล ไม้ตามฤดูกาล ไม่อาจห้ามให้ออกมาพร้อม กันได้ ชาวสวนและภาครัฐจึงต้องร่วมกันหาทางออก
"ชาวสวนต้องอดทน ทำใจ และขยัน" เจ้าของสวนทุเรียนพันธุ์นกกระจิบบอก ท่ามกลางเสียงนกเริงร้อง
เมื่อ มองเข้าไปในสวน เห็นมังคุดอายุ 100 ปีผลสีเขียวๆ ซ่อนอยู่ใต้ใบดกหนา ทุเรียนอวดหนามแหลมอยู่บนกิ่ง เหมือนจะท้าทายให้ชมและชิม
นายไพบูลย์ อรัญนารถ เจ้าของสวนคุณไพบูลย์ อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลนาตาขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อธิบายคำว่าอดทนว่า หมายถึง อดทนต่อความยากลำบากในการทำงานและเฝ้ารอผลผลิต ซึ่งไม่อาจบอกได้ล่วงหน้าว่า จะดีหรือไม่ คำว่าทำใจ หมายถึง ต้องทำใจได้ เมื่อผลผลิตไม่เป็นไปตามวาดหวัง
ส่วนคำว่าขยันหมายถึง ต้องใส่ใจกับงานในสวน ตื่นเช้ามาต้องเข้าสวนเพื่อตรวจดูแมลงที่เข้ามากัดกินพืช เฝ้าบำรุงผลไม้ในสวนทุกๆต้นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวหรือฤดูกาลอื่นๆ
ด้วยความขยัน อดทน รวมทั้งรู้จักการพัฒนาการตลาด ลุงไพบูลย์ จึงเป็นเจ้าแรกที่สร้างชื่อทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง นกกระจิบ ให้เป็นที่รู้จัก
ลุงไพบูลย์เล่าว่า ทุเรียนพันธุ์นี้ ได้มาจากคนใกล้บ้าน ขั้นแรกภรรยาของตนนำมาปลูกไม่กี่ต้น แล้วค่อยขยายเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนใน พ.ศ.2553 ได้ถึง 300 ต้น ในเนื้อที่กว่า 50 ไร่
ลักษณะเด่นของทุเรียนพันธุ์นกกระจิบคือ มีผลขนาดเล็กน้ำหนักผลละประมาณ 1 กก. เปลือกบาง เมล็ดลีบ เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งไม่เละ รสหวาน มันอร่อย คล้ายทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งคือ กระดุม จนเชื่อกันว่า ทุเรียนพันธุ์นกกระจิบน่าจะเกิดจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองผสมกับกระดุม
แต่ ความจริงเป็นอย่างไรนั้น ลุงไพบูลย์บอกว่า ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ต้นพันธุ์มาจากพันธุ์อะไรผสมกับพันธุ์อะไร
ความพิเศษของทุเรียน พันธุ์นกกระจิบ แม้จะเป็นพันธุ์พื้นเมือง แต่ก็มีราคาสูงกว่าทุเรียนพันธุ์อื่นๆ
ขณะที่พันธุ์หมอนทองราคาที่ สวนกิโลกรัมละ 30 บาท ชะนีกิโลกรัมละ 18 บาท ก้านยาวกิโลกรัมละ 80 บาท แต่นกกระจิบมีราคาถึง 90 บาท แม้จะราคาแพงกว่าพันธุ์อื่นๆ ในจังหวัดระยอง แต่ก็พอรับประทานได้ ไม่แพงหูฉี่เหมือนทุเรียนเมืองนนท์
ราคาทุเรียน เมืองนนท์ พ.อ.เศรษฐศักดิ์ ไรภู เจ้าของสวนทุเรียนของเมืองนนท์ หมู่ 3 ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด นนทบุรี บอกว่า ถ้าเป็นพันธุ์ก้านยาวสวนนนท์แท้ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1,000 บาท ขึ้นไป ในบางปีผลผลิตออกมาสวนละไม่ถึง 10 ลูก ทำให้มีคนจับจองกันตั้งแต่อยู่บนต้น ในราคาลูกละ 10,000 บาท
ทุเรียน เมืองนนท์ 1 ลูก เกือบเท่ากับราคาทองคำ 1 บาทเข้าไปแล้ว
ราคา ทุเรียน พันธุ์นกกระจิบ จังหวัดระยอง แม้ความอร่อยจะไม่ด้อยไปกว่ากัน แต่กว่าจะสร้างราคาเป็นกิโลกรัมละ 90 บาทได้ ต้องผ่านอุปสรรคมาไม่น้อยเหมือนกัน ถ้าให้พ่อค้าคนกลางตีราคาทุเรียนพันธุ์นี้ ราคาต้องต่ำกว่าหมอนทองแน่นอน เพราะเป็นพันธุ์พื้นเมือง และไม่ค่อยมีใครรู้จัก
เรื่องการสร้างราคา นี้ สุภาภรณ์ อรัญนารถ ลูกสาวของลุงไพบูลย์ บอกว่า ถ้าปล่อยให้กลไกการตลาดที่มีพ่อค้าคนกลางเป็นผู้ควบคุมราคา จะไม่มีวันที่เกษตรกรชาวสวนจะขายได้ราคา จึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้หลุดพ้นจากวงจรพ่อค้าคนกลาง
การทดลอง เริ่มขึ้นโดย เช่าร้านที่ห้างเสรีเซ็นเตอร์ แล้วเอาทุเรียนพันธุ์นกกระจิบมาวางขายด้วยตนเอง กำหนดราคาด้วยตนเองโดยไม่สนใจว่า ราคาทุเรียนพันธุ์อื่นๆ จะถูกหรือแพงกว่าเท่าไร
ไม่คาดฝันว่า เริ่มกำหนดที่กิโลกรัมละ 90 บาท ซึ่งแพงกว่าหมอนทอง และพันธุ์อื่นๆ ที่นิยมและรู้จักกัน แต่กลับได้รับการต้อนรับจากผู้ชอบรสทุเรียนเป็นอย่างดี จนราคาเขยิบขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงกิโลกรัมละ 120 บาท
เบื้องหลังการ กำหนดราคา ลุงไพบูลย์พูดทีเล่นทีจริงว่า ลุงรู้ว่าคนที่เดินในห้างเสรีเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่เป็นพวกไฮซ้อไฮโซ ถ้าเราไปกำหนดราคาถูกๆ แม้ของเราจะดี อร่อย เขาก็จะหาว่าของเราไม่มีคุณภาพ เกรดต่ำ เราจึงกำหนดราคาสูงไว้ และให้พิสูจน์ ได้ด้วยตัวเขาเองโดยให้ชิมฟรี
"ยินดี ให้ชิมได้ตลอดโดยไม่หวั่นว่าจะต้องสูญเสียทุเรียนฟรีๆไปเท่าใด เพราะเราคิดว่า ทุเรียนเป็นของเราเอง" ลุงไพบูลย์บอก
ผลจากกล้า ท้าทายกับลูกค้า จึงประสบความสำเร็จอย่างงาม ลุงเล่าว่า ขายทุเรียนพันธุ์นกกระจิบกันตั้งแต่ ประมาณ 06.00 น. ไปจนถึง 18.00 น. ไม่ได้หยุดได้หย่อน ยิ่งเป็นวันเสาร์ อาทิตย์ด้วยแล้ว แทบจะไม่ได้หยุดกินข้าวกันเลย
แม้จะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่สุขภาพของแต่ละคนไม่ใช่เครื่องจักร ทำให้แต่ละคนโรยแรงไปตามๆกัน หัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งของบ้านคือ สุภาภรณ์ จึงปรึกษากับครอบครัว ถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ที่บ้าน แล้วปิดร้านขายที่ห้างเสรีเซ็นเตอร์
"ระหว่าง ที่เราขาย คนซื้อบางคนบอกว่าอยากเห็นสวน เราจึงเปิดสวนให้ท่องเที่ยว" สุภาภรณ์บอก
ด้วยเหตุนนี้ จึงเปิดสวนให้คนมาเที่ยว เป็นสวนเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวผลจากการเปิดสวนให้เที่ยวชมเมื่อปี พ.ศ.2552 มีคนเข้ามาเที่ยวถึง 3,500 คน
เรื่องขายแม้จะไม่ได้เปิดร้านขาย ทั่วไป แต่สุภาภรณ์ก็มีรูปแบบการขายใหม่ทันสมัย และตัดปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลางออกไป นั่นคือ ขายทางเว็บไซต์และรับสั่งจองทางโทรศัพท์ เมื่อลูกค้าสั่งก็ส่งสินค้าไปทางไปรษณีย์ให้ถึงบ้าน หรือไม่ก็ฝากไปกับรถ บขส. โดยให้ลูกค้ามารับที่ท่ารถเอง และจ่ายค่าขนส่งเอง
ชาวสวนผลไม้ ในจังหวัดระยอง นอกจากทำการตลาดเองอย่างสวนของลุงไพบูลย์แล้ว ยังมีสวนอื่นๆอีกที่หาทางออกให้ตัวเองอย่างสวนสุนทร
เจ้าของสวนคือ นายสุนทร ราชวัฒน์ ตั้งอยู่ที่ตำบลนาตาขวัญ อำเภอเมือง เป็นสวนลองกอง รสชาติดี แถมได้รับการการันตีว่าไม่ใช้สารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์
"จาก เดิมปีหนึ่งๆ สวนผมใช้เงินค่าปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกว่า 3 แสนบาท เวลานี้ พอมาปรับเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ลดค่าใช้จ่ายเหลือแค่ 1 แสนกว่าบาท เรียกว่าลดต้นทุนได้เยอะ แถมระบบนิเวศในสวนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" นายสุนทรบอก
เพราะเป็นลองกองปราศจากสารเคมี จึงส่งผลผลิตสู่ห้างดังในราคาดี
ผลไม้คุณภาพจากสวนต่างๆ ในระยองเหล่านี้ จะมารวมกันในงาน เทศกาล "ระยอง สวนสวรรค์ สารพันผลไม้" จัดระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ณ บริเวณตลาดกลางผลไม้ตะพง ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง บอกว่า งานนี้เพื่อส่งเสริมการขายผลไม้ระยอง เป็นการป้องกันสถานการณ์ผลไม้ราคาตกต่ำ ซึ่งทางจังหวัดได้มาช่วยแล้วหลายรูปแบบคือ ให้เงินกู้ราคาต่ำ ชดเชยค่าขนส่ง ให้กล่องบรรจุภัณฑ์ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลป้องกันมิให้ส่งผลไม้ไม่ได้คุณภาพออกจากสวน นอกจากนี้ ยังรับซื้อผลไม้จากชาวสวน เพื่อช่วยพยุงป้องกันผลไม้ล้นตลาด
ใน งานเทศกาลผลไม้ จะมีผลไม้ในจังหวัดระยองที่ออกในฤดูกาลนี้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น เงาะ ทุเรียน มังคุด จากสวนต่างๆ และยังมีตักบาตรผลไม้พระสงฆ์จำนวน 199 รูป ในวันเปิดงานอีกด้วย
คนชอบผลไม้ เที่ยวงานนี้นอกจากอิ่มท้องแล้ว ยังอิ่มบุญอีกด้วย.
นสพ.ไทยรัฐ
* โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
* 10 พฤษภาคม 2553, 13:46 น.
tags:,เทศกาลผลไม้ระยอง,สกู๊ปหน้า1,
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 25/05/2010 5:49 pm, แก้ไขทั้งหมด 2 ครั้ง |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
kimzagass หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009 ตอบ: 11658
|
ตอบ: 25/05/2010 5:14 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
มังคุดร้อยปี (เกษตรสร้างสรรค์)
ผมไปภาคตะวันออกหนนี้ ไปพบเจอสวนผลไม้ที่มีต้นไม้อายุนับร้อยปีอย่างมังคุดก็หลายสวน ไม่ใช่เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ว่า ร้อยปี ส่วนใหญ่นับขึ้นไปแค่ชั่วปู่ย่าก็เกินร้อยกันทั้งนั้น และมังคุดเป็นไม้โตช้า ถ้าต้นเบ้งๆ เชื่อได้ว่าหลายสิบจนถึงนับร้อยปีครับ
สวนคุณไพบูลย์ อรัญนารถ ที่ ต.นาตาขวัญ อ.เมือง ระยอง สร้างความต่างเรื่องราคา โดยกำหนดราคามังคุดร้อยปีที่กิโลละ 90 บาท มังคุดไม่ถึงร้อยปีก็ 30-50 บาท ตามแต่ช่วงเวลา สวนแห่งนี้มีต้นมังคุดร้อยปีร่วม 20 ต้น ลำต้นสูงใหญ่ ให้ผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 200 กิโลกรัม
มังคุดร้อยปีกับมังคุดอายุน้อยต่างกันไหม
ดูจากสภาพทั่วไปไม่ต่างกันเลย แต่พอผ่าผลมังคุดก็จะเห็นความต่าง .....หนึ่ง-มังคุดร้อยปีเปลือกจะบางกว่าเยอะเลย อันนี้เป็นหลักธรรมชาติของผลไม้..... สอง-เนื้อในของมังคุดร้อยปีจะขาวและฟูคล้ายกระท้อน.... สาม-รสชาติจะหวานกว่า ในขณะมังคุดหนุ่มสาวจะมีรสเจือเปรี้ยว ซึ่งเขาบอกว่า เหมือนกับคน ถ้ายังสาวๆ ก็มักเปรี้ยว แก่แล้วเปรี้ยวไม่ไหว ทำนองนั้น
เขียนมานี้เพื่อที่จะบอกว่า การที่สวนผลไม้มีต้นไม้อายุเกินร้อยปี แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษได้ปลูกไม้ผลเหล่านี้มายาวนาน มันถึงหลงเหลือเป็นประจักษ์พยานถึงวันนี้
แต่จะเป็นประจักษ์พยานอะไร อย่างไร เดี๋ยวว่ากันต่อ
ผมนั่งคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง คุณสยุมพร ลิ่มไทย ซึ่งพยายามช่วยชาวสวนผลใม้อย่างเต็มที่ตลอด 1 ปีที่มานั่งเก้าอี้นี้ ท่านยอมรับว่า มาตรการแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ภาคตะวันออกล่าช้าไม่ทันการณ์ ปีนี้ว่าเร็วกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังช้าอยู่ดี อนุมัติโครงการช่วยเหลือแล้ว แต่เงินยังมาไม่ถึง ข้าราชการในพื้นที่ก็ไม่กล้าทำ จนตัวท่านเองต้องบอกว่า ทำไปเลย เดี๋ยวรับผิดชอบเอง งานถึงเดินได้ ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ แต่รูปการณ์อย่างนี้ ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า ปีหน้าก็ไม่ดีไปกว่าปีนี้ ระบบช้ากว่าความเป็นจริงเสมอ
นี่เองที่ทำให้ชาวสวนผลไม้ต้องล้มละลายน่าเอน็จอนาถ
ผมเห็นมังคุดร้อยปีแล้วสะท้อนใจบอกไม่ถูก ต้นที่เหลืออยู่เหมือนเป็นอนุสรณ์ของความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ของชาวสวนผลไม้ ไประยองหนนี้ก็จ๊ะเอ๋เข้ากับสวนที่เปิดให้เข้าชมและชิม แต่เริ่มปลูกต้นยางพาราแซมไว้เป็นแถวๆเป็นเวลาปีกว่าแล้ว ผมไม่ต้องถามว่าปลูกไปทำไม
อย่างที่เคยเขียน ก่อนเป็นสวนผลไม้ พื้นที่ระยองหลายแห่งเป็นสวนยางมาก่อน พอราคายางไม่ดีก็หันไปปลูกผลไม้ที่ราคาดีกว่า ตอนนี้ผลไม้ไม่ดี ยางดีมากกิโลละ100 บาทก็หันไปปลูกยางอีกกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ฆ่าเกษตรกรนับศพไม่ถ้วนแล้ว
ร้อยปีที่ผ่านมา เป็นอย่างนี้ กระท่อนกระแท่น จั๊กแหล่นล้มหายตายจาก อีกร้อยปีหรือไม่ถึง บวกกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลอย่างที่กล่าวข้างต้น ชาวสวนผลไม้ตายยังไงก็ไม่มีทางที่ตาจะหลับหรอกครับ
เรามีสวนผลไม้คุณภาพเยี่ยมระดับโลก แต่ร้อยปีเราก็ปล่อยให้เขาเหล่านั้นล้มตายมาโดยตลอด ประเทศไทยวันข้างหน้า คงต้องซื้อหาผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านกินแทนละครับ
พอใจ สะพรั่งเนตร
ที่มา : แนวหน้า |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
kimzagass หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009 ตอบ: 11658
|
ตอบ: 29/05/2010 6:10 am ชื่อกระทู้: |
|
|
พลิกสวนทุเรียนให้เป็นทอง อย่างพอเพียง
ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ผ่านวิกฤติฟองสบู่แตก เมื่อปี 2539-2540 รัฐบาลยุคนั้นทำให้คนไทยที่ทำการค้าอยู่ดีๆ กลับมีหนี้สินขึ้นมากว่า 100% นักธุรกิจที่มองโอกาสไม่ทะลุ ไม่เห็นช่องทางในชีวิตอีกต่อไปแล้ว ต้องสูญเสียชีวิตและครอบครัวไปอย่างน่าเสียดาย หลายคนหมดอาลัยไม่อยากสู้ต่อไป
ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้แนวทางการดำรงชีวิตในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ให้ทุกคนยึดหลัก เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องเตือนใจ และฟันฝ่าสู้ภัยเศรษฐกิจจนสำเร็จ สุภาภรณ์ อรัญนารถ สาวระยองใฝ่ฝันที่จะเป็นนักธุรกิจ จึงมุ่งมั่นเรียนจนจบปริญญา แล้วมาทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
งานดี เงินเดือนงาม ที่สำคัญโบนัสปีละ 11 เดือน ทำให้สุภาภรณ์มีเงินใช้อย่างไม่ขาดมือ แต่เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจมาถึง สุภาภรณ์ถูกปลดออกจากงาน ไม่รู้จะเริ่มต้นชีวิตอย่างไร จึงกลับบ้านมาช่วย คุณพ่อไพบูลย์ อรัญนารถ ดูแลสวนผลไม้ของครอบครัวที่มีอยู่เพียง 50 ไร่ ทิ้งคราบสาวนักการเงิน หันมาป่ายปีนต้นทุเรียน มังคุด เงาะ ดูแลประคบประหงมต้นไม้ของพ่อทุกต้น ให้ฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาไม่กี่ปี โดยได้รับความช่วยเหลือจาก สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ให้ความรู้ให้สอนให้ใช้ปุ๋ยธรรมชาติจนสามารถฟื้นสวนของพ่อ ให้เป็นสวนผลไม้ตัวอย่าง ต้นมังคุดที่ก๋งปลูกไว้เมื่อ 100 ปีก่อน ให้ผลมังคุดที่มีรสชาติอร่อย จนขายได้ถึงกิโลกรัมละ 90 บาท ขณะที่มังคุดทั่วไปกิโลกรัมละ 10 บาทเท่านั้น ทุเรียนก้านยาวกิโลกรัมละ 200 บาท เงาะสีทองกิโลกรัมละ 50 บาท ใครอยากกินต้องโทรศัพท์ไปสั่งจองไว้ก่อน
ท่องโลกเกษตร กับ คม ชัด ลึก ครั้งที่ 1 ผมจะพาไปชิมทุเรียน มังคุด ที่ สวนลุงไพบูลย์ แล้วไปกินอาหารทะเลสดๆ ที่ ร้านตังเก ของ เจ๊ดำ กินเกี๊ยวปลาสามย่าน ที่ อ.แกลง แล้วเข้าสวนกินอาหารพื้นบ้านเมืองระยอง ข้าวห่อกาบหมาก แกงไก่ใส่กระทือ ที่ร้านสวนย่าสน
เดินทาง วันที่ 12-13 มิถุนายนนี้ ค่าลงทะเบียน 3,852 บาท พักโรงแรมระยองสตาร์ และอาหารอร่อยทุกมื้อ จองด่วน โทร.0-2338-3356-7, 08-9497-5500
ข้าวห่อกาบหมาก สวนย่าสน บ้านค่ายระยอง
ธีระ กิจเจริญ วิทยากรงานเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง พาผมไปสำรวจเส้นทาง ท่องโลกเกษตร กับ คม ชัด ลึก ครั้งที่ 1 ตะลุยไปชมสวนผลไม้หลายสวน ก่อนที่ผมและ สุรัตน์ อัตตะ จะตัดสินใจวางแผนการเดินทาง เพื่อพาผู้อ่านหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" ไปดูงานด้านการเกษตรที่ จ.ระยอง
เที่ยวจนเหนื่อยและหิวเต็มที่ แทนที่ผมจะได้กินอาหารทะเลสดๆ ธีระกลับพาผมขับรถฝ่าเข้าไปในทุ่งนา บุกเข้าไปในสวนบ้านซากกอไผ่ อ.บ้านค่าย เพื่อไปกินข้าวที่ ร้านสวนย่าสน ซึ่งธีระเอาสวนมะพร้าวของพ่อแม่ มาสร้างนั่งร้านหลังคามุงจาก ปูเสื่อจันทบูร ทำเป็นร้านอาหารง่ายบริการลูกค้า
ร้านสวนย่าสน เดิมเป็นที่ชุมนุมสมาชิกเกษตรกร นั่งกินข้าวปรับทุกข์งานเกษตรกัน ธีระจะนำวัตถุดิบอาหารเท่าที่หาได้ในสวน มาทำกับข้าวเลี้ยงกินกันเอง จนพัฒนาเป็นร้านอาหารท่ามกลางธรรมชาติร่มไม้ ให้ป้าอุ๊ (พี่สาวคุณธีระ) ทำหน้าที่แม่ครัว ระดมลูกหลานในบ้านมาช่วยกันทำกับข้าว ทุกวันนี้ สวนย่าสน กลายเป็นที่นัดพบของกลุ่มเกษตรกร นักข่าว และข้าราชการใน อ.บ้านค่าย
อาหารในร้านสวนย่าสน เป็นอาหารพื้นบ้านดั่งเดิมของชาวระยอง เริ่มด้วย ข้าวห่อกาบหมาก ใช้กาบหมากแห้งห่อข้าวสวย ปลาทูทอด ผักลวก และน้ำพริกกะปิ มัดรวมกันอย่างมิดชิด เมื่อเปิดกาบหมากออกมา ก็ใช้มือเปิบข้าวกินได้ทันที ข้าวห่อกาบหมาก เคยเป็นอาหารสำหรับชาวไร่ชาวสวน ชาวประมงออกหาปลาในทะเล เอาข้าวห่อกาบหมากไปกินระหว่างทาง
อ.บ้านค่ายมี กระทือ เยอะ ธีระจึงเอากระทือมาทำ แกงไก่ใส่กระทือ เป็นอาหารอร่อยของชาวระยอง ใช้รากระทือที่มีสรรพคุณทางยา ขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับปัสสาวะ บำรุงน้ำนมคุณแม่ แกงไก่ใส่กระทือรสชาติเผ็ดซาบซ่าดีนัก
ปลาอินทรีจากทะเลระยองใหม่สดทุกวัน ป้าอุ๊จึงแล่เนื้อปลาอินทรีให้เป็นชิ้นโตๆ ทอดให้กรอบ แล้วราดด้วยน้ำปลาอย่างดีเป็น ปลาอินทรีทอดราดน้ำปลา อร่อยถูกใจผมมาก ต้มระกำพวงไข่อ่อนเครื่องในไก่ ใช้ระกำที่มีมากในหน้านี้ เอามายีให้ออกรสเปรี้ยวต้มกับไข่อ่อนและเนื้อไก่บ้าน อร่อยกว่าต้มยำปรุงรสด้วยมะนาวมาก
แถวร้านครัวย่าสนเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ ธีระจึงให้เด็กๆ ไปช้อนจับปลาซิวตามท้องร่องไร่นาเอา ปลาซิวทอดกรอบ เหยาะพริกไทยป่นตรามือ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วและน้ำตาลอย่างดีเท่านี้ปลาซิวก็กินอร่อย กุ้งฝอยที่มีอยู่ตามลำคลองเล็กๆ ธีระก็จับเอามาชุบแป้งทอดกรอบๆ กินอร่อยเหมือนกัน
ห่อหมกปลาช่อนใบมัน ใช้ปลาช่อนท้องนามา ห่อจี่ (เนื้อปลาผสมพริกแกงห่อแล้วนำไปย่างไฟให้สุก) ใส่ใบมันสำปะหลังอ่อนที่มีปลูกกันมาก อร่อยกว่าห่อหมกกรุงเทพฯ ต้มหมูชะมวง ไก่คั่วเกลือ อาหารพื้นบ้านทำง่ายๆ แต่อร่อยแบบลูกทุ่งชาวระยองฮิ กินอิ่มแล้วธีระยังมีหมอนและพัดลม แจกให้นอนบนเสื่ออย่างสบายๆ
ร้านสวนย่าสน (คนเคยมา) ต.บ้านกอไผ่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โทร.08-1664-9424, 08-9807-3789
อ.ไชยแสง กิระชัยวนิช
ที่มา : คม ชัด ลึก |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
kimzagass หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009 ตอบ: 11658
|
ตอบ: 29/05/2010 6:30 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
อืมมมม...สงสัย สงสัย
เคยได้ยินคุณอ้อ.เล่าประวัติชีวิตการทำงานส่วนตัวให้ฟัง เมื่อคราวไปเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรที่ไร่กล้อมแกล้ม ว่า..... คุณอ้อ.เคยทำงานรับเหมาก่อสร้าง มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตัวเอง ปัญหาหนักที่สุดคือ คนงาน ทั้งเบื่อทั้งเหนื่อย มากๆ เข้าก็เลยเลิกบริษัท กลับบ้านไปทำสวน โดยมีเป้าหมาย "ทายาทเกษตร" จะต้องทำให้ได้.....ประมาณนั้น
แล้วข่าวในสกรู๊ปพิเศษคราวนี้มีเรื่อง "บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์" เข้ามาเกี่ยวได้ไง หรือว่า เคยทำมาแล้วทั้ง 2 อย่าง
ขอโทษ....ถ้าเป็นการละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวในอดีต เพียงแต่ลุงคิมอยากวิเคราะห์ประสบการณ์อาชีพในอดีตของคุณอ้อ. เพื่อค้นหาคำตอบใน "ความสำเร็จ" ของอาชีพชาวสวนที่คุณอ้อ.กำลังได้รับอยู่ ณ วันนี้ แล้วจะขยายต่อไปถึงอนาคตด้วย.....นี่คือ อีกหนึ่งตัวอย่างแนวคิดและวางแผนที่ลุงคิมควรรู้ไว้ เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวสอนใครต่อใครได้ เท่านั้นแหละ
ชีวิตอย่างนี้น่าศึกษามาก....ขอโทษอีกครั้งนะ ถ้าเป็นการไม่บังควร
ลุงคิมครับผม |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
Aorrayong หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009 ตอบ: 869
|
ตอบ: 29/05/2010 7:40 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
หลังจากจบการศึกษา เริ่มชีวิตการทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจในตำแหน่งเจ้าที่การตลาดหลักทรัพย์ มีหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหุ้นให้กับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นช่วงที่ชีวิตมีสีสันเมื่อราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง(สีเขียว,สีแดงและสีเหลือง)
ชีวิตวนเวียนอยู่กับกำไร, ขาดทุน ได้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเมื่อมาประจำที่บริษัทหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจสาขาระยอง ซึ่งขณะนั้นก็ยังมองไม่เห็นคุณค่าชีวิตของชาวสวน คิดว่าเป็นงานหนักคงไม่สามารถทำได้ และได้มีโอกาสกลับเข้าเมืองกรุงอีกคราวในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดหลักทรัพย์บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน สำนักงานใหญ่
ทำอยู่จนเกิดวิกฤติการณ์ฟองสบู่แตก 56 ไฟแนนซ์ล้ม เกียรตินาคินเป็น 1 ใน 56 ที่ถูกสั่งระงับการดำเนินงานชั่วคราว ความรู้สึกที่หดหู่ที่สุดของการประกอบวิชาชีพนี้คือ วันที่หุ้นของ 56 ไฟแนนซ์จะถูกถอนออกจากตลาด
จากเดิมก่อนเหตุการณ์ราคาหุ้นแต่ละตัวพุ่งขึ้นไปราคาหลายร้อยบาท จนมาถึงวันที่ทุกอย่างสูญสลาย แม้แต่ใบหุ้นก็ยังไม่เหลือ เริ่มเห็นสัจธรรมของชีวิต
จากเดิมที่เคยใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ทองคำ บริษัทจะเสนอผลตอบแทนเพื่อเชื้อเชิญให้เข้ามาร่วมงาน มาเป็นบุคคลที่โดนลดเงินเดือน โบนัสคงไม่ต้องพูดถึง เลยตัดสินใจขอลาออกจากบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน
และได้มีโอกาสเข้าร่วมงานรับเหมาก่อสร้างโดยเริ่มในหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ จนกระทั่งอ่านแบบก่อสร้างได้ งานรับเหมาก่อสร้างก็สนุก ท้าทายเพราะจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา
งานรับเหมาทำควบคู่ไปกับการเริ่มนำผลผลิตทุเรียนนกระจิบไปจำหน่ายที่ห้างเสรีเซ็นเตอร์ จนกระทั่งพ่อได้รับอุบัติเหตุไม่สามารถรับผิดชอบงานในสวนได้อีก
เหมือนเป็นวิกฤติที่ต้องตัดสินใจ ถ้าไม่ใช่เรา ใครจะเป็นผู้สืบทอดอาชีพชาวสวนของพ่อ เพราะลูกๆ ที่เหลือไม่มีใครให้ความสนใจในอาชีพนี้เลย "คงต้องเป็นเราแล้วล่ะ"
แล้วจะทำได้อย่างไร? ผลตอบแทนในแต่ละปีที่พ่อแม่เคยทำก็ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป ทำแล้วก็ต้องบากหน้าหอบเอาไปง้องอนขอให้แม่ค้าพ่อค้ามาซื้อผลผลิต เริ่มมองเห็นปัญหาและอุปสรรคของอาชีพนี้
ถ้าเช่นนั้นเราต้อง "พัฒนา" พัฒนาจากสิ่งที่มี นั่นคือ การลงทุนที่ต้นทุนถูกที่สุด ไม่น่าเชื่อเลยว่าแค่คำว่า "พัฒนา" ก็สามารถจุดประกายความคิดรอบด้านให้เราได้
ก็แค่ความหลัง...ไม่เห็นจะน่าสนใจเลย.......ว่ามั้ย ? |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
ott_club หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 20/07/2009 ตอบ: 718
|
ตอบ: 29/05/2010 9:16 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
พอได้อ่านความหลัง(คนแก่มักย้อนอดีต) ทำให้เห็นภาพว่าสิ่งที่ลุงพูดอยู่เสมอๆ ว่าการทำเกษตรตามแนวทาง "อินทรีย์นำ - เคมีเสริม - ตามความเหมาะสม" เนี่ย สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ "ใจ"
ปีนี้ดังขนาดนี้ แล้วปีหน้าจะขนาดไหน (คิดแผนการสร้างห้องน้ำเพิ่มด้วยนะ)
ott_club |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
Aorrayong หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009 ตอบ: 869
|
ตอบ: 30/05/2010 7:20 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
ถ้าเรามุ่งมั่นในการทำงานไม่ว่าจะทำอะไรเราก็จะประสบความสำเร็จได้ ทำให้คิดถึงเกษตรกรคนอื่นๆที่สามารถจะพัฒนาตัวเองได้ แต่ไม่ยอมทำกัน
ทุกสื่อที่เข้ามา ไม่เคยร้องขอ ยังเชื่อมั่นว่า ถ้าเราดีจริง เด่นจริง สิ่งต่างๆจะมาหาเราเอง จริงๆแล้วไม่อยากดังเร็วขนาดนี้ เพราะคิดว่าการทำงานที่ผ่านมาทุกปี เราจะพบปัญหาและอุปสรรค เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมของเรา สู่มาตราฐานมืออาชีพ
จะว่าไปแล้วเรื่องดังหรือไม่ดังไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ จะให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้ามากกว่า |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
Aorrayong หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009 ตอบ: 869
|
ตอบ: 30/05/2010 9:32 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
ที่มา http://www.naewna.com/news.asp?ID=212843
เกษตร-สิ่งแวดล้อม
เชย...ชมสวน (หยั่งรากผลิใบ)
ไม่ได้หมายถึงการเชยชมสวนครับ เป็นเรื่องลุงเชยแกชมสวน และเป็นสวนผลไม้ด้วย
ผมเป็นลุงเชยที่ถูกอวิชชาความไม่รู้กักขังเอาไว้ พอพ้นกรงได้เมื่อไหร่ค่อยได้วิชากลับมาล้างความโง่เสียคราวๆ ไป
ลำพังเฉพาะสวนผลไม้ที่ระยองแห่งเดียว เฉดหัวความโง่ออกไปได้พอประมาณ ยิ่งนึกถึงสวนผลไม้ทางเหนือ อีสาน ยันใต้ด้วยแล้ว ความรู้น่าจะคับพุงพอประมาณ
ไปชมสวนทุเรียนระยอง เป็นทุเรียนแฟนซีกลายๆ ต้นหนึ่งมีผลหลายเผ่าพันธุ์ เริ่มต้นที่ส่วนล่างสุดคือราก ต้นทุเรียนที่นี่มีหลายรากน้องๆ ต้นโกงกางยักษ์ เจ้าของสวนต้องการเสริมให้เกิดความเข้มแข็งไม่ให้โค่นล้มง่าย แถมยังสามารถหากินได้ดียิ่งขึ้น
ต้นตอเจ้าของรากจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ทนทานต่อโรค แมลง เหมือนคนพื้นเมืองยังไงยังงั้น ถัดขึ้นมาเขาเอากิ่งพันธุ์ชะนีมาต่อ กิ่งนี้จะให้ผลเป็นชะนี ถัดอีกชั้นก็แล้วแต่เจ้าของอยากปลูกพันธุ์ไหนก็เอามาต่อเป็นพันธุ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นหมอนทอง ยกเว้นสวนคุณไพบูลย์เจ้าตำรับพันธุ์นกกระจิบ ที่ราคาดี
ดูแล้ว เห็นแล้ว ได้แต่บอกว่า เกษตรกรไทยนี่เก่ง ถ้าเรื่องทุเรียนน่าจะกล้อมแกล้มเอาว่า เก่งที่สุดในโลกก็ว่าได้กระมัง
บางสวนหาญกล้าถึงขนาดหั่นหรือทอนความสูงของลำต้นลง เป็นการทดลองปรากฏว่า ส่วนใหญ่รอด หลายสวนก็เอาอย่างบ้าง โดยเฉพาะต้นทุเรียนยิ่งสูง ไม่ได้หนาวนะ แต่ยิ่งเสียว เก็บก็ยาก แถมหล่นใส่หัวก็อันตรายเหลือ
สวนคุณไพบูลย์กำลังปฏิบัติการสร้างพันธุ์ใหม่ ประเภทหลงลับแล หรือหลิน ลับแล พันธุ์พื้นเมืองของอุตรดิตถ์ที่โด่งดังไม่ต่างจากนกกระจิบสายพันธุ์เดิมจาก นนทบุรี
หลงลับแลที่ระยองราคากิโลเกินร้อยบาท พลอยทำให้ราคาในท้องถิ่นอุตรดิตถ์พลอยพุ่งพรวดขึ้นมาด้วย
สวนผลไม้ระยองบางแห่งมีความมั่นคงเรื่องน้ำ โดยเฉพาะแถบต.นาตาขวัญ อันนี้ได้รับอานิสงส์จากระบบสูบน้ำชลประทาน ดึงน้ำเข้าพื้นที่เก็บไว้ในสระของแต่ละสวน สามารถใช้ได้ตลอดเวลา ขณะนี้เริ่มกระจายไปยังแถบ ต.บ้านแลง หรือพื้นที่อื่น
อันนี้สะท้อนให้เห็นว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญ ปลูกพืชแล้วได้น้ำก็ยังหาเพียงพอไม่ ยังต้องได้รับน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผิดจากนั้น พระท่านว่าไม่เป็นคุณเช่นกัน เหมือนคนเรากำลังปวดท้องฉี่ แล้วดันมีคนยกน้ำมาให้กินนั่นแล
พูดถึงน้ำปีนี้ก็น่าห่วงอยู่ กรมอุตุนิยมวิทยาทำนายทายทักว่า ปรากฏการณ์เอล นิโญ่ กำลังอาละวาด คาดหมายว่าปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยจะต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ถ้าเป็นจริงเป็นเรื่องใหญ่
พื้นที่ทำนา โดยเฉพาะเขตทุ่งราบภาคกลางกระทบแน่นอน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯกำลังพิจารณาแนวทางให้เกษตรกรทำนา 2-3 แบบ ซึ่งไม่ว่าแบบไหนสรุปว่า ปีหนึ่งให้ทำนาได้ไม่เกิน 2 ครั้งจากแต่เดิม 3 ครั้ง หรือ 2 ปี 5 ครั้ง ซึ่งนอกจากสร้างปัญหาโรคแมลงแล้ว ยังกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำด้วย
ถ้ากรมชลประทาน ผู้จัดการน้ำเป็นหัวหอก โดยมีนโยบายรัฐบาลสนับสนุนแข็งขันก็น่าจะเป็นไปได้
ที่กลัวๆอยู่ กรมชลประทานแข็งขันจริง แต่นโยบายกลับโงนเงนกลัวคะแนนเสียงย่อหย่อน เมื่อนั้นแหละกรมชลประทานก็จะหาวเรอปวดหัวเรียกหาน้องซาร่าห์ ทาท่ายัง กันวันละหลายเวลา
ชมสวนผลไม้อยู่ดีๆ ไหง ดันผ่ามาลงเอาที่น้ำที่ข้าวได้ยังไงละเนี่ย
ชีวินตัย
วันที่ 28/5/2010 |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
hang สาวดอง
เข้าร่วมเมื่อ: 11/11/2009 ตอบ: 25
|
ตอบ: 02/06/2010 9:34 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
ขอคำว่า "หยั่งรากผลิใบ" ไปใช้นะครับพี่อ้อคนสวย แน่ะ!ชมว่าสวยชอบหละซิ อิ อิ |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
kimzagass หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009 ตอบ: 11658
|
ตอบ: 04/06/2010 6:06 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
จากลูกจ้างบริษัท สู่วิถีเกษตรกร ชีวิตวันนี้ของ "อ้อ" สุภาภรณ์ อรัญนาถร แห่งสวนไพบูลย์ระยอง
บัณฑิตเศรษฐศาสตร์จากรั้วนนทรีที่หันมาสวมหมวกเกษตรกรอย่างเต็มตัวตามรอยบุพการี "สุภาภรณ์ อรัญนารถ" หลังเป็นโบรกเกอร์ในสถาบันการเงินที่กรุงเทพฯ อยู่พักใหญ่ ก็ตัดสินใจลาออกมาช่วยครอบครัวทำสวนผลไม้ที่บ้านเกิด ต.นาตาขวัญ อ.เมือง จ.ระยอง ที่บรรพบุรุษได้บุกเบิกไว้ ภายใต้ชื่อ "สวนไพบูลย์" ของลุงไพบูลย์ อรัญนารถ ผู้เป็นบิดา
สุภาภรณ์ กลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการลงมากู้วิกฤติของสวน หลังจากลุงไพบูลย์ ผู้เป็นพ่อเคยนำทุเรียนมาขายที่กรุงเทพฯ โดยผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ราคากลับตกต่ำทำไปแล้วไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เธอจึงมาคิดว่าถ้าปล่อยให้กลไกตลาดที่มีพ่อค้าคนกลางเป็นผู้ควบคุมจะไม่มีวันที่เกษตรกรชาวสวนจะขายผลผลิตได้ราคา
ด้วยเหตุนี้ทำให้เธอคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้หลุดพ้นวงจรพ่อค้าคนกลางได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สุภาภรณ์ตัดสินใจมาเช่าบูธในห้างเสรีเซ็นเตอร์แล้วนำทุเรียนพันธุ์ "นกกระจิบ" สายพันธุ์เก่าแก่ที่แทบสูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งผลไม้ที่ขึ้นชื่อของสวนมาวางขายและกำหนดราคาเอง โดยเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 90 บาท ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าวิธีการนี้ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน พร้อมเปิดกลยุทธ์ในการขาย เริ่มต้นด้วยการเปิดให้ลูกค้าชิมฟรี ด้วยคุณภาพและรสชาติความอร่อย ทำให้ลูกค้าไม่ปฏิเสธ ขายดีอย่างเทน้ำเทท่า
โดยเริ่มขายตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นของทุกวัน ขายทุเรียนนกกระจิบอยู่กรุงเทพฯ นานถึง 7 ปี และด้วยสถานการณ์บีบรัด ถึงแม้นกกระจิบจะขายดี แต่คุณถาพชีวิตไม่ได้ดีตามไปด้วย จนในที่สุดเธอจึงตัดสินใจกลับมาปักหลักที่บ้านและตั้งใจว่าจะไม่นำผลผลิตออกไปขายที่ไหนอีก นอกจากที่สวน ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของครอบครัวในปัจจุบัน พร้อมเปิดเป็นสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร เมื่อปี 2550 และปิดฉากขายปลีกผลไม้นอกสถานที่ในทุกแห่ง
แม้ทุเรียนนกกระจิบจากสวนไพบูลย์จะไม่มีวางขายในท้องตลาด แต่ลูกค้าที่เคยติดใจในรสชาติของทุเรียนพันธุ์นี้ก็ไม่ได้หนีหายไปไหน ตรงข้ามกลับตามมาถึงสวนที่ระยองให้การอุดหนุนอย่างเนืองแน่นเหมือนเดิม แถมยังชื่นชอบในการได้มาเยี่ยมตระเวนชมสวนและชิมผลไม้สดๆ จากสวนอีกด้วย แต่หากลูกค้ารายใดสนใจ แต่ไม่สามารถเดินทางมาที่สวนได้ ก็สามารถสั่งซื้อได้ โดยเธอจะนำไปฝากส่งที่สถานีขนส่งจังหวัดระยอง โดยลูกค้าสามารถไปรับของได้ที่สถานี บขส.สายตะวันออก(เอกมัย)
ปัจจุบันสวนไพบูลย์ไม่ได้มีเฉพาะทุเรียนนกกระจิบเท่านั้นที่ขึ้นชื่อ แต่ยังมีทุเรียนพันธุ์ดีของอุตรดิตถ์อย่างหลงลิบแล หลินลับแล หมอนทองและชะนีอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีเงาะสีทอง มังคุดร้อยปี ให้เลือกชมและชิมอย่างหลากหลาย ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังได้นำผลไม้ตกเกรด ซึ่งเป็นผลผลิตจากสวนมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า อาทิ ทุเรียนกวน มังคุดกวน เงาะกวน วางจำหน่ายให้ลูกค้าที่มาเยี่ยมชมสวนอีกด้วย
วันที่ 12-13 มิถุนายนที่จะถึงนี้ โครงการ "ท่องเกษตรกับ คม ชัด ลึก" จะพาผู้สนใจไปเยี่ยมชม "สวนลุงไพบูลย์" พร้อมชมและชิมผลไม้หลากหลายชนิดสดๆ จากสวนอย่างเต็มอิ่มอีกด้วย สนใจสอบถามรายละเอียดได้โทร.0-2338-3356-7, 08-9493-5772 ตลอดเวลา
"สุรัตน์ อัตตะ"
ที่มา : คม ชัด ลึก |
|
กลับไปข้างบน |
|
|
|