ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) เป็นผักอุตสาหกรรมและส่งออกที่สำคัญของประเทศ การส่งออกมีทั้งการแปรรูปบรรจุกระป๋อง การส่งออกฝักสด และการแช่แข็ง ซึ่งมีแนวโน้มการตลาดที่สดใสในปี 2534 ประเทศไทยสามารถทำรายได้จากข้าวโพดฝักอ่อน เป็นมูลค่ามากกว่า พันล้าน บาท สำหรับเกษตรกรแล้ว ข้าวโพดฝักอ่อน นับเป็นผักที่นิยมปลูก เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิต ที่ไม่ยุ่งยากมีระบบตลาด ที่สะดวกและมั่นคงพอควร ไม่ต้องใช้สารเคมีอันตรายและเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นโดยมีอายุตั้งแต่ วันปลูกถึงวันเก็บเกี่ยว ประมาณ 45-50 วัน และมีช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวเพียง 7-10 วัน ดังนั้น ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวฝักอ่อนหมดจะใช้เวลาเพียง 60-70 วันเท่านั้น เกษตรกรสามารถปลูกได้ปีละ 4-5 ครั้ง ซึ่งสามารถปลูกเป็นพืชหลักที่ทำรายได้ที่ดี
การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเพื่ออุตสาหกรรมหรือส่งออก
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือคุณภาพ และปริมาณของผลผลิต ทำอย่างไรให้ได้มาตรฐานมากที่สุด ดังนั้น เกษตรกรควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ก่อนปลูก ซึ่งมีข้อที่เกษตรกรควรคำนึงถึงดังนี้
- เกษตรกรควรรวมตัวเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตมากพอสำหรับผู้ซื้อ และสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และวางแผนการผลิต ร่วมกัน
- การปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ต้องใช้แรงงานมากในช่วงการดึงช่อดอกตัวผู้และช่วงเก็บเกี่ยวทุกวัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า สามารถทำ ได้ครอบครัวละประมาณ 3-5 ไร่ เกษตรกรจึงควรทยอยปลูก ซึ่งต้องวางแผนการผลิตร่วมกับผู้ซื้อ
พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)
พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ดี เป็นปัจจัยที่สำคัญข้อหนึ่งที่จะได้ผลผลิตคุณภาพดี คือมีปริมาณฝักเสียไม่ได้มาตรฐานน้อย ตามความต้องการของโรงงานแปรรูป ขณะเดียวกันพันธุ์นั้น ก็ควรให้ผลผลิตสูง และง่ายต่อการจัดการของเกษตรกรผู้ปลูกด้วย พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่เกษตรกรใช้มีดังนี้
- พันธุ์ผสมเปิดต่างๆ ได้แก่ สุวรรณ 1 สุวรรณ 2 สุวรรณ 3 รังสิต 1 และเชียงใหม่ 90 เป็นต้น จะสังเกตได้ว่า นอกเหนือจากพันธุ์ รังสิต 1 เชียงใหม่ 90 และพันธุ์ข้าวโพดหวานแล้ว พันธุ์สุวรรณ 1, 2, 3 ต่างเป็นพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงและ พัฒนาเพื่อใช้ในการ ผลิต เป็นข้าวโพดไร่ มีข้อดีคือ มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง การเจริญเติบโตและปรับตัวดี และเมล็ดพันธุ์มีราคาถูก แต่มีข้อควรระวัง คือ ฝักอ่อนจะโตเร็วควรเก็บเกี่ยวฝักอ่อนในระยะที่เหมาะสม มิฉะนั้นจะทำให้ฝักอ่อนมีขนาดโตเกินมาตรฐาน ที่โรงงานอุตสาหกรรม ต้องการ
- พันธุ์ลูกผสมของทางราชการและบริษัทเอกชนต่างๆ พันธุ์ข้าวโพดอ่อนเหล่านี้มีข้อดี คือ มีความสม่ำเสมอของทรงต้น และอายุ เก็บเกี่ยวตลอดจนจำนวนฝักอ่อนได้มาตรฐานสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด ทั้งนี้ ต้องมีการดูแลรักษาที่ดีด้วย เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน ลูกผสม แม้จะมีราคาสูง แต่ในการผลิตข้าวโพดฝักอ่อน ปัจจุบันซึ่งเป็นการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพ ความสม่ำ เสมอ ของผลผลิต และปัญหาค่าแรงงานการเก็บเกี่ยวสูงแล้ว การใช้พันธุ์ลูกผสมก็มีความจำเป็นมากขึ้น
การปรับปรุงดินสำหรับปลูก ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)
ข้าวโพดฝักอ่อนสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่การที่จะปลูกข้าวโพอฝักอ่อนให้ได้ผลดีนั้น ควรปลูกในดิน ร่วนตั้งแต่ดิน ร่วนเหนียว และดินร่วนทราย พื้นที่ปลูกต้องเป็นดินที่ระบายน้ำดีเพราะข้าวโพดฝักอ่อนไม่สามารถ เจริญเติบโต ได้ในดินเปียกแฉะ และระบายน้ำยาก ข้าวโพดฝักอ่อนสามรถปลูกได้ในสภาพดินที่มีปฏิกิริยาตั้งแต่ pH 5.5-7.0 และสามารถปลูกในดินที่เป็นกรด ค่อนข้างจัด
การปรับปรุงและบำรุงดินสำหรับ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ควรทำดังนี้
- ใส่ปูน กรณีที่ดินเป็นกรด เช่น ในท้องที่ภาคกลาง ถ้าเกษตรกรยังไม่ได้วิเคราะห์ดิน ก็อาจทำได้โดยการใส่ปูนขาว ในอัตราต่ำ เช่น 100-200 กก./ไร่ การใส่ปูนขาวนอกจากจะช่วยแก้ความเป็นกรดให้แก่ดินแล้ว ยังสามารถให้ธาตุอาหารแคลเซี่ยมแก่พืชด้วย สิ่งที่ควรปฏิบติอีกประการหนึ่งคือ การใส่หินฟอสเฟตบด เพราะจะสามารถเป็นปุ๋ยแก่ข้าวโพดฝักอ่อนอย่างดี นอกจากแก้ความเป็น กรดแล้ว ยังมีธาตุฟอสฟอรัสแล้ว ธาตุอาหารรองและอาหารเสริมปนอยู่อย่างเพียงพอด้วย
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยให้โครงสร้างของดินดี ชุ่มน้ำและระบายน้ำดีอย่างสม่ำเสมอ ผลผลิตสูง และเปอร์เซ็นต์ฝักมาตรฐาน สูง ปุ๋ยอินทรีย์สามารถใช้ได้ถึง 5 ตันต่อไร่ แต่เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรจัดซื้อหรือหาปุ๋ยอินทรีย์ไม่สะดวกนัก การใส่ขึ้นกับกำลังซื้อ ของเกษตรกร แต่อย่างน้อยเกษตรกรควรใส่ประมาณ 200-300 กก./ไร่ และใส่ทุกปี นอกจากนี้ ต้นข้าวโพดฝักอ่อน หากไม่นำไป ใช้ เป็น อาหารสัตว์ ก็สามารถจะใช้ไถกลบบำรุงดินได้อย่างดี
การเตรียมดินปลูก ข้าวโพดฝักอ่อน ขุดดินหรือพรวนดินให้ร่วนโปร่ง และมีความลึกประมาณ 25 เซนติเมตร แล้วยกร่องเป็นลูกฟูกสูง 25 เซนติเมตร ให้ร่องระบายน้ำได้ สำหรับฤดูฝนให้พื้นที่นาใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักตามที่หาได้เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย
วิธีปลูกข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) การผลิต ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ผลผลิตข้าวโพดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้คือ
- จำนวนต้นต่อพื้นที่ (ในกรณีที่มีปัจจัยอื่นๆ เหมาะสม)
- พันธุ์
- ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- ปริมาณปุ๋ยที่ใส่
- การชลประทาน
ระยะปลูกและอัตราปลูก
ขึ้นอยู่กับปริมาณปุ๋ยที่ใส่ ระยะปลูกที่เหมาะสมโดยทั่วๆ ไปใช้ 50×50 จำนวน 3 ต้นต่อหลุม (19,000 ต้นต่อไร่) หรือ 50×40x3 จำนวน 3 ต้นต่อหลุมขึ้นไป แต่ถ้าเพิ่มอัตราปลูกไปถึง 26,000 ต้นต่อไร่ ก็ได้แต่ไม่ควรเพิ่มมากกว่านี้ไม่มีประโยชน์ อาจเพิ่มโดย วิธีจำนวนต้นต่อหลุม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจำนวนผลผลติจะขึ้นอยู่กับจำนวนต้นพืชต่อพื้นที่ปลูก แต่ถ้าหากว่าเพิ่มจำนวนต้นต่อ พื้นที่ มาก จนเกินความพอดี ก็อาจทำให้เกิดผลต่างๆ ตามมา
- น้ำหนักของฝักจะลดลง
- ขนาดของฝักจะลดลงทั้ความยาวและความกว้าง
- ทำให้จำนวนฝักต่อต้นลดลง
- ทำให้ปริมาณของต้นที่ไม่มีฝักมากขึ้น
- ทำให้ต้นล้มและเกิดโรคเน่าคอดินมากขึ้น
- ทำให้เจริญเติบโตช้าและต้นเตี้ยกว่าปกติ
อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ที่ใช้ในการปลูก
ถ้าเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ เช่น รังสิต 1 สุวรรณ 1 หรือ 2 จะใช้เมล็ดพันธุ์ 6-7 กก.ต่อไร่ แต่ถ้าเป็นข้าวโพดหวานจะ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 3-5 กก.ต่อไร่ ส่วนการหยอดจำนวนเมล็ดต่อหลุมนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของจำนวนต้นต่อหลุม เช่น หากต้องการ 3 ต้นต่อหลุมก็จะหยอดเมล็ด 4-5 เมล็ดต่อหลุมเป็นต้น (ในกรณีนี้เมล็ดจะต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์)
การใส่ปุ๋ยข้าวโพดฝักอ่อน
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อข้าวโพดฝักอ่อน ได้แก่ ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่วนโปแตสเซี่ยมสำคัญเป็นอันดับรอง ดังนั้น ในท้องที่มี ความอุดมสมบูรณ์สูง ปุ๋ยที่จะใช้ในการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนนั้นไม่จำเป็นต้องใส่ครบทุกธาตุอาหาร แนวทางปฏิบัติในการ ใช้ปุ๋ย สรุปกว้าง ๆ ได้ดังนี้
- ในสภาพสวนยกร่อง ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนติดต่อกัน ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงอย่างเดียว อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ รองก้นหลุมตอนปลูกและโรยข้างแถว เมื่อข้าวโพดอายุ 25-30 วัน ครั้งละครึ่งของปริมาณทั้งหมด
- ในดินนาตามหลังข้าว ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียว อัตรา 15-30 กิโลกรัมต่อไร่ วิธีใส่เช่นเดียวกับข้อ 1
- ในพื้นที่ไร่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มาก 1-2 ต้นต่อไร่ ปุ๋ยเคมีใช้ 15-15-15 อัตรา 75-100 กก.ต่อไร่ รองก้นหลุมตอนปลูกและปุ๋ยไนโตรเจน 10-15 กิโลกรัม ต่อไร่ โรยข้างแถวเมื่ออายุ 25-30 วัน ถ้าดินดีใช้ปุ๋ยไนโตรเจน อย่างเดียว 20 กก.ต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง
การให้น้ำกับข้าวโพดฝักอ่อน
การให้น้ำกับข้าวโพดฝักอ่อน จะต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด เพราะข้าวโพดฝักอ่อนจะเจริญเติบโตได้ดี มีฝักสมบูรณ์ พื้นดินที่ใช้ ปลูกต้องมี ความชื้นตลอดฤดูปลูกระมัดระวังอย่าให้ถึงกับแฉะจะชะงักการเจริญเติบโต การขาดน้ำหรือปล่อยให้ดินแห้ง ช่วงใดช่วงหนึ่งของการ เจริญ เติบโต จะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก เช่นกัน และมีผลกระทบถึงผลผลิตขนาดฝักอ่อนและคุณภาพของฝัก โดยเฉพาะ ฝักที่มีรูปร่างผิดปกติจะเกิดขึ้นมากถ้าขาดน้ำในช่วงติดฝักอ่อน อาจกล่าวได้ว่า ข้าวโพดฝักอ่อนต้องการน้ำโดยพิจารณาดินในระดับบน คือ 0-20 ซม. ตลอดฤดูปลูก ในการปฏิบัติทั่วไปการให้น้ำ ในฤดูแล้ง คือขณะที่ข้าวโพดยังเล็ก ให้น้ำทุก 2-3 วัน เมื่อต้นสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร หรือสูงประมาณหัวเข่า ให้น้ำทุก 5-7 วัน ต่อจากนั้นให้น้ำเมื่อดินในแปลงเริ่มแห้ง
การพรวนดิน และการกำจัดวัชพืช
ข้าวโพดฝักอ่อนมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น แม้จะมีวัชพืชขึ้นแต่ไม่ทำให้ผลผลิตลดลง การใส่ปุ๋ญในช่วงข้าวโพดมีอายุ 15-20 วัน จะช่วย กำจัดวัชพืชเหมือนกับมีการพรวนดิน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลง แต่ถ้าจะทำเพียงครั้งเดียวก็พอ หรือถ้าต้องการใช้สารเคมีกำจัด วัชพืช ก็ใช้ อลาคอร์ อัตรา 600-700 ซีซีต่อไร่ ฉีดพ่นหลังจากปลูกขณะที่ข้าวโพดและวัชพืชยังไม่งอก
การถอดยอด
เมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 38 วัน หรือเมื่อมีใบจริงครบ 7 คู่ ช่อดอกตัวผู้จะเริ่มโผล่ออกมาจากใบธง (ใบยอด) ให้ดึงช่อดอกตัวผู้ทิ้ง โดย ใช้มือหนึ่งจับลำต้นไว้ อีกมือหนึ่งจับใบข้าวโพดที่บานอยู่ตรงกลางของยอด ดึงออกมาตรงๆ การถอดยอดเพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิด การผสมเกสร เพราะถ้ามีการผสมเกสรเกิดขึ้น ข้าวโพดฝักอ่อนจะมีคุณำาพด้อยลง เนื่องจากเมล็ดจะโป่งพอง และทำให้ข้าวโพด ไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้การถอดยอดยังช่วงเย่งให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น และยังช่วยให้ผลผลิต ข้าวโพด ฝักอ่อน เพิ่มขึ้นด้วย การถอดยอดเป็นเทคนิคสำคัญที่เกษตรกรไม่ควรละเลยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี
การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดฝักอ่อนจะเก็บเกี่ยวได้หลังจากดึงช่อดอกตัวผู้แล้วประมาณ 3-5 วัน การเก็บเกี่ยวมีข้อพึงปฏิบัติดังนี้
- สังเกตจากไหม เริ่มโผล่พ้นปลายฝัก มีความยาว 1-2 เซนติเมตร จะเป็นช่วงที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวที่สุด
- เก็บเกี่ยวจากฝักบนสุดเป็นฝักแรก และฝักอื่นๆ ถัดต่ำตามลงมา การหักฝักควรหักให้ติดลำต้นไปด้วย เพราะจะทำให้มองเห็นต้น ที่เก็บเกี่ยวแล้ว
- เก็บเกี่ยวทุกวัน เพื่อมิให้ฝักแก่เกินไป
- ถ้าเกษตรกรใช้พันธุ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีความชำนาญ เนื่องจากพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนแต่ละพันธุ์จะมีอายุแตกต่างกัน ตั้งแต่ 40-60 วัน เกษตรกรจึงควรเก็บตัวอย่างข้าวโพดที่มีไหมยาวแตกต่างกันมากรีดดูรูปร่างและขนาดของฝัก จะทำให้รู้ว่า ควรเก็บฝักตอนที่ไหมยาว ขนาดไหน
- การเก็บฝักเพื่อส่งออกในรูปฝักสด ควรเก็บเกี่ยว 2 ฝักต่อต้น เกษตรกรไม่ควรเก็บฝักที่ 3 เนื่งอจากฝักมักจะไม่สมบูรณ์ ไม่ได้ คุณภาพ ส่งออก การเก็บเกี่ยวข้าวโพดอ่อนในระยะเวลาถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญของการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน คุณภาพจะดี หรือไม่ขึ้น อยู่กับช่วงนี้ หากเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้อง เช่น ช้าไป ไหมโผล่ยาวจากฝักมากจะได้ฝักที่มีขนาดใหญ่เกินมาตรฐานความต้องการของ โรงงาน หรือผู้ส่งออกฝักสด ซึ่งต้องคัดออกเป็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง
มาตรฐานของ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)
เพื่อจะผลิตข้าวโพดฝักอ่อนที่มีคุณภาพดี เกษตรกรจะต้องรู้มาตรฐานและคุณภาพของข้าวโพดฝักอ่อนที่ผู้ซื้อต้องการ
ขนาดของ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรม จำแนกเป็น 3 เกรด คือ
- 9-13 ซม. (L)
- 7-9 ซม. (M)
- 4-7 ซม. (S)
ส่วนใหญ่โรงงานจะผลิตเกรด S, M มากกว่า L
คุณภาพ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ที่ต้องการ คือ
- สีของฝัก มีสีเหลืองหรือครีม
- ฝักสมบูรณ์ การเรียงของไข่ปลาตรง ไม่หัก เน่า หรือแก่เกินไป
- ฝักไม่มีรอยกรีด ไม่มีเศษไหมติด
- ฝักสด ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่ผ่านการแช่น้ำ
- ตัดขั้น และตัดแต่งระหว่างรอยขั้นกับฝักเรียบร้อย
การรักษาคุณภาพ ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)หลังการเก็บเกี่ยว
- เมื่อเก็บฝักข้าวโพดฝักอ่อนแล้ว เกษตรกรควรรีบนำเข้าที่ร่ม หรือโรงเรือนที่มีการระบายอากาศที่ดี พยายามจัดวางให้ผลผลิต ได้ระบาย ความร้อน ไม่ควรเก็บข้าวโพดฝักอ่อนไว้เป็นกองสูง ๆ และไม่ควรทิ้งไว้หลายวัน ถ้าเป็นไปได้ ควรนำมาลอกเปลือกออก ทันทีหลังการเก็บเกี่ยว
- ในการขนส่งควรทำโดยเร็วที่สุด และไม่กองฝักข้าวโพดบนพื้นดิน หรือพื้นรถบรรทุกโดยตรง ควรใส่ในภาชนะ ข้าวโพดฝักอ่อน ที่ปอกเปลือกแล้ว ควรบรรจุในกล่องกระดาษ หรือตะกร้าพลาสติกที่มีรูระบายอากาศ
- การปอกเปลือกข้าวโพดอ่อน ต้องกรีดไม่ให้เกิดบาดแผล ลอกไหมให้เกลี้ยง เครื่องมือที่ใช้ เช่น มีด ภาชนะบรรจุ ต้องสะอาด
- ทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณเชื้อราตามที่ต่างๆ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ มีด หรือภาชนะที่ใช้ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวถึงการบรรจุหีบห่อ และทำความสะอาดห้องเก็บรักษาในรูปของแก๊สหรือใช้สารละลายที่ฆ่าเชื้อโรคภายนอก เช่น ฟอร์มาดีไฮด์ อัตรา 1-2 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำฉีดพ่นหรือใช้โซเดียวไฮโปคลอไรด์ เป็นต้น
- สำหรับผู้ส่งออก ควรลดอุณหภูมิข้าวโพดฝักอ่อนที่มาจากแปลงปลูกโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ วิธีที่นิยมใช้คือ การอัดลมเย็น (forced-air cooling) จะทำให้ลดการระบาดของการเน่า ลดการสูญเสียน้ำและความหวาน ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น
- อุณหภูมิที่ใช้ในระหว่างการเก็บเกี่ยว หรือระหว่างการขนส่ง คือ 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 เปอร์เซ็นต์
- การบรรจุหีบห่อที่เหมาะสม ไม่บรรจุมากเกินไปในกล่องเดียวกัน การเก็บรักษาในถาดโฟมที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC จะช่วยป้องกัน ผลผลิตให้คงมีคุณภาพดี
ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) กับข้อควรปฏิบัติ คือ หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลหรือความชอกช้ำบนฝัก ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปอกเปลือกตลอดจนการบรรจุหีบห่อ การขนส่งและการปฏิบัติ อื่น ๆ หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการที่เชื้อราและบักเตรีบางชนิดเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น
ผลพลอยได้จากการผลิต ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn)
นอกจากนี้เกษตรกรยังจะมีรายได้จากการขายต้นข้าวโพด เปลือกและไหมและช่อดอกตัวผู้โดยสามารถนำ ไปใช้เลี้ยงวัวนม ได้เป็น อย่างดี ผู้เลี้ยงวัดนมจะรับซื้อต้นสดจากแปลงข้าวโพดที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วในราคาไร่ละ 300-400 บาท สำหรับช่อดอกตัวผู้ที่ ถอดทิ้ง ขายได้ในราคา 70-80 บาทต่อไร่ต่อครั้ง ต้นข้าวโพดสดและเปลือกมีคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนที่เป็นประโยชน์ ถึงร้อยละ 13.2 และมีเยื่อใย สูงถึงร้อยละ 34.8 ซึ่งคุณค่าทางอาหารดังกล่าวมีค่าใกล้เคียงกับคุณค่าทางอาหารที่ได้จากหญ้าขนสด และยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารของวัวทำงานดีขึ้น
http://www.vegetweb.com/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99/