kimzagass หาวด้า
เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009 ตอบ: 11658
|
ตอบ: 09/04/2010 6:45 pm ชื่อกระทู้: |
|
|
การปลูกสับปะรด
พันธุ์ที่ปลูกมากในประเทศไทย
พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น 5 พันธุ์ โดยถือตามลักษณะของต้นที่ได้ขนาดโตเต็มที่ และแข็งแรงสมบูรณ์เป็นบรรทัดฐานดังนี้คือ
1. พันธุ์ปัตตาเวีย
พันธุ์นี้รู้จักแพร่หลายในนามสับปะรดศรีราชา และชื่ออื่น ๆ เช่น ปราณบุรี, สามร้อยยอด ปลูกกันมากเพื่อโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งปลูกที่สำคัญคือ ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพชรบุรี ลำปาง และการปลูกกันทั่ว ๆ ไป เพื่อขายผลสด เพราะมีรสหวานฉ่ำมีน้ำมาก
ลักษณะทั่ว ๆ ไป คือ มีใบสีเขียวเข้ม และเป็นร่องตรงกลางผิวใบด้านบนเป็นมันเงา ส่วนใต้ใบจะมีสีออกเทาเงิน ตรงบริเวณกลางใบมักมีสีแดงอมน้ำตาล ขอบใบเรียบมีหนามเล็กน้อยบริเวณปลายใบ กลีบดอกสีม่วงอมน้ำเงิน ผลมีขนาดและรูปทรงต่างกันไป มีน้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 2-6 กิโลกรัม แต่โดยปกติทั่วไปประมาณ 2.5 กิโลกรัม เปลือกผลเมื่อดิบสีเขียวคล้ำ เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้มทางด้านล่างของผลประมาณครึ่งผล ก้านผลสั้นมีไส้ใหญ่เนื้อเหลืองอ่อนแต่จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มในฤดูร้อน รสชาติดี
2. พันธุ์อินทรชิต
เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปลูกกันกระจัดกระจายทั่วไป แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา
ลักษณะทั่ว ๆ ไป ขอบใบจะมีหนามแหลมร่างโค้งงอสีน้ำตาลอมแดง ใบสีเขียวอ่อนไม่เป็นมัน ขอบใบทั้ง 2 ข้างมีแถบสีแดงอมน้ำตาลตามแนวยาว ใต้ใบจะมีสีเขียวออกขาวและมีวาวออกสีน้ำเงินกลีบดอกสีม่วงเข้ม ผลมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย รสหวานอ่อน มีตะเกียงติดอยู่ ที่ก้านผล เปลือกผลเหนียวแน่นทนทานต่อการขนส่ง เหมาะสำหรับบริโภคสด
3. พันธุ์ขาว
เป็นพันธุ์พื้นเมือง เกษตรนิยมปลูกพันธุ์นี้ร่วมกับพันธุ์อินทรชิต เข้าใจว่าจะกลายพันธุ์มาจากพันธุ์อินทรชิต แหล่งปลูกที่สำคัญคือ ฉะเชิงเทรา
ลักษณะทั่ว ๆ มีใบสีเขียวอมเหลืองหรือเขียวใบไม้ ทรงพุ่มเตี้ยใบแคบและสั้นกว่าพันธุ์อินทรชิต ขอบใบมีหนามโค้งงอเข้าสู่ปลายใบ โคนกลีบดอกสีม่วงอ่อน ปลายกลีบสีม่วงอมชมพู เนื้อผลสีเหลืองทอง รสหวานอ่อน ผลมักมีหลายจุก คุณภาพของเนื้อไม่ค่อยดีนัก ผลมีขนาดปานกลาง น้ำหนักเฉลี่ย 0.85 กิโลกรัม มีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีตาลึกทำให้ผลฟ่ามง่าย
4. พันธึภูเก็ตหรือสวี
ปลูกกันมากในสวนยางจังหวัดภูเก็ต ชุมพร นครศรีธรรมราช และตราด โดยปลูกระหว่างแถวยาวรุ่นที่ยังมีอายุน้อยเพื่อเก็บผลขายก่อนกรีดยาง มีชื่ออื่น ๆ อีกเช่น พันธุ์ชุมพร พันธุ์สวี พันธุ์ตราดสีทอง
ลักษณะทั่ว ๆ ไป ใบสีเขียวอ่อนและมีแถบสีแดงในตอนกลางและปลายในขอบใบมีหนามสีแดงแคบและยาวกว่าพันธุ์อินทรชิตและ พันธุ์ขาวกลีบดอก สีม่วงอ่อน ผลมีขนาดเล็กกว่าทุกพันธุ์ที่กล่าวมาตาลึกเปลือกหนา เนื้อหวานกรอบสีเหลืองเข้ม เยื่อใยน้อย มีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับบริโภคสด เป็นที่นิยมมากในภาคใต้
5. พันธุ์นางแลหรือน้ำผึ้ง
ปลูกมากในจังหวัดเชียงราย
ลักษณะทั่ว ๆ ไป คล้ายคลึงกับพันธุ์ปัตตาเวีย แต่มีรูปร่างของผลทรงกลมกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย ตานูน เปลือกบางกว่าและรสหวานจัดกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย ผลแก่มีเนื้อในสีเหลืองเข้ม มีเยื่อใยน้อยเหมาะสำหรับบริโภคสด เป็นที่นิยมมากในภาคเหนือ ผลมีเปลือกบางมาก ขนส่งทางไกลไม่ดีนัก
เปรียบเทียบลักษณะที่สำคัญของพันธุ์สับปะรดในไทย ลักษณะที่ดี ลักษณะที่ไม่ดี
1. พันธุ์ปัตตาเวีย
คุณสมบัติในการบรรจุกระป๋อง นับว่าดี ทนทานต่อความแห้งแล้ง และขาดน้ำได้ดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ
ขอบใบเรียบ เนื้อในสีเหลือง เนื้อฉ่ำ รสหวาน ไม่พบตะเกียง ไม่ทนต่อโรคมาก และต้นเน่าไม่ทนต่อโรคผลแกน รูปทรงของผลขนาดใหญ่ไม่ดี
2. พันธุ์ภูเก็ต
รูปร่างทรงกระบอกสม่ำเสมอดี รสชาติดี เนื้อหวานกรอบ มีกลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองจัด ตอบสนองสารเร่งดอกได้ดี การบรรจุกระป๋องไม่ค่อยดีนัก ผลดีขนาดเล็ก ตาลึก เนื้อมีช่องว่างเป็นโพรง ในมีหนามมาก หน่อมากเกินไปจนเป็นกอ
3. พันธุ์นางแล
ผลมีเปลือกบางมาก รสหวานแหลม เนื้อมีเยื่อใยน้อยสีเหลืองจัด ขอบใบมักเรียบ ผลมีขนาดเล็ก ทรงกลม ผลย่อยนูนพอง ขนส่งทางไกลไม่ค่อยดี
4. พันธุ์อินทรชิต
ทนต่อดินเหนียวและการระบายน้ำเลว ทนต่อโรคเน่า เปลือกผลหนา ทนต่อการขนส่ง เนื้อสีเหลือง ตอบสนองต่อสารเร่งดอกได้ดี ไม่ค่อยทนแล้ง ผลขนาดเล็ก ตาเล็ก ตาลึกใบหนามาก เนื้อมีเยื่อใยมาก มีหลายจุก
ส่วนขยายพันธุ์และการขยายพันธุ์
1. หน่อดิน เกิดจากตาที่อยู่ในบริเวณลำต้นใต้ดิน ซึ่งจะเริ่มแทงขึ้นมาพ้นผิวดินหลังจากเกิดการสร้างดอกแล้ว มีจำนวนน้อย รูปทรงเล็กเรียว ใบยาวกว่าหน่อข้าง
2. หน่อข้าง เกิดจากตาที่พักตัวอยู่บนลำต้นในบริเวณโคนใบ หน่อข้างเหล่านี้จะมีน้ำหนักต่างกันไปตั้งแต่ 0.5-1 กิโลกรัม ให้ผลเมื่อมีอายุ 14-18 เดือน ใช้ขยายพันธุ์ได้ดี
3. ตะเกียง เกิดจากตาบนก้านผลที่อยู่ในบริเวณโคนผล ตะเกียงมีน้ำหนักเฉลี่ยทั่วไปอยู่ระหว่าง 0.3-0.5 กิโลกรัม ให้ผลเมื่อมีอายุ 18-20 เดือน
4. จุก เติบโตขึ้นเหนือผลสับปะรดหลังจากดอกโรยไปแล้วจุกจะมีน้ำหนักทั่วไปตั้งแต่ 0.075-0.2 กิโลกรัม ให้ผลตามธรรมชาติเมื่ออายุ 22-24 เดือน
เมื่อเก็บผลสับปะรดก็จะปลิดจุกออกจากผล และหลังจากเก็บเกี่ยวผลไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ ก็จะปลิดหน่อออกจากต้น หน่อที่มีขนาดเหมาะแก่การขยายพันธุ์คือ มีความยาวประมาณ 50-75 เซนติเมตรหลังจากเก็บหน่อ, ตะเกียงหรือจุกมาแล้ว ให้นำมาผึ่งแดดโดยคว่ำยอดลงสู่พื้นดิน ให้โคนแผลได้รับแสงแดดจนรอยแผลแห้งรัดตัวเป็นการฆ่าเชื้อโรคด้วย แล้วนำมามัดรวมกันเป็นกองเพื่อรอการปลูกหรือนำไปขายต่อไป ก่อนปลูกต้องลอกกาบใบล่างออก 3-4 ชั้น เพื่อให้รากแทงออกมาได้สะดวกและเร็วขึ้น
การใช้ส่วนขยายพันธุ์หลายชนิดปลูกแยกเป็นแปลง ๆ เป็นการดีเพราะสามารถทยอยเก็บผลสับปะรดได้หลายรุ่นตลอดปี
1. ฤดูปลูก ปลูกได้ตลอดปี เฉพาะฤดูแล้งหรือฝนไม่ชุก
2. ความทนทานต่อโรคเน่า ค่อนข้างทนทาน ไม่ทนทาน
3. การเจริญเติบโต เติบโตไม่พร้อมกัน เติบโตสม่ำเสมอกัน
4. อายุเก็บเกี่ยวตามธรรมชาติ 14-18 22-24 เดือน
5. การบังคับออกดอก ทำได้ยากเพราะต้นไม่สม่ำเสมอกัน ทำได้ง่ายเพราะต้นสม่ำเสมกัน
6.การเก็บผล เก็บได้ไม่พร้อมกัน เก็บได้พร้อมกัน
การคัดขนาดของจุก, หน่อแยกปลูกตามขนาดเล็กและใหญ่
คัดให้ได้หน่อที่สมบูรณ์มีขนาดใกล้เคียงกัน
การเตรียมดิน
เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชหลายฤดูกว่าจะรื้อแปลงปลูกใหม่กินเวลานานถึง 4-5 ปี ซึ่งจะเก็บผลได้ถึง 3 ครั้ง แต่การเก็บผลในรุ่นที่ 3 มักจะลดลงอย่างมากถ้าหากมีการปฏิบัติดูแลรักษาไม่เพียงพอ จึงนิยมเก็บผลเพียง
2 ครั้ง ก็รื้อแปลงเพื่อปลูกใหม่
ดังนั้นการเตรียมดินต้องเตรียมอย่างดี การปรับระดับให้เรียบเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะทำให้ไม่มีน้ำท่วมขัง การไถดินให้ลึกจะช่วยให้การระบายน้ำและอากาศในดินเป็นไปอย่างสะดวก เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติทุกครั้งที่รื้อแปลงเพื่อปลูกใหม่
การเตรียมดินสำหรับการปลูกสับปะรดนั้น หากเป็นที่เปิดใหม่มักใช้รถไถดันรากไม้ใหญ่ ๆ ให้โผล่ขึ้นมาแล้วจุดไฟเผา ต่อจากนั้นไถดินให้ลึก 20-30 เซนติเมตร ไถพรวนอีก 2-3 ครั้ง จนซากต้นไม้ใบหญ้ากลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ปล่อยทิ้งเอาไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้เศษซากพืชเน่าสลายในดิน แล้วปรับระดับให้เรียบเสมอ แล้วจึงไถดินให้ลึกถึงระดับ 40-50 เซนติเมตร เป็นการเปิดหน้าดินให้ลึกเพื่อระบายน้ำและอากาศ
หากดินเป็นแปลงสับปะรดเก่า ใช้รถแทรกเตอร์ลากพรวน จานไถกลับไปมาจนต้นและใบแหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไถกลบเศษต้นและใบสับปะรดนั้นลงในดินปล่อยเอาไว้สัก ระยะหนึ่งเพื่อให้เน่าเปื่อยเป็นอินทรีย์วัตถุและเป็นการปรับโครงสร้างของ ดินให้ดีขึ้น แล้วจึงไถดินให้ลึก 40-50 เซนติเมตร และใช้พรวนจานไถอีกครั้งเมื่อใกล้ระยะเวลาที่จะปลูก
การเตรียมหน่อพันธุ์ก่อนปลูก
- การคัดขนาดหน่อหรือจุกก่อนปลูก
ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งในการปลูกสับปะรดควรจะมีการคัดขนาดแบ่งเป็นกลุ่มอย่างชัดเจน และมีขนาดเท่า ๆ กัน และปลูกเป็นแปลง ๆ หรือชุด ๆ ไป จะทำให้การเติบโตของต้นสม่ำเสมอกันทั้งแปลง ใส่ปุ๋ยแต่ละต้นได้พร้อมกันและใส่ปริมาณต่อต้นเท่า ๆ กัน บังคับผลได้พร้อมกันทั้งแปลง ง่ายต่อการบำรุงรักษา สับปะรดแก่พร้อมกันง่ายต่อการประเมินผลผลิตและเก็บเกี่ยว
หน่อ ขนาด น้ำหนัก (กรัม) ความยาว-สูง (ซม.)
เล็ก 300-500 30-50
กลาง 500-700 50-75 เป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด
ใหญ่ 700-900 65-85
ใหญ่มาหก มากกว่า 900 มากกว่า 70
จุก. ขนาด. นํ้าหนัก (กรัม)
เล็ก100-200
กลาง 200-300 เป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด
ใหญ่ 300-400
ใหญ่มาก มากกว่า 400
- การชุบหน่อหรือจุกด้วยสารเคมีก่อนปลูก
เป็นการลดอัตราการสูญเสียของต้น อันเนื่องมาจากโรคยอดเน่าหรือต้นเน่า ทั้งเป็นการประหยัดแรงงานและเวลาในการปลูกหน่อซ่อมแซมใหม่อีกด้วย การชุบหน่ออาจทำได้โดยเครื่องจักรอัตโนมัติ แต่เกษตรกรโดยทั่ว ๆ ไปอาจใช้ถัง 200 ลิตร แล้วผ่าครึ่งถัง หรือสร้างบ่อซิเมนต์ขนาดย่อม ๆ ใช้เป็นที่ชุบหน่อก็จะสะดวกยิ่งขึ้น
สำหรับสารเคมีกันเชื้อรา และอัตราที่ใช้โดยเลือกใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีดังนี้
1. แคปตาโฟล เช่น ไดโฟลาแทน 80% อัตรา 60-120 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 86 กรัมต่อน้ำ 8.6 ลิตร ชุบได้ 1,000 หน่อ
2. ฟอสเอธิล อลูมินั่ม เช่น อาลีเอท อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
3. เมตาแลกซิล เช่น ริโดมิล อัตรา 30-45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้าพบเพลี้ยแป้งมากับหน่อพันธุ์ควรผสมสารฆ่าแมลง มาลาไธออน อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ลงไปในสารชุบหน่อพันธุ์ด้วยโดยจุ่มหน่อพันธุ์ให้ชุ่มก่อนปลูก จุ่มนานประมาณ 3 นาที และถ้าปลูกไปแล้ว หากมีฝนตกชุก ควรใช้สารเคมีดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งฉีดซ้ำอีกทั่วทั้งแปลง ในกรณีปลูกซ่อมหรือปลูกปริมาณน้อย การชุบหน่อพันธุ์อาจจะสิ้นเปลือง ใช้วิธีหยอดยอดก็ได้ โดยใช้อาลีเอท 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้หยอดยอดละ 50 ซีซี หรือเต็มยอด ให้ทำทันทีหลังจากปลูกสำเร็จสามารถป้องกันโรคได้นานประมาณ 4 เดือน
ฤดูปลูกและวิธีปลูก
ในประเทศไทยสามารถปลูกสับปะรดได้เกือบตลอดปี ยกเว้นช่วงฝนตกหนักติดต่อหลายวัน เพราะจะเกิดโรคเน่า ควรเตรียมดินให้เสร็จในเดือนธันวาคม และปลูกในเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งมีแสงแดดจ้าและไม่มีฝนชุก แต่ดินยังมีความชุ่มชื้นเพียงพอแก่การเจริญเติบโตในระยะแรกอยู่
การปลูกในฤดูฝนควรฝังหน่อให้เอียง 45 องศา เพื่อป้องกันน้ำขังในยอด ถ้าปลูกในฤดูแล้งฝังหน่อให้ตั้งตรง หากมีเครื่องมือช่วยปลูกซึ่งเป็นเหล็กคล้ายมีดปลายแหลมช่วยเปิดหลุมจะทำให้สะดวกและรวดเร็วกว่าใช้จอบ เฉลี่ยแล้วผู้ปลูก 1 คน สามารถปลูกได้วันละ 5,000-7,000 หน่อ
การปลูกส่วนใหญ่มักปลูกเป็นแถวคู่ฝังหน่อให้ลึก 15-20 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูกแตกต่างกันไป ตามวัตถุประสงค์
การปลูกเพื่อขายผลสด
ระยะต้นในแถวคู่ .....ระยะแถว ......ทางเดินระหว่างแปลง .....จำนวนหน่อที่ใช้ปลูกต่อไร่
25-30 ซม. ......... 50 ซม. ......... 100 ซม. ................. 7,000-8,000
25-30 ซม. ......... 60 ซม. .......... 90 ซม. .................. 6,000-7,000
การปลูกเพื่อส่งโรงงานบรรจุกระป๋อง
จะร่นระยะปลูกและเพิ่มจำนวนหน่อพันธุ์ที่ใช้ปลูกให้มากขึ้นเป็นการจำกัดขนาดของผลไม้ใหญ่เกินไป และไม่ให้มีส่วนเกินที่ไร้ประโยชน์เพิ่มขึ้น คือ ใช้ระยะต้นในแถวคู่ห่างกัน 22 เซนติเมตร ระยะแถว 45 เซนติเมตร เว้นทางเดินระหว่างแถวกว้าง 75 เซนติเมตร ซึ่งต้องใช้หน่อพันธุ์มากถึง 12,000-13,000 หน่อต่อไร่
ลักษณะของผลสับปะรดที่โรงงานต้องการ
ผลต้องไม่แก่จัดเกินไป ผลทรงกระบอก แกนเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 4-6 นิ้ว หรือมีน้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 0.8-.3.0 กิโลกรัม ลักษณะผลเช่นนี้จะได้ราคาดี
การควบคุมและกำจัดวัชพืช
ในปัจจุบันนิยมใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมากกว่าใช้แรงคน เพราะประหยัดและรวดเร็วกว่า หากทำการควบคุมวัชพืชได้ดี สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าเดิมถึง 1 ใน 4 เท่าตัว การใช้แรงงานคนกำจัดวัชพืชโดยถากด้วยจอบ ต้องทำไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งต่อ 1 ฤดูปลูก การใช้จอบจะรบกวนระบบรากของสับปะรดทำให้การเจริญเติบโตของต้นและคุณภาพของผลผลิตต่ำกว่า ใช้สารเคมี
สารเคมีกำจัดวัชพืชที่นิยมใช้ในแปลงสับปะรด ได้แก่ ไดยูรอน เช่น คาร์แมกซ์ ซึ่งเป็นสารเคมีคุมวัชพืชใบกว้างได้ผลดี ใช้ฉีดพ่นก่อนวัชพืชจะงอก และโบรมาซิล เช่น โบรมิกซ์ ซึ่งเป็นสารเคมีฆ่าวัชพืชใบแคบได้ผลดีใช้ฉีดพ่นในแปลงสับปะรด เมื่อมีวัชพืชงอกขึ้นมาแล้วหรือจะใช้ทั้ง 2 ชนิดผสมกันโดยใช้โบรมาซิล 363 กรัม และไดยูรอน 363 กรัม ผสมน้ำฉีดพ่นในเนื้อที่ 1 ไร่ ฉีดทันทีหลังจากปลูกสับปะรดแล้ว สามารถควบคุมวัชพืชทั้งชนิดใบแคบและใบกว้างอื่น ๆ ได้นานถึง 4 เดือน
ในแปลงสับปะรดที่ปลูกแซมในสวนยางพารา หรือสวนไม้ผลอื่น ๆ ไม่แนะนำให้ใช้โบรมาซิล เพราะถ้าใช้ซ้ำซาก จะเกิดการสะสมในดินโดยสารเคมีจะจับตัวกับเม็ดดิน เมื่อน้ำพัดพาไปจะเกิดอันตรายกับพืชอื่น ๆ ได้ ให้ใช้อะทราซิน เช่น เกสาพริม หรืออะมีทริน เช่น เกสาแพกซ์ ผสมกับไดยูรอน แทน
การใช้สารเคมีกำจัด วัชพืช ควรผสมสารจับใบลงไปประมาณ 0.1-0.3% โดยริมาตร จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น อาจพ่นซ้ำอีก 1 ครั้ง เมื่อพบว่าวัชพืชงอกขึ้นมา โดยพ่นหมดทั้งแปลง หรือเฉพาะจุดก็ได้
ข้อควรระวัง ภายหลังจากการใช้สารเคมีเร่งดอกสับปะรดแล้วห้ามใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชจนกว่าจะเก็บผลเสร็จสิ้น
ธาตุอาหารที่จำเป็นและการใช้ปุ๋ยเคมีในสับปะรด
สับปะรดเป็นพืชที่ต้องการธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียมสูง ถ้าขาดไนโตรเจนจะเริ่มแสดงอาการที่ ใบอ่อนจะมีสีเขียวจาง ๆ แต่ใบแก่ยังคงมีสีเขียวเข้ม ต่อมาใบที่งอกใหม่จะมีขอบสีแดง แต่บัวใบสีเหลืองซีดถึงช่วงนี้แล้วต้องรีบแก้ไขโดยให้ปุ๋ยทันที มิฉะนั้นจะทำให้ผลผลิตลดลงมาก หน่อและตะเกียงจะไม่เกิดเลย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตเป็นแหล่งไนโตรเจน ที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพงนัก
ถ้าขาดโพแทสเซียม ปลายใบจะไหม้ จะมีจุดไหม้ที่ใบแก่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเหี่ยวแห้งไป ผลมีขนาดเล็กสุกช้า และมีปริมาณกรดในเนื้อสับปะรดน้อยมาก ธาตุโพแทสเซียมนี้ได้จากปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟตเป็นส่วนใหญ่
ความต้องการธาตุฟอสฟอรัสในสับปะรด นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับธาตุอาหารหลักทั้งสอง เพราะส่วนใหญ่ในดินมีฟอสฟอรัสเพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าในดินขาดธาตุฟอสฟอรัสแล้วจะทำให้ต้นไม่แข็งแรง หน่อและตะเกียบจะลดจำนวนลงมาก
อาการขาดธาตุเหล็ก เริ่มจากใบอ่อนมีสีซีดคล้ายขาดไนโตรเจนและมีรอยแต้มสีแดงขึ้นทั่วไป มีสีน้ำตาลที่ปลายรากและไม่มีรากแขนงให้เห็น ผลจะแก่เร็วขึ้น แต่มีกรดในเนื้อต่ำ การแก้ไขอาการขาดธาตุเหล็กนั้นโดยการใช้เหล็กซัลเฟตฉีดพ่นในอัตรา 1-3 ในบริเวณที่มีแมงกานีสสูงหรือในดินที่มีระดับความเป็นกรด-ด่างที่สูงกว่า 5.8 จะพบอาการขาดธาตุเหล็กอยู่เสมอในดินทรายที่มีอินทรียวัตถุต่ำจะพบอาการขาดธาตุทองแดง และสังกะสีอาการปรากฏคือที่ยอดของใบอ่อน จะบิด เบี้ยวใบจะแคบ และมีสีเหลืองอ่อนความ ทนทานของผล ต่อแสงแดดจะลดลง ทำให้ผิวเปลือกไหม้เกรียมเป็นหย่อม ๆ แก้ไขโดยใช้สังกะสีซัลเฟตและทองแดงซัลเฟตในรูปสารละลายฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้นและใบ
ปุ๋ยที่จะใส่ให้สับปะรดนับเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมความเป็นกรด-ด่างของดิน การใช้ปุ๋ยเคมีในรูปแคลเซียมจะมีส่วนเพิ่มความเป็นด่าง ในขณะเดียวกันการใช้ปุ๋ยเคมีที่อยู่ในรูปซัลเฟตจะเพิ่มความเป็นกรดในดิน การให้ปุ๋ยสับปะรดนั้นผู้ปลูกแต่ละรายก็ใช้ปุ๋ยแตกต่างกันไป เนื่องจากสภาพดิน และปัจจัยอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ย 3-4 ครั้งต่อรุ่น ปุ๋ยที่ใช้มากคือ ปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยผสมสูตรต่าง ๆ เช่น 12-4-18+ธาตุอาหารเสริม
ปุ๋ยสำหรับสับปะรด กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำการใส่ปุ๋ยดังนี้ คือ
สับปะรดรุ่นแรก
ครั้งที่ 1 ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอก 1 ตันผสมปุ๋ยหินฟอสเฟตสูตร 0-3-0 อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ โรยเป็นแถวหลังไถแปรตามแนวร่องปลูกเพื่อปรับปรุงดินสำหรับกระตุ้นการออกราก
ครั้งที่ 2 หลังปลูก 1-2 เดือน หรือระยะเริ่มออกรากใส่ปุ๋ยสูตรที่มีสัดส่วนไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 21-0-0 หรือ 16-20-0 อัตรา 7-10 กรัมต่อต้น ใส่ดินโคนต้นฝังหรือกลบปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกในขณะดินมีความชื้นเพียงพอ
ครั้งที่ 3 หลังปลูก 4-6 เดือน ใส่ปุ๋ยครบสูตรที่มีสัดส่วนโพแทสเซียมสูง 3:1:4 เช่นสูตร 12-4-18+ธาตุอาหารเสริม, 15-5-20, 13-13-21 หรือสูตรใกล้เคียง ซึ่งไนโตรเจนไม่ควรเกิน 15% ป้องกันสารไนเตรทตกค้างอัตรา 10 กรัมต่อต้น ใส่บริเวณกาบใบล่างในขณะกาบใบมีน้ำเพียงพอที่จะละลายปุ๋ย
ครั้งที่ 4 ก่อนบังคับผล 1-2 เดือน ให้ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมได้แก่ แคลเซียม โบรอน โดยฉีดพ่นเข้าทางใบ
ครั้งที่ 5 หลังบังคับผลประมาณ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-6) หรือโพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50) อัตรา 7-10 กรัมต่อต้น ใส่บริเวณกาบใบล่างในขณะกาบใบมีน้ำเพียงพอที่จะละลายปุ๋ย
สับปะรดที่ไว้หน่อ (หลังเก็บผลรุ่นแรก)
- หลังจากเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 หรือ 16-20-0 บริเวณกาบใบล่างอัตรา 10 กรัมต่อต้น เพื่อบำรุงต้นตอและเร่งหน่อ
- ระยะดูแลรักษาต้นตอจนถึงระยะบังคับผล และระยะเก็บเกี่ยวใส่สูตรและอัตราเดียวกับต้นรุ่นแรก (ครั้งที่ 3-5) ถ้ามีฝนให้ใส่ที่กาบใบหน้าแล้งอาจใช้วิธีฉีดพ่นทางใบ
การใช้สารเคมีเร่งการออกดอกในสับปะรด
เนื่องจากสับปะรดมีอายุการออกดอกค่อนข้างช้า และไม่สม่ำเสมอซึ่งมีผลไปถึงการเก็บผลด้วย แต่ในบรรดาพืชมีดอกทั้งหลาย สับปะรดนับว่าเป็นพืชที่ใช้สารเคมีเร่งให้ออกดอกก่อนกำหนดได้ง่าย
สารเคมีที่ใช้เร่งดอกสับปะรด ที่นิยมใช้กันมากได้แก่
1. เอทธิฟอน
เป็นสารเคมีที่ให้ก๊าซเอทธิลินโดยตรง เมื่อเอทธิฟอนเข้าไปในเนื้อเยื่อสับปะรด จะแตกตัวปล่อยเอทธิลินออกมา เอทธิลินเป็นตัวชักนำให้เกิดการสร้างตาดอกขึ้น ซึ่งจะทำให้เก็บผลได้ก่อนกำหนดประมาณ 2 เดือน
เอทธิฟอน มีชื่อการค้าหลายชื่อ แต่ที่นิยมคือ อีเทรล (39.5% เอทธิฟอน) โดยใช้ในอัตรา 8 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร และเติมปุ๋ยยูเรียอีก 300 กรัม ผสมให้เข้ากันดีแล้วใช้หยอดยอดหรือฉีดพ่น ต้นละ 70-80 ซีซี หยอด 2 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน สารนี้เมื่อผสมน้ำแล้วต้องใช้ทันทีอย่างช้าไม่เกิน 2 ชั่วโมง มิฉะนั้นสารเคมีจะลดประสิทธิภาพลงเวลาที่เหมาะสมในการหยอด คือ ตอนเช้ามืด และต้นสับปะรดต้องมีลักษณะพร้อมที่จะออกดอก หากฝนตกมาภายใน 2 ชั่วโมงหลังการใช้สารนี้ให้ทำซ้ำอีกครั้ง ให้เร็วเท่าที่จะทำได้
ปริมาณการใช้เอทธิฟอนจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและขนาดต้นสับปะรด ถ้าต้นสมบูรณ์มากให้ใช้ปริมาณมากขึ้นหรือหากจำเป็นต้องหยอดยอดในตอนกลางคืนช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ให้ใช้ปริมาณมากขึ้นอีกเท่าตัว
2. ถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์ (บางที่เรียกว่าถ่านเหม็น)
การใช้แคลเซียมคาร์ไบด์ เร่งดอกสับปะรดเป็นที่นิยมกันมากเพราะหาง่ายและราคาไม่แพง แต่การใช้จะได้
ผลดีนั้น ต้นสับปะรดจะต้องมีลักษณะพร้อมที่จะออกดอก คือ มีอายุระหว่าง 7-8 เดือน หรือมีโคนต้นที่อวบใหญ่ ประมาณน้ำหนักของต้น 2.5 กิโลกรัมขึ้นไป หรือมีใบ 45 ใบขึ้นไป จึงใช้สารเร่งดอกได้ผล
การใช้แคลเซียมคาร์ไบด์ เพื่อเร่งดอกสับปะรดนั้น ปัจจุบันมีชนิดเกล็ดสำเร็จรูปเพื่อให้ใช้ได้ง่าย โดยใช้อัตรา 200-250 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ปล่อยให้เดือดเต็มที่แล้วนำไปหยอดสับปะรดต้นละ 70-80 ซีซี (ถ้าเป็นแปลงสับปะรดตอหยอดต้นละ 80-90 ซีซี) ทำการหยอด 2 ครั้งห่างกัน 5-7 วัน ควรทำในเวลาเช้ามืดหรือตอนเย็นเพราะถ้าทำในตอนกลางวันจะได้ผลไม่ดีนัก หากฝนตกมาภายใน 2 ชั่วโมงหลังการใช้สารนี้ ให้ทำซ้ำอีกครั้ง ให้เร็วเท่าที่จะทำได้
หลังจากหยอดสารเร่งประมาณ 40-45 วัน จะเริ่มเห็นสับปะรดเป็นจุดแดงอยู่ภายในยอด ต่อมา 60-70 วัน จะเห็นผลสับปะรดขนาดเล็กทรงกลมสีแดงโผล่ขึ้นจากยอด อาจมีดอกสีม่วงอยู่ด้วยดอกจะเริ่มบานจากฐานไปยอดลูก ประมาณ 90 วัน ดอกสีม่วงจะแห้ง แล้วเข้าสู่ช่วงการขยายขนาดผลซึ่งจะขึ้นอยู่กับความชื้นและธาตุอาหารที่ต้นสับปะรดได้รับในระหว่างการเจริญ เติบโตของผล (ปัจจุบันมีปัญหาขาดแรงงานในการหยอดแก๊ส จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้)
การเก็บเกี่ยว
ในประเทศไทยการปลูกสับปะรดสามารถทำได้เกือบตลอดปีดังนั้นการเก็บผลสับปะรดก็ สามารถทําได้เกือบตลอดทั้งปีเช่นกัน แต่ที่สับปะรดให้ผลชุกที่สุดมี 2 ช่วง คือ ช่วงสับปะรดปี ซึ่งจะเก็บผลได้มากกว่าสับปะรดทะวายประมาณ 3 เท่า ช่วงนี้จะอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และช่วงสับปะรดทะวาย ซึ่งออกในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม
การสังเกตผลแก่ของสับปะรด พิจารณาได้จากลักษณะภายนอกผลดังนี้
- ผิวเปลือก จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเขียวอมเหลืองอมส้ม หรือเขียวเข้มเป็นมัน
- ใบเล็ก ๆ ของตาย่อย จะเหี่ยวแหห้ง เป็นสีน้ำตาลหรือชมพู
- ตาย่อย จะนูนเด่นชัดเรียกว่าตาเต็ม ร่องตาจะตึงเต็มที่ขนาดของผลไม่เพิ่มขึ้นอีก
- ดมกลิ่น ผลสับปะรดแก่จะส่งกลิ่นหอมเฉพาะตัว
- ความแน่นของผล จะลดลงเมื่อใช้นิ้วดีดหรือไม้เคาะเพื่อฟังเสียง ถ้าเสียงโปร่งแสดงว่ายังไม่แก่ ถ้าเสียงทึบ (หรือแปะ) แสดงว่าแก่จัดได้ที่แล้ว
การเก็บผลเพื่อบริโภคผลสด
ใช้มีดตัดที่ก้านผลให้เหลือขั้วติดผลไว้บ้างและคงให้มีจุกติดอยู่กับผลเพื่อป้องกันการเน่าของผล อันเนื่องจาก แผลที่เกิดจาก การปลิดจุกหรือขั้วผลออก หลังจากตัดผลแล้วให้ใช้มีดฟันใบต้น เดิมออกเสียบ้าง เพื่อให้หน่อได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ และเหลือหน่อดินไว้แทนต้นเดิม 1-2 หน่อเท่านั้น ส่วนหน่อที่เหลือก็ขุดหรือปลิดออกจากต้นนำไปปลูกขยายเนื้อที่หรือจำหน่าย ต่อไปได้ พันธุ์ภูเก็ต จะนิยมปลิดจุกตั้งแต่ผลมีอายุประมาณ 2 เดือน ส่วนพันธุ์อินทรชิตและ พันธุ์ขาว จะตัดจุกทิ้งประมาณ 1/2 ส่วน ในเวลาที่เก็บผลจำหน่าย
การเก็บผลเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะปลิดผลออกจากก้านเท่านั้น หรืออาจจะปลิดจุกออกด้วย
การเก็บผลสับปะรดให้ได้คุณภาพดี ควรเก็บ 3 ครั้ง
ครั้งแรก จะเก็บได้ประมาณ 20-25% ของผลทั้งหมดในแปลง
ครั้งที่สอง เก็บหลังจากครั้งแรกประมาณ 5 วัน จะเก็บได้ประมาณ 40-60% ของผลทั้งหมด
ครั้งสุดท้าย เก็บหลังจากครั้งที่สองประมาณ 5-7 วัน โดยเก็บผลที่เหลือทั้งหมด
การไว้หน่อสับปะรด
หลังจากเก็บผลรุ่นแรกหมดแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้
1. เก็บหน่ออุ้มลูก ซึ่งจะเกิดพร้อม ๆ กับผลสับปะรด ออกไปจากแปลงปลูก
2. ฟันใบทิ้งไปเสียบ้าง โดยฟันให้เหลือใบสูงจากพื้นดินเพียง 1 คืบ ถ้าเป็นช่วงฝนแล้งให้ฟันใบให้สูงขึ้นมาอีกเล็กน้อย การฟันใบนี้ช่วยให้หน่อแตกใหม่เร็วขึ้น หลังจากเก็บหน่ออุ้มลูกและฟันใบออกแล้วสามารถเก็บหน่อได้อีก 2-3 ครั้งเพื่อนำไปขยายพันธุ์ได้ แต่ถ้าจะไว้หน่อเอาไว้พร้อม ๆ กันในช่วงเดียวกัน หลังจากเก็บหน่อครั้งสุดท้ายไปแล้ว
โรค-แมลงศัตรูและการป้องกันกำจัด
ปกติสับปะรดมักปลูกซ้ำที่เดิมอยู่ตลอดปีเพียงพืชเดียวโดด ๆ จึงเป็นโอกาสที่โรค-แมลงศัตรูจะระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนโรคมีโอกาสปรับตัวให้เข้ากับสภาพการปลูกและการดูแลรักษา ซึ่งปฏิบัติซ้ำซากตลอดมา
โรคแมลงศัตรูที่สำคัญที่ทำความเสียหายให้กับสับปะรดมีดังนี้
1. โรคยอดเน่าหรือต้นเน่า
เกิดจากเชื้อรา 2 ชนิด ทำความเสียหายร้ายแรงให้กับสับปะรดที่ปลูกในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำเลว หรือในช่วงฝนตกชุก และระบาดรุนแรงมากเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นด่างคือระดับความเป็นกรด-ด่างของดินสูงกว่า 5.5 ขึ้นไป เชื้อราพักอยู่ในดินได้เป็นเวลาหลายปี เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็เข้าทำลายสับปะรดได้อีก
อาการ ในแปลงสับปะรดที่มีอายุ 2-3 เดือน อาการเริ่มแรกจะเห็นใบสับปะรดเปลี่ยนจากสีเขียวสดเป็นเขียวอมเหลืองซีด ปลายใบงอเกิดรอยย่นบริเวณตัวใบ ใช้มือดึงส่วนยอดจะหลุดติดมือโดยง่าย โคนใบที่เน่าจะมีสีขาวอมเหลือง และมีขอบสีน้ำตาล ส่งกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว สำหรับสับปะรดที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป หากดินฟ้าอากาศไม่เหมาะสมก็อาจเกิดโรคนี้ได้ โดยจะแสดงอาการที่ส่วนยอดเท่านั้น ซึ่งเป็นเพราะว่าส่วนยอดมีความอ่อนแอมากที่สุด สับปะรดที่เกิดโรคนี้มักจะไม่ตาย แต่ทำให้เกิดอาการเตี้ยแคระออกผลล่าช้าหรือไม่ติดผลเลยก็ได้ ในฤดูฝนจะสังเกตอาการได้ยาก มักพบว่าใบตรงกลุ่มกลางต้นจะล้มพับลงมา ทั้ง ๆ ที่ใบเริ่มจะเปลี่ยนสีเขียวเล็กน้อย การเน่าจะมีกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว
การป้องกันกำจัด
1. ปรับปรุงการระบายน้ำในแปลงปลูกให้ดี เช่น ไถดินให้มีความลึกมากขึ้น การยกแปลงให้สูง การปรับระดับพื้นที่ให้ลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้น้ำขัง จะช่วยลดความเสียหายลงได้มาก
2. ควรใช้หน่อหรือตะเกียงปลูก เพราะว่าการใช้จุกปลูกจะมีโอกาสเน่าเสียหายได้ง่าย เพราะจุกมีรอยแผลที่โคนขนาดใหญ่กว่า เมื่อเทียบ กับหน่อหรือตะเกียง
3. ปรับระดับความเป็นกรด-ด่างของดินให้ลดต่ำกว่า 5.5 โดยใช้กำมะถันหรือปุ๋ยที่มีฤทธิ์ตกค้างเป็นกรด เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต
4. ก่อนปลูกจุ่มหน่อพันธุ์ให้ชุ่มในสารเคมีป้องกันเชื้อราที่แนะนำไปแล้วในเรื่อง "การเตรียมหน่อพันธุ์ก่อนปลูก" หลังปลูกไปแล้วควร
ป้องกันโรคนี้โดยการใช้สารเคมีดังกล่าวฉีดพ่นที่ยอดทุก ๆ 2 เดือน
2. โรคผลแกน
เกิดจากเชื้อรา 2 ชนิด โรคนี้จะพบมากในสับปะรดที่แก่จวนจะเก็บผลได้แล้ว สับปะรดที่ผ่านช่วงแล้งและร้อนเป็นระยะเวลานาน ๆ สลับกับฝนตกในช่วงผลใกล้จะแก่ จะเกิดโรคนี้ได้มาก รวมทั้งการใช้ปุ๋ยยูเรีย ติดต่อกันในอัตราที่สูงมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคนี้ได้
อาการ ลักษณะอาการภายนอกผลไม่ค่อยแตกต่างจากสับปะรดที่ปกติ แต่เนื้อภายในผลจะแข็งเป็นไต มีบางส่วนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เกิดอาการเป็นหย่อม ๆ หรือแพร่กระจายทั่วทั้งลูกก็ได้ ทำให้ความหวานลดลง สับปะรดที่มีผลขนาดใหญ่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผลที่มีขนาดเล็ก
การป้องกันกำจัด
1. โดยลดปริมาณปุ๋ยยูเรีย ให้ใช้ตามอัตราที่แนะนำ
2. ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 15 วัน ตั้งแต่ผลสับปะรดอยู่ได้ 90 วัน จนก่อนเก็บเกี่ยวผล 1 เดือน
3. ฉีดพ่นด้วยสารเตตรามัยซิน อัตรา 250 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ในช่วงที่ผลสับปะรดเริ่มพัฒนาจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว
3. ไส้เดือนฝอย
จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตอย่างมาก โดยเฉพาะในสับปะรดรุ่นที่ 2 หรือ 3 มักจะมีอาการรากปม ซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอยรากผมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อไส้เดือนฝอยนี้เข้าทำอันตรายแก่สับปะรดแล้ว เชื้อราโรคเน่าจะเข้าไปทำลายซ้ำเติมได้
การป้องกันกำจัด
1. ขุดต้นและรากของสับปะรดที่แสดงอาการขึ้นมาเผาทำลาย
2. หลีกเลี่ยงการปลูกสับปะรดซ้ำที่เดิม, ปลูกพืชอื่นหมุนเวียน
3. ปลูกพืชที่มีความต้านทานต่อไส้เดือนฝอย เช่น ดาวเรือง ถั่วลายโครตาเลีย เป็นต้น
4. ใช้สารเคมีอบฆ่าไส้เดือนฝอยในดิน เช่น นีมากอน ดี-ดี-มิกซ์เจอร์ เป็นต้น
4. เพลี้ยแป้ง
เป็นแมลงตัวเล็กยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ลำตัวเป็นปล้องค่อนข้างสั้น มีขี้ผึ้งคล้ายผงแป้งสีขาวห่อหุ้มตัว และมีเส้นใยยื่นออกจากตัว ตัวเมียไม่มีปีก ตัวผู้มีปีก มักพบเป็นกลุ่มที่ซอกกาบใบ โดนต้นและลำต้น เมื่อบี้ตัวแมลงจะมีเมือกสีแดงคล้ายเลือดออกมา
การทำลายโดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณโคนต้นและราก ถ้ามีการทำลายมาก ๆ ต้นและใบจะค่อย ๆ เหี่ยวแห้งอาจถึงตายได้ ทำให้ผลผลิตลดลง ตัวพาหะของเพลี้ยแป้ง คือ มดดำ ซึ่งจะคาบเพลี้ยแป้งมาปล่อยไว้ที่ต้นสับปะรด และอาศัยกินของเหลวที่เพลี้ยแป้งขับถ่ายออกมา
การป้องกันกำจัด ควรทำควบคู่ไปกับการกำจัดมดดำที่เป็นพาหะของเพลี้ยแป้ง โดยใช้มาลาไธออนฉีดพ่นหรือจุ่มหน่อก่อนปลูก เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง และใช้เซฟวินฉีดเป็นแนวกันมดรอบแปลงปลูก ถ้าพบเพลี้ยแป้งในภายหลังปลูกแล้วให้ใช้มาลาไธออนฉีดพ่นในอัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง
อาการผิดปกติของสับปะรด
1. สับปะรดบ้าใบและจุก
เกิดจากการแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็วผิดปกติของต้น หรือช่อดอกในระยะการเจริญเติบโตมักเกิดเฉพาะส่วนบนของลำต้นก้านผล ผล และจุก ซึ่งทำให้เกิดเป็นสับปะรด 2 จุก อาจเกิดเป็นสับปะรดที่มีทั้งจุกและผลย่อยมากมายหลายร้อยจุก และมีน้ำหนักหลายเท่าของผลปกติก็ได้ ในสับปะรดพันธุ์ขาวมักพบอาการบ้าจุกเสมอ
สับปะรดที่ปลูกในดินเปิดใหม่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูงจะพบโรคนี้เกิดขึ้นเสมอ และอัตราการเกิดจะสูงกว่าสับปะรดซึ่งปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ในบางกรณีการได้รับน้ำและปุ๋ยอย่างกะทันหันภายหลังจากที่สับปะรดผ่านช่วงแล้งมานาน และเป็นช่วงที่พร้อมจะออกดอกก็เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการเช่นนี้ได้
2. โรคผลไหม้
เกิดเนื่องจากความร้อนจากแสงแดด สับปะรดที่มีก้านผลอ่อนไม่แข็งแรงพอจะรับนำหนักผลได้ตามปกติ มักทำให้ผลสับปะรดเอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้รับแสงแดดจัดตลอดวัน จะทำให้เซลล์ผิวเปลือกผลตาย ผลจะสุกเพียงด้านเดียว เปลือกและเนื้อในจะมีสีซีดมีรอยแตกในระหว่างผลย่อย ต่อมาจะกลายเป็นรูพรุนและฟ่าม
การขาดธาตุ "ทองแดง และ สังกะสี" ก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ความทนทานของเปลือกผลต่อแสงแดดลดลง ทำให้ผิวเปลือกไหม้เกรียมเป็นแห่ง ๆ ได้
วิธีป้องกัน ใช้หญ้าแห้งหรือฟางข้าวคลุมผลสับปะรดในระยะผลจวนแก่หรือรวบใบสับปะรดขึ้นมาห่อผลแล้วผูกปลายใบไว้ เป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน ของทุกปี
ข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร |
|