-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-มูลไส้เดือน…..ปุ๋ยที่เป็นมากกว่าปุ๋ย
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - มูลไส้เดือน…..ปุ๋ยที่เป็นมากกว่าปุ๋ย
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

มูลไส้เดือน…..ปุ๋ยที่เป็นมากกว่าปุ๋ย

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
cowboykps
หนาวดึ่ง
หนาวดึ่ง


เข้าร่วมเมื่อ: 14/11/2012
ตอบ: 1

ตอบตอบ: 14/11/2012 10:35 am    ชื่อกระทู้: มูลไส้เดือน…..ปุ๋ยที่เป็นมากกว่าปุ๋ย ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

มูลไส้เดือน…..ปุ๋ยที่เป็นมากกว่าปุ๋ย โดย เพื่อนโคบาล
มูลไส้เดือนนอกจากจะมีคุณสมบัติในการปรับปรุงโครงสร้างของดินและให้ธาตุอาหารแก่พืชเหมือนปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไปแล้ว มูลไส้เดือนยังมีสิ่งที่เหนือกว่าปุ๋ยทั่วไปดังนี้

1. มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์แก่พืชอยู่เป็นจำนวนมาก
2. มีฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืช (growth hormones) และโฮโมนที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น ออกซิน (auxins) ,จิบเบอริลิค แอซิด (gibberellic acid), ไคเนติน (kinetins)และไซโตไคนิน (cytokinin)
3. มีเอนไซม์ต่างๆเช่น เอนไซม์ย่อยฟอสแฟต(phosphates) เอนไซม์ย่อยเซลลูโลส(cellulase) และไคติเนส(kitinase)

ดังนั้น การนำมูลไส้เดือนไปโรยหน้าดินหรือผสมกับดินที่ใช้ปลูกไม้กระถาง จะทำให้ต้นไม้งอกงามโตเร็ว อีกทั้งยังเหมาะในการผสมดินเพื่อเพาะเมล็ดพืชและเพาะชำกิ่งพันธุ์ไม้ หากถามว่าในการใช้ผสมดินปลูกพืช ต้องใช้มากน้อยแค่ไหน คำตอบไม่มีที่แน่นอนตายตัวขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดินเดิม จะใช้มากถึง 50 % ก็ไม่เป็นอันตรายต่อพืช(แต่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ คือเป็นโรคกระเป๋าแห้ง เพราะมูลไส้เดือนมีราคาค่อนข้างสูง) ถ้าแนะนำกลางๆก็คือใช้ในอัตรา 10-30 % ของดินผสม หากที่บ้านท่านมีอ่างบัว ลองเอากระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษทิชชูห่อมูลไส้เดือนสัก 1 กำมือ ฝังลงในกระถางบัว รับรองได้ว่าไม่เกิน 15 วันต่อมาบัวจะสมบูรณ์ออกดอกสวยงามทันตาเห็น

มูลไส้เดือนไม่มีกลิ่น และพืชสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ขบวนการหมักเสร็จสิ้นเหมือนปุ๋ยมูลสัตว์อื่นๆ เพราะขบวนการหมักเสร็จสิ้นในตัวไส้เดือนแล้ว

หากนำมูลไส้เดือน 1 กก.ใส่ถุงที่มีรูพรุนแล้วแช่ไว้ในน้ำ 20 ลิตรเป็นเวลา 1-3 วัน (ถ้าเติมกากน้ำตาล 1-2 ช้อนโต๊ะด้วยก็ยิ่งดี เพราะจุลินทรีย์จะขยายตัวได้มากขึ้น) ก็จะได้น้ำสกัดจากมูลไส้เดือน น้ำสกัดจากมูลไส้เดือนนี้ นำไปเจือจางด้วยน้ำ 5-10 เท่าแล้วใช้เป็นปุ๋ยน้ำฉีดพ่นใบต้นไม้ นอกจากพืชจะได้ธาตุอาหารแล้ว ยังเป็นสารขับไล่แมลงด้วยในตัว น้ำสกัดนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ทำนองเดียวกับน้ำสกัดชีวภาพ (เช่น อีเอ็ม)ในการดับกลิ่นและย่อยสลายอินทรีย์วัตถุอีกด้วย
หมายเหตุ ข้อมูลข้างต้นได้จากการรวบรวมจากหลายแหล่งรวมทั้งประสบการณ์จริง

เพื่อนโคบาล 1 หมู่ 7 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ นครปฐม 034-351831
15 สิงหาคม 2553




การเลี้ยงไส้เดือน (อย่างย่อ) โดย เพื่อนโคบาล

บทนำ
การเลี้ยงไส้เดือนมีกรรมวิธีแตกต่างกันตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องให้ไส้เดือนอยู่อย่างสบาย(ไม่หนี) กินมาก ถ่ายมาก ออกลูกมาก และที่สำคัญคือต้องสิ้นเปลืองเวลาน้อยที่สุด

เพื่อนโคบาล ดำเนินการ ดังนี้
1. ใช้มูลโคซึ่งล้นออกจากบ่อไบโอแก๊ส เป็นทั้งที่อยู่และอาหารของไส้เดือน ซึ่งนับว่าดีมาก
2. เลี้ยงแบบต่อเนื่อง ไม่ต้องเสียเวลาคัดแยกตัวออก ไม่ต้องเตรียมที่เลี้ยงใหม่ ไม่ต้องร่อนมูลไส้เดือน

ข้อมูลทั่วไป
• เลี้ยงไส้เดือนเพื่ออะไร
o ผลิตปุ๋ยคุณภาพดี
o ผลิตตัวไส้เดือน

• ประเภทของไส้เดือน
o ประเภทอาศัยอยู่หน้าดิน
o ประเภทอาศัยอยู่ในดินชั้นบน พบในดินลึก 20-30 ซม
o ประเภทอาศัยอยู่ในดินชั้นล่าง พบในดินลึก ถึง 3 เมตร

• ไส้เดือนที่นำมาเลี้ยงได้ คือ ประเภทอาศัยอยู่หน้าดิน

• พันธุ์ ที่นิยมเลี้ยง
o ไส้เดือนอาฟริกา (African night crawler)ชื่อวิทยาศาสตร์ Eudrilus eugeniae
o ไส้เดือนสีน้ำเงิน (Blue worm)ชื่อวิทยาศาสตร์ Perionyx excavatus
o ไส้เดือนพื้นเมืองที่เลี้ยงได้ คือพันธุ์ขี้ตาแร่

• การขยายพันธุ์ของไส้เดือน
o ไส้เดือนที่เป็นหนุ่มสาวแล้วผลิตไข่ที่เป็น capsule ทุกๆ 7 – 10 วัน
o ไข่ที่เป็น capsule ฟัก 14 -21 วัน
o ใน capsule มีลูกไส้เดือน 2 – 20 ตัว เฉลี่ย 4 ตัว
o ไส้เดือนเต็มวัย 1 ตัวจะให้ลูกได้ 1,200 – 1,500 ตัวต่อปี

วิธีการเลี้ยง
• เริ่มต้นเลี้ยงอย่างน้อยต้องมี
o ภาชนะหรือที่เลี้ยง
o ที่อยู่ (Bedding)
o อาหาร
o พันธุ์ไส้เดือน

• มูลโคเป็นทั้งที่อยู่และอาหารของไส้เดือน แต่ต้องเป็นมูลโคที่ไม่มีแอมโมเนียหลงเหลือ เช่นมูลโคจากบ่อก๊าซชีวภาพและผ่านการชะล้างของน้ำมาระยะหนึ่ง หรือ มูลโคกองตากแดดตากฝนไว้ 1-2 ฤดูฝน หรือมูลโคตากแห้ง นำมาล้างน้ำ 3 ครั้ง(นำมูลโคแห้งมาแช่น้ำ 24 ชั่วโมงแล้วเทน้ำทิ้ง ทำซ้ำเช่นนี้อีก 2-3 รอบ)

• รูปแบบการเลี้ยง
o รูปแบบที่ 1 ผู้เลี้ยงแยกตัวไส้เดือนออกเมื่อกินอาหารหมด
o รูปแบบที่ 2 ให้ไส้เดือนแยกตัวออกเองเมื่อเพิ่มอาหารและที่อยู่ให้ใหม่
• ที่เพื่อนโคบาล ใช้รูปแบบให้ไส้เดือนแยกตัวออกเอง(เลี้ยงแบบต่อเนื่อง) เพราะประหยัดแรงงานและไส้เดือนไม่บอบช้ำ

• รูปแบบให้ไส้เดือนแยกตัวออกเอง มี 2 อย่างคือ
o แยกตัวตามแนวตั้ง
o แยกตัวตามแนวนอน

• วิธีการเลี้ยงแบบแยกตัวตามแนวตั้ง
o หลักการคือไส้เดือนประเภทอยู่ผิวดินชอบอยู่เฉพาะ10-20 ซม.จากผิวหน้าของเบดดิ้ง
o สร้างภาชนะทำนองเดียวกับลังไม้ตามตัวอย่าง ให้ด้านล่างเป็นร่องที่สามารถทำให้ขี้ไส้เดือนรวงลงมาได้ ผนังด้านข้างภายในลังควรบุด้วยผ้าพลาสติกหรือแผ่นไม้เชอร่าเพื่อป้องกันความชื้นซึ่งจะทำให้ไม้ลังผุช้าลง
o ปูกระดาษหนังสือพิมพ์ประมาณ 20 ชั้นบนร่องนั้น
o ใส่เบดดิ้ง(เพื่อนโคบาลใช้มูลโคที่ตักจากบ่อน้ำล้นของบ่อก๊าซชีวภาพ)ลงไปในลังให้หนา 10-12 ซม
o ปล่อยไส้เดือนลงไป 1 ก.ก.(พื้นที่ผิวหน้า 0.6 ตารางเมตร)
o ใช้กระสอบป่านเก่าๆ หรือวัสดุอื่นๆที่หาได้เช่นกระดาษลัง กระดาษหนังสือพิมพ์ปิดผิวหน้า(กระสอบป่านนับว่าดีที่สุดเพราะไม่ต้องยกออกเมื่อต้องการรดน้ำ)
o รดน้ำด้วยบัวเมื่อเห็นว่าผิวหน้ามีความชื้นน้อย คือประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
o เติมมูลโคทุกๆ สัปดาห์ หนา10-12 ซม เช่นเดิม

o เมื่อสิ่งที่เติมลงไปสูงประมาณ 60-70 ซม ให้เอามูลไส้เดือนออกทางส่วนล่างของลัง ทำให้ลดความหนาของวัสดุในลังลง 10-12 ซม(ควรเอามูลไส้เดือนออกหลังจากเติมมูลโคด้านบนแล้ว 1 วัน เพื่อให้ไส้เดือนทั้งหมดไปรวมอยู่ส่วนบน)

o วิธีการเอามูลไส้เดือนออกจากก้นลังนี้ ถ้าก้นลังทำด้วยท่อ PVC ห่างกัน 2.5 ซม.ก็ใช้ตะขอเกี่ยวให้มูลไส้เดือนร่วงลงตามร่องหรือถ้าก้นลังทำด้วยเหล็กแป๊บห่างกัน 12 ซม.และทำให้มีบั้ง ก็สามารถใช้วิธีหมุนเหล็กเพื่อให้มูลไส้เดือนหล่นลงมาซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว

o มูลไส้เดือนนี้แทบจะไม่มีตัวไส้เดือนหลงเหลืออยู่เลย เราสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ทันที แต่ถ้าต้องการเอาตัวไส้เดือนออกให้หมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเล็กๆที่หลงเหลืออยู่หรือต้องการรอเวลาให้ไข่ฟักออกเป็นตัวเพิ่มขึ้น ก็ให้กองมูลได้เดือนไว้บนพื้นหนาประมาณ 20 ซม.แล้วเอาตะกร้าหรือกระบะมีรูข้างล่างที่มีเบดดิ้งหนา 5-10 ซม.ไปวางกระจายบนกองมูลไส้เดือนนั้นเพื่อเรียกตัวไส้เดือนที่หลงเหลืออยู่หรือตัวที่ฟักออกมาใหม่ขึ้นมาอยู่ในตะกร้า อาจใช้เวลา 10-20 วันหรือเมื่อสังเกตว่าไม่มีตัวหลงเหลืออยู่เลย(อาจจะต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง)

o จัดการเลี้ยงดูไส้เดือนเช่นนี้ไปเรื่อยๆคือใน 1 สัปดาห์ เติมมูลโค 1 ครั้ง เอามูลไส้เดือนออก 1 ครั้ง และรดน้ำ 1-2 ครั้ง เราก็จะได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนมาใช้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับในลังไส้เดือนก็จะมีตัวไส้เดือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหากเห็นว่ามีไส้เดือนในลังหนาแน่นเกินไป ก็จับตัวใหญ่ๆที่อยู่บนผิวหน้าเพื่อนำไปขยายพันธุ์ที่อื่นหรือจำหน่ายจ่ายแจกแก่ผู้อื่น แต่ถ้าหากไม่สนใจว่าจะเลือกเฉพาะตัวใหญ่ก็สามารถใช้วิธีเรียกตัวไส้เดือนทำได้ง่ายๆคือใช้ตะกร้าพลาสติกหรือกระบะที่มีรูด้านล่าง ใส่เบดดิ้งมูลโคลงในตะกร้าแล้วนำไปวางบนผิวหน้าในลังไส้เดือน 1-

o 2 คืนไส้เดือนก็จะขึ้นมาอยู่ในตะกร้าอย่างหนาแน่นทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่

o ทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะได้ทั้งมูลไส้เดือนและตัวไส้เดือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


หมายเหตุ :
1.หากไม่มีมูลโคที่ล้นจากบ่อแก๊ส สามารถใช้มูลโคตากแห้ง นำมาล้างน้ำ 2-3 ครั้ง(นำมูลโคแห้งมาแช่น้ำ 24 ชั่วโมงแล้วเทน้ำทิ้ง ทำซ้ำเช่นนี้อีก 2-3 รอบ) แทนได้

2.โดยปกติการเลี้ยงด้วยมูลโคจากบ่อแก๊สไม่จำเป็นต้องให้น้ำเพื่อเพิ่มความชื้นแก่เบดดิ้ง เพราะไส้เดือนจะกินหมดตั้งแต่เบดดิ้งยังไม่แห้ง แต่ถ้าเลี้ยงด้วยมูลโคแห้งล้างน้ำ จำเป็นจะต้องให้น้ำประมาณ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง)

ปั่นมูลไส้เดือนลงทางด้านล่าง

เรียกตัวไส้เดือนที่หลงเหลืออยู่

มูลไส้เดือนบรรจุกระสอบละ 25 กก.ราคา 200 บาท
• วิธีการเลี้ยงแบบแยกตัวตามแนวนอน
o หลักการเช่นเดียวกับแบบแนวตั้ง แต่สร้างภาชนะเลี้ยงให้ไส้เดือนสามารถเคลื่อนย้ายไปด้านข้างแทนการย้ายขึ้นด้านบน ไส้เดือนจะเคลื่อนย้ายเมื่ออาหารหมด
o วิธีนี้การสร้างภาชนะที่เลี้ยงง่ายและราคาถูกกว่าวิธีแรก แต่เปลืองพื้นที่มากกว่าประมาณ3-4 เท่า เพื่อนโคบาลใช้อิฐบล็อกประสานมาเรียงต่อซ้อนกันเป็นบล๊อกดังภาพ อย่างไรก็ตามเท่าที่ปฏิบัติมา การเคลื่อนย้ายของตัวไส้เดือนระบบแนวนอนได้ผลไม่ดีนัก สู้การเคลื่อนย้ายแบบแนวตั้งไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไส้เดือนพันธุ์อาฟริกัน ประมาณ 20-30 % ที่ไม่ยอมเคลื่อนย้าย ยังคงอยู่ ณ จุดเดิม(ส่วนล่างๆ) ซึ่งไม่มีอาหารกิน ทำให้ตัวผอมเล็กลง(ส่วนไส้เดือนสีน้ำเงินมีการเคลื่อนย้ายดีพอควร แต่ก็ยังไม่ดีเท่าเคลื่อนย้ายแนวตั้ง) ดังนั้นเพื่อนโคบาลจึงประยุกต์การใช้อิฐบล๊อกประสานให้เป็นการเคลื่อนย้ายแนวนอนและแนวตั้งผสมกันดังนี้
- แรกสุดให้ซ้อนอิฐบล็อกประสานเพียง 2 ชั้น เติมเบดดิ้งลงไป 10-12 ซม.
- ปล่อยตัวไส้เดือนลงไป 1-2 กก.ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
- เติมเบดดิ้งสัปดาห์ละ 1 ครั้งหนาประมาณ 10-12 ซม.โดยซ้อนอิฐบล๊อกประสานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- ตัวไส้เดือนจะย้ายจากล่างขึ้นบนเรื่อยๆเพื่อมากินอาหารและรับออกซิเจน
- เมื่อเบดดิ้งสูงจากพื้นประมาณ 80ซม.ให้นำอวนไนล่อนตาถี่วางลงบนผิวหน้าแล้วเติมเบดดิ้งบนอวนนั้นให้หนา 5-10 ซม.
- รอเวลา 1-2 วันก็ยกอวนที่มีทั้งเบดดิ้งและตัวไส้เดือนลงมาในบล๊อกติดกันนั้นเพื่อตั้งต้นเลี้ยงในบล๊อกใหม่ และทำเช่นนี้อีก 2-3รอบโดยรอบหลังอาจจะรอเวลา 5-10 วัน ตัวไส้เดือนในบล็อกเดิมและตัวที่ฟักออกมาใหม่ก็จะถูกย้ายมาอยู่ในบล็อกใหม่จนแทบจะหมดสิ้น (ส่วนล่างของ 2 บล็อกควรเว้นช่องว่างให้ตัวไส้เดือนที่หลงเหลืออยู่ส่วนล่างสามารถย้ายมาบล๊อกใหม่ได้เอง)
- เมื่อเห็นว่าในบล็อกเดิมไม่มีตัวเหลืออยู่แล้ว ก็นำเอามูลไส้เดือนไปใช้ประโยชน์ได้เลย ส่วนในบล็อกใหม่ก็เติมเบดดิ้งให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง สรุปแล้วกินเวลาในแต่ละบล็อกประมาณ 2-3 เดือนซึ่งนานพอที่ไข่จะฟักเป็นตัวได้ก่อนเก็บเกี่ยวมูลไส้เดือน

• การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดอินทรียวัตถุจากครัวเรือน
o หลักการเช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น รายละเอียดต่างไปดังนี้
- ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ฉีกเป็นริ้วๆ (1 นิ้ว)เป็นที่อยู่ (เบดดิ้ง)ชุบน้ำให้ชุ่ม (หนา 10-12 ซม . เช่นเดียวกัน)
- ให้เศษผัก ผลไม้จากครัวเป็นอาหารโดยวางอาหารไว้มุมหนึ่งของลังไส้เดือนแล้วเอาเบดดิ้งที่ทำจากกระดาษหนังสือพิมพ์ ปิดกลบกองอาหาร และใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ทั้งเล่มปิดบนหน้าเบดดิ่งทั้งหมดให้มิดชิดอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันแมลงวันหรือแมลงอื่นๆลงไปวางไข่บนกองอาหาร
- อีกประมาณ 1 สัปดาห์ หรือเมื่อเห็นว่าอาหารถูกกินไปเกือบหมดแล้ว ก็ให้อาหารครั้งใหม่โดยเลื่อนตำแหน่งการวางอาหาร ไม่ให้ซ้ำกับจุดเดิม และใช้เบดดิ้งปิดกลบอาหารดังข้างต้น และทำเช่นนี้ทุกครั้งที่ให้อาหารจนกระทั่งได้เบดดิ้ง(ซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นมูลไส้เดือนแล้ว)เกือบเต็มลังก็นำส่วนล่างไปใช้เป็นปุ๋ยได้เลย
- จำเป็นต้องให้น้ำเบดดิ้งให้มีความชื้น 2-3 วันต่อครั้ง
o อื่นๆทำเช่นเดียวกับการเลี้ยงด้วยมูลโค
• ข้อสังเกตบางประการ
o เดิมทีเดียวที่เพื่อนโคบาลเลี้ยงพันธุ์อาฟริกันและพันธุ์สีน้ำเงินรวมอยู่ในลังเดียวกัน พบว่า
- ถ้าการจัดการดี อาหารพอเพียง พันธุ์อาฟริกันจะหนาแน่นกว่าพันธุ์สีน้ำเงิน
- ถ้าสภาพแวดล้อมไม่ดี อาหารไม่ดี พันธุ์สีน้ำเงินจะหนาแน่นกว่าพันธุ์อาฟริกัน
- การเลี้ยงแบบเคลื่อนย้ายแนวนอน พันธุ์สีน้ำเงินจะหนาแน่นกว่าพันธุ์อาฟริกัน
- การเลี้ยงแบบเคลื่อนย้ายแนวตั้ง พันธุ์อาฟริกันจะหนาแน่นกว่าพันธุ์สีน้ำเงิน
- ถ้ามีการจับตัวขายบ่อยๆพันธุ์สีน้ำเงินจะหนาแน่นกว่าพันธุ์อาฟริกันเพราะทั้งคนจับและคนซื้อชอบไส้เดือนตัวใหญ่ๆ ระยะหลังจึงพยายามแยกเลี้ยงแต่ละพันธุ์


********************************************

สนใจดูของจริง ติดต่อเพื่อนโคบาล 034-351831 และ 034-352614
1 มิถุนายน 2554

ข้อมูลเบื้องต้นในการใช้มูลโคเป็นที่อยู่และอาหารของไส้เดือน
การทดสอบที่ 1
วัตถุประสงค์
เพื่อหาคำตอบว่ามูลโคประเภทหรือชนิดใดใช้เป็นที่อยู่และอาหารในการเลี้ยงไส้เดือนได้บ้าง(ต่อไปนี้ขอเรียกมูลโคที่นำมาใช้ทดสอบเหล่านี้ว่าเบดดิ้ง)

วิธีการ
1. นำเบดดิ้งชนิดที่ต้องการทดสอบมาใส่ในกระบะเล็กๆ ชนิดละ 1 กระบะ ให้ความชื้นให้ได้ประมาณ 80-90 %
2. วางตัวไส้เดือนบนเบดดิ้งนั้น 3 ตัว แล้วสังเกตและบันทึกผลว่าไส้เดือนมุดลงใต้มูลโคนั้นหรือไม่ ใช้เวลามากน้อยเพียงใด
3. เอากระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำ ขยำให้เป็นขยุก แล้ววางไว้บนมูลโคนั้น ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงจึงบันทึกผลอีกครั้งหนึ่ง

การประเมินผล
1. ถ้าไส้เดือนไม่มุดลงใต้เบดดิ้ง ภายใน 5 นาที แสดงว่าใช้ไม่ได้(0)
2. ถ้าไส้เดือนมุดลงใต้เบดดิ้ง ภายใน 5 นาที แต่เมื่อสำรวจผลอีก 24 ชั่วโมงต่อมา ตัวไส้เดือนเข้าไปซุกอยู่ในซอกกระดาษหนังสือพิมพ์แสดงว่าใช้ไม่ได้เช่นกัน(0)
3. ถ้าไส้เดือนมุดลงใต้เบดดิ้ง ภายใน 5 นาที และเมื่อสำรวจผลอีก 24 ชั่วโมงต่อมา ตัวไส้เดือนยังคงอยู่ใต้เบดดิ้งแสดงว่าใช้ได้(1)


ผลการทดสอบ
ได้ดังตารางต่อไปนี้
มูลโคใหม่ และมูลโคใหม่ตากแห้ง
0 มูลโคใหม่เปียกเก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง
1 มูลโคใหม่เก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง นำมาตากแห้ง 2-3 วัน(แห้งสนิท)
1 มูลโคใหม่เก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง นำมาตากแห้ง 2-3 วัน และตีป่น แล้วผสมขุยมะพร้าว30%
1 มูลโคใหม่เก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง นำมาตากแห้ง 2-3 วัน ก่อนใช้นำไปแช่น้ำ 12 ชั่วโมง เมื่อเทน้ำออก นำไปใช้ทันที
1 มูลโคใหม่เก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง นำมาตากแห้ง 2-3 วัน ก่อนใช้นำไปแช่น้ำ48 ชั่วโมง เมื่อเทน้ำออก นำไปใช้ทันที
0 มูลโคแห้งบนพื้นคอกอยู่ในคอก 5-6 วัน ผสมขุยมะพร้าว 30%
0
1 มูลโคแห้งบนพื้นคอกอยู่ในคอก 20 วัน ผสมขุยมะพร้าว 30%
มูลโคแห้งที่บรรจุกระสอบวางขายทั่วไปนำมาแช่น้ำ 24 ชม.แล้วเทน้ำทิ้ง ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง
มูลโคหมัก
0 มูลโคกองเพื่อทำปุ๋ยหมักในร่มเป็นเวลา 4-5 เดือน ผสมขุยมะพร้าว 30%
0 มูลโคกองเพื่อทำปุ๋ยหมักในร่มเป็นเวลา 4-5 เดือน ผสมขุยมะพร้าว60%
0 มูลโคกองเพื่อทำปุ๋ยหมักโดนแดดและฝนเป็นเวลา 4-5 เดือน ผสมขุยมะพร้าว 30%
1 มูลโคกองเพื่อทำปุ๋ยหมักโดนแดดและฝนเป็นเวลา 15 เดือนไม่ผสมขุยมะพร้าว
0 มูลโคกองเพื่อทำปุ๋ยหมักราดอีเอ็ม 2 ครั้งหมักเป็นเวลา 4-5 เดือน ผสมขุยมะพร้าว 30%
มูลโคจากบ่อก๊าซชีวภาพ
1 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อเล็กมีน้ำขังแต่ไม่มีน้ำไหลผ่านไม่ผสมขุยมะพร้าว
1 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อเล็กมีน้ำขังแต่ไม่มีน้ำไหลผ่าน ผสมขุยมะพร้าว 30%
1 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อใหญ่มีน้ำไหลผ่านเกือบตลอดเวลาไม่ผสมขุยมะพร้าว
1 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อใหญ่มีน้ำไหลผ่านเกือบตลอดเวลา ผสมขุยมะพร้าว 30%
1 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อใหญ่มีน้ำไหลผ่านเกือบตลอดเวลา นำมาตากแห้ง และก่อนใช้งานจึงเติมน้ำให้คืนสภาพ
0 มูลโคสูบจากบ่อชักกากของบ่อก๊าซชีวภาพบ่อใหญ่ ทิ้งให้ความชื้นลดลง 48 ชั่วโมงแล้วนำมาใช้ทันที


การทดสอบที่ 2
วัตถุประสงค์
ต้องการหาคำตอบว่าไส้เดือนชอบมูลโค(เบดดิ้ง)ประเภทหรือชนิดใดมากกว่ากัน
วิธีการ
1. เลือกเฉพาะเบดดิ้งที่ให้ผลว่าใช้ได้ในการทดสอบแรกมาเท่านั้น
2. นำเบดดิ้งในข้อ 1 มาอยู่ในกระบะเดียวกัน โดยแยกส่วนกันอย่างชัดเจน (ทดสอบเปรียบเทียบครั้งละ 3-6 ชนิดต่อ 1 กระบะ)
3. ปล่อยตัวไส้เดือน โดยวางลงบนเบดดิ้งแต่ละอย่างๆละ 3 ตัวเท่ากัน

4. สำรวจผลหลังจากเริ่มทดสอบ 1 วัน (24 ชม) 5 วัน 10 วัน และ20วัน ตามลำดับ โดยการนับจำนวนตัวไส้เดือนว่าอยู่ ใต้เบดดิ้งกองไหนจำนวนเท่าใด
5. ในกรณีที่ไส้เดือนไปรวมอยู่ในเบดดิ้งอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ถือว่าเบดดิ้งนั้นดีที่สุด ให้เอาเบดดิ้งนั้นออกจากกระบะ และทำการทดสอบเปรียบเทียบเบดดิ้งที่เหลือต่อไป
6. เมื่อสรุปผลได้แล้ว เพื่อยืนยันผล ได้ทำการเปรียบเทียบเช่นเดิมแต่นำตัวไส้เดือนทั้งหมดวางบนเบดดิ้งที่ไส้เดือนชอบน้อยที่สุด(ไม่กระจายอย่างละ 3 ตัว)





การประเมินผล
1. ให้คะแนนเต็ม 10 คะแนนน้อยที่สุด 0 (ใช้ไม่ได้)
2. ในกรณีที่ไส้เดือนไปรวมอยู่ในเบดดิ้งอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ให้คะแนน 10 หากตัวไส้เดือนกระจัดกระจายอยู่ในหลายเบดดิ้ง ให้คะแนนตามสัดส่วนจำนวนตัวไส้เดือน

ผลการทดสอบ
การทดสอบนี้ ไม่ใช่การวิจัยเพราะไม่ได้วางแผนการทดลองเปรียบเทียบตามหลักสถิติ เป็นเพียงค่าสังเกต อย่างไรก็ตาม คงจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะใช้มูลโคเลี้ยงไส้เดือนและเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยตามหลักสถิติและหาสาเหตุมาอธิบายผลต่อไป

ผลการทดสอบสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้
มูลโคใหม่ และมูลโคใหม่ตากแห้ง
4 มูลโคใหม่เก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง นำมาตากแห้ง 2-3 วัน(แห้งสนิท)
5 มูลโคใหม่เก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง นำมาตากแห้ง 2-3 วัน และตีป่น แล้วผสมขุยมะพร้าว30%
6.5 มูลโคใหม่เก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง นำมาตากแห้ง 2-3 วัน ก่อนใช้นำไปแช่น้ำ 12 ชั่วโมง เมื่อเทน้ำออก นำไปใช้ทันที
7

8 มูลโคใหม่เก็บจากคอกภายใน 24 ชั่วโมง นำมาตากแห้ง 2-3 วัน ก่อนใช้นำไปแช่น้ำ48 ชั่วโมง เมื่อเทน้ำออก นำไปใช้ทันที
มูลโคแห้งที่บรรจุกระสอบวางขายทั่วไปนำมาแช่น้ำ 24 ชม.แล้วเทน้ำทิ้ง ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง
มูลโคหมัก
6 มูลโคกองเพื่อทำปุ๋ยหมักโดนแดดและฝนเป็นเวลา 15 เดือนไม่ผสมขุยมะพร้าว
มูลโคจากบ่อก๊าซชีวภาพ
8 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อเล็กมีน้ำขังแต่ไม่มีน้ำไหลผ่านไม่ผสมขุยมะพร้าว
8 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อเล็กมีน้ำขังแต่ไม่มีน้ำไหลผ่านผสมขุยมะพร้าว 30%
10 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อใหญ่มีน้ำไหลผ่านเกือบตลอดเวลาไม่ผสมขุยมะพร้าว
8 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อใหญ่มีน้ำไหลผ่านเกือบตลอดเวลาผสมขุยมะพร้าว 30%
9 มูลโคล้นจากบ่อก๊าซชีวภาพบ่อใหญ่มีน้ำไหลผ่านเกือบตลอดเวลา นำมาตากแห้ง และก่อนใช้งานจึงเติมน้ำให้คืนสภาพ

เพื่อนโคบาล 1 หมู่ 7 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ นครปฐม 034-351831
20 สิงหาคม 2553



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©