-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช....
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 28/02/2011 10:27 pm    ชื่อกระทู้: เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช.... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช กสิกรรมธรรมชาติ ?


ดินดีประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
- อินทรีย์วัตถุ ร้อยละ 3-5,
- แร่ธาตุร้อยละ 45,
- อากาศร้อยละ 25,
- น้ำร้อยละ 25 ........... และที่สำคัญที่สุด
- สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในดิน

การเลี้ยงดินเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง ต้านทานโรค และการระบาดของแมลงได้ดี ต้องปฏิบัติดังนี้....

1. ห่มดิน
เป็นการคลุมดินด้วยฟางข้าว เศษใบไม้ กิ่งไม้ หรือวัชพืช จำพวกหญ้าต่าง ๆ เพื่อรักษาหน้าดิน รักษาความชื้นและความร้อน เพื่อให้จุลินทรีย์ในธรรมชาติขยายตัว โดยการคลุมให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มหรือเลยออกมาเล็กน้อย ควรเว้นระยะห่างจากโคนต้นประมาณ 1 คืบและหนาประมาณ 1 ฝ่ามือ

2. ปรุงอาหารเลี้ยงดิน (ทั้งอาหารและยา)
การปรุงอาหาเลี้ยงดิน สามารถทำได้โดยการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสูตรต่าง ๆ ใส่ลงไปในดิน ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพมีประโยชน์ดังนี้ เป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตในดิน เช่น
- แบคทีเรีย เชื้อรา และแอคติโนมัยซิน เป็นต้น
- ให้ธาตุอาหารและกระตุ้นให้จุลินทรีย์สร้างอาหารกว่า 93 ชนิดที่ต้องการ
- ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติ และโครงสร้างดินให้ดีขึ้น
- ช่วยดูดซับหรือดูดยึดธาตุอาหารไว้ให้แก่พืช
- ช่วยปรับค่าความเป็นกรด เบส ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช
- ช่วยกำจัดและต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ
- ทำให้พืชสามารถสร้างพิษที่สามารถต้านทานโรคและแมลงได้ดี


ความรู้เรื่องดินของ ๒ คู่ปรับ แห่งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

ดูดินด้วยหมาก ด.ต.นิรันดร์ พิมล ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง

...ทำความเข้าใจก่อน เข้าใจว่าดินนั้น มีจุลินทรีย์เป็น "แม่" แล้วมีระบบปลายรากของพืชเป็น "ลูก" แม่ทำหน้าที่ดูดสารอาหารไปเลี้ยงลูก ถ้าเอาสารเคมีมาใส่มาก ๆ แม่ก็ตาย เราต้องรู้ก่อนว่า การที่ต้นไม้จะออกดอกออกผลนั้น มี ๒ วิธี

หนึ่ง..... ทำให้ดินมีความสมบูรณ์ .....หรือ
สอง..... ทำให้ต้นไม้เกิดความเครียด

ปุ๋ยเคมีนั้น ทำให้ระบบรากเน่า ต้นไม้มันก็นึกว่ามันจะตาย ก็เกิดความเครียด รีบผลิตเผ่าพันธุ์เป็นการใหญ่ ซึ่งเป็นวงจรธรรมชาติ ปุ๋ยเคมีมันไปกระตุ้นให้พืชเกิดความเครียด


การเลี้ยงดิน ก็เท่ากับการให้ดินไปเลี้ยงพืช ดินดี ๆ นี่ไม่ต้องสังเกตนาน ดินดีดูจากสีก็รู้ ถ้ายังไม่ชัดก็ขุดมาดม ดินดีกลิ่นจะเหมือนเห็ด เพราะมีจุลินทรีย์มาก

อีกวิธีหนึ่งที่คนใต้เขาใช้ตรวจสอบว่าดินดีหรือเปล่า โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมืออะไรเลย เขาใช้ "หมาก" นี่แหละ


ต่อไปนี้นอกเรื่อง แต่เป็นเกร็ดที่น่าสนใจมากมาก
คนใต้ผูกพันกับหมากตั้งแต่เกิดจนตาย เด็กเกิดใหม่ ๔-๕ วัน เขาจะเคี้ยวหมากโปะที่กระหม่อม รสฝาดของหมากจะทำให้เด็กไม่เป็นหวัด พอเด็กโตขึ้นไปโรงเรียนได้ ก็ต้องเอาหมาก-พลูไปบูชาครู เป็นหนุ่มได้ที่ ริจะมีเมียจะขอลูกสาวเขา ก็ต้องขันหมากนำ ตอนตาย เขาก็เอาหมากพลูใส่มือแล้วมัดตราสังข์ เวลาสวดอุทิศส่วนกุศล เขาก็ต้องถวายพระด้วยหมากพลู


ทีนี้ ถ้าอยากจะรู้ว่าดินตรงนั้นดีหรือเปล่า เวลาเคี้ยวหมากก็บ้วนน้ำหมากลงไป ถ้าดินเป็นสีแดงปรี๊ดภายใน ๑-๒ วินาที รู้เลย.... ดินเป็นกรดอย่างแรง

แต่ถ้าบ้วนแล้วรอจนประมาณ ๑๑ วินาที แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง ก็แสดงว่าดินตรงนั้นเป็นด่าง ยิ่งแดงช้า ดินยิ่งเป็นด่างมาก

แต่ถ้าอยู่ระหว่าง ๓-๑๑ วินาที แล้วเปลี่ยนสี ก็แสดงว่า ดินมีความเป็นกลาง

วิธีแก้ดินเป็นกรดเป็นด่าง ต้อง "ห่มดิน" ด้วยฟางข้าว ใต้ดินที่ห่มจะมีความร้อนชื้นกว่าข้างบน

ทีนี้ ในอากาศที่เราหายใจนี่มีจุลินทรีย์ลอยอยู่ พอมันรู้สึกถึงความร้อนชื้นใต้ฟาง มันก็มุดเข้าไปอาศัย เรียกว่า "แม่" เข้าไปรอท่าแล้ว รอซัก ๑๑ วัน เราก็ฉีดพ่นน้ำหมักบนผิวฝางในอัตราส่วน ๑ : ๒๐๐ ทิ้งไว้จนถึง ๒๔ วัน ดินก็จะร่วนซุย



ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จ.ระยอง
อย่าไปอุดจมูกดิน

ดินในแถบภาคตะวันออกส่วนใหญ่เป็นกรด เพราะขาดอินทรีย์วัตถุ ได้รับสารเคมี ทั้งยาฆ่าแมลง โรงงานอุตสาหกรรม แถมน้ำก็เสียอีกต่างหาก และ ไม่มีป่าไม้

การปลูกไม้หลากหลาย ขายได้หลายชนิด ปลูกป่าในสวนผลไม้ ไม่ได้ทำให้ผลไม้ไม่ดี เพราะรากไม้ใหญ่กินอาหารคนละชั้นดินกับรากของไม้ผล ต้นไม้ช่วยบำบัดดิน แถม




ที่มา:
ข่าวเทคโนโลยีสำหรับชาวชนบท โดย สายสวาท กุลวัฒนาพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)


http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20100928210238AANcbSe


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 01/03/2011 3:02 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
mebun
สาวดอง
สาวดอง


เข้าร่วมเมื่อ: 05/02/2011
ตอบ: 50
ที่อยู่: คนเมืองลับแล

ตอบตอบ: 01/03/2011 10:38 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

... Rolling Eyes Idea Laughing ...



...มีบุญ...จ้า...
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 01/03/2011 3:05 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ดินเพื่อการเพาะปลูก

เรียบเรียงโดย :ทรงเกียรติ วิสุทธิพิทักษ์กุล

ทุกคนรู้จักดิน แต่การที่จะรู้จักดินให้ถี่ถ้วนจริงๆ ต้องใช้เวลาการ ศึกษาและวิจัยเป็นสิบๆ ปี นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากใช้เวลา กว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตศึกษาดิน วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับดินนั้นเรียกรวมๆ กันว่า “ปฐพีวิทยา” ซึ่งแยกสาขาออกไปมากมาย เช่น ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเกิด ของดินว่าเกิดได้อย่างไร มีปัจจัยอะไรเป็นตัวควบคุมการเกิดของดิน ศึกษา การสำรวจรวมทั้งทำแผนที่ดินเพื่อแบ่งชนิดของดินทางลักษณะต่างๆ ศึกษาเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน การแก้ไขหรือปรับปรุงดินให้ เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ศึกษาชนิด ปริมาณและแร่ธาตุอาหารต่างๆ ที่พืชจะสามารถนำไปใช้ ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางเคมีต่างๆ ที่ เกิดขึ้นในดินและคุณสมบัติทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น ลักษณะเนื้อดิน ความสามารถใน การอุ้มน้ำของดิน อุณหภูมิในดิน ตลอดจนคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช ศึกษาวิธีการป้องกันและรักษาดินให้มี ความอุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ในการเกษตร

ดินในแง่ของการเพาะปลูกมีส่วนประกอบดังนี้

1. ส่วนที่เป็นอินทรียวัตถุ ได้แก่ ส่วนที่เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพังหรือ การสลายตัวของเศษพืชและสัตว์ ส่วนนี้มักจะอยู่ที่ผิวดิน และมีความสำคัญ คือเป็นแหล่งกำเนิดอาหารให้พืชและจุลินทรีย์ในดิน

2. ส่วนที่เป็นอนินทรียวัตถุ ได้แก่ ส่วนที่เกิดจากการสลาย ผุพังของ หินและแร่โดยกระบวนการทางเคมี กายภาพ และชีวเคมี ดินส่วนนี้มีความ สำคัญเช่นเดียวกับดินส่วนแรกคือเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารแก่พืชและ จุลินทรีย์และเป็นส่วนควบคุมโครงสร้างของดิน

3. ส่วนที่เป็นน้ำ ได้แก่ น้ำที่อยู่ในช่องว่างระหว่างก้อนดินหรืออนุภาค ของดิน ซึ่งมีความสำคัญคือเป็นตัวละลายและนำส่งอาหารให้แก่พืช

4. ส่วนที่เป็นอากาศ ได้แก่ อากาศซึ่งแทรกอยู่ระหว่างก้อนดินหรือ อนุภาคของดิน ส่วนประกอบของอากาศที่สำคัญ ได้แก่ ออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์

ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยทั่วๆ ไปควรจะประกอบด้วยส่วนที่ 1 ประมาณ 5% ส่วนที่ 2 ประมาณ 45% ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 ประมาณ อย่างละ 25% การปลูกพืชจะได้ผลดีจำเป็นต้องพยายามรักษาความสมดุล ของส่วนประกอบดังกล่าวด้วย



--------------------------------------------------------------------------------------------------
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
เทคโนธานี ถ.เลียบคลองห้า ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 ประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2577-9000
โทรสาร 0-2577-9009

196 พหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร. 0-2579-1121..30,0-2579-5515,0-2579-0160,0-2579-8533
โทรสาร. 0-2561-4771,0-2579-8533 เทเลกซ์. 21392 TISTR TH
เว็บไซด์ : http://www.tistr.or.th
E-mail: hotline@tistr.or.th

กระทรวงวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี

ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ : 0-2246-0064 , 0-2640-9600
โทรสาร: 0-2246-8106
เว็บไซด์ : http://www.most.go.th
อีเมล์ : helpdesk@most.go.th



สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2544 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

http://www.tistr.or.th/t/publication/page_area_show_bc.asp?i1=67&i2=1
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 01/03/2011 3:14 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

คุณสมบัติทางกายภาพของดิน

โดย นายสรสิทธิ์ วัชโรทยาน

คุณสมบัติทางกายภาพของดิน หมายถึง คุณสมบัติของดินที่เป็นสิ่งซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ด้วย
การแลเห็นหรือจับต้องได้ เช่น เนื้อดิน ความโปร่งหรือแน่นทึบของดิน ความสามารถในการอุ้มน้ำ
ของดินและสีของดิน เป็นต้น คุณสมบัติของดินเหล่านี้ บางครั้งเราเรียกว่า คุณสมบัติทางฟิสิกส์ จะ
ขอกล่าวเพียงสองประการเท่านั้น คือ เนื้อดินและโครงสร้างของดิน

คุณสมบัติที่เรียกว่าเนื้อดินนั้น ได้แก่ ความเหนียว ความหยาบ หรือละเอียดของดิน ที่เรามีความ
รู้สึกเมื่อเราหยิบเอาดินที่เปียกพอหมาดๆ ขึ้นมาบี้ด้วยนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าดิน
บางก้อนเหนียว บางก้อนหยาบและสากมือนั้น เนื่องจาก อนุภาคของแร่หรืออนินทรียสารที่เป็น
องค์ประกอบอยู่ในดินนั้นมีขนาดต่างกัน อยู่ร่วมกันทั้งหยาบ และละเอียดเป็นปริมาณสัดส่วนแตก
ต่างกันออกไปในแต่ละเนื้อดิน เนื้อดินมีอยู่ทั้งหมด ๑๒ ชนิด แต่ก็สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มเนื้อ
ดินได้ ๔ กลุ่ม

ชนิดเนื้อดิน กลุ่มเนื้อดิน
๑. ดินเหนียว
๒. ดินเหนียวปนทราย
๓. ดินเหนียวปนตะกอน กลุ่มดินเหนียวที่มีอนุภาคดินเหนียวตั้งแต่ ๔๐% ขึ้นไป
๔. ดินร่วนปนดินเหนียว
๕. ดินร่วนเหนียวปนตะกอน
๖. ดินร่วนเหนียวปนทราย กลุ่มดินค่อนข้าวเหนียว หรือดินร่วนเหนียวมีอนุภาคดินเหนียวตั้งแต่ ๒๐-๔๐% ขึ้นไป
๗. ดินร่วน
๘. ดินร่วนปนตะกอน
๙.ดินตะกอน กลุ่มดินร่วนที่มีอนุภาคดินเหนียวต่ำกว่า ๓๐%
๑๐. ดินร่วนปนทราย
๑๑. ดินทรายปนดินร่วน
๑๒. ดินทราย กลุ่มดินทราย มีอนุภาคดินเหนียวต่ำกว่า ๒๐% มีอนุภาคดินทรายมากกว่า ๔๐%
ขึ้นไป


ความสำคัญของเนื้อดินที่มีต่อความเหมาะสมในการเพาะปลูก
๑. ด้านการเตรียมดิน กลุ่มดินเหนียวและกลุ่มดินค่อนข้างเหนียวจะไถพรวนลำบาก กล่าวคือ เมื่อ
เปียกจะเหนียวจัด ถ้าแห้งก็จะแข็งจัดการเตรียมดินเพื่อการปลูกพืชทำได้ลำบากกว่ากลุ่มดินร่วน
และกลุ่มดินทราย ซึ่งจะไถพรวนง่ายกว่า

๒. ด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน กลุ่มดินเหนียวและค่อนข้างเหนียวจะมีความสามารถอุ้มปุ๋ย หรือ
ธาตุอาหารพืชและน้ำไว้ในดินได้มากกว่ากลุ่มดินร่วนและดินทราย ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้ดิน
เหนียวและดินค่อนข้างเหนียวมีสภาพไม่แน่นทึบ ดินมีความโปร่งพอสมควร ดินพวกนี้จะปลูกพืชได้
งามดี ไม่ต้องการปุ๋ยมากนัก ตรงข้ามกับกลุ่มดินร่วนและดินทรายซึ่งจะอุ้มน้ำและปุ๋ยได้น้อย ถ้าดิน
ไม่ได้รับปุ๋ย หรืออินทรียวัตถุในดินมีอยู่น้อย พืชที่ปลูกมักจะไม่ค่อยงาม ต้องรดน้ำบ่อยใส่ปุ๋ย
บ่อยๆ พืชจึงจะงอกงามดี

๓. ความโปร่งและร่วยซุย ดินในกลุ่มดินเหนียวมักจะแน่นทึบ ต้องพรวนบ่อยๆ หรือต้องจัดการเรื่อง
การระบายน้ำให้ดี เพราะจะขังน้ำได้ง่าย ทำให้รากพืชเน่าและไม่สามารถดูดน้ำและปุ๋ยได้อย่างปกติ
จึงต้องหาวิธีทำให้ดินพวกนี้โปร่ง เช่น ใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักผสมดินตอนเตรียมดินให้มากๆ ส่วน
ดินร่วนและดินทรายจะมีคุณสมบัติโปร่ง การระบายน้ำดี อากาศถ่ายเทดี เหมาะกับการเจริญเติบ
โต และการดึงดูดปุ๋ยและน้ำในดินของราก แต่บางครั้งดินที่มีทรายปนอยู่มากจะโปร่งจนเกินไป พืช
ขาดน้ำง่ายเพราะดินแห้งเร็ว ต้องรดน้ำบ่อยๆ ทำให้การดูแลลำบาก เราสามารถเพิ่มความอุ้มน้ำ
ของดินร่วนและดินทรายได้ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรืออินทรียวัตถุต่างๆ
ผสมกับดินให้มากๆ

ไดอะแกรมสามเหลี่ยมมาตรฐาน ใช้สำหรับการวิเคราะห์ชนิดเนื้อดินในห้องปฏิบัติการ โดยวิธีการ
วิเคราะห์เชิงกล (mechanical analysis) หาปริมาณอนุภาคแร่สามขนาดของดิน คือ อนุภาค
ดินเหนียว (clay) อนุภาคตะกอน (silt) และอนุภาคทราย (sand) สัดส่วนระหว่างอนุภาคทั้ง
สามขนาดที่วิเคราะห์ได้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เมื่อนำมาลากเส้นจากแต่ละด้านของสามเหลี่ยมนี้ แต่
ละด้านเป็นตัวแทนของเปอร์เซ็นต์ทรายตะกอน และดินเหนียวจุดตัดพร้อมกันทั้งสามเส้น เกิดขึ้น
ภายในกรอบเนื้อดินของพื้นสามเหลี่ยมนี้ ก็คือชนิดเนื้อดินของดินนั้น


โครงสร้างของดิน (Soil Structure)
เป็นคุณสมบัติของดินที่เกิดจากสภาพที่อนุภาคของดินที่เกาะกันเป็นก้อนหรือเม็ดดิน มีขนาด
ต่างๆ อยู่รวมกันอย่างหลวมๆ ตามธรรมชาติทำให้ดินมีสภาพโปร่งไม่แน่นทึบ ดินทราย และดิน
เหนียว ถ้ามีโครงสร้างที่เหมาะสมก็จะสามารถเปลี่ยนสภาพความโปร่งและความแน่นทึบอันเป็น
คุณสมบัติเดิมของเนื้อดินนั้นได้ เช่น ดินเหนียว คุณสมบัติเดิมคือเหนียวและแน่นทึบ ถ้าเราใส่ปุ๋ย
อินทรีย์ลงไป นานๆ เข้าโครงสร้างที่ดีก็จะเกิดขึ้น ซึ่งมีผลให้ดินนั้นมีคุณสมบัติโปร่ง ไถพรวนง่าย
ขึ้นเพราะดินจะฟูขึ้นมา เนื่องจากอนุภาคดินเหนียวจะจับเกาะกันเป็นเม็ดดินก้อนเล็กๆ อยู่รวมกัน
อย่างหลวมๆ เช่นเดียวกับดินทราย คุณสมบัติเดิมที่โปร่งเกินไป เมื่อใช้ปุ๋ยคอกใส่ลงไปในดิน
นานๆ เข้า ดินจะมีโครงสร้างที่เหมาะสม กล่าวคือ อนุภาคทรายที่อยู่อย่างหลวมๆ จะจับเกาะกัน
เป็นก้อนดินเล็กๆ ที่แน่นทึบขึ้น ลดความโปร่งลง อุ้มน้ำดีขึ้น การไถพรวนก็ยังคงง่ายและสะดวก
เหมือนเดิม ดังนั้นโครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลงได้ กล่าวคือ เราทำให้เกิดขึ้นหรือให้หมดสภาพ
ไปได้ ส่วนเนื้อดินนั้นเราเปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยเฉพาะในสภาพไร่นา ดินผสมปลูกต้นไม้ใน
กระถางเท่านั้นที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงชนิดของเนื้อดินได้

ลักษณะโครงสร้างที่ดีของดินก็ได้แก่ สภาพที่เม็ดดินเกาะกันเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าหัวไม้ขีด
บ้าง เล็กกว่าบ้าง หรืออาจจะโตกว่าบ้างเล็กน้อยอยู่รวมกันอย่างหลวมๆ ตลอดชั้นของหน้าดินลึก
ประมาณ ๑๕-๒๐ ซม. (ดินพื้นผิว) เม็ดดินเหล่านี้จะมีความคงทนพอสมควรต่อแรงกระแทกของ
น้ำฝนหรือการไถพรวน แต่ถ้ามีการไถพรวนปลูกพืช เป็นเวลานานประกอบกับไม่มีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์
เพิ่มเติมลงไปในดินเลย โครงสร้างดังกล่าวจะสลายตัวและหมดสภาพไป พวกดินเหนียวก็จะกลับ
แน่นทึบและแข็งเมื่อแห้ง ส่วนพวกดินทรายก็จะอุ้มน้ำได้น้อยลง ดินจะโปร่งและแห้งเร็วจนเกินไป

เม็ดดินที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างที่ดีนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากอินทรียวัตถุในดินเป็นตัวเชื่อมอนุภาค
ดินเหนียว ดินตะกอนและทรายเข้าด้วยกัน เป็นเม็ดดินก้อนเล็กๆ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงไปใน
ดินเสมอๆ จึงส่งเสริมให้เกิดสภาพโครงสร้างที่ดีดังกล่าว เมื่ออินทรียวัตถุในดินหมดไป โครงสร้าง
ที่ดีของดินก็จะหมดสภาพไปด้วย การใช้ปุ๋ยเคมีจะไม่มีผลในการช่วยทำให้เกิดโครงสร้างที่ดีแต่
อย่างใด ดังนั้นดินที่เป็นทรายจัดหรือดินเหนียวซึ่งแต่เดิมมีโครงสร้างที่ดี ถ้ากสิกรใช้ แต่ปุ๋ยเคมี
อย่างเดียว ถึงแม้พืชจะเติบโตได้ดีมีผลิตผลสูงในระยะแรกแต่นานๆ เข้าอินทรียวัตถุในดินจะค่อยๆ
หมดไป โครงสร้างที่ดีของดินก็จะหมดสภาพไปด้วย การที่มีผู้กล่าวว่าหากใช้ปุ๋ยเคมี แล้วทำให้ดิน
เสียนั้นด้วย ความจริงก็คงจะด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อโครงสร้างที่ดีของดินเสื่อมสภาพลง นั่นคือดิน
เหนียวก็จะแน่นทึบ ส่วนดินทรายก็จะโปร่งซุยมากเกินไป แม้จะใส่ปุ๋ยเคมีลงไป พืชก็จะไม่เติบโตดี
เหมือนเช่นเคย ในสภาพเช่นนี้รากของพืชจะเติบโตช้า ดึงดูดปุ๋ยและน้ำในดินไปใช้ได้น้อยลง การ
ที่กสิกรไถพรวนดินปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยไม่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์บ้างเลย โครงสร้างที่ดี
ของดินจะหมดสภาพไป ดินก็จะแน่นทึบได้ในที่สุด ดินที่แน่นทึบหรือมีโครงสร้างไม่ดี แม้จะใส่ปุ๋ย
เคมีมากเท่าใด พืชก็จะไม่เติบโตดีเท่าที่ควร

ลักษณะโครงสร้างที่ดีของดิน ได้แก่ สภาพที่เม็ดดินเกาะกันเป็นก้อนเล็กๆอยู่รวมกันอย่างหลวมๆ
ตลอดชั้นของหน้าดิน


ดังนั้น การใช้ปุ๋ยที่ถูกหลัก คือการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์
ร่วมกัน จึงจะเป็นผลดีต่อดิน และต่อพืชที่ปลูกมากที่สุด
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 01/03/2011 4:20 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การใช้อินทรียวัตถุปรับปรุงดินเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ปัญหาผลิตผลทางการเกษตรลดต่ำลง นับวันจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น ประกอบกับรายได้หลักของประเทศยังต้องอาศัยผลิตผลทางการเกษตรอยู่เป็นอันมาก ดังนั้นการแก้ปัญหาของชาติจึงมุ่งอยู่ในกรอบของความพยายามที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษรรให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกรเอง และนำเงินตราเข้าจากต่างประเทศ แนวทางการเพิ่มผลผลิตนั้นสามารถทำได้ คือ


1. เพื่อเพิ่มผลผลิตโดยการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้เพราะเหลือพื้นที่ป่าไม้เพียงเล็กน้อย จำเป็นต้องรักษาสภาพไว้ให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และรักษาสมดุลทางธรรมชาติ

2. เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการเกษตร มีการสำรวจสภาพปัญหา และวางแนวทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชนและตัวแทนเกษตรกรเอง


สาเหตุที่ทำให้ดินขาดอินทรีย์วัตถุ
ปัจจุบันสภาพพื้นที่เพาะปลูกโดยทั่วไปของประเทศไทยพบว่าดินมีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก หรือเพาะปลูกแล้วได้ผลผลิตลดน้อยกว่าที่ควร ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญ 5 ประการที่ทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุในดินลดน้อยลง คือ

1. การใช้ดินที่เพาะปลูกติดต่อกันหลายปีโดยไม่ได้เพิ่มอินทรียวัตถุไปในดินหรือเพิ่มลงไปในปริมาณที่น้อย และการไถพรวนต่ละครั้งก็เป็นการเร่งให้อินทรียวัตถุในดินสลายตัวเร็วขึ้น

2. การขาดการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นสาเหตุให้หน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหารพืช และอินทรียวัตถุถูกชะล้างลงแม่น้ำ ลำคลองตลอดเวลา

3. การหักร้างถางพง ทำลายป่าอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งปุ๋ยธรรมชาติที่มี่อยู่จากการทับถมของใบไม้และใบหญ้าลดน้อยลงไปทุกที

4. สภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนและมรสุม กล่าวคืออากาศร้อนและมีฝนตกซุก ทำให้อินทรีย์วัตถุสลายตัวสูญหายไปจากดินได้อย่างรวดเร็ว

5. ในบางท้องที่ดินเกิดขึ้นมาจากพวกหินทราย ซึ่งมีคุณลักษณะที่ขาดความอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อสลายตัวเป็นดินก็ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกเท่าที่ควร เพราะดินขาดธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุ


จากปัญหาดังกล่าวทำให้ดินที่ใช้ทำการเพาะปลูกอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม กล่าวคือเมื่อดินมีปริมาณที่เหมาะสมก็จะทำให้ดินแน่นทึบ น้ำไม่สามารถซึมผ่านช่องว่างระหว่างเม็ดดินได้ทำให้น้ำไหลผ่านหน้าดินอย่างรวดเร็วพัดพาเอาแร่ธาตุอาหารพืชหรือปุ๋ยที่มีอยู่บริเวณผิวหน้าดินสูญหายไปกับน้ำ เมื่อดินแน่นทึบปริมาณอากาศในดินมีน้อย และรากพืชก็ไม่สามารถชอนไซไปหาอาหารได้ไกล มักพบในดินเหนียว ส่วนดินทรายที่ขาดอินทรียวัตถุ หรือมีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ เม็ดดินไม่สามารถเกาะตัวกันได้ดี เพราะขาดสารเชื่อมเม็ดดิน การให้น้ำและปุ๋ยเคมีจึงไม่ค่อยได้ผล พืชได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ เพราะน้ำและปุ๋ยจะสูญหายไปจากดินได้รวดเร็ว


จากการวิจัยพบว่า
ดินที่มีปริมาณอินทรีย์วัตถุต่ำมากในประเทศไทยส่วนพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากดินเกิดจากหินทรายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนดินในดภาคเหนือก็มีปริมาณของอินทรียวัตถุอยู่ในเกณฑ์ต่ำเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ดินในในภาคนี้จึงสูญเสียหน้าดินจากการถูกน้ำชะล้างสูง ส่วนดินภาคกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว แต่ก็ใช้ปลูกข้าวติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ลดน้อยลงและดินจับตัวแน่นไม่สะดวกต่อการไถพรวน สำหรับดินในภาคใต้ก็มีปริมาณของอินทรียวัตถุค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หน้าดินตื้นเพราะถูกฝนที่ตกชะล้างไปเสียจำนวนมาก และอากาศร้อน จากข้อมูลดังกล่าวเป็นที่ยืนยันได้ว่าดินที่ใช้เพาะปลูกในบ้านเรานั้นต้องมีการเพิ่มอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง จึงจะทำให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมในการเพาะปลูกและได้ผลผลิตสูง

อินทรียวัตถุ หมายถึง สิ่งที่ได้จากการย่อยสลายตัวของสารอินทรีย์ ได้แก่ ซากพืช ซากสัตว์ รวมทั้งสิ่งขับถ่ายของมนุษย์และสัตว์ เศษขยะต่าง ๆ เป็นต้น การสลายตัวของสารอินทรีย์แต่ละชนิดมีความอยากง่ายแตกต่างกันไป ในทางเกษตร อินทรียวัตถุนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยเป็นตัวควบคุมคุณสมบัติทั้ง ทางเคมีและกายภาพของดิน กล่าวคือช่วยให้ดินเหนียว ซึ่งมีเม็ดดินละเอียดและแน่นทึบจับตัวกันอย่างหลวม ๆ และดินทรายจับตัวกันดีขึ้น ช่วยให้ดินมีความสามารถให้การอุ้มน้ำได้ดี รากพืชสามารถแผ่ขยายออกไปหาแร่ธาตุอาหารในดินได้สะดวก

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างรีบด่วนที่ต้องเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมต่อความเจริญเติบโตของพืชในบ้านเรามีวัตถุดิบทีสามารถเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินมากมาย ซึ่งวัสดุเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ และยังก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จึงควรให้ความสนใจโดยนำมาใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้อย่างกว้างขวาง ช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างดีอีกด้วย สามารถจำแนกออกได้ดังนี้

1. เศษพืชทางการเกษตรเหลือทิ้งในไร่นา
ได้แก่ ฟางข้าว วังข้าวโพก เปลือกถั่วเขียว ถั่วลิสง ผักตบชวา ในไม้ทุกชนิด เศษขยะมูลฝอยและเศษหญ้าต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละปีจะมีเศษพืชเหลือทิ้งในไร่นาประมาณ 41 ล้านตัน

2. เศษพืชทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง จากโรงงานอุตสาหกรรม
ได้แก่ แกลบจากโรงสี กากอ้อยจากโรงงานน้ำตาล ขี้เลื่อยจากโรงเลื่อย เปลือกผลไม้ และขุยมะพร้าว เป็นต้น ปีหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ 11,120,000 ตัน

3. ประเภทมูลสัตว์และอุจจาระ ซึ่งเป็นสิ่งขับถ่ายจากคนและสัตว์ สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติโดยตรงหรือนำไปผสมกับเศษพืชทำปุ๋ยหมักก็ได้ ซึ่งแต่ละปีมีประมาณ 76 ล้านตัน

4. ขยะเทศบาลและขยะสุขาภิบาล ขยะเหล่านี้ใช้เป็นแหล่งอินทรียวัตถุได้ดี แต่ต้องแยกเอกสิ่งเจือปน เช่น ถุงพลาสติก อิฐ หิน ไม้ เศษเหล็ก ออกเสียก่อน
เศษวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้สามารถนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุได้โดยตรง คือ นำไปคลุมดินและปล่อยให้เน่าเปื่อยผุผังหรือนำไปใส่ในดินแล้วไถกลบ ถ้าจะให้ได้ผลดีควรนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักเสียก่อน โดยใช้วิธีง่ายดังนี้

- กองโดยใช้เศษพืชอย่างเดียว แล้วคอยรดน้ำ และกลับกองทุก ๆ 7 วัน
- กองโดยใช้เศษพืชผสมด้วยมูลสัตว์หรือไนท์ซอย (อุจจาระ)
- กองโดยใช้เศษพืชมูลสัตว์และปุ๋ยเคมี (เพื่อช่วยให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในบรรยากาศบางชนิดทำการย่อยและเพิ่มปริมาณได้เร็วขึ้น)
- กองโดยสับเศษพืชให้เห็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ผสมด้วยมูลสัตว์ปุ๋ยเคมี และสารเชื้อตัวเร่งซึ่งสามารถทำปุ๋ยหมักให้ได้ในเวลาประมาณ 60 วัน ในกรณีที่ไม่มีสารเชื้อตัวเร่ง เกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยหาถังปิ๊บ โอ่ง หรือกระป๋องเก็บมุลสัตว์ที่มีภายในบ้านนำมาใส่ไว้ครึ่งหนึ่งของภาชนะแล้วเติมน้ำธรรมดาหรือน้ำผสมปุ๋ยยูเรียที่ไม่เข้มช้นมาก แล้วปิดฝาภาชนะให้เรียบร้อย เพื่อกันแมลงวันหรือยุงลงไปไข่ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็เอาไปรดกองปุ๋ยหมักได้เลย ต่อจากนั้นก็ปฏิบัติวิธีทั่วไป

5. ปุ๋ยพืชสด ได้จากต้นพืชและใบพืชสดที่ปลูกเอาไว้หรือขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อพืชเจริญเติบโตเต็มที่คือเริ่มออกดอกจนถึงดอกบานเต็มที่ จึงทำการตัดสับแล้วไถกลบลงไปในดินหรือไถกลบพืชทั้งต้นลงไปในดินเลยก็ได้ แล้วแต่ชนิดของพืช หลังจากนั้นทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยผุพังหมด ก็จะให้ธาตุอาหารพืชและเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุลงไปในดิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปลูกพืชที่ตามมาปุ๋ยพืชสดได้มาจากพืชชนิดต่าง ๆ ซึ่งพืชที่ใช้ปลูกทำเป็นปุ๋ยพืชสดที่ดีที่สุดนั้น ได้แก่ พวกพืชตระกูลถั่วทั้งหลาย เช่น ปอเทียน โสน ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วลิสง เป็นต้น ทั้งนี้เพราะพืชตระกูลถั่วมีคุณสมบัติพิเศษกว่าพืชอื่น ๆ คือ ที่รากมีปมที่เรียกว่าปมรากถั่ว ในปมเหล่านี้มีเชื้อจุลินทรีย์พวกไรโซเบียมอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถดึงไนโตรเจนอากาศมาใช้ได้


เพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดินช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร
การนำวัสดุดังกล่าวข้างต้นมาใส่ในดิน ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุอย่างประหยัด เพราะวัสดุดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือทิ้ง น้ำไปทิ้งเปล่าโดยไร้ประโยชน์ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีหรือสารปรับปรุงดินอื่น ๆ ที่นับวันจะมีราคาแพงขึ้นทุกวัน



http://182.93.150.244/244/media/din/agrilib/din/k1.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 01/03/2011 4:34 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เทคนิคเตรียมดินสมัยใหม่ ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตต่อไร่


ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตแก่เกษตรกร นอกจากจะอาศัยเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพในการเพาะปลูกแล้ว การเตรียมดินที่ดี ก่อนการเพาะปลูกเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ที่เกษตรกรไม่ควรละเลย เพราะดินเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

ดินถือเป็นหัวใจสำคัญของการก่อเกิดพืชพันธุ์ต่างๆ ดินเป็นแหล่งที่ให้อากาศ สำหรับการหายใจทำให้เกิดพลังงานเพื่อการดึงดูดน้ำ และธาตุอาหารที่เหมาะแก่การเจริญเติบโต ทำให้ได้ต้นพืชที่ดีมีผลผลิตสูง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและลดต้นทุนค่าด้านปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ย ซึ่งขณะนี้ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันโลก

ดังนั้น เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกษตรกรให้ความสำคัญในการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก โดยเฉพาะการปลูกพืชไร่สมัยใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ให้เกษตรกรทั่วประเทศให้ความสำคัญในการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก โดยเริ่มจาก 4 จังหวัดนำร่อง คือ กำแพงเพชร สระแก้ว นครราชสีมา และสระบุรี พื้นที่ 5,000 ไร่ ซึ่งพบว่าหลังจากเกษตรกรหันมาเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกตามวิธีการที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 ตันต่อไร่ จากเดิมที่มีผลผลิตเฉลี่ยเพียง 3.5 ตันต่อไร่ เท่านั้น

การเตรียมดินที่ดี เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจชนิดต่างๆของดินเพื่อจะได้ปรับและแก้ไขปัญหาการใช้ดินให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิด โดยดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินมากสุดคือกลุ่มดินเหนียวและค่อนข้างเหนียว อย่างไรก็ตามประเทศไทย มีพื้นที่การเกษตรกว่า 131 ล้านไร่

ดังนั้นในแต่ละพื้นที่ย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาดินดาน ดินเปรี้ยวและดินเค็ม ทำให้แนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ดินที่มีปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องใช้วิธีการสมัยใหม่ อาทิ การนำเครื่องจักรด้านการเกษตรต่างๆ เป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร ในการเตรียมดิน โดยการแก้ปัญหาดินดานนั้น อาจต้องใช้เครื่องจักรไถระเบิดดินดานเพื่อทำลายชั้นดินดาน เพื่อปรับโครงสร้างดินทำให้ดินโปร่ง รากหยั่งได้ การไถหัวหมู เป็นเครื่องมือไถกลบพืชบำรุงดิน และการใช้เครื่องพรวนย่อยให้ละเอียดเพื่อห่อหุ้มเมล็ดและท่อนพันธุ์ ป้องกันการระเหยของน้ำใต้ดิน ส่วนในพื้นที่นา สามารถใช้ไถหัวหมู เพื่อไถกลบตอซังฟางข้าวได้ผลดี โดยไม่ต้องทำการเผาตอซังซึ่งเป็นการทำลายชั้นดินและเกิดปัญหามละพิษ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเพื่อย่อยหน้าดินหลังการไถกลบตอซังฟางข้าว เพื่อให้ก้อนดินมีขนาดเล็กและเรียบพร้อมสำหรับการหว่านและดำ ใช้ในกรณีได้รับการจัดสรรน้ำชลประทานมากเพียงพอในการเตรียมดิน และเครื่องมือพรวน 2 แถว เป็นเครื่องมือไถพรวนย่อยก้อนดินหลังการไถกลบตอซังฟางข้าว เพื่อเป็นการเก็บรักษาความชิ้นในดินไว้ตลอดฤดูเพาะปลูก ใช้ในกรณีได้รับการจัดสรรน้ำชลประทานไม่เพียงพอในช่วงการเตรียมดิน

สำหรับข้อมูลเปรียบเทียบผลผลิตพืชในแปลงเตรียมดินวิธีการที่ดีและวิธีการทั่วไป พบว่า สามารถ

เพิ่มผลผลิตข้าวโพดจากเดิม เฉลี่ย 600 กก./ไร่เพิ่มเป็น 1,000 กก./ไร่
ส่วนผลผลิตอ้อยพบว่าเดิมมีผลผลิตเฉลี่ย 5,700กก./ไรเพิ่มเป็น 4,080กก./ไร่
และผลผลิตข้าวพบว่าผลผลิตเดิม 490 กก./ไร่เพิ่มเป็น 390กก./ไร่


อย่างไรก็ตาม สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมดินนั้นเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงดำเนินการส่งเสริมให้แต่ละชุมชนมีวิสาหกิจ บริการเครื่องกลทางการเกษตร โดยให้กลุ่มสมาชิกในวิสาหกิจนั้นๆบริหารจัดการเครื่องจักรกลเอง สำหรับเกษตรกรที่สนใจวิธีการเตรียมดินที่ดี ติดต่อได้ที่ กองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร 02-940-6175


ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/news.asp?ID=104963



http://www.phtnet.org/news51/view-news.asp?nID=236
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
mangotree
สาวดอง
สาวดอง


เข้าร่วมเมื่อ: 13/07/2009
ตอบ: 95

ตอบตอบ: 02/03/2011 11:05 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ภัยแล้ง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก greenworld.or.th


กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณแห่งประเทศไทย ได้ประกาศพื้นที่เขตภัยพิบัติแล้งทั่วประเทศรวม 26 จังหวัด โดยมี 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแพร่ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้งทั่วทั้งจังหวัด

ด้าน นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เปิดเผยระหว่างทำพิธีเปิดการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2554 เมื่อวานนี้ (28 กุมภาพันธ์) ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงวิตกกังวลกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยทรงกำชับให้สำนักฝนหลวงคอยติดตามธรรมชาติอย่่างใกล้ชิด หากพบว่ามีความชื้นที่เหมาะสม ก็ให้เร่งปฏิบัติการทำฝนหลวงทันที เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนในอ่างเก็บน้ำ และเพิ่มความชื้นในดินให้สามารถทำการเกษตรได้

นายดิสธร กล่าวต่อว่า ในหลวงยังทรงเป็นห่วงเรื่องปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ๆ ที่ดูแลประชาชนในแต่ละภาค ด้วยเกรงว่า หากในปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรของเกษตรกร ย่อมส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภค และภาคเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้หามาตรการมารองรับปัญหาปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอได้ทัน

http://hilight.kapook.com/view/56653





นักวิทย์เผยอีก 20 ปี โลกเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เว็บไซต์เดลิเมล์ ของอังกฤษ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์เผยอีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการน้ำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 40% จากภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก

รายงานดังกล่าว เปิดเผยขึ้น ณ ที่ประชุมนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องของทรัพยากรน้ำทั่วโลก โดยมีนักวิทยาศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์เข้าร่วมหารือกว่า 300 คน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ดร.แคทลีย์ คาร์ลสัน รองประธานคณะมนตรีวาระวิกฤตน้ำโลก เปิดเผยว่า อีก 20 ปี ความต้องการน้ำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 40% จากภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้หลายพื้นที่บนโลกอยู่ในสภาพแห้งแล้ง แม่น้ำแห้งขอด และการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก จะทำให้ความต้องการอาหารมากขึ้น ภาคการเกษตรต้องใช้น้ำมากขึ้นกว่า 71% เพื่อผลิตพืชผลทางการเกษตรและอาหารป้อนผู้คน ซึ่งหากไม่มีน้ำเพียงพอ แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และการผลิตทุก ๆ อย่าง รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกด้วย

ขณะที่ทางด้าน ดร.นิโคลัส แอชบอยท์ จากองค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐ ได้กล่าวว่า ในทุกวันนี้คนยังตระหนักถึงความสำคัญของน้ำน้อยมาก เราไม่ค่อยคิดว่าน้ำเป็นส่วนประกอบของการผลิตสิ่งต่าง ๆ บนโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รอบตัว เช่น คอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า และอาหารต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วการผลิตสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้น้ำด้วยกันทั้งนั้น และปัจจุบันนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว 70% ของการใช้น้ำเป็นการใช้ในครัวเรือน และคงจะดีไม่น้อยหากทุกคนจะร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และตระหนักถึงปัญหาวิกฤตน้ำอันจะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า แล้วร่วมกันป้องกันปัญหาดังกล่าว

สำหรับมาตรการการป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต ดร.นิโคลัส แอชบอยท์ ได้เสนอว่า ประชาชนควรใช้น้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด เช่น น้ำที่เหลือจากการชำระล้างในบ้านเรือน สามารถนำไปใช้ในภาคการเกษตรได้ รวมถึงควรมีการพัฒนาและเพิ่มแหล่งน้ำ หรือทำการเกษตรแบบยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ดีมากเช่นกัน








http://hilight.kapook.com/view/56653
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
mebun
สาวดอง
สาวดอง


เข้าร่วมเมื่อ: 05/02/2011
ตอบ: 50
ที่อยู่: คนเมืองลับแล

ตอบตอบ: 02/03/2011 4:58 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เพิ่มผลผลิตข้าวโพดจากเดิม เฉลี่ย 600 กก./ไร่ เพิ่มเป็น 1,000 กก./ไร่

มีบุญว่า...อันนี้ ok อยู่...

ส่วนผลผลิตอ้อยพบว่า เดิมมีผลผลิตเฉลี่ย 5,700 กก./ไร เพิ่มเป็น 4,080 กก./ไร่
และผลผลิตข้าวพบว่า ผลผลิตเดิม 490 กก./ไร่ เพิ่มเป็น 390 กก./ไร่

มีบุญว่า...2 อันนี้แปลกๆอยู่นะ สลับกันรึเปล่าคะ...
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 02/03/2011 6:42 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เก่งงงงงง.....แฟนใคร (หว่า....)


ลุงคิมเห็นแล้ว น่าจะเกิดจากโปรแกรมคอมฯ ซะมากกว่านะ หรือไม่ก็คนพิมพ์ ๆผิดซะเอง

ลุงคิมปล่อยไว้อย่างนั้น เพื่อเป็น CHECK POINT ว่าจะมีใครสนใจบ้างไหม

อย่าไปใส่กับตัวเลขเลย ขอให้ "ยึดหลักการ" อินทรีย์นำ เคมีเสริม ตามความเหมาะสม จะดีกว่า.....ว่ามั้ย



ข้อมูลบางตอน เนื้อหาหรือนัยตรงกับที่ลุงคิมเคยเอามาแนะนำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป๊ะเป๊ะ ทั้งๆที่ตอนนั้นไม่มีคอม หรือเอกสารตำราใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้.....ลุงคิมไม่ได้เป็นนักวิชการ กับทั้งไม่ร่ำเรียนมาโดยตรงด้วย แล้วลุงคิมพูดเหมือนนักวิชาการได้อย่างไร ?

คำตอบ คือ.....ความจริงของธรรมชาติมีเพียง 1 เดียวเท่านั้น ใครที่พูดความจริงของธรรมชาติ ย่อมพูดได้เหมือนกันหมด การที่ใครบางคนพูดถึงความจริงของธรรมชาติผิดเพี้ยน หรือเบี่ยงเบนไป นั่นเพราะผลประโยชน์ที่แฝงอยู่เบื้อหลัง ไงล่ะ


ลุงคิมครับผม
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 02/03/2011 9:35 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ความรู้เกี่ยวกับปุ๋ย



สิ่งที่เราหวังว่าจะได้จากการปลูกพืชคือ "ผลผลิต" แต่ว่าส่วนใหญ่ลืมไปว่า ผลผลิตจะดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรามองข้ามอยู่เสมอ


นั่นคือ ดิน เหมือนกับว่าในการสร้างตึกสูงนั้น สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาก็คือ "ตัวตึก" แต่จะไม่มีใครนึกถึงว่าส่วนสำคัญที่ทำให้ตึกนั้นตั้งอยู่ได้ก็คือ รากฐาน ซึ่งไม่มีใครมองเห็นเพราะว่าอยู่ใต้ดิน ความจริงหน้าที่ของดินในการปลูกพืชคือ การค้ำจุนต้นไม้ไม่ให้ล้ม และเป็นแหล่งเก็บน้ำเก็บอากาศ และธาตุอาหารไว้ เพื่อส่งต่อให้ต้นไม่ได้ใช้ในการเจริญเติบโต

หากใครสังเกตให้ดีจะเห็นว่า วิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินหรือไฮโดรโปนิกส์นั้น ใช้หลักการที่ว่านี้เหมือนกัน คือ ปลูกในสารละลายที่มีธาตุอาหารจำเป็นต่างๆ อย่างครบครัน และมีการสร้างฟองอากาศเพื่อให้รากได้ใช้ในการหายใจ รวมทั้งมีวิธีการต่างๆ ในการพยุงต้นให้ตั้งตรง อยู่ในภาชนะที่ปลูกอยู่ได้ ซึ่งก็เหมือนกับการปลูกพืชในดินนั่นเอง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะปลูกพืชในดินโดยตรงหรือในน้ำยาที่เรียกว่าไฮโดรโปนิกส์ ตัวสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ "ธาตุอาหาร" ซึ่งตัวธาตุอาหารที่พืชต้องการนี้ ได้มาจากปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เรียกว่า "ปุ๋ย" นั่นเอง จากเดิมเมื่อหลายสิบปีก่อนเราไม่เคยรู้จักปุ๋ย และไม่ได้ใช้ปุ๋ยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ต่อมาความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้การใช้ปุ๋ยกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป แต่ปัญหาไม่ได้หมดอยู่แค่นั้น เพราะว่าหลายคนใช้ปุ๋ย เนื่องจากเห็นคนอื่นใช้ก็เลยใช้ตามกันไป โดยไม่ได้รู้ว่าบทบาทและหน้าที่ของปุ๋ยนั้นเป็นอย่างไร

ในที่สุดแทนที่จะเกิดผลดีกลับสร้างปัญหาต่างๆ ตามมา และเป็นช่องทางให้พ่อค้าหลายรายหาผลประโยชน์จากความไม่รู้นั้น ผลคือ เกษตรกรถูกหลอกได้ง่ายมาก แทนที่จะได้ผลผลิตดีเพราะการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้อง กลายเป็นว่าต้องเพิ่มต้นทุนเข้าไปอีก ด้วย "ความไม่รู้" เพราะหลงเชื่อคำโฆษณานั่นเอง

กระแสเรื่อง "เกษตรอินทรีย์" และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยมีการผลักดันให้กลายเป็นวาระชาติ และมีมาตรการต่างๆ โหมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ เกิดธุรกิจทำน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยอินทรีย์รูปแบบต่างๆ รวมไปถึงปุ๋ยชีวภาพสารพัดชนิดออกมาขายให้เกษตรกร

โดยอาศัยการบอกเล่าแบบปากต่อปาก ประกอบกับแรงผลักดันทางนโยบายของภาครัฐ กระทั่งทำให้ผู้ค้าปุ๋ยอินทรีย์สารพัดอย่าง หลายคนร่ำรวยไปตามๆ กัน เมื่อวิเคราะห์ดูก็จะรู้ว่าที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยเหล่านั้น เพราะว่าเชื่อในคำบอกเล่ามากกว่า เพราะว่ามีความรู้ในเรื่องปุ๋ยอินทรีย์เป็นอย่างดี แสดงว่าถึงแม้จะมีการใช้ปุ๋ยกันมานานจนเคยชินเป็นนิสัยแล้วนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะว่ามีความรู้ในเรื่องปุ๋ยเป็นอย่างดีแต่ประการใด ดังนั้นในวันนี้จึงคิดว่าน่าจะต้องมาเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อจะได้ไม่ถูกหลอกได้โดยง่ายอีกต่อไป


ศ.ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนเอกสารเรื่องความจริงเกี่ยวกับปุ๋ยในการเกษตร และสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเรื่องหนึ่ง และในนั้นมีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายอย่าง ที่คิดว่าน่าจะนำมาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้เข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยได้ ผมจึงขอนำเนื้อหาเหล่านั้น บางส่วนมาเล่าต่อ เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยได้ดีขึ้น โดยคิดว่าน่าจะต้องใช้เวลาเขียน 3-4 ตอน เริ่มแรกเลย คือ เรื่องความสับสนเกี่ยวกับการเรียกชื่อปุ๋ยประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเพียงแค่ชื่อก็เกิดความสับสนและเข้าใจผิดไปคนละทิศคนละทางแล้ว ไว้คราวหน้าจะมาบอกให้ทราบถึงความแตกต่างของปุ๋ยแต่ละอย่าง และแนวทางการเลือก "ปุ๋ย" เพื่อจะได้ใช้ได้ถูกต้องต่อไป

ปุ๋ยที่เรารู้จักมีอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ซึ่งชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็นปุ๋ยแบบใด มาจากไหน แต่ว่าในระยะหลังนี้มี "ปุ๋ยชีวภาพ" เข้ามาอีกคำหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนค่อนข้างมาก และใช้กันผิดจนเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน ความจริงเราแบ่งปุ๋ยได้เป็นกลุ่มใหญ่เพียง 3 กลุ่มเท่านั้น คือ ปุ๋ยแร่ธาตุ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ


พวกแรก คือ ปุ๋ยแร่ธาตุ เราอาจไม่คุ้นกับชื่อนี้ เพราะว่ามักจะถูกเรียกกันทั่วไปว่า ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยกลุ่มนี้มักจะผลิตมาจากแร่ธาตุต่างๆ ที่ได้มาจากธรรมชาติ หรือมาจากการสังเคราะห์ อย่างเช่น ปุ๋ยที่ได้จากหินฟอสเฟต ก็จัดว่าเป็นปุ๋ยที่มาจากธรรมชาติ แต่บางทีเราก็เอาแร่ธาตุเหล่านี้ มาทำปฏิกิริยาทางเคมีเกิดเป็นสารใหม่ เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต หรือพวกซูเปอร์ฟอสเฟต เป็นต้น ปุ๋ยเคมีพวกนี้จะเห็นได้ว่าจากแหล่งธรรมชาติก็ได้ หรือมาจากการสังเคราะห์ทางเคมีก็ได้ แต่ที่น่าจะต้องทำความเข้าใจ ก็คือ ไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติ หรือมาจากการสังเคราะห์ เมื่อใส่ลงไปในดินแล้ว จะทำหน้าที่เป็นตัวให้ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของพืชเป็นหลัก


ปุ๋ยพวกที่สอง คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งก็คล้ายกับปุ๋ยเคมีคือ ได้มาจากทั้งธรรมชาติ และมาจากการสังเคราะห์ พวกปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากธรรมชาติที่รู้จักกันดี ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด รวมไปถึงพวกของเสีย หรือผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผงชูรส หรือโรงงานน้ำตาล เหตุที่เรียกปุ๋ยเหล่านี้ว่า ปุ๋ยอินทรีย์ก็เพราะว่าประกอบด้วยสารอินทรีย์ในปริมาณสูงมาก ซึ่งถ้าจะจัดว่าเป็นสารอินทรีย์ ก็หมายความว่า มีธาตุคาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน เป็นองค์ประกอบหลัก

ดังนั้นธาตุอาหารอื่นที่จำเป็นต่อพืชจึงมีน้อย ตรงจุดนี้คือ สิ่งที่น่าคิดว่าการจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นตัวให้ธาตุอาหารแก่พืชน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะว่ามีปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืชค่อนข้างน้อย หากจะใช้เป็นแหล่งให้ธาตุอาหารจริง ก็จะต้องใช้ในปริมาณสูงมาก ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วมีความเป็นไปได้น้อยมาก

แต่ก็มีปุ๋ยอินทรีย์อีกตัวหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิน รวมทั้งมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก จึงจัดว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างหนึ่ง แต่เป็นปุ๋ยอินทรีย์สังเคราะห์ ปุ๋ยยูเรียให้ธาตุไนโตรเจนสูงมาก และใช้กันทั่วไป แต่เรียกหรือเข้าใจกันว่าเป็น "ปุ๋ยเคมี"

ปุ๋ยพวกที่สาม คือ ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่า การนำเศษพืชหรือสัตว์อย่างเช่น หอยเชอร์รี่หรือปลามาหมัก แล้วเกิดเป็นปุ๋ยเรียกว่าปุ๋ยชีวภาพนั้น ไม่น่าจะถูกต้อง ความจริงพวกปุ๋ยที่ได้ด้วยวิธีการเหล่านี้ก็คือ ปุ๋ยอินทรีย์ประเภทปุ๋ยหมักแบบหนึ่งเท่านั้น ตอนหลังจึงนิยมเรียกกันว่า "น้ำหมักชีวภาพ" ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำเท่านั้นเอง

การที่จะเรียกปุ๋ยชนิดใดว่าปุ๋ยชีวภาพนั้น หมายความว่าปุ๋ยนั้นต้องมีชีวิตและทำหน้าที่สร้างธาตุอาหารให้ดิน อย่างเช่น จุลินทรีย์หลายชนิดที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ยกตัวอย่างเช่น ไรโซเบียม หรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินบางชนิด ดังนั้นเมื่อใส่จุลินทรีย์เหล่านี้เข้าไปในดินก็จะเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น ปุ๋ยชีวภาพก็คือ วัสดุหรือปุ๋ยที่มีจุลินทรีย์เป็นตัวออกฤทธิ์โดยตรง พวกปุ๋ยน้ำหมักหรือที่เรียกว่าน้ำหมักชีวภาพนั้น ถึงแม้จะมีจุลินทรีย์เป็นองค์ประกอบ แต่ว่ามีหน้าที่หลักคือ ไปย่อยสลายเศษซากพืช หรืออินทรีย์วัตถุในดิน ให้ปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการสร้างธาตุอาหารเพิ่มขึ้น การเรียกปุ๋ยเหล่านี้ว่า "ปุ๋ยชีวภาพ" จึงไม่ถูกต้อง

หน้าที่ของ "ปุ๋ยเคมี" คือ เป็นตัวให้ธาตุอาหารที่จำเป็นแก่ต้นพืช เพราะว่าปุ๋ยเคมีประกอบด้วยธาตุอาหารในปริมาณสูง ดังนั้นจึงใช้ในปริมาณน้อย แต่ก็ได้ธาตุอาหารเพียงพอ แต่ว่า "ปุ๋ยอินทรีย์" มีหน้าที่ที่ต่างกันออกไป นั่นคือ เป็นตัวปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน อย่างเช่น ทำให้ดินโปร่งร่วนซุย มีอากาศแทรกอยู่มากพอที่จะให้รากหายใจได้ และรากชอนไชไปหาอาหารได้ไกลๆ ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ก็พอจะมีธาตุอาหารอยู่บ้างเล็กน้อย

ดังนั้นหากจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ทำหน้าที่แทนปุ๋ยเคมี คือ เป็นตัวให้ธาตุอาหารนั้น จะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากกว่าปุ๋ยเคมีเป็นร้อยเท่า และถ้าคิดถึงต้นทุนค่าปุ๋ยแล้ว การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะมีต้นทุนสูงกว่าปุ๋ยเคมีมาก

ดังนั้นถ้าจะทำเป็นการค้าจริงๆ ก็มีโอกาสขาดทุนมาก และที่สำคัญคือ การที่จะหาวัตถุดิบมาทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีนั้น มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก เพราะว่าถ้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และต้องการใช้ปุ๋ยปริมาณมหาศาล ก็จะเริ่มมีปัญหาเรื่องการทำ "ปุ๋ยหมัก" และการเก็บรักษารวมไปถึงการขนส่งแล้ว เมื่อคิดราคาต่อกิโลกรัมของธาตุอาหารที่ได้แล้ว เรียกได้ว่าปุ๋ยอินทรีย์มีราคาแพงกว่ามาก ดังนั้น การตั้งเป้าหมายว่า จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์จึงไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง เพราะว่าของทั้งสองอย่างต่างก็มีประโยชน์ไม่เหมือนกันและทำหน้าที่แตกต่างกัน


ตอนนี้เรากำลังสับสนเรื่องของ "เกษตรอินทรีย์" กับ "ปุ๋ยอินทรีย์" ว่าไปแล้วเกษตรอินทรีย์ของเราที่ทำกันอยู่นั้น หลายส่วนไม่ใช่รูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง แต่ว่าเรื่องของการลดการใช้สารเคมีเกษตรนั้น ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพียงแต่ว่าถ้ายังไม่ถึงขั้นเกษตรอินทรีย์ ก็คงต้องยอมรับกันและปรับปรุงนโยบายใหม่ให้ถูกต้อง

อย่างเรื่องแรกเลยน่าจะเป็นการแยกปุ๋ยเคมีออกจากนโยบายการลดการใช้สารเคมีเกษตร จริงอยู่ที่ว่าปุ๋ยเคมีก็คือ สารเคมีเกษตรประเภทหนึ่ง แต่ว่า "ไม่ใช่สารพิษ" ที่หลายคนเอาไปปนกับเรื่องของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นใน นโยบายการลดการนำเข้าสารเคมีเกษตร น่าจะเป็นเรื่องที่เน้นเฉพาะสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งไม่ควรรวมเรื่องปุ๋ยเคมีเข้าไปด้วย ความจริงเรื่องสารเคมีเกษตรที่เรากลัวกัน คือ เรื่องของ "สารพิษตกค้าง" ในผลิตผลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเป็น

เรื่องของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ก็คงจะเข้าใจกันดีว่ามีโอกาสเกิดการตกค้างได้ แต่เรื่องของปุ๋ยเคมีแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น ดังนั้น การนำปุ๋ยเคมีมาปนกับเรื่องของสารเคมีเกษตรอื่นๆ จึงไม่น่าจะถูกต้อง

การที่พยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมีนั้น ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิด เพราะว่าปัจจุบันประเทศไทยใช้ปุ๋ยเคมีน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกพืชทั้งหมด ดังนั้นหากต้องมาพบกับมาตรการลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะว่าเป็นสารเคมีเกษตรตามนโยบายด้วยแล้ว ก็น่าเป็นห่วงว่าอนาคตดินของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หากมีการใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์มากๆ โดยเอามาแทนปุ๋ยเคมีโดยสมบูรณ์นั้น สภาพดินภายนอกก็คงจะดูดีร่วนซุย แต่ปลูกอะไรก็ไม่งามเพราะว่าไม่มีธาตุอาหาร และหากเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว โอกาสแก้ไขให้กลับคืนมาเหมือนเดิมนั้นคงยากมาก


ถ้าไปเปิดตำราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของดินและปุ๋ย ไม่ว่าจะเขียนโดยใครก็ตาม สิ่งที่คล้ายกันก็คือ การใช้ปุ๋ยให้ได้ผลดีที่สุดนั้น ต้องเป็นการใช้ร่วมกันระหว่างปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีเสมอ ไม่ใช่การใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะว่าต่างก็ทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน และมีผลร่วมกันในการทำให้ต้นไม้เติบโตได้ดี และที่สำคัญก็คือ เพื่อความยั่งยืน หมายความว่าไม่ใช่ปลูกพืชเพียงแค่ไม่กี่ฤดูกาลดินก็เสื่อมโทรม เพราะว่ามีการใช้ปุ๋ยอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป แต่หากตัวหนึ่งให้ธาตุอาหารอย่างเพียงพอ อีกตัวหนึ่งช่วยปรับสภาพแวดล้อมของดินให้สมบูรณ์ สิ่งที่ตามมาก็คือ ความสมบูรณ์ที่ยาวนานและยั่งยืน



http://www.pantown.com/group.php?display=content&id=36976&name=content4&area=3
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
napassorn
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 25/09/2010
ตอบ: 202
ที่อยู่: จ.นครราชสีมา

ตอบตอบ: 04/03/2011 10:46 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

คำพูด:
สำหรับข้อมูลเปรียบเทียบผลผลิตพืชในแปลงเตรียมดินวิธีการที่ดีและวิธีการทั่วไป พบว่า สามารถ

เพิ่มผลผลิตข้าวโพดจากเดิม เฉลี่ย 600 กก./ไร่เพิ่มเป็น 1,000 กก./ไร่
ส่วนผลผลิตอ้อยพบว่าเดิมมีผลผลิตเฉลี่ย 5,700กก./ไรเพิ่มเป็น 4,080กก./ไร่
และผลผลิตข้าวพบว่าผลผลิตเดิม 490 กก./ไร่เพิ่มเป็น 390กก./ไร่



ลุงครับ...
สงสัยครับ สอง รายการหลังเพี่มผลผลิตอย่างไรครับ
_________________
<<ไร่อ้อยนภัสสร>>
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 05/03/2011 7:02 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เหมือนที่ตอบ "คุณมีบุญ" นั่นแหละ....

เพิ่มผลผลิตแบบ "พิมพ์ผิด" ยังไงล่ะ....


ลุงคิมครับผม
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11656

ตอบตอบ: 06/03/2011 9:01 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ปลูก "หญ้าแพงโกล่า" สลับนาข้าว เพิ่มคุณภาพดิน-มีกินตลอดทั้งปี







คมชัดลึก : การปลูกหญ้าแพงโกล่าเพื่อเป็นพืชอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถปลูกได้ทั้งในพื้นที่ลุ่มเขตชลประทานและพื้นที่ดอนที่มีการขุดสระกักเก็บน้ำ ที่สำคัญใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาข้าวถึง 3 เท่า ลงทุนปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นาน 5-7 ปี และสามารถตัดขายได้ทุกๆ 45 วัน ในรอบ 1 ปีจะตัดหญ้าแห้งขายได้ 5-7 ครั้ง ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 25,000 บาทต่อไร่ต่อปี อีกทั้งยังสามารถปล่อยพันธุ์ปลาในสระเก็บน้ำเลี้ยงขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

ชาญ เห็นสิงห์ อยู่บ้านเลขที่ 53 หมู่ 10 ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เกษตรกรผู้ปลูกหญ้าแพงโกล่า เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยทำนาข้าวแต่ประสบกับปัญหาเพลี้ยระบาดอย่างรุนแรงและขาดแหล่งน้ำในหน้าแล้งทำให้เกิดการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกหญ้าแพงโกล่าแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้เข้ามาแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกและผลผลิตที่จะได้รับ รวมถึงข้อดีของการปลูกหญ้าประเภทนี้

"ในช่วงแรกได้ทดลองปลูกหญ้าควบคู่กับปลูกข้าว แบ่งเป็นอย่างละ 5 ไร่ เพื่อศึกษาผลที่จะได้รับว่าอย่างไหนดีกว่ากัน สุดท้ายก็พบว่าปลูกหญ้าดีกว่า จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกเป็น 10 ไร่ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันปลูกเต็มพื้นที่ 80 ไร่ สลับหมุนเวียนกับการทำนาข้าว โดยปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์เต็มร้อย ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรแต่อย่างใดทั้งในแปลงหญ้าและนาข้าว ข้อดีของการทำนาหญ้าก็คือ ใช้น้ำน้อย ลงทุนน้อย ไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลง สามารถทำรายได้ตลอดทั้งปี"

ชาญอธิบายรายละเอียดถึงขั้นตอนการปลูกหญ้าแพงโกล่าว่า เริ่มจากการเตรียมดินเช่นเดียวกับการทำนา โดยการไถดะ ปล่อยน้ำเข้าและตีเทือก หมักดินทิ้งไว้ 7-10 วัน ปรับระดับน้ำให้สูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ขั้นตอนนี้ควรจัดการให้ดีที่สุด ระวังอย่าให้มีวัชพืชปะปน เพราะอาจทำให้ราคาตกเมื่อเก็บเกี่ยว การปลูกใช้ท่อนพันธุ์หว่าน ในอัตรา 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านแล้วใช้ไม้นาบท่อนพันธุ์ให้พอจมน้ำ แช่ทิ้งไว้ 6-8 วัน จึงระบายน้ำออกจากแปลงให้น้ำท่วมผิวดินพอหมาดๆ สูงไม่เกิน 5 เซนติเมตร หลังปลูกได้ประมาณ 30 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้ทั่วแปลง และเมื่อหญ้าอายุได้ 60 วัน ก็เริ่มตัดหญ้าครั้งแรกได้ โดยทุกๆ ครั้งหลังการตัด จะใส่ปุ๋ยคอกจากมูลโค-กระบือที่ทำไว้ หรือใช้น้ำมูลหมูใส่ลงในแปลงพร้อมกับการสูบน้ำเข้าพอให้ท่วมผิวดิน และทุกๆ 25-30 วัน ก็จะสามารถตัดหญ้าได้

"ที่นี่จะทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงผลิตปุ๋ยเคลื่อนที่อย่างโคและกระบือที่เลี้ยงไว้จำนวน 75 ตัว เป็นกำลังสำคัญ โดยเอามูลมาทำเป็นปุ๋ยใส่ในแปลงหญ้า นอกจากนี้ยังนำน้ำมูลสุกรจากฟาร์มเลี้ยงใกล้ๆ บ้านมาหมักเป็นปุ๋ยชั้นเลิศอีกด้วย แต่ก่อนนำมาใช้ต้องผ่านการหมักพักไว้ในบ่อและใส่สารเร่งซูเปอร์ พด.2 ของกรมพัฒนาที่ดินที่แจกฟรีลงไปเสียก่อน หมักให้ได้ที่จึงจะนำมาใช้ นอกจากจะช่วยในการลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ฟื้นคืนกลับมามากขึ้นด้วย"

เกษตรกรผู้ปลูกหญ้าแพงโกล่าคนเดิมยังย้ำด้วยว่า เมื่อดินฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นก็หยุดนาหญ้าแล้วหันกลับมาทำนาข้าวอีก ซึ่งผลผลิตที่ได้จะดีมาก เนื่องจากดินดี ต้นทุนน้อย ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ผลผลิตข้าวจึงสวยกว่าที่อื่น ที่สำคัญผลผลิตข้าวต่อไร่ก็เพิ่มขึ้น จากเดิมได้ผลผลิตอยู่ที่ 40-50 ถังต่อไร่ ตอนนี้อยู่ที่ 90-110 ถังต่อไร่ โดยมีรายได้เฉลี่ยจากนาข้าวประมาณ 2 แสนบาทต่อปี ส่วนนาหญ้าทำรายได้ต่อวันละไม่ต่ำกว่า 800 บาท โดยมองว่าในส่วนของนาข้าวและโค-กระบือเปรียบเสมือนเงินออม สำหรับนาหญ้าก็คือเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน

หากเกษตรกรท่านใดกำลังมองหาอาชีพที่ลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำ ขอแนะนำอาชีพปลูกหญ้าไว้เป็นอีกทางเลือก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชาญ เห็นสิงห์ บ้านเลขที่ 53 หมู่ 10 ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท โทร.08-9958-5890, 08-2170-8011 ได้ทุกวัน

"สุรัตน์ อัตตะ"


http://www.komchadluek.net/detail/20110303/90409/ปลูกหญ้าแพงโกล่าสลับนาข้าวเพิ่มคุณภาพดินมีกินตลอดทั้งปี.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©