hearse สาวดาม
เข้าร่วมเมื่อ: 08/01/2010 ตอบ: 110
|
ตอบ: 26/09/2010 9:32 pm ชื่อกระทู้: ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน |
|
|
ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน
ปัจจุบันเทคนิคการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมีด้วยกันหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้วิธีการที่ง่ายที่สุดโดยการกองกับพื้น จนถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตคือการควบคุมการผลิตโดยอัตโนมัติ ซึ่งใช้เครื่องจักรในการผลิตทดแทนแรงงานจากคน ซึ่งประเทศในแถบอเมริกาและยุโรป รวมถึงออสเตรเลีย ได้มีการวิจัยและผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมานานแล้ว จึงมีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิตซึ่งจะสามารถกำจัดขยะอินทรีย์และผลิตปุ๋ยหมักได้ครั้งละปริมาณมาก แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาโดยมากจะเริ่มจากการผลิตในรูปแบบที่ง่าย และลงทุนน้อย ในการผลิตต้องวางแผนก่อนการผลิต ดังนี้
1. เลือกสายพันธุ์ไส้เดือนดินที่จะนำมาใช้ในการผลิต ซึ่งในประเทศไทยสายพันธุ์ที่เหมาะสม คือ Pheretima peguana )
2. จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับไส้เดือนดินสายพันธุ์ที่เลือก ซึ่งต้องเป็นบริเวณที่น้ำไม่ท่วมขัง ใกล้กับแหล่งขยะอินทรีย์ การระบายอากาศดี ไม่ใกล้แหล่งชุมชนมาก
3. ศึกษาอาหารของไส้เดือนดินสายพันธุ์ที่เลี้ยง โดยส่วนมากจะเป็นเศษขยะอินทรีย์ที่เหลือทิ้งจากบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมูลสัตว์ต่างๆ
4. เลือกรูปแบบการผลิต โดยดูถึงความคุ้มทุน ควรทดลองเริ่มในปริมาณน้อยๆ ก่อนให้เกิดความชำนาญแล้วจึงขยายขนาดการผลิตให้ใหญ่ขึ้น
5. จัดหาแหล่งอาหาร ทราบถึงแหล่งขยะอินทรีย์ที่จะนำมาใช้เลี้ยงไส้เดือนดินที่แน่นอนแล้วจึงเริ่มการเลี้ยงจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า
6. ศึกษาวิธีการนำปุ๋ยหมักไส้เดือนดินไปใช้ โดยนำมูลไส้เดือนดินที่ได้มาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารพืช และทดสอบนำไปใช้กับพืชปลูก
7. ศึกษาวิธีการเก็บผลผลิต ทั้งปุ๋ยและตัวของไส้เดือนดินด้วย โดยมากจะใช้วิธีการปล่อยให้ บ่อเลี้ยงมีปริมาณความชื้นในบ่อลดลง ให้ไส้เดือนดินเคลื่อนย้ายลงไปด้านล่างแล้วจึงขน ย้ายปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่อยู่ชั้นบนซึ่งไม่มีตัวไส้เดือนดินบนอยู่ออกมา
สำหรับตัวไส้เดือนดินจะนำมูลที่ผสมกับตัวไส้เดือนดินมาเข้าเครื่องร่อนคัดแยก หรือ ใช้แสงไล่ให้ ไส้เดือนดินหนีลอดผ่านตะแกรงลงไปยังภาชนะด้านล่าง
ในกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน จะได้ผลผลิตอยู่ 3 ชนิด คือ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน และตัวไส้เดือนดินที่ขยายเพิ่มขึ้น
โดยปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน คือ เศษซากอินทรียวัตถุต่างๆ รวมทั้งดินและจุลินทรีย์ที่ไส้เดือนดินกินเข้าไปแล้วขับถ่ายเป็นมูลออกมา ซึ่งมูลที่ได้จะมีลักษณะเป็นเม็ดสีดำ มีธาตุอาหารพืชอยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ในปริมาณที่สูง และมีจุลินทรีย์จำนวนมาก
น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน คือ น้ำที่ได้จากกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน เป็นน้ำที่ขับถ่ายผ่านลำตัวไส้เดือนดิน ในขณะที่ไส้เดือนดินกำลังกินอาหาร และเป็นน้ำที่ได้จากการเน่าสลายของเศษขยะอินทรีย์ที่ใช้เป็นอาหารของไส้เดือนดิน น้ำหมักมูลไส้เดือนดินจะมีธาตุอาหารพืชอยู่ในปริมาณเจือจาง แต่จะมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิดและมีปริมาณมาก รวมถึงฮอร์โมนพืชที่เป็นประโยชน์หลายชนิดด้วย
ปุ๋ยหมักและน้ำหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้สามารถนำไปใช้เพาะปลูกต้นไม้ หรือปรับปรุงโครงสร้างของดินได้ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น โดยปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน จะส่งเสริมการเกิดเม็ดดิน เพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มช่องวางในดิน ลดการจับตัวเป็นแผนแข็งของหน้าดิน ลดความเป็นพิษของธาตุอาหารพืชบางชนิดที่มีมากเกินไป เพิ่มความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของพีเอช และเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ให้กับดิน สามารถนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน และมูลไส้เดือนดิน มาใช้ในการเพาะปลูกพืช หรือใช้เป็นวัสดุเพาะกล้าพืช จะส่งผลให้ต้นกล้าเจริญเติบโตดีและพืชจำพวกไม้ดอกไม้ประดับมีการออกดอกดี
การผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินทางการค้า มักจะพบปัญหาในด้านความแปรปรวนของปริมาณธาตุอาหารพืช เนื่องจากการผลิตแต่ละครั้งใช้ขยะอินทรีย์ที่แตกต่างกันออกไป จึงส่งผลให้คุณภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้ไม่คงที่ ในการผลิตทางการค้าจะผสมวัสดุอินทรีย์หลายชนิดเพื่อให้ได้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่มีคุณภาพและมีความแปรปรวนน้อย เพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่ได้ในปัจจุบันยังมีราคาต่อหน่วยสูง ตลาดของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินส่วนใหญ่จะเป็นตลาดที่ผลิตพืชสวนประดับทางการค้า จำพวกไม้ดอกไม้ประดับที่มีราคาค่อนข้างแพง และกลุ่มผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับในบ้านเรือน แต่ในอนาคตที่การผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินใช้เทคโนโลยีสูง ใช้แรงงานคนน้อย และปรับปรุงผลผลิตของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพที่ดีสม่ำเสมอ การใช้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินก็จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ต่อการนำมาใช้ผลิตพืชมากขึ้น
ไส้เดือนดินเป็นอาหารของสัตว์นักล่าในธรรมชาติหลายชนิด ส่วนประกอบในเนื้อเยื่อของไส้เดือนดินไม่แตกต่างจากเนื้อเยื่อของสัตว์โดยทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย กรดอะมิโน ไลซีน อนุพันธ์ของเมทไธโอนีน ซีสทีน ฟีนิลอะนิลีนและไทโรซีน ปัจจุบันนิยมเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อใช้เป็นเหยื่อตกปลา และนำมาผ่านกระบวนการผลิตเพื่อผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น อาหารเลี้ยงไก่ ปลา หมู และกุ้ง ซึ่งสามารถผลิตได้ทั้งรูปผง เม็ด และในรูปอาหารเปียก
นอกจากนี้ยังสามารถนำไส้เดือนดินมาสกัดเนื้อเยื่อเพื่อนำสารสำคัญที่อยู่ในตัวไส้เดือนดินมาใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตเครื่องสำอาง และยารักษาโรคในมนุษย์ เช่น แก้ไขพิษ แก้อาการเกร็ง และอัมพาตครึ่งซีกเป็นต้น
ซึ่งการนำไส้เดือนดินมาผลิตเป็นอาหารสัตว์หรือโปรตีนเสริมเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันยังถือว่า ไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ สำหรับผู้ที่ต้องซื้อตัวไส้เดือนดินมาใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบ แต่คุ้มจะค่าสำหรับผู้ที่เพาะเลี้ยงไส้เดือนดินได้เอง
ที่มา : http://www.maejoearthworm.org/Information.htm |
|